Hemiplegia

Hemiplegia

ปัจจุบันมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตเป็นจำนวนมาก นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีจึงมีส่วนช่วยในการทำกายภาพบำบัดเพื่อให้ร่างกายกลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือช่วยบรรเทาอาการให้เบาลงได้ ซึ่งผู้ป่วย บางรายก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล จึงทำให้ “ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ” คิดค้นเครื่อง “I-Walk” นวัตกรรมช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกเพื่อเป็นการขยายโอกาสให้กับผู้ป่วยในพื้นที่ชุมชนห่างไกลได้เข้ารับการฟื้นฟูกายภาพบำบัดมากยิ่งขึ้น

“ย้อนกลับไปเมื่อปี 2546 ผมจบการศึกษาปริญญาเอก ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล ที่ Lehigh University ประเทศสหรัฐอเมริกา (ได้ทุนเมื่อปี 2539 และไปเรียนเมื่อปี 2540)
สิ่งสำคัญของการเรียนปริญญาเอก คือการเรียนเพื่อแก้ปัญหาในสิ่งที่เรายังไม่รู้ เพราะฉะนั้นมันก็ไม่จำเป็นที่ต้องอยู่กับสิ่งที่เราเรียนมาเพียงอย่างเดียว เราสามารถทำวิจัยเรื่องอะไรก็ได้ เพราะเราเรียน Process มาแล้วตอนปริญญาเอก

“ผมนำความรู้ที่เรียนมาจับกับปัญหาทางด้านสุขภาพของคนพิการและคนที่ด้อยโอกาสในสังคมผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยก็มีหลายระดับ คือผู้ป่วยที่เขามีศักยภาพ มีโอกาสเข้าถึงการรักษา เข้าถึงการบริการและอุปกรณ์ แต่ปัญหาของบ้านเราก็คือขาดโอกาสในการเข้าถึง หรือถ้ามีโอกาสในการเข้ารับการฟื้นฟูกายภาพบำบัดก็อาจไม่พิการ หรือถ้าพิการแล้วมีโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวก ชีวิตมันก็ไม่แย่ขนาดนี้ ซึ่งปัญหาที่พูดมาทั้งหมดมันก็คือโอกาสในการเข้าถึงสิ่งที่มันควรจะได้ งานวิจัยของผมทั้งหมดคือการแก้ไขปัญหาโอกาสในการเข้าถึง

“I-WALK ก็เป็นอีกผลงานหนึ่ง เราก็ได้มีการทดสอบกับผู้ป่วยจริงไปแล้วที่นครปฐม โดยใช้กับผู้ป่วย 15 คน เป็นผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตครึ่งซีก เรื้อรัง ก็คือหลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ผมมองว่าการทำกายภาพบำบัดจะต้องได้รับการทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยจะต้องเดินทางไปในตัวจังหวัดเพื่อไปรับการรักษาจากนักกายภาพบำบัดเพื่อฝึกเดิน ซึ่งโรงพยาบาลประจำจังหวัดก็ไม่มีเครื่องมืออะไรนอกจากราวคู่ ซึ่งจะเอาอุปกรณ์ที่ทันสมัยจริง ๆ ต้องเข้ามาในกรุงเทพฯ ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ จึงเป็นที่มาของเครื่อง I-WALK ซึ่งมีราคาถูกกว่าเครื่องที่นำเข้าหลายเท่าตัว “ผลงานวิจัยของเราจะแตกต่างกับการทำงานของนักวิจัยทั่วไป คือจะเน้นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดแล้วก็เอาผลงานไปตีพิมพ์ ช่วงหลังนักวิจัยก็เริ่มปรับเปลี่ยนก็คือเริ่มเอาปัญหาในบ้านเราเป็นตัวตั้งมากขึ้น เริ่มมีคำถามกับสังคมมากขึ้นว่า มหาวิทยาลัยวิจัยอะไรที่มันเป็นประโยชน์กับบ้านเราบ้าง
“ปัจจุบันทุนวิจัยต่าง ๆ เริ่มเจาะจงมากขึ้นว่า คุณต้องวิจัยเรื่องข้าว ยางพารา อันนี้ก็คืองานวิจัยแบบมุ่งเป้า แทนที่คนวิจัยจะบอกว่าจะวิจัยอะไร แต่รัฐบาลเป็นคนกำหนด งานวิจัยในปัจจุบันก็ค่อนข้างนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ก็เลยเป็นที่มาของนโยบายการเอานวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น “เราเอาไอเดียของเครื่องออกกำลังกาย Elliptical เอามาประยุกต์ใช้กับการออกแบบเครื่อง I-Walk มีการปรับกลไกลให้ลักษณะการเดินเหมือนการเดินก้าวขึ้นบันได คือการยกเท้าสูงขึ้นและไม่ต้องก้าวยาวมาก ก้าวสั้น ๆ หน่อย สามารถปรับได้ตั้งแต่ 0-120 ก้าวต่อนาที

“เรามีระบบ Spring Pack ที่ฝ่าเท้าเพื่อดูว่าผู้ป่วยลงน้ำหนักไหม โดยปกติเวลาผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงข้างที่ไม่ดี เขาจะลงน้ำหนักไปข้างที่ดี ข้างที่ไม่ดีก็เหมือนจะให้เครื่องพาไปเฉย ๆ ไม่มีการลงน้ำหนัก Spring มันไม่ได้กดลง คนที่ดูแลผู้ป่วยอยู่ก็ให้ผู้ป่วยลองลงข้างที่อ่อนแอดู นี่คือลักษณะพิเศษ ด้วยเงื่อนไขของต้นทุนที่กำหนดไว้ มันก็ออกมาเป็นเครื่องที่ดูง่าย แม้แต่นักกายภาพบำบัดเองก็ไม่เชื่อว่ามันจะเวิร์ก

“เราเอาเครื่องไปทดสอบกันที่นครปฐม สุดท้ายผลก็ออกมาดีมาก ๆ ช่วงแรกผู้ป่วยก็ยังใช้ไม้เท้าอยู่ บางคนก็เดินได้ช้า เราทดสอบ 8 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วัน วันละครึ่งชั่วโมง ผู้ป่วยสามารถเดินได้ดีขึ้น คนที่ใช้ไม้เท้าก็ไม่ต้องใช้

“ปัญหาหลักที่เราเจอก็คือเรื่องของอุปกรณ์ทางการแพทย์ นั่นก็คือปัญหาหรือความสบายใจของคนใช้ คนใช้คือหมอ คนที่เลือกจะใช้หรือไม่ใช้ก็คือหมอหรือนักกายภาพบำบัด เพราะฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่คนใช้ไม่สบายใจที่จะใช้เครื่องที่พัฒนาในประเทศ เพราะคนใช้รู้สึกว่าถ้ามันมีอะไรเกิดขึ้นมาเขาไม่ต้องรับผิดชอบในฐานะที่เป็นคนให้ใช้ หากเป็นในต่างประเทศเขาได้มาตรฐานสากล เขามีการทดสอบผู้ป่วยเยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้นมันก็เป็นความสบายใจระดับหนึ่งของคนใช้

“สิ่งเดียวที่เราจะทำให้หมอไม่กังวลได้ก็คือการทดสอบแบบมีหลักวิชาการ ทดสอบระดับที่จำนวนผู้ทดสอบมากพอสมควร จนหมอมั่นใจในอุปกรณ์ของเรา “ในอนาคตผมอยากให้สิ่งเหล่านี้มันเป็นพลังทางด้านบวกที่เกิดกับนักศึกษาในการทำงาน การทำงานที่เกิดจากการที่เขาอยากทำ ทำแล้วผลออกมาเป็นยังไงเขาก็จะได้รู้และหาทางแก้ไข คุณจะเป็นต้นไม้อะไรก็ได้เลือกเอา แต่อาจารย์ทำได้แค่หน้าที่ให้น้ำให้ปุ๋ย เพื่อที่จะให้ต้นไม้นั้นเจริญเติบโต” 

A therapeutic chance for patients with hemiplegia