เรือเอย...เรือมนุษย์

เรือเอย...เรือมนุษย์

ท่าน้ำหน้าบ้าน... คือสถานที่เด็กเล็กผู้ใหญ่ กระทั่งบ่าวไพร่ จะใช้ร่วมกันมากที่สุดในบ้าน เริ่มตั้งแต่ตอนเช้า เรือแจวเก๋งมารับปู่ไปทำงานที่กระทรวง ในพระบรมมหาราชวัง และจะพายเรือแจวท้ายกลับมาส่งปู่ในตอนบ่าย ตอนสายจะมีเรือเจ๊กขายหมูพายผ่าน พร้อมเสียงเป่าเขาควายเป็นสัญญาณบอกให้ลูกค้าได้รู้ว่า...หมูมาแล้ว!!! ยังไม่จะเที่ยง ก็จะมีเรือพายของชาวบ้าน เอาขนมนมเนยและอาหารมาร้องขายต่อ ยังจำเสียงร้องของแม้ค้าขายขนมจีนน้ำยา ที่ร้องเป็นบทกลอนให้จดจำได้จนถึงทุกวันนี้ ยายป้าร้องว่า     “...ขนมจีนแม่วัณฬา น้ำยาพระอภัย     ถั่วงอกเสาวคนธ์ พริกป่นหัสไชย” ชื่อทั้งหลายที่นางร้อง เป็นชื่อในวรรณคดี “พระอภัยมณี” ของท่านครูสุนทรภู่พรรณนาความ แต่ชาวสวนส่วนใหญ่ที่พายเรือขายผลไม้ ไม่รู้เรื่องราวทันสมัยของคนในยุคนั้นเพราะอ่านเขียนหนังสือไม่ออก แม่ก็จะร้องขายผลหมากรากไม้ที่บรรทุกมาในเรือพายว่า     “...เจ้าข้าเอ๊ยมาแล้วจ้า อ้อยจีนบางใหญ่ อ้อยไทยบางคูวัด     ข้าวหลามตัดวัดระฆัง ขนมฝรั่งกุฎีจีน”

จ้าวนายบ่าวไพร่ข้าทาสทั้งหลายก็จะกรูมาชายน้ำ ซื้อขายกันสนุกสนานอิ่มหนำสำราญทั่วหน้า ที่เป็นเรือกลไฟใช้เครื่องยนต์ จนได้เสียงดัง เด็ก ...เด็กยังเรียกกันว่า ...เรือป๊อกแป๊ก แล้วเอาความคิดดัดแปลงทำเป็น

“เรือสังกะสี” เล็ก...เล็ก จุดเทียนให้มีไฟใช้ความร้อนดันให้เรือสังกะสียนต์ แล่นได้ บนผิวน้ำ เรือกลไฟที่ใช้เครื่องยนต์กลางลำเรือ มีนายท้ายถือพวงมาลัยคู่น่าเกรงขามจะผ่านหน้าบ้านช่วงเช้า ช่วงสาย บ่าย และก็เย็นเป็นประจำ คนที่อยู่ฟากคลองตั้งแต่คลองบางหลวง ไปจนถึงคลองดาวคะนอง ภาษีเจริญไปจนถึงคลองมหาชัยใช้เดินทางไปมาหาสู่กัน เรือเอี้ยมจุ้นลำโต นานทีปีครั้งจะโผล่ มาให้เห็น เรือจีนบรรทุกข้าว บรรทุกเกลือเอามาขาย เป็นเรือลำใหญ่แล่นได้อุ้ยอ้าย เด็กอืดอาดเชื่องช้า เลยถูกผู้ใหญ่เรียกว่า ...แข็งทื่อเหมือนเรือเกลือ... แต่เด็กฉลาดปรู๊ดปร๊าดสั่งอะไรแล้วได้ดั่งใจ ผู้ใหญ่ก็เรียกว่า ... เร็วราวกับเรือแข่ง ... สันติ เศวตวิมล

สายน้ำที่ไหลกลับ บทที่เก้า เรือเอย...เรือมนุษย์ ใหญ่ยาวสุดเพียงแค่วา (ภาคแรก)