War For The Planet  of The Apes

War For The Planet of The Apes

ปิดไตรภาคได้อย่างสวยสดงดงาม สำหรับจักรวาลของหนัง Apes ที่ทำการรีบู๊ทอีกครั้ง หลังจากที่ ทิม เบอร์ตัน ผู้กำกับสุดดาร์กฝากผลงานไว้เมื่อปี ค.ศ.2001 ที่ได้รับกระแสด้านลบค่อนข้างถล่มทลาย ทางค่ายหนังจึงได้นำซีรีส์พิภพวานรกลับมาสร้างใหม่ เป็นไตรภาคพรีลูดก่อนจะไปบรรจบที่เวอร์ชันของทิม เบอร์ตัน ที่บนโลกทุกแดนดินวัฒนธรรมของมนุษย์ล่มสลายลงไปแล้ว 

ก่อนอื่นเลยเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ซีรีส์ of The Apes ถึงแม้ว่าชื่อเรื่องภาษาไทยจะเป็น พิภพวานร แต่ทว่านี้ไม่ใช่หนังที่เกี่ยวข้องกับ “สัตว์” แต่อย่างใด ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในหนังทั้งสามภาคของผู้กำกับ Matt Reeve พูดถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เกี่ยวข้องกับ “มนุษย์” ทั้งนั้น สังเกตได้จากการที่ตลอดทั้งเรื่องของหนัง ใช้คำว่า Apes แทนฝูงวานร ไม่ใช่ Monkey ที่เป็นสัตว์อันหมายถึงลิง ดังนั้นหากเรามองอย่างเป็นกลางแล้วล่ะก็ War For The Planet of The Apes จะเป็นการพูดถึงการทำสงครามระหว่างชาติพันธุ์มากกว่าที่จะเป็นสงครามข้ามเผ่าพันธุ์

หลังจากภาคแรก Rise of The Planet of The Apes ประเด็นหลักที่ถูกนำเสนอเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ Apes ความหวาดกลัวของวานรที่มีต่อมนุษย์ ที่ในท้ายที่สุดก็ได้แยกตัวออกมาดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ในป่าห่างไกลอารยธรรม ในขณะที่ภาคต่ออย่าง Dawn of The Planet of The Apes เป็นความขัดแย้งระหว่างวานรด้วยกันเอง นำโดยวานรโคบา ที่ต้องการยึดพื้นที่และอารยธรรมของมนุษย์มาเป็นของเหล่าวานร ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรม จวบจน War For The Planet of The Apes ที่ครั้งนี้
ความหวาดกลัวมาจากฝั่งมนุษย์แทนบ้าง เมื่อมนุษยชาติกำลังถูกทำลายจากสิ่งที่ตนเองก่อ ซีซาร์ที่ผ่านโลกมาอย่างโชกโชน และเป็นผู้นำฝูง Apes ต้องต่อสู้กับความแค้นภายในจิตใจของตัวเอง หลังจากที่ถูกมนุษย์ลอบเข้ามาสังหารครอบครัว ถ้าหากซีซาร์เลือกที่จะล้างแค้นโดยใช้สัญชาตญาณของสัตว์ แล้วจะต่างอะไรกับสิ่งที่โคบาทำลงไป นอกจากนี้สังคมมนุษย์นั้นได้มองบรรดา Apes นั้น เป็นแค่สัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดุร้าย อุดมไปด้วยสัญชาตญาณสัตว์ป่า แต่แท้ที่จริงแล้วมนุษย์ต่างหากที่เข่นฆ่ากันด้วยความโหดร้าย หาใช่เหล่า Apes ที่ต้องการความสงบสุขไม่ ดังนั้นสิ่งที่หนังต้องการสะท้อนให้เห็นจริง ๆ แล้วก็คือ ฝูงวานรในหนังนั้นไม่ได้ถูกมองว่าเป็น “สัตว์” อีกต่อไป หากแต่เป็น “สิ่งมีชีวิตอีกเผ่าพันธุ์หนึ่ง” ที่ถูกบรรดามนุษย์โลก “เหยียด” ชาติพันธุ์ขึ้นมา สิ่งที่ซีซาร์พยายามสร้างก็คือ “ชุมชน” ที่เป็นศูนย์รวมของกลุ่มชาติพันธุ์วานร ในขณะที่เผ่าพันธ์มนุษย์โดยการนำของ “ผู้พัน” ยังคงหวาดกลัว และมองว่าฝูงของซีซาร์เป็นอีกชาติพันธุ์ที่ต้อยต่ำกว่า จึงต้องการที่จะนำบรรดาวานรมาใช้งานเป็นทาส เพื่อเสริมสร้างขุมกำลังในการรบกับมนุษย์ด้วยกันเอง ดังนั้นหนังเรื่องนี้จึงดำเนินเรื่องเกี่ยวกับ “มนุษย์” ล้วน ไม่มีอย่างอื่นเจือปน เรียกได้ว่า War For The Planet of The Apes เป็นหนังดราม่าระหว่างชาติพันธุ์ที่อาจเปรียบได้ถึงการเหยียดสีผิว โครงสร้างทางกายภาพ หรือแม้แต่บุคคลที่บกพร่องและด้อยกว่า โดยให้ภาพที่สุดแสนจะทารุณถึงแก่นความเป็นมนุษย์เลยก็ว่าได้ นอกจากเนื้อหาที่ดราม่าเข้มข้นแล้วนั้น สิ่งที่ไม่พูดถึงเลยไม่ได้ก็คือ เทคโนโลยีโมชั่นแคปเจอร์ ที่เรียกได้ว่าปัจจุบันพัฒนามาไกลจนสามารถทำให้ตัวละคร CGI แสดงสีหน้าและอารมณ์ออกมาได้อย่างน่าขนลุก เพราะมันมีความรู้สึก มีอินเนอร์จริง ๆ ที่สื่อสารออกมา ยิ่งขับให้แต่ละตัวละครดูมีน้ำหนักความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ขอยกให้หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่มีสเปเชียลเอฟเฟกต์งดงามที่สุดในปีนี้เลยทีเดียว 

พิภพของใคร