วิเคราะห์ผลกระทบ AEC

วิเคราะห์ผลกระทบ AEC

บทความในฉบับนี้เป็นสัมภาษณ์พิเศษ คุณเกษมสันต์ วีระกุล เจ้าของคอลัมน์ The Perspective of AEC ต่อเนื่องจากฉบับที่แล้ว เพื่อเจาะลึกวิเคราะห์ทิศทาง ผลกระทบกับเมืองไทย และมุมมองของท่านต่อ AEC ในหลายหัวข้อ มีหลายข้อที่อ่านแล้วทำให้ฉุกคิดเลยขออนุญาตท่านนำบทสัมภาษณ์มาลงในคอลัมน์นี้อย่างต่อเนื่องครับ 

วันนี้เราได้อะไรจากการเป็น AEC หรือเสียอะไรมากที่สุดจากการเป็น AEC?
“เราไม่เสียอะไรเลย การเป็นประชาคมอาเซียน เป็น AEC คือทำให้ 10 ประเทศไม่มีรั้วกั้น มันมีทั้งหมด 3 เสา
“1.เสาเศรษฐกิจ วัตถุดิบ สิ้นค้าสำเร็จรูป เงินทุน แรงงานที่มีทักษะ เคลื่อนย้ายเสรี จะได้ช่วยกันเช่น มีโรงงานนี้คุณอยากมีวิศวกร คุณสามารถเอาจากประเทศเพื่อนบ้านมาได้ หรือคุณสามารถเอาวัตถุดิบของเพื่อนบ้านนำมาส่งออกได้ อันนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่เราก็ต้องพร้อม ต้องเปิดกว้าง ต้องรู้ว่าเราต้องทำอะไร
“2.เสาการเมืองและความมั่นคง เป็นการร่วมมือกันระหว่างประเทศฝ่ายการเมืองและความมั่นคงของประชาคมทั้งหมด ไม่ทะเลาะกันเองพอเราร่วมมือแข็งแรง ประเทศอื่นไม่อยากมารุกรานเรา
“3.เสาสังคมและวัฒนธรรม ดูแลสิ่งที่เสาการเมืองความมั่นคงกับเสาเศรษฐกิจไม่ได้ดู เช่น ยาเสพติด สิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม เสานี้มีหน้าที่ดูแลและเสานี้มีหน้าที่ทำให้คนทั้ง 10 ประเทศเข้าใจกันรักกัน จับมือไปด้วยกัน อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เขาก็ไม่ได้บังคับ เขาบอกว่ามีสามเสาช่วยกันแบบนี้ ไทยเราก็ต้องมอง ถ้าเอาอย่างที่ผมบอกเราจะลงทุนร่วมกับเขาอย่างไร เราจะเอาอุตสาหกรรมต่างชาติลงทุนในเมียนมาร์บวกกับไทยอย่างไร เราจะให้จีนมาช่วยเราอย่างไร เราต้องคิดแบบนี้ถึงจะเป็นประโยชน์ แล้วผมเชื่อว่าทำได้”

วันนี้เราเข้าสู่ AEC ไปแล้วก็จริง แต่เรามีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน?
“ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม การเป็นประชาคมอาเซียนถ้าเราไม่ร่วมมือเรายิ่งเสียเปรียบ วันนี้สมมติว่าไม่เลิกเก็บภาษีนำเข้า แล้วประเทศเพื่อนบ้านบอกฉันเก็บภาษีนำเข้าด้วย เราส่งออกประเทศเพื่อนบ้าน 10% เราจบทันที ทุกวันนี้ก็ไม่รู้ว่าเราโตไม่โต ปั่นตัวเลขยังไงก็ไม่รู้ วันนี้คนที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทย แล้วเราไปสังเกตห้างทั้งหลาย นอกเหนือจากคนจีนที่มาเที่ยวแล้วยังมีเพื่อนบ้าน แล้วผมบอกเลยว่าเพื่อนบ้านเราที่มาคือเศรษฐีมาเที่ยว ซื้อของแพง ๆ กระเป๋าแพง ๆ เศรษฐีจากเมียนมาร์, กัมพูชา, สปป.ลาว ทั้งสิ้น คนจีนไม่ซื้อเพราะเป็นนักท่องเที่ยวราคาถูก คนที่มารักษา โรงพยาบาลหรู ๆ ทั้งหลายในเมืองไทยก็เป็นเศรษฐีจากเพื่อนบ้านเราทั้งสิ้น ถ้าพวกนี้ไม่มาประเทศเราก็จบเลย เห็นไหมครับ เราต้องการเขา เราต้องพึ่งเขา เราต้องพึ่ง AEC แน่นอน” 

ถ้าหากเราเป็นประเทศที่ป่วยทางเศรษฐกิจ จะต้องรักษาอย่างไร?
“ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่าป่วย วันนี้ประชาชนไม่ได้รับการบอกเล่าว่าป่วย เราเคยโต 4.6 % มา 10 ปี 4.4 % 10 ปี 5 ปีที่แล้วโต 2.6 % จากนี้ไปจะโต 3.7 % เราป่วยเราต้องรู้ความจริงตรงนี้ก่อน
“ต้องยอมรับก่อนว่าการมียุทธศาสตร์แบบบ้านเราใช้ไม่ได้ ต้องเขียนใหม่ มีตัวอย่างการปฏิรูปประเทศ มาเลเซียทำให้ดูแล้ว ปี 2524 เขามีรายได้เฉลี่ย 47,000 ต่อคนต่อปี เรา 45,000 ต่อคนต่อปี วันนี้เขา 400,000 ต่อคนต่อปี เรา 200,000 ต่อคนต่อปี เราก็เห็นแล้วว่าเขาทำได้ อีกอันต้องยอมรับว่าปัญหาของไทยเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน สิ่งที่คนไทยโดนล้างสมองมาตลอดคือปัญหาประเทศไทยเป็นปัญหาเฉพาะตัว ผมเรียนว่าไม่จริง ผมยกตัวอย่างไปแล้ว เช่น การปราบโกง การปราบคอรัปชั่น สิงคโปร์โกงหนักกว่าเมืองไทย ปราบสำเร็จ ฮ่องกงโกงหนักหนาสาหัส ถ้าใครดูหนังจีนฮ่องกง จะเห็นค้ายาเสพติด โกงกันหนัก หักหลังกัน โกงหนักกว่าเรา วันนี้ฮ่องกงปราบสำเร็จ “เกาหลีใต้เหมือนไทยมากในแง่ของการโกงของนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจขนาดใหญ่ โกงกันเป็นแบบบูรณาการแล้วคนอื่นจับไม่ได้ วันนี้ยังแก้สำเร็จ เขาเอาต้นแบบมาจากฮ่องกงและแก้ไขสำเร็จ อินโดนีเซียเลือกตั้งแต่ละครั้งมีหน่วยเลือกตั้ง 450,000 หน่วยจนถึง 500,000 การเลือกตั้งของเมืองไทยใช้เงิน 300 ล้านบาทยังว่าแพง อินโดนีเซียใช้เงินแต่ละครั้ง 40,000 ล้านบาท วันนี้เขาสามารถปฏิรูประบบหน่วยเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรมได้ ระบบ ปปช. อินโดนีเซียทหารเป็นใหญ่ครอบคลุมประเทศ โกงกันวุ่นวาย วันนี้ถูกจับแหลกเพราะประชาชนร่วมมือ พอ ๆ กับฮ่องกงและเกาหลีใต้ “เรื่องปฏิรูปการศึกษา เวียดนามทำให้ดูแล้วเวียดนามเพิ่งปฏิรูปเมื่อปี 2520 ได้ โรงเรียนในเวียดนามมีน้อยจนกระทั่งเด็กต้องแบ่งกันเรียน 2 กะ กะแรก 6 โมงเช้า 11 โมงกลับบ้าน อีกกะนึงมาเรียนตอนบ่าย พวกกะแรกกลับบ้านไปช่วยพ่อแม่ ขนาดโรงเรียนน้อยที่นั่งไม่พอ ครูเงินเดือนน้อยกว่าบ้านเรา ผู้ปกครองก็ยากจนแต่เขาปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ จนกระทั่งการทดสอบที่เรียกว่า PISA Programme for International Student Assessment เวียดนามได้ที่ 28 ไทยได้ที่ 50 กว่า สอบตกทุกวิชา
“ฉะนั้นมันมีต้นแบบทำให้ดูหมดแล้วขอเพียงแค่ว่าจะทำหรือเปล่า ไปเอาตัวอย่างเขามาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทไทยนิดเดียวแล้วก็เดินหน้าดีกว่าครับ”

มุมมองเรื่องเศรษฐกิจและการศึกษา