SMAEs

SMAEs

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รับเกียรติให้ไปร่วมการประชุมวิชาการและนวัตกรรมประจำปี 2560 จัดโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในหัวข้อ “ขับเคลื่อนธุรกิจ SMAEs ยุค 4.0” และได้มีส่วนเป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมอภิปรายในหัวข้อ “วิจัยและนวัตกรรม...ติดปีก SMAEs” (ซึ่งมาจากคำว่า Small and Medium Agricultural Enterprise หรือหมายถึง ผู้ประการขนาดกลางและขนาดย่อมภาคเกษตร) ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้มีหลายประเด็นที่น่าสนใจที่ผมอยากจะแบ่งปันในบทความนี้ครับ 

หากพิจารณาภาพรวมการวิจัยและพัฒนา (R&D) ภาคการเกษตร เพื่อพัฒนาสู่การขับเคลื่อนผู้ประกอบการ SMAEs ทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ จะพบว่า

R&D ภาคเกษตร: ในเชิงปริมาณ
ในภาพรวม แม้การใช้จ่ายด้าน R&D ของไทยจะเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 0.12 ของจีดีพี ในปี พ.ศ.2539 เป็นร้อยละ 0.48 ของจีดีพีในปี พ.ศ.2557 แต่ค่าใช้จ่ายนี้ยังต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายด้าน R&D ของโลก อยู่ที่ร้อยละ 2.14 ของจีดีพีในปี พ.ศ.2556 และหากพิจารณาเฉพาะ R&D ในภาคเกษตร พบว่า งบ R&D ภาคเกษตรต่อรายได้เกษตรมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 0.9 ของ GDP ในภาคเกษตร ในปี 2536 เหลือเพียงประมาณร้อยละ 0.2 ในปี พ.ศ. 2550 (เท่าที่สามารถหาข้อมูลได้ล่าสุด) นอกจากค่าใช้จ่าย R&D น้อยแล้ว ปริมาณนักวิจัยยังน้อยด้วยเช่นเดียวกัน จากการสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีนักวิจัยปริญญาเอก 10,767 คน อยู่ในภาคเอกชน ร้อยละ 6 ขณะที่อีกร้อยละ 94 อยู่ในภาครัฐ หากพิจารณาเฉพาะในภาคเกษตร นักวิจัยที่มีวุฒิปริญญาเอกน้อยกว่าสาขาอื่น และแนวโน้มนักวิจัยในภาคเกษตรลดลง เพราะคนเรียนด้านเกษตรลดลง (นิพนธ์ พัวพงศกร, 2557)

R&D ภาคเกษตร: ในเชิงคุณภาพ
งานวิจัยของไทยจำนวนมากไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ สัดส่วนของงานวิจัยที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของไทย อยู่ที่ร้อยละ 40% ของงานวิจัยทั้งหมด ขณะที่สิงค์โปร์อยู่ที่ร้อยละ 48, จีน ร้อยละ 83, เกาหลีใต้ ร้อยละ 62 และญี่ปุ่น ร้อยละ 65 เป็นต้น เหตุที่งานวิจัยของไทยไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากนัก เนื่องจากงานวิจัยไม่ถูกเก็บรวบรวมไว้ในที่เดียวกัน ทำให้การค้นคว้าพัฒนาเพื่อต่อยอดงานวิจัยในเชิงธุรกิจไม่สะดวก รวมทั้งงานวิจัยบางส่วนไม่สอดคล้องกับความต้องการและไม่มีคุณภาพเพียงพอ ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่า งานวิจัยที่มีนั้นยังค่อนข้างจำกัดอยู่เฉพาะในบางด้าน โดยเฉพาะงานวิจัยประเภทงานวิจัยเชิงปฏิบัติที่เน้นแก้ปัญหาบางด้าน เช่น  การเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตรด้วยการวิจัยปรับปรุงพันธุ์ หรือ พัฒนาเครื่องจักรการเกษตร แต่งานวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) และงานวิจัยประยุกต์ (Applied Research) ที่นำความรู้จากการเกษตรไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น หรือ นำองค์ความรู้ด้านอื่นมาประยุกต์ใช้กับการเกษตรยังมีน้อย รวมทั้งยังขาดการวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ของผลผลิตอย่างจริงจัง ทั้งที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ อันดับ 8 ของโลก มีพืชพันธุ์ที่หลากหลายกว่า 13,500 ชนิด และร้อยละ 52 ของพืชพันธุ์เหล่านี้ไม่สามารถพบได้ที่อื่น จากสภาวะดังกล่าว หากประเทศไทยต้องการพัฒนา R&D ด้านการเกษตร เพื่อที่จะนำไปสู่การติดปีก SMAEs ผมมีข้อเสนอดังนี้

กำหนดให้การสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้เชิงพาณิชย์เป็นวาระสำคัญของประเทศ
เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมอย่างจริงจังและมีผลลัพธ์รวดเร็ว ซึ่งอาจทำได้หลายแนวทาง เช่น ไม่ว่าจะเป็นการปัดฝุ่นงานวิจัยเดิมที่อยู่บนหิ้ง, พัฒนางานวิจัยขึ้นมาใหม่ พร้อมแผนการใช้ประโยชน์ หรือ ซื้อความรู้หรือเทคโนโลยีมา อาจซื้อเพียงบางส่วนหรือซื้อเฉพาะจุด โดยไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งหมด เพื่อนำมาต่อยอดกับสิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่ เป็นต้น

เพิ่มงบวิจัยภาพรวมและด้านการเกษตร
รัฐบาลควรมีพันธะในการกระตุ้นการวิจัยและพัฒนาในประเทศให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายด้านงบประมาณที่ภาครัฐจะใช้จ่าย เพื่อการทำวิจัยในสัดส่วนที่จะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เช่น ร้อยละ 1 ของจีดีพี และร้อยละ 3 ของจีดีพีในระยะต่อไป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะดึงดูดทรัพยากรต่าง ๆ ของประเทศมาใช้ในภาคการวิจัยและพัฒนาจนเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สามารถดึงดูดคนเก่งเข้ามาในภาคการวิจัยและพัฒนาและทำให้จำนวนนักวิจัยในไทยเพิ่มจำนวนขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างบรรยากาศการทำการวิจัยและพัฒนาให้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการสร้างแรงดึงดูดให้ภาคเอกชนเห็นประโยชน์ของ R&D จนเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนามากขึ้นต่อไป

พัฒนา Technology Center ตามคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตรต่างๆ
ผู้ประกอบการควรรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ตามกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร และจัดตั้งเป็นสถาบันวิจัยหรือร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เพื่อทำ R&D ในอุตสาหกรรมเกษตร และทำอย่างต่อเนื่อง โดยทุน R&D ของสถาบันอาจได้มาจากการสมทบทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกษตร และผลการวิจัยและพัฒนาเป็นองค์ความรู้ที่ผู้ประกอบการทุกรายในอุตสาหกรรมเกษตรใช้ร่วมกันได้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของทั้งอุตสาหกรรม และทำให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง

ยกเว้นภาษีในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายเทเทคโนโลยีการผลิต เพื่อจูงใจให้เกิดการถ่ายเทเทคโนโลยีการผลิต
ให้ผู้ประกอบการไทย บางประเทศอนุญาตให้มีการยกเว้นภาษีจากรายได้ ที่มาจากการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากผู้ผลิตเทคโนโลยี ไปยังผู้ใช้เทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น SMEs หรือ Startup ก็ตาม เช่น มาเลเซีย รายได้ที่ได้จากการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์จะได้รับการลดหย่อนภาษีร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี เป็นต้น นี่เป็นแนวทางบางส่วนที่รัฐควรส่งเสริมเพื่อให้เกิดนวัตกรรมมากขึ้นในภาคเกษตร แต่อย่างไรก็ตามหากต้องการพัฒนา SMAEs ให้มีคุณภาพและปริมาณมากขึ้น สิ่งที่ต้องพัฒนาคนเหล่านี้ คือ ความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งช่วยให้สามารถมองหาโอกาสริเริ่มสร้างสรรค์ วางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จเช่นเดียวกัน 

วิจัยและนวัตกรรม...ติดปีก