สายใย สระกวี
คนทั่วไปคงรู้จักชื่อเสียงของ Search Engine หรือโปรแกรมหาข้อมูลชื่อดังอย่าง Google กันดี นอกจากมีชื่อเสียงด้านนี้แล้ว บริษัท Google ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นบริษัทที่มีคนอยากเข้ามาทำงานมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกและเมื่อ Google เข้ามาเปิดสาขาที่ประเทศไทย คนรุ่นใหม่หลายคนจึงใฝ่ฝันอยากจะเข้ามาทำงานกันมากมาย และหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของ Google ประเทศไทยที่ได้ร่วมงานก็คือ คุณสายใย สระกวี กับตำแหน่ง Commu-nication Manager ที่มีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์ผลักดันงานหลายด้านของ Google ประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
ถ้าย้อนกลับมาดูประวัติการทำงานของคุณสายใยถือว่าไม่ธรรมดาเพราะเธอผ่านการทำงานกับองค์กรใหญ่มาแล้วมากมาย อาทิเป็นผู้บริหารของศูนย์บ่มเพาะนักพัฒนาเกมอย่าง MSeed Asia หรือแม้กระทั่งเคยทำงานด้าน PR & Social Media ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกามาถึง 3 ปี จากนั้นจึงกลับมาทำงานกับ Google ประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน “ในมุมของสายใยคนที่จะมาทำงานกับ Google ได้ต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีมากคือมันเป็นบริษัทที่ใหญ่มีพนักงานกว่า 7 หมื่นคน คุณไม่สามารถ เข้ากับทุกคนได้หมดหรือมีชีวิตเรียบง่ายไร้ปัญหา เราจึงต้องเป็นคนที่พร้อมในการแก้ปัญหาและเปิดใจเผชิญกับปัญหา เพราะมันมีทุกวัน “ความจริงวัฒนธรรมองค์กรของ Google จะเหมือนกันทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย คือมีความสนุกสนานเปิดโอกาสในการทำกิจกรรมและเรื่องของพื้นที่นวัตกรรมค่อนข้างเยอะ ไม่มีห้องออฟฟิศทำงาน มีกาแฟและของกินให้พนักงานตลอดเวลา แต่เมื่อถึงเวลาทำงานพวกเราก็ทำงานกันอย่างจริงจังให้เสร็จในหน้าที่ของตัวเอง “งานของ Google ประเทศไทยหลัก ๆ จะทำงานในส่วนของเซลล์กับพีอาร์มาร์เก็ตติ้ง คือพนักงานส่วนหนึ่งจะดูเรื่องของการลงโฆษณาโดยมีทีมงานดูแลอยู่ ในส่วนพีอาร์มาร์เก็ตติ้งก็คอยโปรโมทสินค้าที่เข้ามาในประเทศโดยมีโปรดักส์ที่มีอยู่หรือกำลังพัฒนา แล้วบริษัทของประเทศไทยจะทำงานร่วมกับต่างประเทศด้วย “อย่างที่ทราบกันดีว่าบริษัท Google ไม่ได้มีโปรดักส์แค่ Search Engine ตัวเดียวแต่มีตัวอื่นอีกมาก หน้าที่ของเราคือสื่อสารเรื่องเหล่านี้ออกไปสู่ตลาด เพราะบางทีคนยังไม่รู้จักสิ่งที่ Google ทำออกมามากพอซึ่งโปรดักส์ที่พัฒนาออกมาแล้วมีคนใช้เกินพันล้านคนมีอยู่ไม่กี่ตัว แล้วเราก็อยากให้คนไทยรู้จักโปรดักส์มากขึ้น เช่น Google Photo เป็นอะไรที่น่าสนใจมากมีปัญญาประดิษฐ์อยู่ในนั้น ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ ที่สำคัญมันฟรีแต่คนไทยยังรู้จักน้อยเกินไป “แม้กระทั่งที่คนส่วนใหญ่ใช้กันคือ Gmail ถ้าลองดูดี ๆ ยังมีเครื่องมือหลายอย่างที่เรายังอาจไม่เคยใช้ก็มี Google Map ก็เหมือนกันมีอะไรให้เล่นเยอะพอสมควร คือในโปรดักส์เหล่านี้มันมีสิ่งที่คนไม่รู้จักซึ่งหน้าที่ของเราต้องออกมาบอกคนข้างนอกว่ามันมีของดีแบบนี้อยู่ตรงนี้นะ เราในฐานะพีอาร์ของประเทศไทยก็จะพยายามเราเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับคนไทยมากกว่า เช่นโปรดักส์ที่มีการแปลเป็นภาษาไทยแล้วเอามาใช้ให้ง่ายที่สุด “ถ้าพูดถึงปัญหาด้านภาษาตรงนี้แหละคือปัญหาสำหรับเราทั้งที่ใจจริงเราอยากนำทุกอย่างที่มาจากต่างประเทศมาใช้ในประเทศซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เหมือนโปรดักส์บางตัวที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดแล้วคนไทยใช้ยาก ต่อให้ Google เป็นบริษัทใหญ่แค่ไหน แต่เรื่องของการแปลภาษาให้ครบทุกองค์ประกอบมันยังเป็นเรื่องยากอยู่ หากยังไม่เหมาะสมกับคนไทยจริงเราจึงเอามาไม่ได้ “แต่จุดเด่นของคนไทยก็มีเยอะ เช่นเป็นคนที่เปลี่ยนแปลงตัวเองเร็วมากในเรื่องการอัพเดทเทรนด์ต่าง ๆ บางทีเร็วกว่าหรือเทียบเท่าโซนอเมริกาเสียอีก ยิ่งอินเตอร์เน็ตประเทศไทยจัดได้ว่าเร็วติดอันดับต้น ๆ ในประเทศเอเชีย ทำให้ไม่ล่าช้าเวลาทำอะไร เรารับเอาข้อมูลข่าวสารได้ไว หรือแม้กระทั่งตัว YouTube เราก็ติด 10 อันดับของโลกแปลว่าคนไทยดูเยอะมาก เปรียบเทียบกับประชากรของประเทศใหญ่อย่างบราซิลหรืออเมริกาแล้ว เราจะเห็นว่าคนไทยบริโภคข้อมูลข่าวสารเยอะแค่ไหน “ส่วนโปรดักส์ใหม่ของ Google ที่คนไทยจะได้ใช้เร็ว ๆ น่าจะมีเรื่องของแผนที่อัพเดท เหมือนเวลาที่เราไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นถ้าอยากไปที่ไหนก็คลิ๊กดูรถไฟใต้ดิน เขาจะบอกว่าต้องไปสถานีไหนเปลี่ยนสายอย่างไร เราพยายามทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นที่รถไฟฟ้าของประเทศไทย มันจะช่วยแบ่งเบาปัญหาการจราจรในกรุงเทพได้ แล้วเราเพิ่งอัพเดท Google Translate ไป ซึ่งมันไม่ใช่แบบเก่าแล้วเราใช้ระบบ Machine Translate มันมีสมองกลที่ไม่ได้แปลเป็นคำแต่แปลเป็นประโยคมันเริ่มมีสมองคิดได้ อันนี้เป็นสิ่งที่พวกเราภูมิใจเพราะมีภาษาไทยซัพพอร์ทแล้ว เพราะประเทศเราเป็นประเทศท่องเที่ยว Google Translate จึงสำคัญ “ในอนาคตตัวสายใยเองอยากนำเทคโนโลยีมาให้คนไทยใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราไม่ได้เป็นแค่สำนักงาน Google ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยอย่างเดียว แต่เราต้องการทำประโยชน์ให้กับคนไทย SME หรือ Startup ไทยด้วย นั่นคือวิชั่นที่จะนำเทคโนโลยีและประเทศประสบความสำเร็จไปด้วยกัน”
Did You Know
คุณสายใยเรียนจบการศึกษา ระดับมัธยมปลายโรงเรียน ดิ อเมริกัน สคูล ออฟ แบงค็อก, ปริญญาตรีด้านสาขาวิชา ภาษาอังกฤษธุรกิจ Arts (BA) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, ปริญญาโท การประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก • งานอดิเรกของเธอคือการดำน้ำและเลี้ยงสุนัข