มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ

มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวัน พฤติกรรมผู้บริโภคต่าง ๆ ย่อมเปลี่ยนแปลง คุณค่าของบางสิ่งอาจลดทอนลงไป แต่ในขณะเดียวกันบางอย่างก็เพิ่มเข้ามา ทั้งหมดล้วนขึ้นอยู่กับมุมมองในการใช้งานเทคโนโลยีว่ามีการเปิดกว้างในการยอมรับและเลือกใช้มากน้อยแค่ไหน และเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนบทบาทกับวงการธุรกิจอย่างไร วันนี้เราจะมาพูดคุยกับคุณนก มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ CEO สาวไฟแรงแห่ง Garena ประเทศไทย ที่จะเปลี่ยนมุมมองในการเล่นเกมให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

จุดเริ่มต้นของ Garena Thailand Garena Thailand
เป็นผู้ให้บริการเกมในประเทศไทย ปัจจุบันนี้มีเกมที่เปิดให้บริการมากมายมีทั้งบนแพลตฟอร์ม PC แล้วก็ Mobile ภาพรวมของผู้ใช้บริการในประเทศไทยมี Register User บน PC ประมาณ 30 ล้าน ในขณะที่ฝั่ง Mobile ก็อยู่ที่ 10 กว่าล้าน เกมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตอนนี้ก็ต้องเป็น R.O.V. ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก ทั้ง ๆ ที่เราเพิ่งเปิดตัวได้เพียงแค่ประมาณ 6 เดือนเท่านั้นเอง แต่เราก็ได้มีการฉลองครบ 10 ล้านดาวน์โหลดไปเมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มเป้าหมายของเราจากที่เป็นเด็กกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเล่นเกมกันอยู่แล้ว ก็ได้ขยับขยายเข้ามามีพื้นที่การตลาดในผู้ใหญ่วัยทำงานและบุคคลทั่วไปเพิ่มมากขึ้น ด้วยแพลตฟอร์มบนสมาร์ทโฟนทำให้มีการเข้าถึงเกมได้ง่าย ซึ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบันที่ใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนเกือบจะตลอดทั้งวัน อีกทั้งการดำเนินเกมไม่ได้ใช้เวลามาก อาจจะแค่ 10-15 นาที ทำให้สามารถใช้เวลาว่างเล่นตอนไหนที่ไหนก็ได้ ทำให้ R.O.V. ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก

การีน่าเข้ามาในประเทศไทยได้ยังไง
จริง ๆ แล้วต้องบอกว่าบริษัท Garena บริษัทแม่เนี่ย เริ่มต้นที่สิงคโปร์นะคะ เปิดตัวครั้งแรกช่วงปี 2009 แล้วเราก็ขยายไปหลายประเทศมากเลยแหละ ประเทศไทยนี่เป็นประเทศสุดท้ายเป็นตลาดสุดท้ายที่เข้ามา ซึ่งเราเข้ามาในเมืองไทยปี 2012 เหตุผลที่เข้ามาจับตลาดไทยก็เพราะว่า Garena เป็นบริษัทที่นำเข้าเกมระดับโลกแล้วเราก็มองว่าตลาดเมืองไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เนื่องด้วยจำนวนประชากรที่ขนาดกำลังดีแล้วก็ด้วยตัวเศรษฐกิจเองก็มีความพร้อมหลาย ๆ อย่าง ก็เลยมองว่าเป็นตลาดที่ควรเข้ามาเล่น ซึ่งเราเข้ามาด้วยธุรกิจเกมเป็นหลัก แต่หลังจากตรงนั้นเราก็ขยายแล้วก็ทำอย่างอื่นอีกเยอะมากกับตลาดในไทยค่ะ นกได้มีโอกาสร่วมงานกับทาง Garena จริง ๆ ก็ตั้งแต่แรกเริ่มที่ Garena เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเมื่อปี 2012 เลยค่ะ ขอเรียนก่อนว่าตัวนกเองกับผู้ก่อตั้ง Garena เราเป็นเพื่อนสมัยเรียนด้วยกันตอนนกเรียน MBA ที่ Stanford ก็รู้จักกันเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เขาก็เคยบอกเราอยู่แล้วว่าวันไหนที่เขาเข้ามาจับตลาดที่ไทยตัวเขาก็อยากให้เราเข้ามาช่วย แต่บทบาทตอนเริ่มแรกเลยเราเป็นเหมือนคนที่คอยให้คำปรึกษา เป็น External Consultant ก็คือช่วยในเรื่องการก่อตั้งบริษัท ประสานงานระหว่างประเทศในตอนเริ่มต้น พอทำไปทำมาเราก็เริ่มสนุก แล้วหลังจากที่เราได้คุยกับเขาก็เริ่มเข้าใจวิสัยทัศน์ของเขาว่า จริง ๆ ธุรกิจของ Garena ไม่ได้มองว่าจะทำแค่ธุรกิจเกม เรามองว่าเราอยากทำธุรกิจด้านอื่น ๆ ด้วย ก็เลยตัดสินใจมาทำเต็มตัว ตอนนี้ก็ทำมาได้ 3 ปีกว่าแล้วค่ะที่มาอยู่ตรงจุดนี้

Garena นอกจากเกมแล้ว ยังมีอะไรอย่างอื่นให้พูดถึงอีกบ้าง
อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ Garena เป็นบริษัทที่ถูกพูดถึงเกี่ยวกับเกม แต่จริง ๆ แล้ว เราก็มีบริการอื่น ๆ เพิ่มเติมนอกจากเกมอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งในส่วนของ e-Payment เรามีโปรดักส์ที่ชื่อว่า Airpay ระบบชำระเงินออนไลน์ ซึ่งก็เริ่มจากธุรกิจเกมก่อน หลังจากที่เราเข้ามาจับตลาดเกมในเมืองไทยก็ได้กระแสตอบรับที่ดีมาก ๆ ลูกค้าให้เสียงตอบรับกลับมาค่อนข้างดี ในขณะเดียวกันเราก็มีการทำพาร์ทเนอร์กับร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ทั่วประเทศเลย ณ ตอนนั้นมีร้านที่อยู่ในเครือที่ใช้บริการเราประมาณสองหมื่นกว่าร้านทั่วประเทศ และอีกอย่างหนึ่งคือเกมของเราสามารถดาวน์โหลดมาเล่นได้ฟรี ๆ เลย แต่ว่าถ้าอยากให้คาแรกเตอร์มันสวยขึ้น อยากได้อะไรที่มันเพิ่มขึ้นเขาก็ต้องซื้อเพิ่มในเกม แล้วเราเล็งเห็นว่า ณ ตอนนั้นช่วงเวลาย้อนไปประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือน้อง ๆ ต้องหยุดการเล่นเกม เดินออกไปที่ร้านขายของชำ ซื้อการ์ดและหาเหรียญมาขูด ๆ เพื่อนำเลขไปเติม มันไม่สะดวก ก็เลยกลับมานั่งคิดกันว่าเราทำอย่างไรกับตรงนี้ได้บ้าง จะเอาเทคโนโลยีมาทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นได้อย่างไร บวกกับตอนนั้นเรามีร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ที่อยู่ในเครืออีก 2 หมื่นกว่าร้าน เราน่าจะทำอะไรกับมันได้ เลยเป็นที่มาของการเริ่มต้นธุรกิจ Airpay เราต้องการให้กระบวนการของการเติมเงินเกมให้มีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นให้มันเป็นออนไลน์มากขึ้น แต่พอเราเริ่มทำตรงนั้นปุ๊ปเนี่ยเราก็เลยมองว่าเราก็ไม่จำเป็นที่ต้องจำกัดไว้แค่ธุรกิจเกมก็ได้นะ เราสามารถให้บริการอย่างอื่นได้อีก ก็เลยเป็นที่มาในการเพิ่มเติมบริการอย่างอื่นเข้าไป ปัจจุบันตัว Airpay ทำได้หลายอย่าง ทำ App เกม ทำ App มือถือได้ เติมเกม จ่ายค่าน้ำค่าไฟ รวมทั้งมีการลิ้งก์เข้าไปในไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตั๋วหนัง การเดินทาง ก็สามารถจองตั๋วต่าง ๆ ผ่านระบบของ Airpay ได้หมดเลยค่ะ

จับกระแส e-Commerce e-Commerce
สำหรับ Garena แล้วนั้นเป็นธุรกิจล่าสุดที่เพิ่มเติมเข้ามา จริง ๆ แล้วเราเร่งทำโปรดักส์ตัว Chopee มาเป็นเวลากว่าสองปีแล้วค่ะ ที่ต้องเร่งมือเพราะเราคาดการณ์กันว่าตลาด e-Commerce เนี่ย มันมาแน่ ๆ พอรู้แล้วว่าจะทำก็ต้องมาคิดต่อว่าถ้าอยากจะเข้าไปเป็นผู้เล่น เราจะสามารถเข้าไปตรงจุดไหนได้บ้างมากกว่า เพราะยังไงธุรกิจรูปแบบนี้มันต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อประมาณสองปีก่อนในตลาด e-Commerce ยังไม่มีผู้เล่นที่เห็นความสำคัญของตลาดบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน ส่วนใหญ่ยังเป็นแบบ Web Base คือบนคอมพิวเตอร์ เราเลยมองว่าตรงนี้น่าจะเป็นจุดที่เราเข้ามามีส่วนร่วมได้ ทำให้เกิดเป็น Shopee เรียกได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มแรก ๆ เลยที่เป็น Mobile Centric การออกแบบ UX UI ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นเพื่vรองรับการใช้งานบนสมาร์ทโฟนได้อย่างคล่องแคล่วและสะดวกสบายที่สุด ประกอบกับยังไม่มีผู้เล่นเจ้าไหนที่ให้บริการครบทุกรูปแบบจริง ๆ บนแอพฯ เดียว แพลตฟอร์มเดียว ทำให้เราสามารถใส่ฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ทำให้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้นลงไปอย่างเช่น เรามีฟังก์ชั่นแชทอยู่ภายในแอพฯ เลย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าผู้ซื้อที่เข้ามาใช้บริการแล้วสนใจสินค้าตัวใด พวกเขาเหล่านั้นสามารถกดปุ่มแชทแล้วติดต่อเจรจาซื้อขายหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้เลยโดยไม่ต้องย้ายไปแชตบนแพลตฟอร์มอื่น รวมไปถึงระบบของการจ่ายเงิน ทุกอย่างเสร็จสำเร็จอยู่ในแอพฯ เดียวเลย เป็นจุดที่เราคิดว่ามาเติมเต็มให้กับการบริการที่ครบรูปแบบ แต่ถือเป็นจุดแข็งของเราเลยหรือไม่ อยากให้เรียกว่าเป็นจุดแตกต่างจะดีกว่าค่ะ

เส้นทางชีวิตนักบริหารสาว
ก่อนหน้าที่นกจะเข้ามาทำงานกับทาง Garena นกเองเป็น Consultant ที่ปรึกษากลยุทธ์การตลาดมาก่อนค่ะ ทำให้เราได้มองเห็นถึงแนวคิด การวางกลยุทธ์การตลาด ตลอดจนการดำเนินธุรกิจ ไปจนถึงการบริหารทรัพยากรที่อยู่ของในแต่ละบริษัทที่เราเคยให้คำปรึกษา ทำให้เรานำมาประยุกต์ใช้ได้กับการที่ เรามาเป็นผู้บริหารเองในวันนี้ ซึ่งรูปแบบการบริหารงานเราก็อิงจากคนนั้นคนนี้มา ผสมผสานจนเป็นของเรา การทำงานของนกเนี่ยจะเป็นแบบพี่-น้อง เพราะนกคิดว่าการทำงาน ถ้าเราทำด้วยความสบายใจ เราจะทำงานได้อย่างเต็มที่มากกว่า อีกอย่างด้วยความที่ Garena เราค่อนข้างมีความเป็น Startup เพราะฉะนั้นการทำงานจึงเป็นไปในรูปแบบของพี่น้องผองเพื่อนเสียมากกว่า ไม่ได้มีระบบระเบียบขั้นตอนที่เคร่งครัดมาก คือเราคิดว่าขั้นตอนพวกนั้นมันมีส่วนในการจำกัดมุมมอง ความคิดสร้างสรรค์ และอะไรหลายอย่าง ซึ่งการทำงานในแบบของเราจะค่อนไปทางนั้นมากกว่า จึงมีกรอบความคิดที่เปิดกว้างเวลาที่มีอะไรเราก็เปิดใจคุยกันเลย ด้วยยุคสมัยที่เราต้องปรับตัวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ถ้ามีปัญหาเราก็ต้องรีบหาทางออกให้ได้โดยเร็วที่สุด การทำงานรูปแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าจะเหมาะที่สุดด้วยค่ะ ปัจจุบันนกดูแลในทุกภาคส่วนเลยของ Garena ที่มีการดำเนินการในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกม ตัว e-Payment หรือว่า e-Commerce นกจะต้องดูแลทั้งหมด รวมถึงฟังก์ชั่นที่เป็น Corporate ฟังก์ชั่น อย่างการเงิน บุคลากร รวมทั้งฝ่ายกฎหมาย นกจะเป็นคนดูแลทั้งหมดเลย ฟังดูเหมือนดูส่วนหลัก ๆ ทั้งหมดเลยเหมือนกันนะ แต่ต้องบอกเลยว่าเรามีทีมงานที่เข้มแข็งในการช่วยจัดการและไว้วางใจในการดูแล ไม่ว่าจะเป็นส่วนของ Operation ส่วนของธุรกิจ หรือว่า Corporate ทำให้นกไม่ต้องกังวล และสามารถดูแลได้ทั่วถึงทุกภาคส่วนของบริษัทเลยค่ะ

นวัตกรรมกับสังคมไทย และ Thailand 4.0 กับภาคธุรกิจ
สำหรับ Thailand 4.0 นกมองว่ามันเป็น Move ที่ดีนะคะ และน่าจะนำพาประเทศไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียม และสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ในปัจจุบันนี้ถ้าเรามองไปประเทศรอบข้างในอาเซียนด้วยกันแล้วจะเห็นได้ว่า ทิศทางของเศรษฐกิจค่อนข้างที่จะเป็นไปในด้านบวก ด้วยความที่รัฐบาลของประเทศเหล่านั้นสนับสนุนตรงนี้มาก เพราะฉะนั้นเมื่อมีการพูดถึงและผลักดัน Thailand 4.0 นกว่ามันก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ส่วนตัวนกเองก็คิดว่าการที่จะทำให้ส่วนนี้เกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ภาคส่วน ภาครัฐก็ส่วนนึง ภาคเอกชนก็เป็นอีกส่วนนึง ที่จะต้องเข้ามาช่วยกันผลักดันให้มันเกิดขึ้น ทางภาครัฐอาจจะเป็นผู้นำเสนอสิ่งต่าง ๆ แต่ในด้านของการปฏิบัติก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทางภาคเอกชนและหน่วยงานส่วนต่าง ๆ ร่วมกันลงมือผลักดัน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้กับทางประชาชนเข้าใจ เพราะว่า Thailand 4.0 เป็นเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม เราจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ยังไงว่าการเปิดรับสิ่งเหล่านี้เข้ามาแล้วจะทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนตัวนกคิดว่าการที่จะทำให้ Thailand 4.0 เกิดขึ้นได้ นั่นคือความท้าทายค่ะ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนมากยิ่งขึ้น มันทำให้เปิดความคิดว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ปัจจุบันมันมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นแล้ว การตลาดที่เคยมีอยู่แต่ในโลกออฟไลน์ พอมาถึงยุคออนไลน์ผ่านการดำเนินการจากเทคโนโลยี มันทำให้เปิดโอกาสในหลาย ๆ อย่าง หลาย ๆ ตลาดที่เราสามารถเข้าถึงได้ในมุมมองของธุรกิจ นกคิดว่าเมื่อโลกมันหมุนไปทุกวันทุกสิ่งเปลี่ยนไปไวมากขึ้นเรื่อย ๆ ใครที่สามารถเปิดรับสิ่งแปลกใหม่เหล่านี้และปรับตัวเข้าหามันได้ไวกว่าคนอื่น จะเป็นคนที่ได้เปรียบอย่างมากในโลกธุรกิจ และสามารถยืหยัดในธุรกิจของตัวเองไปได้ค่อนข้างไกล แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องตระหนักด้วยว่า อาจจะมีบางคนบางกลุ่มที่ยังอาจจะยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ หรืออาจจะไม่มีโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ เราจะสามารแบ่งปันความรู้และช่องทางการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านั้น Thailand 4.0 จะเกิดขึ้นได้จริง ๆ ต้องเกิดขึ้นทุกภาคส่วนของประเทศค่ะ ไม่อย่างนั้นคงเป็นการพูดถึงแบบลอย ๆ แต่ไม่ได้ลงลึกไปเจาะถึงกลุ่มผู้ประกอบการอย่างแท้จริง e-Sport กีฬาของคนรุ่นใหม่ในแต่ละธุรกิจล้วนมีความท้าทายในแต่ละมุมมองของแต่ละคน Garena เราทำธุรกิจแรกเริ่มเลยมาจากเกม เรามองว่าเกมเป็นสื่อทั่วไปเทียบเท่ากับสื่อโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ ถ้านำไปใช้ถูกหรือผิดก็ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเหล่านั้น ในส่วนของเราที่เป็นผู้ให้บริการก็ถือเป็นความรับผิดชอบที่จะต้อประชาสัมพันธ์และส่งมอบสื่อเพื่อสอน รวมถึงปรับพฤติกรรมของเด็กที่ยังวุฒิภาวะไม่ถึงด้วยสื่อที่เรามี นำเสนอสื่อออกไปถึงการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากเกม การเล่นเกมอย่าสร้างสรรค์ การเล่นเกมอย่างพอเหมาะพอควรเป็นอย่างไร เราผลักดัน e-Sport หรือก็คือการแข่งขันเกมในรูปแบบของกีฬา โดยนำคอนเซ็ปต์ของ e-Sport มานำเสนอให้เด็กไทยได้เข้าใจว่าการเล่นเกมที่ดีควรเป็นอย่างไร คนที่ประสบความสำเร็จจากการเล่นเกมมีมุมมองทัศนคติแบบไหน เราก็จะนำกลุ่มคนเหล่านั้นที่เป็นเสมือนไอดอลของเด็ก มาทำกิจกรรมพูดคุยแชร์ประสบการณ์ว่ามีการจัดสรรเวลาอย่างไร ต้องวางตัวกับสิ่งรอบข้างแบบไหน รวมถึงว่าทำไมเขาจึงประสบความสำเร็จในชีวิตควบคู่ไปกับการเล่นเกมได้ ด้วยเทคโนโลยีที่เรามีทำให้เราสามารถเข้าหากลุ่มผู้ใช้บริการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

คำแนะนำสำหรับกลุ่มเป้าหมายหลัก
ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน Garena Thailand ตอนนี้มีคนให้ความสนใจเป็นอย่างมากในการเป็นตัวอย่างเป็นแนวทางที่ดี รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจของคนไทยหลาย ๆ คน ด้วยความที่เราอาจจะได้เจอกับผู้คนหลากหลายช่วงวัย ซึ่งส่วนมากจะเป็นเด็กนะคะ ตัวนกเองมีโอกาสที่จะได้พูดคุยกับเยาวชนในหลาย ๆ ครั้งเราก็จะแนะนำเค้าเสมอว่าให้หาสิ่งที่ตัวเองชอบให้เจอ แล้วก็ให้ลองลงมือทำอย่ากลัวที่จะต้องเสี่ยง อย่ากลัวที่จะลองทำ ยกตัวอย่างบางคนมีความสนใจในด้านเกม แต่อาจจะยังมีความไม่มั่นใจ กลัวสังคมยังไม่เปิดกว้างมากพอ งานที่รองรับในอนาคตจะมีบ้างไหม นกเชื่อว่าถ้าหากคุณชอบและสนใจสิ่งนั้นอย่างจริงจังแล้วเนี่ย คุณลงมือทำไปเลย แต่ขออย่างนึงคือการลงมือทำนั้นต้องทำให้เต็มที่ทำให้สุด อย่าไปทำครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่อย่างนั้นคุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าสิ่งนั้นมันใช่หรือไม่ใช่สำหรับคุณ ถ้าทำไปเต็มที่แล้วพบว่ามันไม่ใช่ อย่างน้อยที่เราได้คือประสบการณ์ ถ้าเราล้มก็ไม่เป็นไรแต่ล้มแล้วเราต้องลุก ข้อดีของเด็กในกลุ่ม Gen Y คือการที่มีความกระตือรือร้นมาก ๆ ทักษะในการเรียนรู้ของเขาจะมีพร้อมมาก เพราะโตมากับบรรดาเทคโนโลยีทั้งหลาย สิ่งที่พวกเขาขาดไปก็จะเป็นเรื่องของความอดทน อาจจะเป็นเพราะว่าทุกวันนี้ทุกอย่างผ่านเข้ามาอย่างรวดเร็วและสะดวกมากยิ่งขึ้น จึงทำให้บางครั้งอาจจะขาดซึ่งความอดทนอดกลั้นในการพยายามลงมือทำ นี่คือสิ่งที่อยากแนะนำให้กับคนไทยในยุคปัจจุบันค่ะ กีฬา e-Sport กับสังคมไทย ต้องบอกก่อนว่าตัวกีฬา e-Sport สำหรับประเทศไทยหรือว่าประเทศในแถบอาเซียนเราเองเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ แต่จริง ๆ แล้วทางฝั่งยุโรปหรือแม้แต่ในจีนเองเนี่ย ค่อนข้างอยู่ตัวและได้รับการยอมรับมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นมาเนี่ยก็อาจจะยังมีคนที่ไม่เข้าใจ ยังไม่ให้การยอมรับ รวมถึงอาจจะยังมีคำถามอยู่ เราก็คงต้องใช้เวลาสักนิดนึงในการอธิบายกับหลาย ๆ ฝ่ายที่ยังมีความไม่เข้าใจกับสิ่งนี้มากนัก นกคิดว่าสิ่งที่เราต้องทำคือการประชาสัมพันธ์ให้มีความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับกีฬา e-Sport มันไม่ใช่แค่การเล่นเกม ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าในสังคมไทยเวลาที่เราพูดถึงเกม อาจจะมี Image ที่อาจจะไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ แต่คอนเซ็ปต์ของ e-Sport เนี่ยมันจะมีความเป็นมาตรฐาน ในการแข่งขันเช่นเดียวกับกีฬาทั่วไป การฟอร์มทีมนักกีฬาของ e-Sport ก็ไม่ต่างกับการตั้งทีมในกีฬาอื่น ๆ เลย มีการฟอร์มทีม เก็บตัว ฝึกซ้อม มีโค้ช มีการวางแผน รวมถึงตัวนักกีฬาเองก็ต้องมีทักษะในการทำงานเป็นทีม ทักษะการสื่อสารกับเพื่อนร่วมทีม ในมุมนี้ทางผู้ใหญ่หลายท่านอาจจะยังไม่เห็นเท่าที่เราอยากให้เค้าเห็น ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องสื่อสารตรงนี้ออกมา เพราะว่ากันตามตรงแล้วความสามารถทางด้าน e-Sport ของคนไทย ก็ไม่แพ้ทีมจากต่างประเทศใด ๆ เลย ตัวอย่างเช่นการแข่งขัน Fifa Online 3 ที่คนไทยไปคว่ำแชมป์เก่าอย่างเกาหลีใต้ คว้าแชมป์โลกมาครอง หรือว่าจะเป็นการแข่งขัน R.O.V. ล่าสุดที่ไทยไปคว้าแชมป์พร้อมเงินรางวัลอีกมูลค่านับล้านบาท ซึ่งเงินรางวัลเหล่านั้น พวกเขาก็สามารถนำไปต่อยอดไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา หรือว่าลงทุนธุรกิจ มุมมองด้านนี้สำหรับบ้านเราอาจจะยังไม่ได้เปิดกว้างมากพอ ก็คงต้องใช้เวลาสักหน่อย แต่ก็เชื่อว่าหลังจากนี้ประเทศไทยจะสามารถเข้าไปเป็นผู้เล่นหลักในการแข่งขันกีฬา e-Sport ระดับโลกได้แน่นอนค่ะ 

Technologies on Everyday Life