มุมมอง วัฒนธรรมกับการพัฒนา (1)

มุมมอง วัฒนธรรมกับการพัฒนา (1)

แม้ว่าวัฒนธรรมเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมนุษย์ และการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ไม่ได้ให้ความสำคัญกับมิติวัฒนธรรมมากนัก วัฒนธรรมมักจะถูกแยกออกจากการพัฒนาประเทศ หรือถูกให้ความสำคัญในระดับรอง เมื่อเทียบกับมิติอื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาและทำให้การดำเนินนโยบายการพัฒนาขาดประสิทธิผล

ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงเป็นที่มาของวาระในระดับโลกที่จะผนวกวัฒนธรรมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ผลักดันให้วัฒนธรรมเป็นประเด็นสำคัญของการพัฒนา โดยพยายามทำให้วัฒนธรรมมีส่วนในการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น Rio+20 Outcome Document เป็นต้น

ในความเป็นจริง ผมได้เสนอแนวคิด Techy –Fuzzy เมื่อ 20กว่าปีแล้ว มีใจความว่า ในประวัติศาสตร์ สังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านของเทคโนโลยี (Techy) และด้านปรัชญาสังคม (Fuzzy) เรื่อยมานับตั้งแต่อดีต หากสังคมใดมีผู้ใช้ปัญญาทั้งในด้านเทคโนโลยี และการใช้ปรัชญาในการดำเนินชีวิตของคนในสังคมและระบบสังคมที่สอดคล้องกัน สังคมนั้นจะเจริญก้าวหน้า ทั้งทางด้านเทคโนโลยีและความสงบสันติของพลเมือง

ผมได้ย้ำแนวคิดนี้อีกครั้งในช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ผมได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรกล่าวเปิดในการสัมมนาเรื่อง นโยบายและแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 จัดโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงวัฒนธรรม ในงานสัมมนาดังกล่าว ผมได้นำเสนอมุมมองของผม เกี่ยวกับนโยบายวัฒนธรรมของประเทศและแนวคิดที่เชื่อว่าจะช่วยให้วัฒนธรรมมีส่วนในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิผลและยั่งยืนไว้หลายประการ เช่น

1. แยกส่วน หรือ บูรณาการ (Separation vs Integration)
วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นทุนทางเศรษฐกิจ สำหรับกิจกรรมการผลิตและบริการ ช่วยสร้างผลผลิตสู่ภาคอื่น เช่น การศึกษา การจ้างงาน การท่องเที่ยว รวมทั้งยังสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาทางสังคม เช่น ทำให้เกิดการรวมกลุ่มทางสังคม การสร้างระบบค่านิยมใหม่ การพัฒนาความหลากหลายทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของชาติและกลุ่มวัฒนธรรมต่าง ๆ การสร้างความเป็นปึกแผ่นทางสังคม และการสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ เป็นต้นอย่างไรก็ตามสำหรับประเทศไทย การพัฒนาในอดีตให้ความสำคัญกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก นโยบายวัฒนธรรมของไทยค่อนข้างแยกส่วนออกจากการพัฒนาด้านอื่น แม้จะมีความพยายามนำวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจบ้าง เช่น กระทรวงวัฒนธรรมที่คัดเลือกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (CPOT) หรือ “ของดีบ้านฉัน” แต่การนำวัฒนธรรมมาพัฒนาเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัด ยังขาดการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ และขาดการบูรณาการนโยบายวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาประเทศในด้านอื่น เช่น การพัฒนาวัฒนธรรมทางการเมือง วัฒนธรรมประชาธิปไตย การใช้วัฒนธรรมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือปัญหาต่าง ๆ ทางสังคม เป็นต้น 

ผมจึงเสนอว่าประเทศไทยควรส่งเสริมวัฒนธรรมหรือใช้วัฒนธรรมไปมีส่วนในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การศึกษา การสื่อสาร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การเมือง การบริหาร สอดแทรกมิติวัฒนธรรมในภารกิจของกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาผมได้เสนอแนะการบูรณาการวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ เสนอหัวข้อวิจัยต่าง ๆ เพื่อบูรณาการนโยบายวัฒนธรรมกับนโยบายด้านอื่น ๆ อาทิ 
• ยุทธศาสตร์ทางวัฒนธรรม เพื่อนำประเทศไทยสู่เศรษฐกิจอยู่ดีกินดี 
• ยุทธศาสตร์ทางวัฒนธรรม เพื่อป้องกันความขัดแย้งในประเทศไทย 
• ยุทธศาสตร์การผสานค่านิยมร่วมสมัยในสังคมไทยให้สอดคล้องกับค่านิยมประชาธิปไตย 
•การบูรณาการวัฒนธรรมอิสลามและวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย เป็นต้น

2. จุลภาค หรือ มหภาค (Micro Perspectives vs Macro Perspectives)
ที่ผ่านมานโยบายวัฒนธรรมหรือการวิจัยเชิงวัฒนธรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากมุมมองจุลภาค เช่น การศึกษาเฉพาะประเพณีใดประเพณีหนึ่ง การศึกษาภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง ๆ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมของหมู่บ้านหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งนโยบายและการวิจัยในระดับจุลภาคเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพราะวัฒนธรรมมีความหลากหลายและซับซ้อน ในแต่ละพื้นที่และชุมชนมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ความเข้าใจวัฒนธรรมระดับจุลภาคจะทำให้เข้าใจสภาพแต่ละพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม

อย่างไรก็ดี การกำหนดนโยบายและการวิจัยในระดับจุลภาคมีข้อจำกัด ทำให้นโยบายวัฒนธรรมขาดพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นการพัฒนาอย่างกระจัดกระจาย ไม่เกิดการพัฒนาในเรื่องใหญ่หรือเรื่องที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก อาจทำให้การใช้งบประมาณและทรัพยากรขาดประสิทธิภาพ เพราะยากต่อการจัดลำดับความสำคัญ ทำให้ขาดองค์ความรู้ทั่วไป เพราะไม่สามารถนำความรู้เฉพาะในวัฒนธรรมย่อยหนึ่งหรือในชุมชนหนึ่ง ไปประยุกต์ใช้กับวัฒนธรรมหรือชุมชนอื่นได้

ผมจึงเสนอว่า เราควรให้ความสำคัญกับมุมมองมหภาคมากขึ้น กำหนดนโยบายและการวิจัยเชิงวัฒนธรรมในเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีหัวข้อวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ชัดเจน และมีโจทย์ทางวิจัยชุดเดียวกัน โดยอาจมีเป็นหัวข้อจำนวนมากที่แบ่งกันทำตามความถนัด เพื่อให้ชุดวิจัยทั้งกระบวนการสอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากกว่าใครสนใจเรื่องอะไรก็ทำเรื่องนั้น ตัวอย่างเช่น นโยบายวัฒนธรรมเพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูง นโยบายวัฒนธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจน การวิจัยเชิงวัฒนธรรมเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การวิจัยเชิงวัฒนธรรมเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น 

ส่วนการวิจัยวัฒนธรรมในระดับจุลภาค ควรดำเนินการในลักษณะชุดโครงการ ซึ่งมีสาระสำคัญ (Theme) เดียวกัน ในการศึกษาในพื้นที่ต่าง ๆ หรือวัฒนธรรมต่าง ๆ ตั้งสาระสำคัญให้ชัดเจนว่า จะทำอะไรเพื่อช่วยชาติให้เจริญทางวัฒนธรรม หรือเพื่อแสวงหาองค์กรความรู้ทั่วไปที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกพื้นที่ ทุกสถานการณ์ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ หรือทำในเรื่องที่แคบและเฉพาะเจาะจงมากเกินไป เป็นต้น

นอกจากมุมมองในประเด็นเหล่านี้แล้ว ยังมีมุมมองเกี่ยวกับวัฒนธรรมกับการพัฒนาอีกหลายประเด็นที่ผมได้กล่าวถึง ซึ่งผมจะมาแบ่งปันต่อในโอกาสต่อไปครับ 

องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ผลักดันให้วัฒนธรรมเป็นประเด็นสำคัญของการพัฒนา ทำให้วัฒนธรรมมีส่วนในการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น Rio+20 Outcome Document