The  Legend of the tattoo

The Legend of the tattoo

เรื่องราวศิลปะนั้นไม่จำกัดอยู่ที่พู่กันกับแผ่นกระดาษ ความชื่นชอบทางศิลปะได้แผ่แตกแขนงออกไปในหลาย ๆ มุมมอง บางคนชอบงานศิลปะที่เป็นภาพถ่าย บ้างชอบงานศิลปะที่เกี่ยวกับเสื้อผ้า และบางพวกชอบงานศิลปะที่เป็นงานออกแบบ แต่มีศิลปะอยู่แนวหนึ่งเป็นเรื่องราวที่ผมจะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ ซึ่งผู้ชื่นชอบนั้น เลือกเอาผลงานที่เขาชื่นชอบ มาประดับบนร่างกาย และสิ่งนั้นไม่ใช่เรื่องใดอื่นครับมันคือศิลปะการ “สัก” นั่นเอง

ประวัติที่มาของการสักนั้น มีมานานหลายช่วงกาลเวลาครับ ซึ่งลวดลายแต่ละรูปแบบล้วนแตกต่างที่มากันออกไปทั้งเชื้อชาติและวัฒนธรรม แต่ต้นกำเนิดลายสักของหลาย ๆ ประเทศ ก็มีที่มาไม่ค่อยจะดีสักเท่าไร ดังเช่นในประเทศญี่ปุ่น ก่อนสมัยคริสตกาลรอยสักนั้นจะมีไว้ใช้เพื่อแยกประเภทบุคคลไม่ว่าจะเป็น เพชฌฆาต สัปเหร่อ หรือ อาชญากร

ข้ามมายังฝั่งของยุโรปประเทศกรีกช่วงต้นคริสตกาล ก็มีการสักลวดลายให้กับ ทาส และอาชญากร เช่นกัน แต่เป็นการสักลงบนใบหน้า ซึ่งต่อมาได้ถูกยกเลิกออกไป ที่ยกเลิกออกไปนั้นเนื่องจากมีความเชื่อว่าการสักลงบนใบหน้านั้น เป็นการดูหมิ่นพระเจ้า แต่ถ้าเป็นสมัยปัจจุบันคนที่กระทำเช่นนี้คงโดนฟ้องในเรื่อง Human Rights ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ย้อนกลับมาในปัจจุบันนั้น มีการสักลวดลายหลายแบบ ล้วนมีที่มาและความสวยงามที่แตกต่างออกไป วันนี้ผมจึงอยากมานำเสนอเรื่องราวของรอยสักแต่ละชนิดให้ท่านผู้อ่านได้รับชมกันครับ

Tribal Tattoo หรือรอยสักรูปลักษณ์ชนเผ่า โดยส่วนใหญ่นั้นรอยสักประเภทนี้จะมีอยู่ในประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะ เป็นชนเผ่า มีอารยธรรมที่ติดอยู่กับภูมิประเทศที่เป็นทะเล ดังเช่น ชนพื้นเมืองโพลีนีเซีย (Polynesian) อันประกอบไปด้วย ชาวเมาลี, ตาฮิตี, ตองก้า, ซามัว หรือ ฮาวาย ซึ่งรวมไปถึงชนในแถบประเทศปาปัวนิวกีนี และฟิลิปปินส์

รอยสักส่วนมากนั้นจะเน้นเป็นเส้นโค้งพาดผ่าน ซึ่งส่วนมากผู้ที่สักจะเป็นผู้ชาย อันแสดงความหมายถึงความแข็งแกร่ง และความเป็นชนชาตินักรบ ทั้งนี้ในรอยสักอย่างชนชาว เมาลี ฮาวาย ตองก้า หรือซามัว นั้น รูปแบบการสักยังบ่งบอกถึงที่มาของครอบครัว การให้เกียรติแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ครอบครัวหรือชนกลุ่มใดที่สืบเชื้อสายมาจากหัวหน้าเผ่าในอดีตก็จะยิ่งมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันนี้รูปแบบดังกล่าว ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นในรูปแบบของ Modern Tribal ซึ่งลวดลายมีความงดงามร่วมสมัยมากขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์บางอย่างของเดิมไว้ แต่ที่ไม่เปลี่ยนไปเลยคือ เนื้อหาที่อยู่บนรอยสักนั่นเอง

Old School Tattoo หรือที่เรียกกันว่า “รอยสักนักเดินเรือ” ที่ได้ชื่อนี้เป็นเพราะมีที่มาจากนักเดินเรือต่าง ๆ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นักเดินเรือเหล่านี้ได้เดินทางไปยังที่ต่าง ๆ รอบโลกด้วยเรือโดยสาร เรือขนส่งสินค้า หรือจะเรือรบอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ลูกเรือเหล่านี้ได้ไปพบก็คือ วัฒนธรรมการสักในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในแถบหมู่เกาะ นิวซีแลนด์ ซามัว ฮาวาย จึงได้ริเริ่มการสักขึ้นมาบ้าง (กล่าวกันว่าการสักแพร่หลายไปทั่วโลกจากนักเดินเรือเหล่านี้) ซึ่งไม่ได้เป็นการสักรูปแบบชนเผ่าเหมือนชาวเกาะเหล่านั้น แต่เป็นสักในรูปแบบประสบการณ์ระหว่างการเดินทาง นำประสบการณ์ที่ได้พบเจอหรือสิ่งต่าง ๆ ที่ได้เห็น มาดัดแปลงเป็นศิลปะให้ปรากฏอยู่บนเรือนร่าง ซึ่งรอยสักแนว Old School นี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ส่วนปัจจุบันนั้นมีรูปแบบที่พัฒนาต่อ ๆ มาเรียกว่า New School Tattoo ซึ่งการสักนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเนื้อหามาจากการเดินทางของนักเดินเรืออีกต่อไป เป็นเรื่องราวที่มีสีสันฉูดฉาด มีความลึกระดับมิติ และมีความทันสมัยมากขึ้น

Portrait Tattoo เป็นรูปแบบรอยสักสมัยใหม่ที่มีความเสมือนจริง ช่างสักนั้นจะต้องเป็นศิลปินที่มีฝีมืออย่างมาก เพราะเป็นการสักที่เสมือนการวาดภาพลงไปบนผิวหนัง ส่วนใหญ่จะเป็นรูปเสมือนจริง ไม่ว่าจะเป็นรูปสัตว์ สิ่งของ หรือใบหน้าของบุคคล ที่มีความสำคัญต่อคน ๆ นั้น

Japanese Tattoo หรือที่เรียกว่า Irezumi จากที่กล่าวไว้ข้างต้น แรกเริ่มเดิมทีรอยสักของญี่ปุ่นนั้นมีไว้เพื่อแยกประเภทบุคคลไม่ว่าจะเป็น เพชฌฆาต สัปเหร่อ หรือ อาชญากร ต่อมายุคสมัยได้เปลี่ยนไป ผู้คนจึงได้หันมาสักเพื่อความสง่างามแห่งตน รอยสัก
ของแต่ละคนที่เลือกก็จะแตกต่างกันออกไป บ้างเป็นรูปเทพ รูปสัตว์ เสือ มังกร หรือ อสูรกายปีศาจที่น่าเกรงขาม แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนเป็นลายบังคับของ Irezumi ก็คือ รูปลายเกลียวคลื่น อันเป็นลักษณะเฉพาะของประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง แต่ผู้คนที่สักส่วนใหญ่จะเป็นนักเลงหรือยากูซ่า Irezumi ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น รูปแบบการสักนั้นหาช่างฝีมือแบบโบราณได้น้อยลงไปในทุก ๆ ที ซึ่งปัจจุบันนั้นได้มีพิพิธภัณฑ์รอยสักโบราณ ซึ่งเป็นการเก็บรักษาผิวหนังที่มีรอยสักจากผู้ที่เสียชีวิต มาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั่นเอง

Thai Tattoo หรือการสักยันต์ของบ้านเรา เป็นการสักที่เชื่อในเรื่องการลงคาถา เพื่อความเมตตา แคล้วคลาด บ้างก็เพื่อป้องกันภยันตรายที่จะมาถึงตัว วิธีการสักนั้นก็จะใช้เหล็กแหลมจุ่มลงไปในหมึกเขียวหรือน้ำมัน แล้วนำมาแทงวาดลวดลายเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ เริ่มต้นด้วยยันต์เก้ายอด แล้วตามไปยังลวดลายอื่น ๆ อาทิ ยันต์ 5 แถว หนุมาน เสือเผ่น หรือพ่อแก่ต่าง ๆ ผู้ที่จะทำการสักนั้น มักจะเป็นพระเกจิอาจารย์ในแต่ละภูมิภาคต่าง ๆ ผู้ที่ได้รับการสักมักจะเป็นผู้ที่ยึดมั่นในศีล 5 ไม่กระทำความผิดให้เป็นที่เดือดร้อน ด้วยเกรงว่าสิ่งที่ตนสักรับมาจากครูบาอาจารย์นั้นจะเสื่อมไม่คุ้มครองตนอีกต่อไป

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบในศิลปะงานสักมากครับ แต่ติดอยู่ตรงที่ทางบ้านไม่ยินยอม สุดท้ายนี้อยากฝากถึงท่านผู้อ่านว่า อย่าตัดสินคนกันภายนอกนะครับ การสักนั้นไม่ได้ทำร้ายใคร ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับสังคม รูปลักษณ์อาจจะดูน่ากลัว แต่ภายในนั้นจะเป็นอย่างไรเราก็ต้องใช้ใจพิสูจน์อยู่ดีครับ

สมัยคริสตกาลรอยสักนั้นจะมีไว้ใช้เพื่อแยกประเภทบุคคลไม่ว่าจะเป็น เพชฌฆาต สัปเหร่อ หรือ อาชญากร