ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เสริมศักดิ์ นาคบัว

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เสริมศักดิ์ นาคบัว

เรื่องของเครื่องปั้นดินเผานั้นผูกพันกับมนุษย์เรามาหลายพันปี จากเดิมที่มีไว้ใช้งานก็ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นเชิงศิลปะมากขึ้นตามรูปแบบที่ศิลปินรังสรรค์ สำหรับในเมืองไทย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เสริมศักดิ์ นาคบัว ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อศิลปะการปั้นมาโดยตลอด เป็นผู้เข้าใจศาสตร์การปั้นอย่างลึกซึ้ง นำมาสู่การถ่ายทอดความรู้และเทคนิคใหม่ ๆ ให้กับคนรุ่นหลังได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณ และในเวลาต่อมาท่านได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบอุตสาหกรรม) พ.ศ.2548 แม้ตอนนี้ท่านจะอายุ 80 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังยืนหยัดที่จะทำงานศิลปะต่อไป 

เสน่ห์ของงานปั้นโดยเฉพาะศิลปะการปั้นเซรามิคที่ดีต้องออกมาจากแรงบันดาลใจ รวมถึงมีเทคนิคอย่างเรื่องของการเตรียมดินการผสมสีเคลือบรวมถึงอุณหภูมิในการเผา ที่ต้องมีคำนวณให้ออกมาตามสูตรเพื่อให้งานสวยงามตามจิตนาการที่วางเอาไว้ อาจสำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง แต่ในความไม่แน่นอนนี้เองก็เป็นสิ่งที่น่าค้นหา อาจารย์เองเป็นคนชอบเรื่องของการปั้นดินเหนียวมาตั้งแต่เด็กโดยได้รับอิทธิพลมาจากคุณพ่อที่เป็นครูโรงเรียนประชาบาลวัดสมอ อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นคนขยันทำงาน เมื่อถึงนอกเวลาราชการท่านจะปลูกผักสวนครัว ปลูกอ้อย ปลูกกล้วย เอาไว้กินเอง นอกจากนี้ยังสร้างเตาหุงข้าวดินเหนียวด้วยตัวเอง จากจุดนี้จึงมักเอาดินเหนียวจากริมแม่น้ำมาปั้นตุ๊กตาหรือรูปพระเล็ก ๆ ในรูปแบบง่าย ๆ เอาไปเผาในเตาหุงข้าวที่คุณพ่อได้ทำขึ้นออกมาเป็นชิ้นงานที่สวยงามของเด็กวัยนั้น เมื่อได้รับอิทธิพลดังกล่าวทำให้อาจารย์ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าเมื่อโตขึ้นจะต้องเรียนศิลปะโดยเฉพาะเรื่องของการปั้นให้ได้เมื่อจบชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนประจำจังหวัดชัยนาท อาจารย์เสริมศักดิ์ ก็เริ่มเดินตามความฝันของตัวเองโดยการสอบเข้าที่โรงเรียนเพาะช่าง ที่นี่ท่านได้เริ่มเรียนรู้เรื่องของศิลปะหลายแขนงทั้งเรื่องของ Painting และการปั้นจนเมื่อเรียนจบท่านได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ที่ซึ่งท่านได้พบกับอาจารย์ หม่อมราชวงศ์พูนสวาทกฤดากร ที่เห็นว่าอาจารย์เสริมศักดิ์ มีความสามารถด้านการออกแบบจึงให้เข้าเรียนจนจบปริญญาตรี  ในเวลาต่อมาอาจารย์ก็ได้รับทุนให้ไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย Hawaii ด้าน Ceramic โดยไปอยู่ที่นั่นถึง 2 ปี ได้เรียนกับปรมาจารย์ด้าน Ceramic อย่าง Professor Claud F. Horland, Haruy Mc Way ที่ยอมรับในวงการปั้นเซรามิคว่าเก่งในด้านการปฏิบัติเป็นอย่างมาก

“การได้รับทุนไปเรียนที่ฮาวายผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องโชคดีที่เกิดขึ้นกับตัวเองมากกว่า ครั้งแรกที่ได้ออกนอกประเทศไทยก็รู้สึกตื่นเต้นมากเพราะที่ฮาวายมีชายหาดที่สวยงาม ในวันที่ไม่มีเรียนผมชอบไปนอนเล่นชายหาดก็ยังแอบนึกอิจฉาคนอื่นเขาที่มาเป็นคู่ ๆ ผู้คนในสมัยนั้นมีทั้งฝรั่งและญี่ปุ่น ซึ่งอาศัยอยู่ในสัดส่วนที่พอ ๆ กัน“ผมได้เรียนการปั้นจากอาจารย์ที่มีความสามารถสูงแล้วสอนได้เข้าใจง่าย ต่างจากที่เราเคยเรียนมาก่อนหน้านี้อีกระดับหนึ่ง ซึ่งอาจารย์เขาไม่ได้สอนแล้วจบเลย แต่ให้ชิ้นงานสำคัญกับผมด้วย อย่างเรื่องของต้นแบบ Plan เครื่องปั้นที่ใช้ไฟฟ้า โดยในภายหลังผมได้นำมาประดิษฐ์เพื่อใช้ในการสอนนักศึกษา และต่อมามีคนนำมาทำขายใช้กันทั่วประเทศ

“นอกจากนี้ผมยังได้เรียนกับอาจารย์ที่เก่งด้านทฤษฎีชื่อ Herbert Sander ท่านเป็นห่วงผมว่าเมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วจะผสมเคลือบใช้ในงานปั้นไม่เป็น จึงได้มอบตำราสำคัญเล่มหนึ่งมาให้ ทุกวันนี้ผมก็ได้ตำราของท่านนี่แหละมาผสมเคลือบงานให้กับนักศึกษาได้ใช้กัน”

เมื่ออาจารย์กลับประเทศไทย ก็ได้เริ่มต้นชีวิตอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยเปิดสอนรายวิชา Ceramic Art และ Ceramic Design แต่ด้วยความสามารถที่มากล้นในด้านนี้ เพียงแค่ปีเดียวท่านก็ได้ทุนของ Unesco ไปศึกษาต่อที่ประเทศฟินแลนด์ กับอาจารย์ Kulliki ซึ่งได้เทคนิคใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกเป็นเท่าตัวเมื่ออาจารย์เสริมศักดิ์กลับมาก็เป็นอาจารย์สอนการปั้นอย่างเต็มตัว และใช้ชีวิตการสอนหนังสือในด้าน Ceramic ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอย่างยาวนาน จนได้รับการยกย่องให้เป็นศาสตราจารย์เกียตริคุณ และศิลปินแห่งชาติตามลำดับจนถึงทุกวันนี้

“ย้อนกลับไปตอนที่ผมตัดสินใจเลือกเป็นอาจารย์มากกว่าการเป็นศิลปินอิสระแสดงผลงานคนเดียว เหตุผลเพราะผมอยากพบเจอผู้คนและถ่ายทอดความรู้ที่มีให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วการที่ได้พบกับลูกศิษย์นั้น ในแต่ละรุ่นมีจำนวนเยอะมาก ในแต่ละปีพวกเขาจะมีอะไรแปลก ๆ มาพูดคุยและซักถามตลอด ลูกศิษย์นี่แหละที่จะเป็นคนให้แง่คิดกับเราในการสร้างงานใหม่ ๆ ขึ้นมา

“การได้สอนนักศึกษาทำให้เรามองเห็นพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของคนรุ่นใหม่ ผมรู้สึกได้เลยว่าคนเหล่านี้เก่งขึ้นทุกปี มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ดีมาก เวลาที่มีการพูดคุยหรือวิจารณ์งานกันหน้าห้องเรียน เราก็ได้สัมผัสไอเดียใหม่ ๆ จากพวกเขาเสมอ ตรงนี้เองทำให้ได้ย้อนกลับมามองและพัฒนางานของผมเองด้วยซ้ำไป”

ในเรื่องของงาน Ceramic นั้นแนวทางที่อาจารย์ทำมาตลอดคือเรื่องของ Hand Forming การปั้นด้วยมือ และ Wheel Throwing การปั้นขึ้นรูปโดยแท่นหมุน ซึ่งอาจารย์เลือกที่จะทิ้งรูปแบบการงานในลักษณะอุตสาหกรรมการผลิตแบบโรงงาน ที่ผลิตข้าวของเครื่องใช้ในจำนวนมากออกไป แต่เน้นงานที่ทำด้วยมือจากการใส่แรงบันดาลใจด้านอารมณ์ความรู้สึกเมื่อรวมกับเทคนิคการผสมสีและการเผาจึงออกมาเป็นผลงานเฉพาะตัวที่มีคุณค่าทางจิตใจเป็นอย่างสูง

“ต้องยอมรับตรง ๆ ว่างานศิลปะชนิดนี้ สำหรับคนไทยอาจเข้าถึงยากกว่างานศิลปะด้านอื่น เช่นเรื่องของดนตรีที่คนส่วนใหญ่สามารถรู้สึกได้ทันทีว่าไพเราะโดยไม่ต้องใช้เทคนิคอะไรให้ยุ่งยาก แต่ศิลปะเซรามิคจากการปั้นด้วยมือในแบบฉบับของผมเองนั้นอาจดูได้ยากกว่า คนที่เข้าใจและเห็นคุณค่าเท่านั้นจึงนำไปสะสม

“เรื่องของการปั้นเซรามิคอย่างเช่นถ้วยจานชามหรือแจกัน ผมทำได้ปกติเหมือนที่คนอื่นเขาทำนั่นแหละ ตรงนี้มันคือพื้นฐาน แต่สำหรับผมงานในแบบนี้ไม่ได้สื่อถึงอารมณ์มากนัก งานปั้นเซรามิคมันคือการปั้นด้วยมือที่สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกเข้าไปด้วย ตรงนี้เองจึงเป็นเหตุผลถึงความแตกต่างระหว่างงานเซรามิคทั่วไปกับงานในเชิงศิลปะ

“ผมคิดถึงศิลปะเซรามิคตลอดเวลา ก่อนที่ผมจะหลับทุกคืนต้องคิดว่าพรุ่งนี้จะปั้นอะไร ด้วยเทคนิคอะไร ผมจะตั้งนาฬิกาปลุกตอน 6 โมงเช้า ตื่นมาก็เดินออกกำลังกายแล้วก็กินข้าวก่อนลงมือปั้นงานแบบนี้ทุกวัน โดยใช้ฟีลลิ่งและความเงียบ จะเห็นได้ว่างานของผมจะเป็นแนวที่ใช้งานพาณิชย์ไม่ค่อยได้ แต่จะเอาไว้ประดับบ้านเพื่อชื่นชมในด้านสุนทรียภาพมากกว่า”

การคิดค้นเทคนิคการเคลือบขี้เถ้าพืชโดยอาจารย์เสริมศักดิ์ ได้รับการยอมรับจากระดับโลก ซึ่งท่านได้แรงบันดาลจากการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาผสมผสานกับการทำงานศิลปะการปั้นได้อย่างลงตัว

“เมื่อก่อนผมจะเก็บพืช 20-30 ชนิด รอบ ๆ สวน นำมาทดลองเผาเป็นขี้เถ้าเพื่อใช้ผสมในการทำเคลือบ ซึ่งผลที่ออกมาต่างจากเคลือบธรรมดาอย่างเห็นได้ชัด งานเซรามิคปกติที่เขาทำกันมักจะผสมเคลือบเช่น แคลเซียม ดินขาว ดินแดง ฯลฯ พวกกลุ่มอุตสาหกรรมเขาจะใช้เคมีในการเคลือบให้ออกมาเงาสวยงามแต่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนัก

“พอทำงานไปเรื่อย ๆ ก็ทดลองทำสีใหม่อย่างการเอาดินไปแช่น้ำแล้วเอาสีเคมีใส่เข้าไปในดินมันก็จะเกิดสีใหม่ ๆ หรือการนำดินไปผ่านความร้อนในอุณหภูมิที่ 750 องศาเซลเซียสแล้วเอามาบดมาตำให้ละเอียด เพื่อน้ำไปผสมกับดินเหนียวเทคนิคเหล่านี้จะได้สีสันใหม่ ๆ  

“คนที่ทำงานการทำงานปั้นนั้นต้องเป็นคนช่างสังเกตทุกอย่าง โดยเฉพาะงานในแนวของผมต้องสังเกตธรรมชาติตั้งแต่ต้นไม้ใบหญ้าไม่ว่าจะมีชีวิตเขียวสดหรือแห้งแล้ว สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ทั้งนั้นมันมีคุณค่าเพราะสามารถหาไอเดียจากพืชเหล่านั้นนำมาใช้ได้ ยกตัวอย่างที่บ้านผมมีต้นดอกรัก ผมก็เอาแรงบันดาลใจจากดอกรักมาทำงานปั้นโดยเลือกเอาจุดเด่นตรงส่วนโค้งของดอกรักมาปั้น ซึ่งงานของผมส่วนใหญ่แล้วก็จะสื่อถึงธรรมชาติด้วย

“นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือเรื่องของขั้นตอนการเผา ต้องคิดว่าปั้นแล้วจะตกแต่งอย่างไรเผาด้วยอุณหภูมิเท่าไหร่ ตรงส่วนนี้สำคัญมากเพราะผลงานแต่ละตัวจะใช้ความร้อนในการเผาไม่เหมือนกัน แม้บางครั้งผมก็มีพลาดบ้างแต่เราก็ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดตรงนั้นจับมาใช้ให้เป็นประโยชน์ 

“การจะปั้นเซรามิคได้นั้นเราต้องรู้องค์ประกอบหลายอย่างทั้งเรื่องของการปั้น การเคลือบ และการเผา มีรายละเอียดและเทคนิคใหม่ที่แตกแขนงออกไปอย่างไม่รู้จบ ขนาดผมอายุ 80 กว่าปีแล้วทุกวันนี้ยังไม่สามารถเรียนได้จบมันต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ครับนอกจากท่านจะทำงานศิลปะเซรามิคในรูปแบบของตัวเอง ท่านยังมีผลงานด้านอื่นที่คนทั่วไปสัมผัสได้อาทิ การสร้างช่อฟ้าใบระกา นาคปัก หางนาค และหน้าบัน ซึ่งทําเป็น Ceramic เคลือบสีทองให้กับพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรมหาวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา งานประดับผนังตึกของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ควบคุมการสร้างหน้าบัน Ceramic แบบ High-Relief วัดธรรมิกรามวรมหาวิหาร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ออกแบบผลิตภัณฑ์ Tera Cotta สำหรับช่างพื้นบ้าน
ตำบลทุ่งหลวง อำเภอศรีมาสก์ จังหวัดสุโขทัย ฯลฯ

“ผมทำงานมาหลายชิ้นแต่ชิ้นที่ชอบมากที่สุดคืองานที่สร้างช่อฟ้าใบระกา ให้กับวัดโสธรวรารามวรมหาวิหาร ตอนที่ได้รับการติดต่อให้ทำงานนี้ก็คิดหนักเหมือนกันเพราะเป็นงานที่ทำยาก อย่างวัดบางแห่งเขาจะใช้ปูนซีเมนต์หล่อแล้วนำไปปิดทองภายหลัง แต่วัดโสธรวรารามวรมหาวิหารนั้น ใช้วิธีการทำแบบงานศิลปะดินเผาที่ต้องใช้เทคนิคการเคลือบสีทองลงบนดิน ในส่วนการทำสีทองของช่อฟ้าใบระกาก็ต้องทำให้เป็นน้ำก่อนจะเทลงไปในดินเผา แล้วนำไปเผาในอุณหภูมิที่ 750 องศาเซลเซียสแบบต่อเนื่อง โดยใช้แก๊สปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง ต้องเผาต่อเนื่องไม่มีหยุดจนกว่าจะได้ผลงานที่ต้องการ สุดท้ายแล้วผมก็ทำสำเร็จซึ่งดีใจมาก ทุกวันนี้ผมยกมือไหว้หลวงพ่อโสธรก่อนนอนทุกคืนเลย

“ผมต้องปั้นงานทุกวัน มีความสุขกับการได้ทำงานทุกวัน ยิ่งพอได้เป็นศิลปินแห่งชาติก็ทำให้คนรู้จักเยอะขึ้น แม้วันนี้ผมจะปลดเกษียณจากการเป็นอาจารย์ ไม่ได้สอนแล้ว แต่ก็ยังมีบางสถานศึกษาให้ผมช่วยประเมินผลงานของนักศึกษา การทำเซรามิคผมบอกได้เลยว่ามันแทบจะไม่มีรายได้มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับศิลปะ Painting ที่วาดออกมาขาย แต่ผมเลือกเดินทางสายนี้แล้วก็ต้องตัดเรื่องของเงินออกไปเอาความสุขใจไว้ก่อน แม้งานปั้นอาจไม่ได้รับความนิยมนัก แต่ผมก็อยากฝากให้ท่านที่สนใจงานด้านปั้นให้ช่วยกันสนับสนุนผลงานของคนทำศิลปะเซรามิคต่อไป อาจไม่ต้องซื้อหาในราคาที่สูงแต่ขอให้ได้ไปชื่นชมผลงานหรือนำเอาไปประดับบ้านก็พอแล้วครับ”

 

 

ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อศิลปะการปั้น เป็นผู้เข้าใจศาสตร์การปั้นอย่างลึกซึ้ง นำมาสู่การถ่ายทอดความรู้และเทคนิคใหม่ ๆ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เสริมศักดิ์ นาคบัว