KIATTISAK SUNHEM

KIATTISAK SUNHEM

ส่งต่อคอนเนคชั่นจากฉบับที่แล้ว มาถึง “เกียรติศักดิ์ ซันเฮม” นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม CEO แห่งบริษัทพลังงานทางเลือก LCBBIOMASS ที่จะเป็นพลังงานขับเคลื่อนไปสู่อนาคต

ตอนนี้คุณเกียรติศักดิ์ ซันเฮม กำลังทำธุรกิจอะไรอยู่?
ก่อนอื่นเลยต้องขอบอกก่อนว่าผมเป็น CEO ของ LCBBIOMASS นะครับ ซึ่งทำโรงงานผลิต Wood Chip อบแห้ง มีทั้งหมดครับไม่ว่าจะ Wood Chip, Wood Pellet หรือแม้แต่ Sawdust (ขี้เลื่อย) มีทั้งส่งในไทยและส่งออกต่างประเทศครับ กล่าวรวม ๆ ก็คือเป็นผลิตภัณฑ์จากไม้ยางทั้งหมดครับ ออฟฟิศของ LCBBIOMASS อยู่ที่กรุงเทพครับ ส่วนโรงงานจะอยู่ที่ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนนี้ทางบริษัทเราก็มีทางญี่ปุ่นที่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นครับ เรียกว่าตอนนี้เรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงพลังงานทางเลือกกำลังเป็นเรื่องที่น่าจับตาไปทั่วโลกเลยก็ว่าได้

เริ่มทำธุรกิจ LCBBIOMASS ได้อย่างไร?
หลังจากเรียนจบมา ผมทำงานอยู่ฝ่ายค้าขายระหว่างประเทศ ประจำอยู่ที่สถานทูตตุรกีประจำประเทศไทยครับ จากตรงส่วนนั้นเองมันทำให้เราได้เห็นภาพรวมทั้งหมดของการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ การดำเนินการ แผนงานธุรกิจต่าง ๆ พอทำได้สักระยะนึงผมก็เริ่มมีความคิดที่อยากทำธุรกิจของตัวเองขึ้นมา เพราะผมคิดว่าการมีเจ้านายเนี่ยมันเหมือนเราเป็นลูกจ้าง แต่ถ้าสามารถมีธุรกิจของตัวเองนั่นคือเราเป็นเจ้านายตัวเอง ถือว่ายืนด้วยตัวเองสำเร็จ เลยออกมาทำธุรกิจส่งออก ลองนั่นนี่มาเรื่อย ๆ จนมาถึงโรงไฟฟ้า ที่ทำให้ผมเริ่มสนใจเรื่องของพลังงานทางเลือกมากขึ้น อย่างประเทศญี่ปุ่น เกาหลี หรือประเทศอื่น ๆ ที่ใช้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เราก็เห็นที่เป็นข่าวกันมานักต่อนักแล้วว่ามันค่อนข้างส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เราเลยมองมาที่ทางเลือกอื่น ๆ ที่สามารถสร้างพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นครับ

อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้หันมาสนใจเรื่องของพลังงานทางเลือก?
แรกเริ่มเดิมทีเลยผมทำธุรกิจนำเข้า Special Grade Steel ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก ไทเทเนียม นิกเกิล และอื่น ๆ อีกมาก ซึ่งในประเทศไทยเนี่ยไม่สามารถผลิตเองได้ แล้วพอเราเริ่มมีซัพพลายเออร์เพิ่มมากขึ้น ก็เลยได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของการทำโรงไฟฟ้า ประกอบกับมีช่วงที่ประเทศเกาหลีกับญี่ปุ่นมีปัญหาเรื่องของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ผมเลยมานั่งคิดว่าพลังงานทางเลือกที่อันตรายน้อยกว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง คือประเทศไทยทรัพยากรป่าไม้ค่อนข้างสมบูรณ์ แล้วพอเรามองเห็นว่าทางภาคใต้ที่ปลูกต้นยางกันมากมาย แต่รู้มั้ยครับว่าไม้ยางเนี่ยเหลือทิ้งทั้งนั้นเลย ผมเลยเอามาเป็นโจทย์ว่า ไม้ยางที่เป็นเศษเหลือน่าจะเอามาทำประโยชน์ได้นะ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ LCBBIOMASS ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ครับ

ปัจจุบันพลังงานทางเลือกกับพลังงานที่เราใช้กันทุกวันแตกต่างกันอย่างไร?
ค่อนข้างแตกต่างนะ อย่างในเรื่องของราคา ผมมองว่าพลังงานทางเลือกมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าถ้าเทียบกับถ่านหิน ซึ่งก็สูงกว่าพอสมควร ในส่วนของถ่านหินถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายจะต่ำกว่า แต่มันก็จะมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดที่เรียกว่าคาร์บอนเครดิต (กลไกการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก) ที่แพงขึ้น และสุดท้ายการใช้พลังงานทางเลือกก็จะถูกยกขึ้นมาพูดถึงเพราะว่าคุ้มค่า
กว่า ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าพลังงานทางเลือกก่อมลพิษน้อยกว่าอยู่แล้ว พลังงานทางเลือกตอบโจทย์มากกว่าครับ

ทิศทางเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกในประเทศไทย?
ตอนนี้สำหรับประเทศไทยเองก็เรียกได้ว่ากำลังเป็นที่พูดถึงกันอยู่สำหรับเรื่องของพลังงานทางเลือก การที่จะเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกทั้งหมดทุกภาคส่วนเลยนั้นยังคงเป็นไปไม่ได้ในตอนนี้ครับ เนื่องจากว่าปริมาณซัพพลายยังมีไม่เพียงพอ การใช้วัตถุดิบพลังงานทางเลือกนี้ค่อนข้างต้องใช้เวลา ไหนจะต้องปลูกต้นไม้ ดูแลจนโต แล้วต้องรอให้อายุของมันใช้งานได้อีก ในขณะเดียวกันดีมานด์เพิ่มขึ้นแต่ซัพพลายยังคงที่อยู่ ก็ต้องดูแนวโน้มในอนาคตครับ ว่าเราจะสามารถบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมยังไง

นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ตระหนักถึงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม CEO แห่งบริษัทพลังงานทางเลือก LCBBIOMASS เกียรติศักดิ์ ซันเฮม