ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

การที่มูลนิธิชัยพัฒนาเข้ามาดำเนินการเช่นนี้ ส่งผลให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง รวดเร็วฉับพลัน โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่าการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นการช่วยให้กระบวนการพัฒนา เกิดความสมบูรณ์ขึ้นดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นข้าราชบริพารที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด หากจะยกตัวอย่างบุคคลที่ควรค่ากับคำว่า “ข้าแผ่นดินในรัชกาลที่ 9” ท่านเป็นบุคคลที่มีภาพลักษณ์เด่นชัดอีกคนหนึ่ง แม้ตอนนี้ท่านจะอายุ 78 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่หยุดทำงานเพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ยังคงน้อมนำพระราชดำริที่พระองค์ท่านทรงทำไว้มาสานต่อ ดำเนินการสืบสานเจตนารมณ์ เพื่อประโยชน์สุขของปวงประชาเป็นที่ตั้งจวบจนถึงทุกวันนี้

“การเข้าไปถวายงานให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผมคาดการณ์มาก่อน พอเกิดขึ้นมาก็ได้ถวายงานรับใช้มาเป็นเวลานานกว่า 35 ปี ความรู้สึกที่ได้ถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท คือความภูมิใจ ความปลาบปลื้ม ปิติ ในการทำหน้าที่ถวายงานให้กับพระเจ้าแผ่นดิน และโดยสาระของงานยิ่งให้ความรู้สึกที่ดีมาก ก็คือการช่วยเหลือผู้คน ขจัดทุกข์ให้ประชาชน พยายามขจัดปัญหาของประเทศชาติ และเหนือสิ่งใดนั้นคือได้รับคำสอนจากพระองค์ท่าน อันนี้สำคัญ คนอื่นได้รับความช่วยเหลือตัวเราเองก็ได้ด้วยเช่นกัน ได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด พระองค์ท่านได้ทรงสอนมาโดยตลอด สอนด้านวิชาความรู้เกี่ยวกับงานที่จะทำ เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ดิน น้ำ ลม ไฟ ป่า เรื่องของประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม แม้กระทั่งการเมืองบางครั้งก็อธิบายให้ฟัง 

“นอกจากนั้นยังทรงสอนเรื่องชีวิตจิตใจและพฤติกรรมของเราด้วย นอกจากวิชาความรู้ในการเข้าไปปฏิบัติจนสำเร็จลุล่วงแล้ว ต้องยึดหลักในสิ่งที่พระองค์ท่านทรงยึดถือมาตลอดคือเรื่องธรรมะ งานทุกอย่างที่เราทำนั้นต้องมีธรรมะรองรับอยู่ตลอดเวลา ธรรมะเป็นคำที่เราพูดกันบ่อยแต่ไม่ค่อยมีคำที่แนะได้กระจ่างสักคนหนึ่ง พระองค์ท่านจึงได้พระราชทานความหมายให้ว่า ธรรมะ คือ ดีและถูกต้อง ความดีต้องถูกต้อง บางอย่างอาจดีแต่ไม่ถูกต้อง บางอย่างอาจถูกกฎหมายถูกใจแต่ไม่ดี เพราะฉะนั้นการทำความดีหรือธรรมะนั้นอยู่เหนือกฎหมาย 

“ต้องเรียนตอบตามตรงว่าก่อนจะมาทำงานตรงนี้ ใจจริงผมอยากจะเป็นทูต อยากโก้หรู อยากสบาย แต่ชะตาชีวิตเปลี่ยน แทนที่จะไปกระทรวงต่างประเทศกลับได้ไปเข้าสภาพัฒนา แถมไปอยู่ในส่วนกองวางแผนเตรียมพร้อม เพื่อการสงคราม สมัยนั้นเป็นสงครามก่อการร้าย คอมมิวนิสต์ ระหว่างปี พ.ศ.2512-2524 อาจไม่ค่อยมีคนทราบว่าช่วงนั้น
ผมใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในสนามรบ เห็นคนตายทุกวัน ตัวเองก็เสี่ยงตายจากกับระเบิด จากคนซุ่มยิง ไปเหนือจรดใต้ เพราะได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาฯ แม่ทัพทั้ง 4 ภาค 

“ผมเป็นลูกคหบดีก็จริง ถ้าเรียกว่าคนรวยก็เป็นคนรวยต่างจังหวัด คนรวยแบบโบราณ ยิ่งรวยเท่าไหร่ยิ่งต้องมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ให้ศีลให้ทาน การทำบุญถือเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เศรษฐีแบบฟุ่มเฟือย ไม่ได้มีเปลือกแบบนั้น ถูกหล่อหลอมให้เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ ได้ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศนานเหมือนกันครับ ประมาณเกือบ 20 ปี แต่พอกลับมาเมืองไทยเราก็เหมือนเดิม เพราะรากมันถูกฝังไว้แล้ว ผมเป็นเด็กบ้านนอกที่ทำตามวัฒนธรรมประเพณี เดินผ่านผู้ใหญ่ต้องโค้ง “พอมาทำงานรับราชการก็ไม่เหมือนคนอื่นเขา ต้องมาสะพายปืน กระโดดร่ม ไม่เคยนึกว่าชีวิตจะแปรผันไปแบบนี้ จนกระทั่งปี 2524 ผู้ก่อการร้ายมอบตัวในโครงการ งานเริ่มได้ผล สุดท้ายความสงบกลับคืนมา ก็เป็นจังหวะชีวิตอีก ตอนนั้นผมได้เป็นเลขาของ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นแม่ทัพภาพที่ 2 พอช่วงท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ตั้ง กปร. ขึ้นมา และได้เลือกผมไปดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

“ทุกอย่างไม่ได้กำหนดไว้ แต่วิถีชีวิตพามาในรูปแบบนี้ งานต้องมีการเสียสละ ตอนอยู่ในสนามรบก็ไม่รู้กับระเบิดหรือภยันตรายจะมาในรูปแบบไหน แต่งานเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นปรับตัวได้ค่อนข้างง่าย จากเด็กต่างจังหวัดได้ทำงานรับใช้บ้านเมือง ได้เห็นความทุกข์ยากของประชาชน จนกระทั่งได้ถวายงานรับใช้พระเจ้าอยู่หัว ได้เห็นอะไรหลาย ๆ อย่าง ได้สัมผัสความทุกข์ยากของประชาชน รักษาบาดแผลของสังคม ถ้าสังเกตจังหวะชีวิตของผมจะต้องทำหลายอย่างแต่จะเป็นในทิศทางเดียว นั่นก็คือการพยายามเข้าไปช่วยเหลือ หลายคนอาจจะดูว่าเสียสละแต่จริง ๆ มันคือหน้าที่ 

“พอทำงานหลาย ๆ ปี ก็ซึมซับจนกลายเป็นตัวเรา ไปที่นั่นที่นี่กับพระองค์ท่าน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บ้าง เดินทางตลอด จนวันไหนที่ไม่ได้ไปทำงานจะรู้สึกขาด ผลพวงมาถึงปัจจุบันนี้วันไหนไม่ได้ตากแดดจะรู้สึกแปลก ๆ บางวันต้องเดินไปโดนแดดที่ริมระเบียงไม่งั้นครั่นเนื้อครั่นตัว ออกต่างจังหวัดเมื่อไหร่จมูกจะโล่งได้สัมผัสธรรมชาติ หวัดหรือแพ้อากาศนี่หายไปหมดเลย 

“ผมเรียนด้านรัฐศาสตร์ (การทูต) เด็กหนุ่มยุคผมนั้นใฝ่ฝันที่อยากจะได้ทำงานที่โก้หรู ได้อยู่ต่างประเทศ เป็นท่านทูตนี่คือเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ในตอนแรก แต่ชีวิตไม่ได้เป็นอย่างนั้นเพราะหักเหไปอีกอย่าง แต่ต้องบอกว่าผมไม่เสียดายเลยนะที่ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างนี้ ผมเคยพูดเล่น ๆ ว่าใฝ่ฝันจะได้ใช้ชีวิตเมืองนอก แต่กลับเป็นได้อยู่บ้านนอกตลอด (หัวเราะ)”

• คุณค่าของชีวิต • 

“ผมใช้ชีวิตในประเทศที่เรียกว่าทุนนิยมอยู่ตลอด ตอนเรียนก็อยู่ทั้งในฝรั่งเศสและอเมริกา ขอใช้ความรู้สึกตอบดีกว่านะ เพราะผมไม่ใช่นักวิชาการ บางคนต้องบอกว่าเป็นคนหน้ามืด ทำไมต้องพูดอย่างนี้เพราะคนแบบนี้หาประโยชน์อย่างเดียว โดยไม่ให้ความเคารพสรรพสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเลย 

“จุดมุ่งหมายของทุนนิยมในแบบของผมอาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ได้นะ แต่ผมตอบจากความรู้สึกในตอนนี้ คนจำพวกนี้หายใจเป็นเงินเป็นทองไปหมด แม้ชีวิตก็คงมีราคามั้ง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเงินไปหมด 

“คุณลองควักเงินในกระเป๋าออกมาสิ แบงค์ที่ใหญ่ที่สุดก็คือแบงค์พัน จริง ๆ แล้วมันคืออะไร ก็คือกระดาษ คือสิ่งสมมติที่สร้างขึ้นมา เคยใช้ความฉลาดมองทะลุไหม ว่าคุณค่าจริง ๆ มาจากไหน หลายคนตอบไม่ได้ คุณค่าก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่อยู่รอบ ๆ ตัว คือแผ่นดินของแต่ละสกุลเงินนั้น ๆ มีความสมบูรณ์อย่างไร และศิลปะที่ทำให้ทรัพย์สมบัติงอกเงยได้อย่างไร 
คือสิ่งที่เรียกว่าระบบเศรษฐกิจ อันนั้นคือค่าของเงินที่สมมติอยู่ในกระเป๋าของเรา 

“แต่ถ้าดินน้ำลมไฟเกิดเสื่อมโทรม การบริหารประเทศไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ ไม่สามารถสร้างผลเจริญงอกงามได้ พัฒนาประเทศไม่ได้ เงินนั้นก็เป็นเพียงกระดาษ หลายประเทศที่บริหารล้มเหลวก็มีให้เห็น แต่คนเราไปติดอยู่แค่นั้น ไม่เห็น ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นปัจจัยของชีวิต กลับมองเพียงที่ดินหรือต้นไม้ว่าลูกบาศก์เมตรละเท่าไหร่ กลับไม่คิดว่าต้นไม้ก็สำคัญนะ ดูดซึมสารพิษผลิตออกซิเจนให้เรา ยิ่งนักเรียนนอกนี่ยิ่งแล้วเลย เพราะตกเป็นทาสของสิ่งที่ได้รับมา ผมไม่ได้ไปว่าเขานะ คือบางอย่างรับจากเมืองนอกมาได้แต่ต้องคัดกรองให้ดี 

“คนสมัยก่อนเขาฉลาด เคารพธรรมชาติประดุจเทพ อย่างพระแม่ธรณี พระแม่คงคา พระแม่โพสพ ขนาดข้าวเขายังเคารพเลย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ ขนาดพระพุทธรูปยังบั่นคอขาดเลย เห็นแต่เงิน ระบบทุนนิยมจุดอ่อนคือให้ค่าของสิ่งสมมติมากกว่าของจริง 

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยรับสั่งว่าเราจะครองแผ่นดินโดยธรรม คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้ และอย่าเอาคำว่าร่ำรวยมั่งคั่งมาครอบงำเรา ทรงใช้คำว่าประโยชน์สุข นี่คือประโยคแรกที่ผมได้รับก่อนไปเรียนเมืองนอก แต่ยังแปลไม่ออก พอกลับมาอีกครั้งคำนี้เป็นคำที่ผมทึ่งมาก คำว่าประโยชน์สุข ก็คือคุณมีเงินมากเท่าไหร่ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่สำคัญที่ว่าใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทุกบาททุกสตางค์ใช้อย่างไรนั่นล่ะสำคัญ เงินเราทำประโยชน์เราก็มีความสุข อย่างงบรัฐบาลถ้าใช้ให้เกิดประโยชน์คนก็มีความสุข พัฒนาถนนหนทาง หรือสาธารณูปโภค คนก็มีความสุข แต่ถ้าใช้ในเรื่องไม่เป็นเรื่องมันก็ทุกข์ ทุกคนท่องพระราชดำรัสกันได้หมด แต่ไม่พยายามแสวงหาความหมาย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ นี่คือเรื่องน่าเสียดาย

“จากคน กลายเป็นสังคมโดยรอบ ยิ่งคนติดพันกับวัตถุเท่าไหร่ อย่างอื่นก็จะหายไป นักปราชญ์ต่าง ๆ คอยมาเตือน อย่างของฝรั่งก็มี บางครั้งเราเคยได้ยินคำว่า Development Without Culture พัฒนาไปโดยไม่คำนึงถึงวัฒนธรรม มันทำให้ขาดสมดุล เพราะฉะนั้นก็ต้องมาดูว่าทำอย่างไรให้อยู่ตรงกลาง 

“อย่างประเทศญี่ปุ่นนี่ผมทึ่งมาก เพราะเขาทุนนิยมเลย แต่ประเพณีต่าง ๆ ยังอยู่เหนียวแน่น กลมกลืนในชีวิตประจำวัน ไม่น่าเชื่อว่ายังค้างอยู่ในศตวรรษที่ 21 พยายามฟื้น ให้ความสำคัญกับประเพณี กับธรรมชาติ เขายังคงไหว้ข้าว เมื่อก่อนคนไทยเราไหว้นะ ตอนเด็ก ๆ นี่ผมไหว้ข้าวก่อนรับประทาน แต่เดี๋ยวนี้หายไปแล้ว ไปหลงกับวัฒนธรรมอื่นหลงกับเทคโนโลยี กลายเป็นสังคมที่สับสนไม่รู้ว่าคุณค่าจริง ๆ อยู่ตรงไหน พยายามแสวงหา ผลสุดท้ายเราก็เจอสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา แต่ไม่มีใครพยายามแก้ไข นี่คือความรู้สึกส่วนตัวนะ”

• อยู่อย่างพอเพียง •

“พระองค์ท่านทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทรงทำมาตลอดและปฏิบัติให้เราเห็นก่อนจะเกิดคำนี้ขึ้นมาในปี พ.ศ.2541 เสียอีก แต่หลักการได้ปรากฏตลอดมา ตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ท่านทรงมุ่งไปรักษาปัจจัยการผลิตไว้ให้ได้ ทรงใช้เวลาอย่างมากกับโครงการต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องน้ำ เพราะน้ำคือชีวิต เป็นต้นตอของทุกอย่าง น้ำเป็นอาหาร น้ำเป็นต้นตอของเครื่องนุ่งห่ม เป็นยารักษาโรค ฯลฯ ทรงมุ่งเน้นไปที่ทรัพยากรธรรมชาติ รักษาและฟื้นฟูสิ่งที่เสียไปแล้วกลับคืนมาให้ได้ ใช้ความรู้นำพาให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยใช้เงินทุนให้น้อยที่สุด รักษาความพอมีพอกินของเราให้ได้ “สมัยเด็กผมเคยท่องจำว่าประชากรของประเทศไทยเรามี 18 ล้านคน มาวันนี้กระโดดไปถึง 67 ล้านคน ถามว่าแผ่นดินของเราขยายตัวไหม ไม่! มีเท่าเดิม แต่ถูกกินถูกใช้ถูกทำลายเพิ่มขึ้นขนาดไหน มันสึกหรอ ทรัพยากรหายไปเยอะ แถมเรายังมีพฤติกรรมที่กินอย่างไม่บันยะบันยัง ความพอเพียงนั้นมีนัยยะสำคัญ นั่นคือความอยู่รอดของพวกเรานะ ถ้าไม่ช่วยกันก็คือไม่ห่วงลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไปเลย ถ้าเรียกให้ทันสมัยก็คือไม่พัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่เหลืออะไรส่งต่อให้ลูกหลานเลย“ความพอเพียงก็คือการกลับสู่ความสมดุล รักษาความสมดุลเพื่อความอยู่รอด วันนี้รวมทั้งโลก ประชากรมีมากถึง 7,400 ล้านคนนะ UN ประกาศว่าอีก 30 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน โลกมีสภาพเหมือนประเทศไทยคือมีเท่าเดิม แต่คำนวณกันว่าทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายไปแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ เสียหายไปแล้วหนึ่งในสาม พอคิดดูแล้วเราย่อมเห็นจุดตายข้างหน้าที่รออยู่ 

“สงครามก่อนหน้านี้ที่เกิดขึ้นคือแย่งพลังงาน ตอนนี้หยุดแล้วเพราะไม่มีให้แย่งกัน ทศวรรษหน้านักวิทยาศาสตร์ได้ให้ความเห็นว่าเป็นสงครามแย่งน้ำ ภัยยิ่งใกล้ตัวเข้ามาแล้ว ไม่มีน้ำมันเราก็ยังอยู่ได้แต่ไม่มีน้ำเราจะอยู่กันได้ไหม ประเทศเราโชคดีนะ ถือเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ผลิตอาหารเองได้ แต่เราไม่เคยเอาจุดเด่นของเราจุดนี้ขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาเลย ทั้งที่เรามีทุนอาหาร ทุนน้ำ ทุนดิน น่าเสียดายครับ

“เราอยากจะเป็นเสือทั้ง ๆ ที่เราเป็นควาย เสือคือสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรม แต่เราเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นแหล่งอาหาร ซึ่งสัญลักษณ์ก็คือควาย ถ้าเราชูจุดเด่นเรื่องเกษตรกรรมเราอาจเป็นพญาควายไปแล้วตอนนี้ ในป่ามหิงสาเนี่ยเสือยังไม่กล้าเข้าใกล้นะ แต่เราไม่ภาคภูมิใจ อยากจะไปเป็นเสือตัวที่ห้าต่อจาก เกาหลีใต้  สิงคโปร์ไต้หวัน ฮ่องกง สุดท้ายน่าเสียดายอย่างมากนะครับ”

• คำสอนของพ่อ •

“ทุกอย่างพระเจ้าอยู่หัวเคยสอนไว้ทั้งหมด อย่างเรื่องหนึ่งที่ท่านบอกว่าคนเรานั้นยึดติดกับเปลือก แต่ไม่เคยลงไปถึงแก่นเลย แค่เปลือกของต้นไม้ เราก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแต่ละต้นอายุเท่าไหร่ เพราะเห็นแค่เปลือก ตราบใดที่ยังไม่เจาะไปถึงแก่นก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่าต้นไม้ต้นนี้ผ่านอะไรมาบ้างมีอายุเท่าไหร่ ก็รู้แค่เพียงผิวเผินเปรียบเสมือนเปลือก

“ในความรู้สึกของผม พระเจ้าอยู่หัวของเราเปรียบเหมือนศาสดา พระองค์ทรงสอนทรงให้ความรู้ไว้เยอะเลย อย่างเรื่องนี้ผมเคยพูดบ่อยว่าคนชอบมองพระเจ้าอยู่หัว แค่เห็นก็ปลาบปลื้มใจ ซาบซึ้ง น้ำตาไหล แต่ไม่เคยคิดว่าทรงทำอะไร ทรงสอนอะไร แล้วเราเอาสิ่งเหล่านี้ไปทำอะไรต่อกับชีวิตได้ไหม น่าเสียดาย ชอบได้ยินแต่ไม่เคยฟัง พอได้ยินแล้ว
ซาบซึ้งแต่พอถามว่าพระองค์ท่านทรงสอนอะไรบ้างกลับตอบไม่ได้ 

“บ้านเมืองไหนจะเจริญได้ต้องใช้ Wisdom ต้องเป็น Knowledge Society คือสังคมแห่งการเรียนรู้ ถ้าพอใจแค่เห็นแค่ได้ยินเรื่องของการพัฒนาก็หมดหวัง เพราะไม่ได้ใช้ตรรกะมาต่อยอด แต่ก็น่าดีใจที่มีบางคนที่นำคำสอนของพระองค์ท่านไปใช้จนเขาพ้นทุกข์ คนเราถ้าไม่ทุกข์ก็ถือว่าวิเศษแล้วนะ พอเราเอาสัจธรรมเข้าไปจับแล้วเนี่ย จะไม่ใช่เพียงภาพที่เราเห็น เมื่อลงถึงสาระแก่นสารแล้วเราก็จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น 

“ตัวผมเองก็ไม่ใช่มหาเศรษฐี แต่ก็มีพอเพียง มองโลกในแง่บวก เท่านี้ก็มีความสุข คนเราส่วนใหญ่ทุกข์เพราะความอยาก ตอนเป็นชั้นตรีก็อยากเป็นชั้นโท พอได้ชั้นโทก็อยากเป็นชั้นเอก ซึ่งพอเอาจริง ๆ ยิ่งใหญ่โตก็ยิ่งทุกข์มากขึ้น ต้องชนะใจตัวเองก่อน ทุกคนล้วนย่อมมีกิเลส แต่บังคับให้อยู่บนความพอเพียงได้ไหม ใช้สติปัญญานำทาง มีเงินให้รู้จักใช้เกิดประโยชน์ อยู่กินพอดี ต้องทำดีให้เคยชิน ทำจนเป็นนิสัย 

“อย่าไปอ้าขาผวาปีก คือเรียนมาเยอะจบมาสูงมีดีกรีอย่าไปคิดว่าทำงานต่ำ ๆ ไม่ได้เพราะดีกรีค้ำคอ ผมจะเล่าให้ฟังสมัยเรียนเมืองนอกพอปิดเทอม เพื่อน ๆ ชวนไปเที่ยวยุโรป ผมไม่ไปแต่ไปสมัครเป็นกรรมกรแทนเพราะอยากรู้ว่าชีวิตกรรมกรเป็นอย่างไร นักศึกษาไทยไม่มีใครไปทำมีผมไปทำกับเพื่อนชาวฝรั่งเศส ถึงได้รู้ชีวิตกรรมการว่าไม่มีจังหวะหยุดเลยนะ ต้องทำงานตลอดเวลา แทบคลานออกมาจากโรงงานเลยนะ 

“สิ่งที่ได้มาคือผมได้เรียนรู้การบริหารโรงงาน ได้เห็นประธานบริษัทเขาเดินมาตรวจงานพอเห็นสายพานไหนของแน่น เขาถอดเสื้อนอกออกแล้วช่วยกรรมกรทำงานเลยนะ อีกหน่อยพอเราเป็นนายคนเราจะรู้วิธีการบริหารคน พอทำอย่างนี้ได้กำลังใจกรรมกรเลยนะ สอนให้ปกครองคน ให้รู้ธรรมชาติของงาน ต่อไปเวลาจะใช้คนเราจะได้รู้ว่างานนี้ลำบากแค่ไหน รู้ระบบงาน

“พูดเรื่องนวัตกรรม อยากจะให้เดินตามรอยพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงทำนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น ท่านดีไซน์กังหันชัยพัฒนาเพื่ออะไร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเน่า ท่านทำฝนหลวงเพราะอะไร ไม่ใช่เพื่อการค้าเพื่อธุรกิจ แต่เพื่อทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ เห็นวิธีคิดของพระองค์ท่านไหม ฉะนั้นเราช่วยกันคิดทำเพื่อประโยชน์เป็นที่ตั้งเถอะ ไม่ใช่คิดถึงความหรูหรา”

• งานยังไม่เสร็จ •

“วันที่ 13 ตุลาคม คิดไว้ว่าจะไปกราบถวายพระพรพระองค์ท่าน ช่วงบ่ายสองโมงกำลังจะเข้าไปกราบ ก็มีเจ้าหน้าที่ทางวังบอกให้ยุติทุกอย่าง ทำให้รู้ว่าเวลาที่เราไม่อยากให้ถึงมาถึงแล้ว เสียใจก็ต้องสะกดไว้เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนเสมอ ถ้าตัวหัวหน้าอ่อนแอที่เหลือก็ไปหมด ผมเข้าไปกราบท่านเป็นการกราบลาเป็นครั้งสุดท้าย เป็นความรู้สึกว่างเปล่าที่หนักอึ้ง พอกลับมาผมก็ไม่พูดกับใครเลย คนในออฟฟิศก็ร้องไห้กัน ที่ผมไม่พูดเพราะถ้าพูดไปเดี๋ยวก็ร้องตาม เป็นนายแสดงความอ่อนแอไม่ได้ คำสอนของพระองค์ท่านที่เคยกำชับยังก้องอยู่ในหัว คนอ่อนแอทำงานใหญ่ ทำงานให้แผ่นดินไม่ได้ ทั้งที่จริง ๆ เราเสียใจ เราอ่อนแอ แต่ต้องแสดงว่าเข้มแข็ง ต้องใช้เวลา 4-5 วันถึงจะตั้งสติได้ 

“น้อมนำคำสอนของพระองค์มาใช้ในการดำเนินชีวิต อย่างที่พระองค์เคยรับสั่งไว้ว่างานยังไม่เสร็จ ก็คืองานแก้ไขปัญหาของประเทศ งานด้านสิ่งแวดล้อม งานในโครงการต่าง ๆ นี่แหละ น้ำเน่าน้ำเสีย ขยะมูลฝอย น้ำท่วม น้ำแล้ง งานบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนนี่แหละ ตอนนี้ท่านไม่ได้ประทับอยู่แล้ว แต่งานก็ยังดำเนินต่อ ท่านจึงได้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิขึ้นมา ทำงานต่อได้ไม่มีขาดตอน วันที่รับสั่งยังไม่เข้าใจลึกซึ้ง แต่วันนี้เข้าใจแล้ว งานยังไม่เสร็จ ยังไม่มีสิทธิ์ที่จะหยุดงาน ถึงได้เข้าใจว่าทำไมท่านถึงได้ตั้งมูลนิธิมากมาย และจุดประสงค์ก็ไม่เหมือนกัน ทั้งมูลนิธิโครงการหลวง มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งมีเครื่องมือครบและถูกต้องตามกฎหมาย ทรงคิดทรงสร้างไว้หมดแล้ว” 

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นข้าราชบริพารที่รับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิด หากจะยกตัวอย่างบุคคลที่ควรค่ากับคำว่า “ข้าแผ่นดินในรัชกาลที่ 9”