Cork: Eco-friendly products
เราต่างเห็นเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้านล้วนเป็นงานไม้ที่มีเสน่ห์หลายต่อหลายแบรนด์ แต่น้อยนักที่เราจะเห็นงานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นำไม้คอร์ก มาเป็นวัสดุหลักในการสร้างความแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์เช่นเดียวกับ ‘พุฒิพงศ์ ทัศนมานะ’ เจ้าของแบรนด์ THAS ที่ได้มองเห็นความงามและคุณสมบัติบางอย่างของไม้คอร์กที่สามารถนำมาต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานด้วยการคิดให้แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ
“ก่อนหน้านั้นผมทำ Graphic Designer ให้บริษัทเอเจนซี่ เวลาว่างช่วงเสาร์-อาทิตย์ ผมชอบออกไปงานอีเว้นท์หรืองานเปิดท้ายต่าง ๆ ก็พยายามลองทำงานของตัวเองออกมาขาย ทำสิ่งที่เราตกตะกอนจากการที่เราขายงานไม่ผ่าน ก็เก็บตรงนั้นมาต่อยอด ทำมาเรื่อย ๆ ผมเริ่มสังเกตกลุ่มลูกค้าที่มาดูสินค้าของผม เลยคิดว่าถ้าเราอยากจะไปอีกระดับหนึ่งก็ต้องอัพสกิลสินค้าของเราขึ้นมาใหม่ แต่ต้องวิเคราะห์ให้ดีว่าสิ่งที่เราจะทำต่อไปมันมีตลาดไหม มีคู่แข่งรึเปล่า แล้ววัสดุมันมีอะไรบ้างที่จะไม่ทำซ้ำกับเขา ผมเลยหาวิธีสร้าง Know How ของเราขึ้นมาเอง ต้องมานั่งคิด นั่งทดลอง
“ตอนนั้นผมนั่งทำงาน แล้วนั่งดูสารคดีต่างประเทศไปด้วยเกี่ยวกับไม้คอร์ก เขาก็อธิบายประมาณว่า เราไม่ต้องโค่นต้นไม้ทั้งต้น แค่ลอกเปลือกไม้ออกมา แล้วเปลือกไม้ที่ขึ้นใหม่ก็สามารถนำมาใช้ได้ทุก ๆ 10 ปี ผมเห็นแล้วก็คิดว่ามันน่าสนใจดีเลยไปศึกษาคุณสมบัติของไม้คอร์กว่าสามารถเอาไปทำอะไรได้บ้าง”
ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ THAS แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักคือ สินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ เช่น บอร์ดไม้คอร์กที่สามารถใช้ปักกระดาษข้อความ รูปภาพ หรือจะใช้เก็บพวกต่างหูก็ได้, ที่รองแก้วรูปขนมปังปิ้งที่คำนวณทั้งเรื่องขนาดและน้ำหนักให้ใกล้เคียงกับสัดส่วนของขนมปังจริงมากที่สุด โดยสินค้าทั้งสองชิ้นใช้เทคนิคการลงลายบนตัวไม้ สามารถทำความสะอาดได้ แถมยังทนต่อการขีดข่วน และสินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เป็นโคมไฟเสน่หา (SANEHA) ผลิตจากไม้คอร์ก โดยนำเทคนิคการบิด การดัด พร้อมคำนึงถึงแรงโน้มถ่วงของโลกมาสร้างรูปทรงของโคมไฟที่ดูพลิ้วไหวตามธรรมชาติแต่ยังคงรูป
“คุณสมบัติทุกอย่างของไม้คอร์กเราเก็บไว้ทุกอย่าง แต่ผมจะใส่กระบวนการ Upcycle มันจะเป็นการเพิ่มมูลค่า เพิ่มคุณสมบัติของตัววัสดุให้มันแตกต่างจากเดิม คือคุณสมบัติดั้งเดิมของไม้คอร์กนี้จะจับได้เพราะมันนิ่ม อย่างจุกไวน์เอาเล็บจิกเข้าไปได้นะ แต่ผมทำให้มันแข็งโดยที่ไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นแบบเดิม หลัก ๆ ใช้กระบวนการของแรงโน้มถ่วงเข้ามามีส่วนด้วยที่เหลือก็จะเป็นกระบวนการของการดัด การบิดเข้ามา
“ผมได้ทำการทดลองแบบ Dropping Test ในการปล่อยตกต่าง ๆ ประมาณ 2 เมตร ก็ไม่มีการแตก ผมทำการทดลองมาหมดแล้ว คนไทยเขาอาจจะไม่คุ้นเคยกับตัววัสดุนี้ แต่จริง ๆ เราก็คุ้นเคยกันมาตั้งนานแล้วนะ ลูกขนไก่ก็ทำจากไม้คอร์ก อีกอย่างหลายคนก็ตั้งคำถามว่า แล้วไปอยู่ใกล้หลอดไฟมันจะมีปัญหาหรือเปล่า ผมก็บอกไม่มีปัญหาหรอกเพราะผมใช้พวกหลอด Edison ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หลอดปิงปอง หรือหลอดไส้ธรรมดา ผมก็ใช้มาตลอดก็ไม่มีปัญหา”
นอกจากวัสดุหลักที่เป็นไม้คอร์กแล้ว ตอนนี้เขายังทำการทดลองนำวัสดุอื่น ๆ มาผสมสานกับชิ้นงานเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับงานออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นการชุบทอง เย็บปัก หรือการย้อมสีไม้คอร์กด้วยสีธรรมชาติ สร้างสีสันออกเป็น 8 เฉดสีใหม่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบคุณภาพขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะนำวัสดุที่ได้จากการทดลองมาต่อยอดสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับแบรนด์ THAS โดยที่ผ่านมาได้รับรางวัลการันตีจากหลายเวที ไม่ว่าจะเป็น Material ConneXion สาขา Naturals และ Process, G-UPCYCLE ระดับ Gold และ UPCYCLE-Carbon Footprint จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์จะออกไปทางพวกคนซื้อของตกแต่งบ้านที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครับแต่ผลงานผมก็แฝงในเรื่องของนวัตกรรมเข้ามาด้วย ตรงที่การรักษาทรงของตัวไม้คอร์กให้มันโค้งได้อย่างนี้ ผมพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ให้มันแข็งแรงก่อน ถ้าแข็งแรงเมื่อไหร่ก็ค่อยขยับเอาวัสดุอย่างอื่นมาผสม หรือไปเล่นอย่างอื่น เพื่อที่จะได้ประสบการณ์งานใหม่ ๆ คือตอนนี้มันเป็นสิ่งที่อยู่ข้างใน แต่เราก็พยายามหาภายนอกเข้ามา อาจจะได้ความรู้หรือแนวทางใหม่ ๆ บางอย่างอาจจะไม่เหมาะกับตัววัสดุแบบนี้ก็ได้ ซึ่งถ้าเอาวัสดุอย่างอื่นมาผสมกับไม้คอร์กมันจะเป็นยังไง
“ตอนนี้ผมทำแบรนด์ THAS มาเข้าปีที่ 4 แล้วครับ ถ้าให้มองว่าผลงานชิ้นไหนโดดเด่นที่สุดก็คงจะเป็นตัวโคมไฟล่าสุดครับ เพราะมันสามารถแตกแขนงไปได้หลายทาง อีกอย่างผมยังไม่เคยเห็นเมืองนอก เอาไม้คอร์กมาทำเป็นฟอร์แมต ที่ผมเห็นจริง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของอุตสาหกรรม แต่ของผมเองจะใช้วีถีของคนไทยเข้ามาบวกกับวิธีการทำงานของเรา ซึ่งคือความเป็นดีไซน์เนอร์ การใช้รูปแบบเอามาผสมผสาน หรืออย่างน้อยก็พยายามจะไม่สร้างอัตลักษณ์หรือลายเซ็นต์ที่ชัดเจนเท่าไหร่ เพราะผมคิดว่าตรงนั้นมันเหมือน เป็นการตีกรอบให้เรา ผมพยายามมองให้หลากหลาย ไม่ติดตัววัสดุว่ามันจะต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอด”
นี่เป็นอีกหนึ่งแนวคิดในการนำวัสดุมาเป็นหัวใจหลักในการสร้างผลิตภัณฑ์อย่างมีเอกลักษณ์ เขามองอนาคตของแบรนด์ THAS ว่าอาจจะบุกตลาดเมืองไทยให้มากขึ้น ออกงานตามงามแฟร์ต่าง ๆ และเจาะกลุ่ม Social Media ให้มากขึ้น พร้อมวางแผนใช้พลังงานทางเลือกในกระบวนการผลิตมากที่สุด ที่สำคัญเขายังนำองค์ความรู้ส่งต่อให้ผู้อื่นจากการสอนคนในชุมชน จังหวัดพิษณุโลก และเด็ก ๆ ที่อยู่ในช่วงปิดเทอมให้มีรายได้เสริมอีกด้วย