Sing street

Sing street

หลังจากส่ง Lost Star ซาวน์แทร็คสุดฮิตจาก Begin Again ที่ทำแฟนเพลงและแฟนหนังคลั่งกันไปแล้วเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจ้าของผลงานหนังเพลงที่มุ่งประเด็นความรักก็กลับมาอีกครั้งใน Sing Street กับบรรยากาศยุค 80’s ที่ถึงแม้จะเกิดไม่ทันยุคนั้น แต่ก็สามารถสนุกและอินไปด้วยกันได้อย่างไม่ขัดเขิน

Sing Street ไม่ใช่หนังเพลงหรือว่าหนังรักเพียงอย่างเดียว เพราะมันมีความ Coming of Age อยู่ในทีค่อนข้างมาก แง่มุมของการก้าวข้ามผ่านช่วงวัยของเด็กวัยรุ่น ไปจนสู่เรื่องของการเดินทางเพื่อไปให้ถึงฝั่งฝัน เรื่องของความรัก ครอบครัว เพื่อน และคนรอบข้าง กลับเป็นส่วนที่ขับเสริมให้หนังได้มีมิติและเดินไปข้างหน้าได้อย่างลงตัว ดังนั้นนี่จึงไม่ใช่หนังรักที่เน้นขายดราม่า ไม่ใช่หนังเพลงที่มีแต่เพลงเพราะ ๆ ให้ฟัง แต่มันเป็นหนังที่มีครบทุกรสชาติ เต็มอิ่มทุกความรู้สึกเลยจริง ๆ 

ในแง่มุมของตัวละคร John Carney ได้รังสรรค์ตัวละครที่ค่อนข้างมีมิติและความเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างชัดเจน นับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่โรงเรียนใหม่จนกระทั่งได้เจอกับ Ann ที่เปรียบได้กับคนชี้ทางสว่าง ตัวละคร Conor เป็นเพียงแค่เด็กชายที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่นโดยที่ไม่มีอะไรเป็นจุดชี้นำ เสมือนคนที่กำลังหลงทาง แต่พอได้เจอกับนางฟ้านางสวรรค์ที่เผลอไปคุยโวโอ้อวดเสียเยอะว่าตนเองเป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง ทำให้ต้องขวนขวายหาเพื่อนตั้งวงดนตรี ฝึกฝนแต่งเพลงอย่างจริงจัง จากนั้นจึงได้พยายามจนกระทั่งได้รับการยอมรับในท้ายที่สุด

ซึ่งอีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องของความแปลกแยก (Weird) ที่ตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ไม่ว่าจะเป็นความแปลกแยกโดยตัวของตนเอง หรือแม้กระทั่งความแปลกแยกที่ส่งผลมาจากมุมมองของสังคมรอบข้าง นับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่โรงเรียน Conor ถูกมองว่าเป็นพวกที่แปลกแยกจากสายตาของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยรูปลักษณ์ภายนอก รวมไปถึงความเป็นคนนอกที่ถูกแบ่งแยกออกมาชัดเจน จนตัวเขาสามารถหาจุดยืนของตัวเองในความแปลกแยกนั้น และยึดมั่นในตัวตนของตัวเองจนกระทั่งได้รับการยอมรับจากสังคมในท้ายที่สุด (แต่อาจจะยกเว้นสาธุคุณ Baxter ไว้สักคนหนึ่งก็แล้วกัน) 

รวมถึงตัวละคร Brendan เองก็ดี ถึงแม้จะไม่ใช่ตัวละครที่ขับเคลื่อนหนัง แต่พี่ชายผู้ล้มเหลวของ Conor ถือว่าเป็นตัวละครที่ค่อนข้างมีบทบาทสำคัญหลายจุดที่ส่งผลถึงน้องชาย ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นครู ส่งต่อแรงบันดาลใจไปสู่อีกรุ่น ซึ่งขณะเดียวกัน Brendan ก็คือกระจกที่เป็นภาพสะท้อนของ Conor ไปด้วย เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับน้องชาย ไม่ว่าจะเป็นแรงบันดาลใจ ความรักในเสียงดนตรี รวมไปถึงการไล่ตามความฝันนั้น Brendan ผู้เป็นพี่ชายได้เปิดทางถางหญ้าให้ Conor เดินต่อไปได้อย่างราบรื่น แล้วก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับน้องชายอีกด้วยว่า ถ้าหากเขาเลือกที่จะทิ้งความฝันไว้เพียงครึ่งทางนับจากนี้ ปลายทางของอุโมงค์ก็คงจะเป็นแบบเดียวกับพี่ชายเป็นแน่แท้

และในฉากสุดท้ายที่ Brendan ส่ง Conor และ Ann ออกเดินทางสู่เกาะอังกฤษ เพื่อเดินทางออกตามความฝัน ซีนที่เขาร้องไห้ออกมานั้นใครจะเข้าใจได้ดีกว่าตัวละครนี้หามีไม่ น้ำตาที่หลั่งออกมาในขณะนั้นแสนสับสน เชื่อว่าแต่ละคนตีความไม่เหมือนกัน
แน่นอนในฉากนั้น ถ้าจะเรียบเรียงออกมาเป็นบทเพลงก็คงประมาณเพลงของบี พีระพัฒน์ “ไม่รู้ว่าฉันอิจฉา หรือว่าสุขใจ น้ำตาที่ไหลมันไหลมาจากจุดไหน เป็นเพราะฉันเสียใจหรือว่าฉันชื่นชม” ใช่ครับ ไม่มีใครทราบได้แน่ชัดว่าน้ำตาตอนนั้น คือน้ำตา
แห่งความปลาบปลื้มที่ได้ส่งน้องชายไปทำตามฝัน หรือว่าเสียใจในโชคชะตาแล้วอิจฉาในความกล้าหาญของน้องชายกันแน่ อยู่ที่มุมมองของคนจะตีความครับ

ถ้าหากเปรียบว่า Once คือความรักที่อิ่มไปด้วยความรู้สึกแต่ทว่าไม่สมหวัง Begin Again ก็คือความรักที่ผิดหวังแล้วพยายามลุกขึ้นก้าวเดินต่อ Sing Street ก็จะเป็นการเริ่มต้นใหม่จากอะไรก็ตาม และเตรียมตัวพร้อมที่จะออกเดินทางไปสู่ประตูแห่งฝัน เรียกได้ว่าเป็นการปิดฉากซีรีส์ได้อย่างสวยสดงดงาม และจะเป็นโจทย์ที่ยากยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับ John Carney ถ้าหากเขายังคงเลือกที่จะดำเนินตามรอยซีรีส์หนังชุดนี้ หนังเรื่องถัดไปของเขาจึงเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก ว่าเขาจะจัดการเรื่องของอะไรต่อไป 

Film Info

ผู้กำกับ : John Carney
ประเภท : Comedy, Drama, Music
สัญชาติ  : USA
ความยาว : 106 นาที
Ratings : 9/10

ตามฝันด้วยเสียงเพลง