น.พ.ธนัญชัย อัศดามงคล
ปัจจุบันเรื่องของการศัลยกรรมความสวยความงามเป็นเรื่องปกติในสังคม เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยอมรับว่าการเสริมเติมแต่งช่วยให้รูปร่างหรือใบหน้าดูดีขึ้น แน่นอนว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้จึงได้รับความนิยมอย่างสูง ทำให้สถานที่ในการทำศัลยกรรมตกแต่งผุดขึ้นมากมาย การเลือกใช้บริการจึงเป็นสิ่งสำคัญ โรงพยาบาลบางมดก็เป็นสถานที่หนึ่งที่ตอบโจทย์ทุกอย่างเพราะมีมาตรฐานการบริการระดับสากล โดยมีผู้บริหารโรงพยาบาลไฟแรงรุ่นที่ 2 อย่าง น.พ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่งฝีมือดีคอยควบคุม
ในวัยเด็ก น.พ.ธนัญชัย ได้รับการถ่ายทอดแนวคิดการเป็นแพทย์จากคุณพ่อ (น.พ.สุรสิทธิ์ อัศดามงคล ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลบางมด) จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกเรียนคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล 6 ปี ก่อนจะออกไปใช้ทุนรัฐบาลในต่างจังหวัดอีก 3 ปี หลังจากนั้นเล็งเห็นว่าการเป็นหมอเฉพาะทางจำเป็นต้องเรียนรู้ให้ลึก จึงเรียนต่อทางด้านศัลยกรรมตกแต่งอีก 5 ปีรวมเป็น 14 ปี ถึงได้ออกมาทำงานอย่างเต็มที่
“ความจริงการเรียนจบหมอทั่วไปทางแพทยสภาก็ให้ทำงานด้านนี้ได้ แต่ผมคิดว่ายังไงก็สู้การเรียนเฉพาะทางโดยตรงไม่ได้ เพราะมันมีรายละเอียดที่ลึกลงไปอีกเยอะ การเรียนด้านนี้ไม่ใช่ทำเพื่อเสริมความงามเพียงอย่างเดียว แต่เรียนเรื่องของการรักษาโรคด้วย เช่นปากแหว่งเพดานโหว่ ไฟไหม้น้ำร้อนลวก มะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนัง กับเรียนเรื่องของคอสเมติกซึ่งเราสามารถเอามาประยุกต์มาใช้ได้กับคนปกติที่ทำให้ดูดีขึ้น”
จากการที่ น.พ.ธนัญชัย ได้เรียนรู้มานานและมีประสบการรักษาคนไข้มาอย่างโชกโชนเรื่องของฝีมือการศัลยกรรมตกแต่งจึงไม่เป็นรองใคร แต่อีกด้านหนึ่งเขาคือผู้บริหารโรงพยาบาลบางมดรุ่นใหม่ที่มีขั้นตอนในแบบฉบับของตัวเองทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้เติบโตขึ้นในแนวทางที่ตัวเองวางเอาไว้
“โรงพยาบาลบางมดเปิดมา 30 กว่าปีจากการบุกเบิกของคุณพ่อ ก็มีการรักษาโรคทั่วไปควบคู่กับคอสเมติกพร้อมกัน ตรงนี้เองทำให้ชื่อเสียงด้านศัลยกรรมความงามเรามีมานาน ในช่วงแรกที่ทำตรงนี้มันมีข้อดีคือคู่แข่งน้อยแต่ข้อเสียการศัลยกรรมในยุคนั้นค่านิยมในสังคมยังไม่ค่อยยอมรับนักซึ่งต่างจากสมัยนี้พอสมควร
“ปัจจุบันเราพัฒนาด้านการแพทย์ขึ้นมาเรื่อย ๆ ตามคอนเซ็ปต์ เจ็บน้อย หายเร็ว เป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นเทคนิคเฉพาะที่เรียกเป็นของเราเองเรียกว่า เทคนิคบางมด อย่างเช่นเมื่อก่อนจะมีการทำตาสองชั้นมีเทคนิคเดียวคือกรีดให้มันเป็นตาสองชั้นแต่พอทำไปแล้วแผลจะยาวคนไข้เจ็บเยอะ แต่เทคนิคของเราจะใช้เลเซอร์มาช่วย ซึ่งแผลอยู่ด้านในเวลาหลับตาทำให้บวมน้อยเจ็บน้อยและเป็นธรรมชาติ ซึ่งการทำศัลกรรมทุกอย่าง ทั้งทำตา จมูก หน้าอก เป็นคอนเซ็ปต์ของเราเองทั้งหมด
“แม้จะเป็นเทคนิคเฉพาะของเราเองแต่ไม่ต้องห่วงเพราะ ในด้านคอสเมติคจะมีการประชุมในระดับโลกอยู่แล้วซึ่งเราจะได้รับเชิญไปพูดแลกเปลี่ยนทัศนะ ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย จะมีการอัพเดทวิธีรักษาใหม่ ๆ อยู่ตลอด อย่างเกาหลีเขามีชื่อเสียงการศัลยกรรมมาก แต่ความจริงเรื่องเทคโนโลยีและเทคนิคการแพทย์ประเทศไทยสู้เกาหลีได้แน่นอน เพียงแต่การตลาดเขาเสรีว่าสามารถทำโฆษณาได้ แต่บ้านเราทำโฆษณาไม่ได้ใช้เพียงการบอกบริการเท่านั้น เราจะเห็นดาราไทยนิยมไปทำศัลยกรรมที่เกาหลี แต่ในทางกลับกันดาราต่างประเทศก็มาทำศัลกรรมที่ประเทศไทยเหมือนกันแต่ไม่ค่อยมีคนรู้ มันจึงเป็นเรื่องของการตลาดมากกว่า
“การศัลยกรรมความงามสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของความปลอดภัย ต้องรู้ 3 อย่างคือเลือกสถานที่ที่ปลอดเชื้อมีมาตรฐานไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลหรือคลีนิก อย่างที่สองคือเลือกแพทย์ควรจะเป็นแพทย์ที่จบเฉพาะทางหรือแพทย์ที่มีประสบการณ์มาก สุดท้ายคือการรับข่าวสารควรมาจากข้อมูลตรงไม่ใช่การรีวิวทางอินเตอร์เน็ตเพราะรูปสามารถปรับแต่งได้ ซึ่งข้อมูลตรงควรมาจากการปรึกษาแพทย์และเห็นจากคนที่ทำมาแล้ว
“ผมโชคดีที่เรียนจบแพทย์และได้มาเป็นผู้บริหารโรงพยาบาล เพราะการเรียนหมอจะทำให้รู้เรื่องของระบบการทำงานทุกขั้นตอนของโรงพยาบาล ผมเชื่อว่าคนที่จบหมอมาแล้วมาทำงานบริหารโรงพยาบาลจะรู้ดีกว่าคนที่จบบริหารธุรกิจมาโดยตรง เพราะระบบของโรงพยาบาลมันซับซ้อนมาก แถมต้องบริหารพนักงานพยาบาลและหมอซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
“แต่ข้อที่ต่างระหว่างหมอกับนักบริหารธุรกิจ คือการเรียนหมอถูกฝังไว้ในหัวตลอดว่าต้องช่วยเหลือคนป่วย ตรงส่วนนี้เองทำให้เราไม่ได้คิดถึงผลกำไรเท่าที่ควร การมาเป็นผู้บริหารเต็มตัวก็หลีกเลี่ยงเรื่องของผลกำไรขาดทุนไม่ได้ เพราะเรามีค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเยอะพอสมควร เรื่องของธุรกิจกับโรงพยาบาลจึงเป็นเรื่องของความท้าทายในการทำให้สมดุล แต่ถึงอย่างไรผมก็ถือเรื่องของจรรยาบรรณาการแพทย์เป็นหลักมากกว่า
“ปัจจุบันคนไข้มีเข้ามาโรงพยาบาลบางมดมากขึ้นเรื่อย ๆ อนาคตอันใกล้นี้เราจะเปิดโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านศัลยกรรมความงาม เป็นแต่ละชั้นเลยว่าทำจมูก ตา ปาก หน้าอก แล้วเราจะเอาหมอเฉพาะทางเข้ามา นอกจากนี้เราวางแผนว่าจะเอาธุรกิจโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนนำมาสร้าง คิดว่าไม่น่าเกิน 2 ปีน่าจะทำสำเร็จ”