เศกพล อุ่นสำราญ
ศิลปินแจ๊สชาวไทยที่โด่งดังในระดับท็อปของเอเชีย หลายคนรู้จักเขาในฐานะนักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง ชื่อของ KOH MR.SAXMAN หรือ เศกพล อุ่นสำราญ นั้นเป็นที่รู้จักกว้างขวาง นักดนตรีระดับโลกต่างยอมรับในฝีมือ ล่าสุดเขาได้นำเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาผสมผสานไว้ในบทเพลงที่ฟิวชั่นระหว่างแจ๊สและดนตรีไทยในนามวง The Sound Of Siam
อีกบทบาทหนึ่งเขาเป็นครูที่เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณในการสอน แบบอย่างของนักแซกโซโฟนที่หลายคนใฝ่ฝันและถือเป็นไอดอล เขาเปิดโรงเรียนสอนแซกโซโฟนและก่อตั้งชุมชนนักดนตรี-แซกโซโฟน ที่เป็นคอมมูนิตี้ขนาดใหญ่ของเมืองไทย ในชื่อ Sax Society
นี่คือเรื่องราวการสู้ชีวิต ฝ่าฟันจนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน กว่าจะมีวันนี้หนทางมิได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ ใช้ความพยายามจนไปถึงจุดหมาย อดทนฟันฝ่าจนถึงเส้นชัย!
“วัยเด็กของผมนั้นเต็มไปด้วยความรู้สึกสนุก เศร้า เหงา ผมเป็นลูกคนเดียวแถมคุณแม่เสียตั้งแต่เด็ก ๆ ผมก็ต้องตระเวนไปอยู่ตามบ้านญาติต่าง ๆ ที่บอกว่าเหงาคือผมไม่ได้อยู่กับคุณพ่อ ซึ่งท่านจะต้องทำงาน ก็เลยต้องเอาผมไปฝากไว้กับญาติ ๆ ฝากคุณอาบ้าง ฝากคุณยายบ้างเพื่อที่จะให้ผมได้เรียนหนังสือ แต่โชคดีเหลือเกินที่ผมมีญาติพี่น้องที่ดีครับ ให้ความรักความอบอุ่น ให้ผมได้เรียนดนตรี ผมว่าจุดนี้ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการรักดนตรีของผมครับ
“ผมรักเสียงดนตรีตั้งแต่เริ่มที่จะจำความได้ ตอนอนุบาลขณะที่ยังอยู่กับคุณพ่อ จำได้ว่าท่านจะมารับที่โรงเรียนอนุบาลช้ากว่าคนอื่น คุณครูก็จะมาฝากผมไว้ที่ห้องพักครูซึ่งมีเปียโนอยู่ ตอนนั้นเรียนโรงเรียนประสาทพร ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนนนทบุรีคริสเตียนวิทยา ซึ่งมีครูล้วน ควันธรรม เป็นคุณครูใหญ่ ท่านเป็นนักแต่งเพลงชื่อดังของเมืองไทย และพอไปอยู่ที่นั่นก็จะได้ยินเสียงเพลงตลอด พอช่วงประถมก็ถูกส่งไปอยู่กับคุณอาที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เรียนที่โรงเรียนสัตหีบสอง ผมจะอยู่ในวงดุริยางค์ตั้งแต่ ป.1 เพราะฉะนั้นก็เหมือนเราซึมซับดนตรีตั้งแต่เด็ก
“จริง ๆ ผมเป็นคนจังหวัดนนทบุรี อยู่ที่นี่ตั้งแต่เกิดเลย แค่มีบางช่วงวัยที่ตระเวนไปเรื่อยอย่างที่บอก ชีวิตจะระหกระเหินไปเรื่อย จนกระทั่งได้เข้าเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ผมเป็นรุ่นที่ 9 ซึ่งพี่ฟอร์ด สบชัย ไกรยูรเสน เป็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนและเป็นเหมือนครูของผมเช่นกันครับ พอจบชั้นมัธยมผมก็ไปเรียนต่อที่พานิชยการพระนคร เล่นวงโยธวาทิตด้วย ไปที่ไหนก็เข้าวงตลอดครับ ช่วงนี้เริ่มที่จะเล่นวงสตริงแล้ว ผมโตมาในยุค 80 ยุคที่เพลงป็อปไทยเฟื่องฟูที่สุด ชอบหลาย ๆ วง อาทิ แมคอินทอช, ฟอร์เอฟเวอร์, คีรีบูน, รวมดาว, คาราบาว พอโตขึ้นมาอีกหน่อยก็เริ่มฟังแจ๊ส ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ของในหลวง
“เริ่มฟังแจ๊สจริง ๆ ประมาณช่วงปวช. รู้สึกว่าดนตรีแจ๊สมันอิสระ เป็นดนตรีที่แต่งเติมอะไรก็ได้ ไม่ต้องเหมือนเดิมตลอดเวลา มีความครีเอทีฟ ผมโชคดีมาก อาจารย์ที่สอนพานิชยการพระนคร ชื่อว่าอาจารย์กวินท์วุฒิ กลั่นไพฑูรย์ พอดีท่านเป็นนักดนตรีแจ๊ส เป็นนักเปียโน แล้วก็จะพาผมไปเข้าวง อาจารย์มองเห็นว่าโก้น่าจะใช้ดนตรีช่วยส่งตัวเองจนเรียนจบได้ เพราะเห็นว่าเราลำบาก ตอนนั้นผมทำงานทุกประเภท ช่วงปิดเทอมผมจะอยู่ในร้านสหกรณ์ ต่อมาก็ขายเครื่องสำอาง อาจารย์ท่านเห็นก็ว่าทำหลายอย่างและพอเล่นดนตรีได้ก็เลยเอามาฝึกเล่นดนตรีแจ๊ส ท้ายที่สุดก็ฝึกให้เป็นมืออาชีพโดยการออกไปเล่นดนตรีกลางคืนครับ กลางวันไปเรียนหนังสือ กลางคืนเล่นดนตรี จำได้เลยว่าได้วันละ 100 บาทพอที่จะประทังชีวิตได้ทุก ๆ เดือน
“ที่ว่าไม่มีเงิน คือไม่มีจริง ๆ ที่ผมได้เรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี เพราะได้ทุนเรียนครับ จริง ๆ ได้ทุนตั้งแต่เด็ก ๆ สมัยก่อน เป็นทุนที่ไม่ค่อยน่ารักเท่าไหร่ ชื่อทุนยากจน จนกระทั่งมาเรียนในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ทุนอาหารกลางวันอีก คือเขาจะมีอาหารเป็นจานหลุมให้เราได้รับประทานครับ ผมไม่รังเกียจไม่เคยอาย เพราะมันลำบากจริง ๆ และผมเป็นเด็กจุฬาฯ ที่มีเพื่อนต่างจังหวัดเยอะมากเพื่อนกรุงเทพไม่ค่อยมีเลยครับ”
ชีวิตคือการเรียนรู้
“ไม่เคยคิดว่าจะกลายเป็นนักดนตรีนะครับ ตอนเรียนพานิชย์ ผมอยากเป็นนักการตลาดรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพที่ดี แล้วก็รู้สึกอยากหาเงิน มันอาจจะหิวมั้งก็เลยอยากหาเงินครับ ผมก็เลยฝึกพิมพ์ดีดให้เร็ว ฝึกเขียนชวเลขให้เร็ว แถมเป็นแชมป์พิมพ์ดีดของพานิชยการพระนครด้วยนะครับ จนกระทั่งอาจารย์ชวนผมมาเล่นดนตรีกลางคืน ถึงได้พบว่าจริง ๆ แล้วมันมีอีกอาชีพหนึ่งนะคือนักดนตรี เป็นอาชีพที่หาเงินได้ จากนั้นก็ลืมเรื่องอื่นอยากที่จะเล่นดนตรีให้เก่งมากกว่า นั่นแหละครับคือจุดเปลี่ยนของชีวิตผม
“ผมจะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ไม่จะเป็นห้องสมุดที่ไหนก็ตามผมจะชอบนั่งอ่านฝังตัวอยู่ในนั้น และก็ชอบคุยกับผู้คน มันได้อะไรเยอะดีครับ ก็เลยทำให้มีเพื่อนเยอะด้วยครับ พอรู้ว่าที่จุฬาลงกรณ์มีสอนดนตรี รู้จักคณะเดียวคือครุศาสตร์ ก็เลยสอบเข้าที่นี่ ผมว่าผมโชคดีที่ได้เจอกับครูอาจารย์เยอะ ได้เจอรุ่นพี่ดี ๆ จำได้ว่าตอนไปสอบเข้าจุฬาฯ ผมว่าผมเป่าได้แย่มาก ผมกลับมามองตอนที่ผมเป็นครูแล้วว่าถ้าผมจะต้องคุมสอบเด็กสักคนหนึ่ง ผมจะไม่ดูแค่ว่าเขาเป่าเก่งหรือเป่าไม่เก่ง แต่จะดูว่าผมจะสอนเขาได้ไหม
ถ้ามีเด็กสักคนหนึ่งมีความมั่นใจสูงมาก มากจนดูเกินน่ารักผมจะไม่รับ แม้ว่าจะเก่งขนาดไหนก็ตาม ในวันนั้นที่ผมเล่นแย่แต่ว่ามันยังมีอีกบุคลิกหนึ่งที่พร้อมจะเรียน คุณครูอาจารย์ก็เลยเลือกผม
“ผมรู้สึกภาคภูมิใจกับการได้เรียนครู ทุกครั้งที่พบเจอคนที่มีอาชีพครู หลายคนแม้ไม่รู้จักเขาส่วนตัวผมจะทักเขาไปว่าผมชื่นชมเขานะ การเป็นครูคือการเสียสละมาก ผมว่าครูด้านดนตรีเขาจะไปเป็นนักดนตรีก็ได้แต่เขาเลือกที่จะเป็นครู เลิกเรียนก็ต้องมาสอนวงโยธวาทิต วันหยุดก็ต้องมาสอนเด็ก แม้จะได้เงินก็ได้น้อยมากแต่ผมว่าเขาทุ่มเท ผมเลยภาคภูมิใจกับการเป็นครู”
ประสบการณ์การทำธุรกิจ
“ตอนอายุประมาณ 24-25 ปี เป็นช่วงเวลาที่ผมเล่นได้มากที่สุด แสดง 3 ที่ ได้เงิน 1,000 บาท ในสมัยนั้นถือว่าเยอะครับ พอสิ้นเดือนจะมีมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งขับมาเก็บค่าผ่อนรถ บางเดือนไม่พอจ่ายต้องติดไว้ ต้องไปกู้เงินจากกรมธรรม์ประกันชีวิตตัวเองมาใช้ ก็เลยท้อคิดว่าชีวิตทำไมมันเศร้าจัง ไม่มีเงินเก็บ ก็หาเหตุผลได้ว่าอย่างแรกคือหาเงินไม่ชนเดือน คือได้มาก็ใช้ไป อีกอย่างหนึ่งคือผมเป็นนักดนตรีเวลามีเครื่องดนตรีใหม่ ๆ ออกก็อยากซื้อ ตอนนั้นผมมีอัลบั้มแล้วนะ แต่เป็นเพลง Cover ทำออกมา
2 ชุด แต่ก็ขายไม่ค่อยได้ไม่มีคนรู้จัก อัลบั้มแรกชื่อว่า Sax In The Mood กับ Wonderful Sax
“ช่วงนั้นผมได้ไปเล่นที่ Routh 66 (RCA) ผมเป็นวงแรกของร้านเลยครับ สมัยนั้นอาร์ซีเอดังมาก ประมาณปี 38-39 เจ้าของร้านชื่อพี่อ้วน เขาเป็นคนจุดประกายการทำธุรกิจให้ผม แนะนำให้ผมขายของกิฟท์ช็อป ซึ่งส่วนใหญ่ก็รับมาจากสำเพ็ง ผมเลิกเล่นดนตรีไปขายของอยู่ประมาน 2 ปี จริง ๆ ก่อนหน้านั้นเคยลองขายน้ำส้มคั้น ไปฝากขายตามโรงพยาบาล ตามสระว่ายน้ำ ปัญหาคือเวลาไปฝากขายแล้วขายไม่หมดมันก็จะหมดอายุ แต่กิฟท์ช็อปขายดีกว่ามาก จะมีที่คาดผม หวีสับ โดนัทที่เป็นยางรัดผม ทุกอย่างที่เป็นของผู้หญิง จำได้ว่าครั้งแรกลงทุน 5,000 บาท ได้ของมาประมานโต๊ะหนึ่ง เลยไปยืมเงินลงทุนมาอีก 15,000 บาท เพื่อจะลงแผงให้มันใหญ่ขึ้น ไปขายหน้ามหาวิทยาลัยจันทรเกษม โรงเรียนกรุงเทพการบัญชี จากแผงเล็ก ๆ กลายเป็น 3 แผงใหญ่ ได้กำไรแผงละ 1,000 บาทต่อวัน ตอนนั้นผมคิดว่าชีวิตผมดีมากเลย แต่ดันไปสะดุดช่วงขายรองเท้า คู่ละ 199 บาท แต่รองเท้าผมสู้เจ้าใหญ่ที่มาขายไม่ได้ คิดว่าชีวิตทำไมมาอยู่ตรงนี้หรือว่ามันจะไม่เหมาะกับเราจริง ๆ จนกระทั่งตัดสินใจเลิกทำแล้วกลับไปทำวงดนตรี
“อาจารย์นพดล ฉิมท้วม ท่านมองดูผมด้วยความสงสาร เล่นดนตรีมาตั้งนาน ทำอย่างอื่นมาตั้งนานทำไมไม่มีเงินเก็บเลยให้เทปผมมาม้วนหนึ่งชื่อว่า เคล็ดลับความร่ำรวย ทุกวันนี้ผมยังเก็บอยู่เลย คือเป็นนิทานของจีนที่พ่อสอนให้ลูกเก็บเงิน หากมีรายได้วันละ 100 บาท ให้เก็บ 10% เป็นเงินออม ค่าเงินออมคือค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปแล้วเอากลับมาใช้ไม่ได้ มี 1,000 ให้เก็บ 100 มี 10,000 ให้เก็บ 1,000 ให้จ่ายแล้วให้ลืมมันไป ผมเริ่มเก็บเงินตั้งแต่วันนั้น ผมมีความฝันที่อยากจะเรียนดนตรีต่อต่างประเทศ ตั้งวงดนตรีกับเพื่อน ๆ ชื่อ The Funk Machine แล้วก็เก็บเงินอยากไปเรียนดนตรีต่อเมืองนอก ในขณะที่พ่อก็แก่ลงทุกวัน ผมเก็บได้ก้อนหนึ่งและได้ทุนที่บอสตัน 50% ซึ่งผมจ่ายไม่เยอะก็สามารถไปได้เลย ท้ายที่สุดผมตัดสินใจที่จะอยู่เมืองไทยและนำเงินก้อนนี้ทำอัลบั้มอีกชุดหนึ่ง”
ความสำเร็จของมิสเตอร์แซกแมน
“จุดเริ่มต้นของผลงานเพลงที่ทำให้คนรู้จัก โก้ Mr. Saxman เกิดขึ้นจากเงินเก็บก้อนนี้ ผมได้ปรึกษารุ่นพี่ คุณหนึ่ง Mr. Drummer (ณัฐวุฒิ พันธ์สายเชื้อ) ที่กลายมาเป็นโปรดิวเซอร์ในงานชุดนี้ พี่หนึ่งเขาเป็นเจ้าของห้องอัดและเป็นรุ่นพี่ที่พานิชย์พระนครด้วย ชุดนี้ทำอยู่ 3 ปี ช่วงอายุ 26-28 ปี ผมทำจนพี่เล็ก (สมชาย ศักดิกุล) ดาราตลกและนักดนตรีวง Bangkok Connection บ่นว่านาน เจอกี่ทีก็ยังทำไม่เสร็จ อัลบั้มนี้คือ Mr. Saxman เป็นอัลบั้มที่อินดี้มากผมใช้เงินทั้งหมดที่ผมเก็บมาทำ ประมาณ 50,000 บาท ตอนนั้นผมรู้จักร้านเดียวคือร้านน้องท่าพระจันทร์ว่าเขารับจำหน่ายเทปอินดี้ ผมกะว่าจะเอาเงินก้อนนี้ไปจ้างคนออกแบบหน้าปกแล้วก็ไปปั๊มเทป นำไปฝากขาย ผมคิดอยู่แค่นี้เองเพราะผมไม่รู้จักธุรกิจดนตรี
“ระหว่างนั้นผมก็รับเป็นนักดนตรีในห้องอัดเสียงและเริ่มที่จะมีคนรู้จัก ได้เล่นดนตรีให้กับหลายค่าย ทั้ง RS และ Grammy จนพี่นิ่ม สีฟ้า (นักแต่งเพลงชื่อดัง) ซึ่งผมได้ร่วมงานด้วยเขาขอฟังเพลงในอัลบั้มนี้ แต่เพลงมันเป็นเพลงบรรเลงทั้งหมด ก็เลยบ่ายเบี่ยงคิดว่าไม่อยากให้ Grammy มาลงทุนกับผมเพราะว่ามันน่าจะเจ๊งแน่นอน ผมเพียงแค่ต้องการเป่าและใครชอบก็ซื้อ ผมคิดแค่นั้น แต่พี่นิ่มก็ถามหลายครั้งว่าจะเอาไปให้พี่ฉ่าย สมชัย ขำเลิศกุล กับพี่ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค จนตอนสุดท้ายผมก็นำไปให้พี่เขาฟัง
“ตอนนั้นพี่ฉ่าย เป็นผู้บริหารค่ายจีราฟเรคคอร์ด ในเครือ Grammy Grand สุดท้ายพี่ฉ่ายบอกว่าอยากสนับสนุนนักดนตรีเลยเรียกเข้าไปคุยที่ Grammy เป็นความตื่นเต้นมากเลยครับ ผมจำได้ไม่ลืม พอผู้บริหารทั้งสามท่านบอกจะซื้อเพลงผม ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีเพลงภาวนาด้วย ผมกับพี่หนึ่งที่กอดความฝันไปด้วยกัน เข้า Grammy ก็เฮเลยดีใจมากครับ ผมจำคำพูดของพี่ฉ่าย พี่นิ่ม พี่ดี้ ได้เลยว่าค่ายเพลงนี้เป็นค่ายเพลงที่สนับสนุนนักดนตรี แต่พี่ฉ่ายบอกผมว่าให้ผมลองหาอีกสักเพลงได้ไหมในท้ายสุดก็เป็นเพลง ภาวนา ที่ผมแต่งทำนองไว้นานแล้วส่วนคนแต่งเนื้อร้องชื่อพี่หมี เขาแต่งเพลงให้ผม 2 เพลง คือภาวนา และล้านใจ จากนั้นเขาก็ไม่ได้แต่งเพลงอีกเลย”
ผู้บริหารค่ายเพลง Chilling Grove Record
“ชีวิตผมเหมือนเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่ทำอัลบั้ม Mr. Saxman หลังจากนั้นผมก็ทำอัลบั้มเรื่อยมา อยู่กับ Grammy 4 ชุด ออกไปอยู่ RS 1 ชุด ท้ายสุดผมคิดว่าเราอยู่ค่ายใหญ่ในเมืองไทยมา 2 ที่แล้ว ถ้าดนตรีถูกขับเคลื่อนด้วยพลังของเราเอง อยากทำแบบนี้อยากออกแบบนี้ก็ออกเลยไม่ต้องไปผ่านบอร์ดบริหาร ผ่านกรรมการ หลาย ๆ อย่างคงจะดี ก็เลยตั้งค่ายเล็ก ๆ ของผมชื่อ Chiling Groove ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Chilling Grove Record (CGR) ผลิตงานของตัวเองและงานของพี่ ๆ น้อง ๆ ที่ฝันอยากจะออก
ผลงานแต่ไม่มีช่องทาง ถ้าผมช่วยได้ก็จะทำให้
“ล่าสุดผมออกผลงานมา 3 อัลบั้ม หนึ่งในนั้นคืออัลบั้มที่นำเพลงลูกกรุงมาทำใหม่ (Timeless) เป็นอัลบั้มที่แฮปปี้ที่สุดและเป็นอัลบั้มที่ขายได้ดีที่สุดตั้งแต่เปิดค่ายมาเลย มีคนจากต่างประเทศเยอะแยะมากมายที่ได้ฟัง Timeless หลาย ๆ เพลง อาทิ เพียงคำเดียว, รักคุณเข้าแล้ว, ชั่วฟ้าดินสลาย, ครวญ, อย่าเห็นกันดีกว่า ซึ่ง 10 เพลงที่นำมารวมกันไว้เพราะมาก เป็นเพลงในยุคที่ผมยุคเติบโตด้วย มีคนโอนเงินมาสั่งซื้ออัลบั้มชุดนี้เยอะมาก นำไปฝากคนที่อยู่ต่างประเทศ ฝากคุณพ่อคุณแม่ คือดนตรีเราก็ไปถึงต่างประเทศสักที คราวนี้ได้เข้าไปสู่คนกลุ่มใหญ่ ผมรู้สึกว่าโชคดีที่ทำอัลบั้มชุดนี้ ถามว่าในมุมมองของนโยบายถือว่าประสบความสำเร็จมากครับ แต่ในเรื่องของรายได้จากการจำหน่ายแผ่นซีดี บอกตรง ๆ ผมไม่ได้คิดและก็ไม่มีเวลามานั่งคิดก็เลยตอบไม่ได้
“การทำอัลบั้มสักชุดไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ ต้องซ้อมมาก่อนหน้านี้ไม่รู้กว่ากี่ร้อยชั่วโมง ลองอัดเสียงเข้าสตูดิโอ คือมันเหนื่อยมากกว่าจะได้แต่ละเพลง แต่ผมยังมีความสุขกับการขายแผ่นซีดีแบบนั้นอยู่ ศิลปินเมืองนอกเองก็เป็นแบบนั้นนะ ผมเดินทางไปแสดงคอนเสิร์ตใน Jazz Festival หลาย ๆ ประเทศ พอเลิกแสดงจากเวที ผมจะมีกระเป๋าแบบแม่ค้า กระเป๋าที่มีถุงตรงหน้าเปิดออกมาจะเป็นซีดี ขายพร้อมแจกลายเซ็นเอง ผมว่ามันตรงที่สุดถึงมือแฟนเพลงและผู้บริโภคโดยตรงเลยครับ “ผมผลิตงานตัวเองออกมาในค่ายตัวเองประมาณ 4-5 ชุด แล้วผมออกเดินทางในหลาย ๆ ประเทศ ทำวงหลากหลายไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ของ Mr.Saxman หรือวงเวิร์ลมิวสิคอย่าง The Sound of Siam ที่ออกเดินทางไปแสดงในหลาย ๆ ประเทศ ผมว่าผมเป็นนักดนตรีที่เดินทางเยอะที่สุดก็ว่าได้ครับ ชีวิตของผม 1 ใน 3 ของปี แทบจะอยู่แต่ต่างประเทศ”
The Sound Of Siam
“ตอนนี้ผมทำวงดนตรีที่ผสมดนตรีไทยกับดนตรีสากลเข้าด้วยกันชื่อ The Sound Of Siam เพื่อแสดงความเป็นไทยให้ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก เพื่อที่จะให้โลกหันมามองเมืองไทยในความงดงามของดนตรี แต่งเพลงเกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา แต่งเพลงเกี่ยวกับสุโขทัย ล้านนา วัฒนธรรมภาคใต้เป็นยังไง เล่าเรื่องผ่านบทเพลง ผ่านตัวโน้ต ผมว่าดนตรีเป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่เข้าใจง่าย อย่างบางทีเราไปดูโขน ดูละคร ดูรำ คือถ้าไม่ได้ดูตั้งแต่ต้นก็งงเหมือนกันนะ แต่ดนตรีเนี่ยฟังปุ๊บเพลงนี้เพลงเจ้าพระยานะครับ เราจะรู้สึกได้เลย ผมอยากให้คนรู้สึกถึงวัฒนธรรมไทยทั้งภาพและเสียง โอเคเรามีการแสดง เรามีรำ เรามีโขน มีสารพัดซึ่งดีมากอยู่แล้ว แต่เรายังขาดดนตรีที่เป็น International แล้วเล่าเรื่องได้ดีด้วยก็เลยทำวงนี้
“โชคดีที่ผมได้สมาชิกที่เก่งมาก ได้มือกีตาร์ระดับแชมป์ ได้น้องปุ้ย ดวงพร The Voice ซึ่งเป็นนักร้องที่เรียนร้องเพลงมาจากอเมริกาแต่ร้องเพลงไทยเดิมได้ดีมาก ๆ ผมอยากให้คนเรียนดนตรีที่เคยใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกพอกลับมาเมืองไทย ต้องอย่าลืมว่าเราเป็นคนไทย เรามีวัฒนธรรมที่ดีอยู่แล้ว แต่ปุ้ยทำได้ ครับ! การทำวงดนตรีวงนี้ผมได้นำประสบการณ์จากหลาย ๆ วงที่ผมเคยอยู่ อาทิ บอยไทย ที่เล่นกับขุนอินสมัยผมยังเรียนมหาวิทยาลัย วงที่นำดนตรีไทยมาผสมกับฟิวชั่นแจ๊ส ผมเป็นรุ่นแรก ประสบการณ์จากวงตัวเอง และ Unit Asia ที่ทำให้รู้ว่าเอกลักษณ์ของเราสำคัญขนาดไหน ตอนนี้เรากำลังบันทึกเสียงอัลบั้มใหม่กันอยู่ คาดว่าน่าจะเสร็จเร็ว ๆ นี้เป็นการบันทึกเสียงพร้อมกันทุกชิ้นครับ ส่วนอัลบั้มใหม่ MR. SAXMAN ก็กำลังทำครับ เป็นการนำบทเพลงวงรุ่นพี่ในยุค 80 ที่ประทับใจในตอนเด็กมานำเสนอใหม่อีกรสชาติหนึ่งครับ”
ศิลปินแจ๊สระดับโลก
“มีช่วงหนึ่งที่ผมได้ร่วมเป็นสมาชิกใน Unit Asia วงดนตรีแจ๊สระดับโลกของญี่ปุ่น แล้วไปตระเวนเล่นคอนเสิร์ตทั่วโลก ใครจะเชื่อว่าผมจะไปเล่นที่อียิปต์ ตุรกี อเมริกา นิวยอร์ค แอลเอ โปแลนด์ เล่นที่เช็ก เล่นที่เมืองปราก เล่นที่อังกฤษหลายครั้ง เล่นที่ฝรั่งเศสหลายครั้ง เล่นที่เดนมาร์ก ฮอลแลนด์ สวีเดน และทุกเมืองในญี่ปุ่น ผมโชคดีมากเวลาเดินทางไปเล่นประเทศไหน นอกเหนือจากสถานทูตไทยในแต่ละประเทศ ท่านทูตไทยมาดู คนไทยที่ทำงานอยู่ต่างประเทศ พ่อครัวแม่ครัวพอรู้ว่ามีนักดนตรีไทย
มาเล่น เขาไม่สนนะว่าผมมีชื่อเสียงหรือเปล่า เขารู้แค่ว่าเป็นคนไทยเขามาดูมาฟังแจ๊ส เขารู้สึกว่าคนไทยมาแสดงคนไทยทำได้ ผมได้เจอหมอนวดไทยที่ไปทำงานร้านนวดในต่างประเทศมาดูมาเชียร์ กลายเป็นแฟนคลับที่มาดูเป็นคนไทยเยอะกว่าประเทศอื่นก็มีครับ จนสมาชิกในวงยังงงว่าคนไทยฟังแจ๊สเยอะขนาดนี้เลยเหรอ
“สมาชิกในวงจะมีมาจากหลายประเทศ สมาชิกหลักมาจากประเทศญี่ปุ่น ผมได้เรียนรู้การทำงานของคนญี่ปุ่น เขาสติ๊กมากมันทำให้เรารู้สึกว่าสติ๊กบ้างบางครั้งก็ดี ได้เรียนรู้เยอะเลย สมาชิกในวงมีคนญี่ปุ่น, มาเลเซีย มีนักร้องจากหลากหลายประเทศ ผมเล่นวงนี้อยู่ 5 ปี เป็นวงท็อปของญี่ปุ่นเลยนะ เขาจะดึงเอานักดนตรีเก่ง ๆ ของเอเชียมาไว้ด้วยกัน
“เป็นวง Super Band ของเอเชีย ตอนนี้วงยุบไปแล้ว เราเล่นตั้งแต่ปี 2008-2012 เดินทางเยอะมากทั้งยุโรป ทั้งเอเชีย แล้วก็ทั่วเกาะญี่ปุ่น เวลาไปเล่นที่ไหนมีแต่คนไทยมาดู เขาจะรู้ หัวหน้าวงยังงง ผู้จัดการของวงก็งงว่าคนไทยบุคลิกเป็นแบบนี้เหรอ ไปไหนจะมีคนเอาขนมมาฝาก ชวนไปกินข้าว เอาอาหารไทยมาให้ ผมว่าผมโชคดีมากได้เจอคนไทยในหลาย ๆ ประเทศ คนไทยที่เขาทำงานอยู่ ทุกวันนี้ที่ยังติดต่อกันอยู่ก็มีหลายคนนะครับ”
Sax Society โรงเรียนและชุมชนแซกโซโฟน
“จุดเริ่มต้นของ Sax Society มาจากที่ผมเล่นดนตรีที่ร้านแซกโซโฟนผับ ตรงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พอเล่นเสร็จก็จะมีน้อง ๆ นักดนตรีที่มาดู หรือเพื่อน ๆ มาพูดคุยเรื่องเทคนิคการเล่นบ้าง เรื่องอุปกรณ์บ้าง คุยไปคุยมาบางวันก็ถึงเช้า แล้วแซกโซโฟนส่วนใหญ่จะเป่าตอนกลางวันที่บ้านไม่ได้ เพราะหนวกหูบ้านข้าง ๆ แล้วคิดว่าถ้าคุยจนเช้าอยู่แล้ว เราน่าจะหาสถานที่ซึ่งมันสะดวกในการนั่งคุย แนะนำเทคนิค หรือสอนกันได้ เป็นที่พบปะพูดคุยสำหรับคนที่ชอบแซกโซโฟนไปเลย
“ช่วงเริ่มแรกก็เลยไปเช่าตึกเล็ก ๆ ริมถนนงามวงศ์วาน ช่วงนั้นผมแทบจะใช้ชีวิตที่ร้านเลย นอนที่ร้าน พอตื่นใครมาก็นั่งคุยไปเป่าแซกกันไป พอถึงเวลาก็ไปเล่นดนตรีทำอย่างนั้นจนเริ่มมีเด็กมาขอเรียน จากคนสองคน เผลอแว้บเดียวมา 40 คน อีกแว้บนึงมาเป็นร้อยเลย กลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยเปิดเป็นโรงเรียนสอนอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งเปิดเพิ่มเติม และย้ายไปอีกหลายที่ ก่อนหน้านี้จะอยู่ที่สีลม จนสุดท้ายย้ายมาอยู่ที่นี่ครับ (Sax Society รัตนาธิเบศร์ 28 ซอยข้างเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์)
“ผมว่านี่คือชีวิต การได้เฝ้าดูเจนเนอเรชั่นใหม่เกิดขึ้น บางคนเห็นตั้งแต่เด็ก เห็นวันที่พ่อแม่พามาฝากวันแรก เห็นความหวังของพ่อแม่ เห็นความซุกซนของเด็ก ๆ ได้เรียนแซกโซโฟน ได้ขึ้นเล่นเป็นอาชีพ ได้หาเงิน ได้เลี้ยงพ่อแม่ อาจจะไม่ใช่ทุกคนแต่หลายคนทำได้ ผมยังเคยคุยกับพี่เจนนิเฟอร์ คิ้ม บางทีก็เหนื่อย พี่คิ้มก็บอกว่า ในเจนเนอเรชั่นหนึ่งจะต้องมีคนที่เสียสละ คือถ้ารักที่จะเสียสละแล้วด้วย ขอให้โก้ทำต่อไป ทุกวันนี้ผมจะดีใจมากทุกครั้งที่ไปเล่นดนตรีตามต่างจังหวัดแล้วมีเด็ก ๆ น้อง ๆ นักดนตรีมาบอกว่า ผมดูคลิปพี่ทุกคลิปเลย พยายามหัดเป่าให้ได้อยู่ครับ ผมว่าผมภูมิใจในความเป็นครูมากเลยครับ
“ตอนนี้เราเปิด Sax Society มาได้ประมาณ 14 ปีแล้วครับ ช่วงแรกมีผู้ใหญ่ในวงการปรามาสไว้ว่าที่นี่ทำโดยโก้จริงเหรอ คงต้องมีคนแบคอัพเป็นนายทุนออกเงินให้ทำ ทุกวันนี้เขาก็ยังคิดอย่างนั้นอยู่ คือที่นี่มันต้องใช้ทุน ใช้เวลา เช่าสถานที่ จ้างพนักงาน จ้างครู พอเป็นโรงเรียนปุ๊บมันก็เป็น Business เพราะค่าใช้จ่ายมันเยอะ แต่ถ้าถามว่าได้กำไรจากโรงเรียนมากไหม บอกเลยว่าไม่ครับ ที่ทำเพราะใจรักล้วน ๆ เราสอนแซกโซโฟนตัวต่อตัว ค่าเรียนชม.ละ 550 บาท แบ่งครึ่งกับครู ซึ่งในแง่ธุรกิจมันไม่คุ้มหรอก เป็นธุรกิจนะแต่ว่าผมตั้งใจตั้งแต่แรกแล้วว่าจะไม่ให้ Business นำ จะให้ความเป็น Society นำ
“อุปกรณ์แซกโซโฟนทุกอย่างเราขายราคา World Marker Price แต่ต่ำกว่าท้องตลาดในเมืองไทยนิดนึง เพื่อให้น้อง ๆ ได้ซื้อง่ายขึ้น และไม่ต้องไปซื้อเมืองนอก ผมเป็นตัวแทนจำหน่ายด้วย ซึ่งก็ต้องลงทุนซื้อแซกโซโฟนมาจำหน่ายนะครับ และเป็นแหล่งพูดคุยปรึกษาของนักแซกเมืองไทย ช่วยกันหางาน แจ้งข่าว แนะนำเทคนิคและความรู้ ฯลฯ
“ธุรกิจอีกอย่างหนึ่งของผมคือร้านซูชิ Jazz Sushi At Nont ซึ่งอยู่ชั้นล่างของโรงเรียน สมัยก่อนตอนอยู่ที่สีลมร้านเล็กมากครับ จุได้ประมาณ 20 คน แต่มีดนตรีสดในร้านด้วย คิดว่าย้ายมาที่นี่น่าจะดีกว่าเดิมเพราะกว้างขึ้นเยอะ ที่ทำเพราะความรักผมเป็นคนชอบ Jazz Club ชอบบรรยากาศของมัน แล้วก็ชอบทานซูชิ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ามันจะรันด้วยตัวของมันเองได้ พอมันรันได้เด็กที่เล่นแซกโซโฟนอยู่มีที่เล่นโชว์ ลูกค้าได้นั่งกินซูชิฟังเพลงแจ๊ส อาจจะจ่ายแพงกว่าก๋วยเตี๋ยวเรือหรืออาหารตามสั่ง
นิดหน่อย เวลาเพื่อนนักดนตรีต่างประเทศมาให้เขาเล่นที่นี่ ให้เขาทำ Master Class ที่นี่ คิดว่าจะรัน Jazz Sushi กับ Sax Society ให้เป็นแลนด์มาร์คของเมืองไทยให้ได้ จะเป็นสถานที่ที่นักแซกโซโฟนหรือนักดนตรีต่างประเทศจะต้องมาที่นี่ มาให้ความรู้ จะทำให้มันเป็นอย่างนั้นให้ได้ รายได้หลักของผมยังคงมาจากการเล่นดนตรี และเป็น Music Director ในหลาย ๆ คอนเสิร์ตครับ ผมว่าสิ่งซื่อสัตย์กับเราที่สุดคือดนตรี ไม่เคยทิ้งเราไปไหน ไม่มีใครจะเอาอะไรไปจากเราได้ ไม่มีใครจะซื่อสัตย์กับเราเท่าดนตรีแล้ว”