“แอ๊บ ความจริง”

“แอ๊บ ความจริง”

โลกที่ควงแขนผู้คน ในยุคที่สังคม “คลั่งการสร้างภาพ” แบบทุกทิศทาง เป็นเรื่องที่ยากเข้าไปอีก ในการจะรู้ว่าอะไรแท้ อะไรปลอม หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่า มันน่าสงสัยว่าทุกอย่างที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าทุกวันนี้นั้น “มีอะไรที่จริงบ้าง”

เมื่อคืนผมนอนฝันตอนตี 2 ว่าตัวเองบินไปเที่ยวประเทศแห่งหนึ่งในโลกนี้

จำชื่อไม่ได้ จำทวีปที่ไปก็ไม่ได้อีก แต่จำได้ว่าตัวเองไปเจออะไรเยอะมากที่น่าตั้งคำถามทีจริงทีเล่น (แต่ “ทีเล่น” มากกว่า “ทีจริง”)

เราจะลองมาตั้งคำถามโดยไม่ต้องการคำตอบกันสัก 5 เรื่องนะครับ

1. ผมเคยดูโฆษณาการขายกระทะเหล็กที่ไม่ต้องใช้น้ำมัน ทำให้คุณภาพของการทานไม่ต้องไปสุ่มเสี่ยงกับ “กาก” ของกระบวนการที่ก่อให้เกิดสารพิษทางอ้อม ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ในการทำให้สาว ๆ แห่กันโทรไปจอง ประเด็นคือน่าสงสัยเหมือนกับหลายร้อยรายการที่เคยออนแอร์ว่า จริงหรือ…ที่ถ้าโทรเข้าไป 50 สายแรก หรือโทรเข้ามาใน 5 นาทีนี้ 15 นาทีนี้ แล้วคุณจะได้กระทะราคาเป็นหมื่นกว่าในราคา 1,500 บาท ผมยังซื้อให้เพื่อนที่ไปอยู่คอนโดเลย

แต่อย่างที่บอก ทุกรายการที่สร้างเงื่อนไขเวลาโทร แท้จริงแล้ว มีสักรายการไหมที่โทรเข้ามาแล้ว แม้จะช้าไปเป็นครึ่งเดือน จะไม่ได้ราคานั้น

2. เมื่อทีวีเข้าสู่ยุค “ดิจิตอล” ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้มี “เรทติ้ง” เห็นหลายช่องก็โฆษณาตัวเองโครม ๆ ตอนได้ทำว่า จะช่วยพัฒนารายการ ทำให้ผู้ชมได้รายการที่ส่งเสริมปัญญา แต่กลายเป็นว่าก็มีหลายช่อง คิดรายการทำนอง “ติดต่อกับผีได้” หรือ “พูดคุยกับวิญญาณได้” แล้วก็ทำกันต่อไปอีกหลายช่อง

รายการที่เล่นกับความเชื่อคน มันง่ายเพราะมีทางออกในการหาเหตุผลแก้ตัวเยอะ แต่เรื่องฮาอยู่ตรงที่มีเทปหนึ่ง ระหว่างที่วิญญาณผู้ตายกำลังคุยกับ “คนต่อจิต” นั้น ไฟสตูดิโอ “เสือกดับ” ทุกอย่างต้องเทคใหม่หมด

ผีก็มาใหม่นะ แสดงว่าไม่ใช่แค่คนที่อยากออกโทรทัศน์ วิญญาณผีสางก็เอาด้วย คือสามารถเรียกเทคใหม่ได้ (ไม่รู้แต่งหน้าซ้ำไหมนะ)

3. ผมไม่ใช่แฟนมวยไทยแบบที่ชอบมวยสากล แต่ในยุค 80’s ก็ตามดูมวยไทยและเทศแบบแทบครบ และอย่างที่เราทราบ สมัยก่อนมี 2 เวทีหลักคือราชดำเนินกับลุมพินี แต่พอมาถึงยุคทีวีดิจิตอล กลายเป็นว่ามวยไทยมีหลายสิบเวที กลายเป็นมวยไทยช่องนั้นช่องนี้ไป ที่น่าขบขำก็คือ เวลาเข้ารายการ

โฆษกและรายการมักขึ้นต้นด้วยคำพูดเป็นมายาคติ (Myth) ว่า มวยไทยเป็นคุณค่าให้ผู้คน “ได้ศึกษา” ศิลปะแม่ไม้มวยไทย ทั้งที่ในความเป็นจริง ถามจริง ๆ เถอะ มีสักหนึ่งคนไหม ที่อยู่ในเวทีหรือดูหน้าจอ เพื่อศึกษาศิลปะแม่ไม้มวยไทย ว่าต่อยแบบนี้ กำหมัดแบบนี้ ทำท่าแบบนี้

เพราะเราเห็นแต่เสียงตะโกนแบบนั้น ทำท่าชูนิ้วแบบนี้ เพื่อการพนันขันต่อทั้งนั้น (หรือใครจะเถียง) สงสัยศิลปะแม่ไม้มวยไทยจะไปหลบอยู่ใต้เวทีเนอะ

4. มาถึงข้อที่อาจจะ “หยิกกัด” เพื่อนมิตรที่คุ้นกันในวงการ...อย่างที่เราทราบว่า โรงหนังก็อาจจะเคยประกาศว่า แม้ธุรกิจนี้จะอิงอยู่กับรายได้กำไรเป็นแนวทางหลัก แต่การประกาศตอนสร้างโรง เปิดโรงว่า จะสนับสนุนส่งเสริมหนังดี ๆ ควบคู่ไปกับภาพยนตร์ที่สนุกสนาน

แต่ในความเป็นจริง บางค่ายหรืออาจจะหลายค่าย ก็ล้วน “ลบทิ้ง” เทศกาลหนัง หรือภาพยนตร์แนวทางที่เมืองนอกบูม แต่ส่อแววว่าในไทยจะไม่ได้เงิน บางทีเมืองนอกดังระเบิด คนไทยอยากดู มีค่ายหนัง โรงหนัง ลบทิ้งโปรแกรมนั้นแบบไม่ต้องคิดมาก

เทศกาลหนังดี ๆ ถูกเตะทิ้งไปมาก หนังที่น่าสนใจพัฒนาสมองหลายเรื่อง ก็ถูกโยนลงส้วม...คำพูดที่บอกว่าโรงหนัง ค่ายหนัง จะเป็น “ทางเลือก” จึงน่าสงสัยว่า มันจริงแค่ไหน

5. มาถึงเรื่องคลาสสิก ด้วยข่าวบันเทิง คำว่า “ข่าวบันเทิง” มันน่าจะหมายถึง “ข่าวทุกอย่าง” ที่เกี่ยวกับ “อุตสาหกรรมบันเทิง” ซึ่งจะว่าไปถ้าตีความกลาง ๆ หลายอย่างเป็นบันเทิงได้ทั้งสิ้น ที่ไม่ใช่แค่หนัง ดนตรี วรรณกรรม ละครเวที

แต่กลายเป็นว่า “ข่าวบันเทิง” บ้านเรา มากมายหลายแห่ง ลดระดับ เตะทิ้ง และเหลือความหมายเพียงแค่ “ข่าวรักใคร่” ของคนดังทั้งหมด เวลามีคนบอกว่าช่วงต่อไปคือข่าวบันเทิง เรารู้เลยว่า มันคือข่าวรักใคร่

มีแค่นั้น แถมที่รายงานมา จะมีเรื่องจริงสักกี่เปอร์เซนต์นั้น ยังน่าสงสัย

น่าสงสัยเหมือนที่เวลาสตูดิโอไฟดับ แล้วทำไมวิญญาณยังสามารถ เรียกมาเทคใหม่ได้ เนอะ?  

 

ได้ที่ไหน