จิตรกรรม ร่วมสมัย
ศิลปะร่วมสมัยของจีนแผ่นดินใหญ่เป็นที่นิยมชมชอบในกระแสศิลปะของโลกยุคปัจจุบันซึ่งเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป
ศิลปะสมัยใหญ่ของจีนเริ่มก้าวแรกขึ้นในยุคก้าวสู่สมัยใหม่ในช่วงปลายสมัยราชวงศ์ชิง เมื่อการปฏิวัติซินไฮ่ของดร.ซุนยัตเซนประสบความสำเร็จจนสามารถก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐจีนขึ้นได้ในช่วงปี 1911 ระบบโครงสร้างต่าง ๆ ในทุกด้านได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างจะแจ้งและก้าวกระโดด สิ่งหนึ่งที่มีผลต่อสังคมอย่างจริงจังคือการวางรากฐานการศึกษาแบบใหม่ในทุกสาขาวิชา
ไม่เฉพาะการเรียนวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และสังคมวิทยา การศึกษาด้านภาษาศาสตร์และด้านศิลปะก็ได้มีการวางรากฐานใหม่ที่แข็งแรงมั่นคงขึ้นด้วย
เดิมนั้นการเรียนรู้ศิลปะภาพวาดของจีนมีแต่การศึกษาศิลปะจีนตามขนบเก่า วิธีการเรียนรู้ฝึกฝนคือการคัดลอกผลงานเก่าและการฝากตัวเป็นศิษย์กับอาจารย์เป็นการส่วนตัว ภาพที่วาดเป็นศิลปะจีนตามแนวประเพณีจีน
การเขียนรูป “แบบฝรั่ง” เริ่มจากพวกจิตรกรฝรั่งที่เข้ามาสู่สังคมจีน นอกจากพวกบาทหลวงหมอสอนศาสนาจะนำภาพวาดสีน้ำมันมาเป็น “เครื่องบรรณาการ” ต่อกษัตริย์และพวกคนมียศศักดิ์แล้ว ต่อมายังได้มีการวาดภาพบุคคลด้วยสีน้ำมันเป็นเครื่องแสดงความทันสมัยและการเป็นบุคคลชั้นสูงในสังคมด้วย
หลังจากสงครามฝิ่นสิ้นสุดลงในปี 1870 จีนรับรู้ถึงอำนาจสมัยใหม่ได้อย่างชัดแจ้ง วิทยาการใหม่ ๆ ได้สร้างสิ่งทันสมัยมากมายให้กับโลกตะวันตก หลายสิ่งได้กลายเป็นการคุกคามความมั่นคงแบบอำนาจเก่าในปลายยุคกษัตริย์ ความคิดและความรู้สมัยใหม่ท้าทายปะทะกับความคิดเก่า แบบแผนชีวิตเก่า และอำนาจเก่าอย่างเข้มข้น สังคมจีนก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงสู่โลกยุคใหม่อย่างแท้จริงเมื่อการปฏิวัติประชาธิปไตยโค่นล้มอำนาจกษัตริย์ประสบความสำเร็จในปี 1911
เวลานั้นประเทศจีนมี “นักเรียนนอก” ที่ไปศึกษาหาความรู้แบบสมัยใหม่ในสถาบันการศึกษาที่ประเทศตะวันตกและที่ญี่ปุ่น (ซึ่งก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมสมัยใหม่ก่อนจีน) นอกจากนักเรียนทุนหลวงรุ่น “นักเรียนหางเปีย” ในยุคซูสีไทเฮา ระหว่างปี 1872-1875 ภายใต้แรงสนับสนุนของหรงหง 容閎 เจิงกว๋อฟาน 曾國藩 หลี่หงจาง 李鴻章 ราชสำนักชิงได้ส่งนักเรียนทุนหลวงกลุ่มแรก 4 รุ่นจำนวน 120 คนไปเรียนยังสถาบันการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยอายุเฉลี่ยของนักเรียนกลุ่มนี้คือ 20 ปี แม้ว่าต่อมานักเรียนทุนเหล่านี้จำนวนหนึ่งจะถูกเรียกตัวกลับโดยยังไม่สำเร็จการศึกษา แต่ความรู้พื้นฐานแบบใหม่ที่พวกเขาได้มา ก็เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศจีนสู่ความเป็นสมัยใหม่อย่างมาก แต่ทว่านักเรียนนอกกลุ่มนี้ก็ยังไม่มีคนที่เข้ามาในแวดวงศิลปะจิตรกรรม
นักเรียนศิลปะรุ่นบุกเบิกของจีนเดินทางไปศึกษาศิลปะในยุโรปช่วงปี 1911 เป็นช่วงเวลาที่ความคิดไปเรียนไปทำงาน 勤工儉學 กำลังคึกคักอยู่ในความคิดของคนหนุ่มสาว จำนวนมากของนักเรียนศิลปะเหล่านี้เรียนศิลปะอยู่ที่ปารีส เมื่อกลับประเทศจีนในภายหลัง คนกลุ่มนี้นี่เองที่เป็นผู้วางรากฐานการศึกษาศิลปะแบบใหม่ในประเทศจีน ผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากที่สุดในการวางพื้นฐานการเรียนการสอนศิลปะสมัยใหม่ของจีนคือ สวีเปยหง 徐悲鴻
ผลพวงของศิลปะสมัยใหม่ปรากฏทั้งในด้านศิลปะบริสุทธ์และงานพานิชย์ศิลป์ ภาพวาดปฏิทินสาวงามเซี่ยงไฮ้ในเวลาต่อมาเป็นสิ่งยืนยันว่างานศิลปะสมัยใหม่ได้เคลื่อนตัวออกจากแวดวงเล็ก ๆ ของคนมียศศักดิ์สู่ชีวิตธรรมดาทั่วไปในวงกว้าง
การเคลื่อนไหวทางความคิดและวัฒนธรรมที่เรียกว่า “การเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม” 五四運動 ในปี 1919 นำพาผู้คนเข้าสู่บริบททางความคิดแบบใหม่ ๆ ที่ก้าวไปจากสังคมจารีตเก่าอย่างมาก ตั้งแต่ระยะเปลี่ยนผ่านจากระบบกษัตริย์จนจีนก้าวผ่านสู่สังคมนิยม การเรียนด้านศิลปะได้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ จากการรับอิทธิพลศิลปะคลาสสิกตะวันตกจนถึงกระแสศิลปะสมัยใหม่สกุลช่างแบบต่าง ๆ แวดวงศิลปะสมัยใหม่ของจีนยังรับเอาแนวทาง “ศิลปะแบบสังคมนิยม” จากโซเวียตรัสเซียเข้าไว้ด้วยในเวลาต่อมา สิ่งนี้จะเห็นได้จากการวางพื้นฐานอันหนักแน่นมั่งคงในวิชา “วาดเส้น” (Drawing)
หลังจากจีนสถาปนาประเทศจีนใหม่ในปี 1949 ศิลปะสมัยใหม่ของจีนก็หันทิศทางสู่ลักษณะศิลปะแนวสังคมนิยมอย่างเต็มที่ ผ่านช่วงเวลาการ “ก้าวกระโดดครั้งใหญ่” 大躍進 จนเข้าสู่ยุค “การปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่” 文化大革命 (1966-1976) แวดวงศิลปะของจีนเข้าสู่ช่วงอับทึบและตกต่ำ การเรียนการสอนของโรงเรียนต่าง ๆ ในยุคนั้นเกิดการชะงักงัน เด็กนักเรียนและคนหนุ่มสาวถูกปลุกให้ “ออกสู่ชนบท” แนวทางสุดโต่งนำพาสังคมเข้าสู่ช่วงเวลามืดมนทั้งทางด้านวิชาความรู้ เสรีภาพในการแสดงออก, เศรษฐกิจและอำนาจการเมืองอยู่ในมือของคนกลุ่มเล็ก ๆ เพียงไม่กี่คน นั่นเป็นช่วงเวลาที่สังคมจีนอยู่ในช่วงยากลำบากและชะงักงัน
ยุคการปฏิวัติวัฒนธรรมอันมืดมนสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการภายหลังการสิ้นสุดอำนาจของกลุ่มแก๊งค์ 4 คน 四人幫 หลังจากนั้นสังคมค่อย ๆ คลี่คลายตัว โรงเรียนและสถาบันการศึกษาที่หยุดการเรียนการสอนในช่วง 10 ปีนั้นเริ่มกลับมารับนักเรียนรุ่นใหม่อีกครั้งหนึ่ง
พร้อม ๆ กับการเปิดรับนักเรียนรุ่นใหม่ของสถาบันการศึกษาด้านการแสดงและภาพยนตร์ สถาบันด้านศิลปะก็เริ่มเปิดรับนักเรียนศิลปะรุ่นใหม่เช่นกัน
ราวกลางทศวรรษที่1980 ภาพยนตร์ผลงานของกลุ่มผู้กำกับรุ่นที่ 5 ของจีนกลายเป็นภาพยนตร์จีนที่โดดเด่นสะดุดตาในกระแสภาพยนตร์โลก
แต่ต้องผ่านเวลาอีกร่วม 20 ปี ผลงานจิตรกรรมของนักเรียนศิลปะรุ่นอายุเดียวกันกับผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นที่ 5 จึงกลายเป็นกระแสนิยมอย่างร้อนแรงในแวดวงศิลปะโลก
นี่คือ “สินค้าสร้างสรรค์” ผลงานของนักเรียนรุ่นแรกของสถาบันการศึกษาด้านภาพยนตร์และศิลปะภายหลังยุคการปฏิวัติทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่