บ้านยาง

บ้านยาง

กับคนที่นี่ อดีตไม่ใช่เรื่องยาวไกล เพราะมันผ่านมาไม่ถึง 50 ปี ทว่าทุกคนไม่เคยลืมการร่อนเร่บนทางภูเขาอันแสนยาวไกลเสียงปืน สงคราม และห้วงเวลาอันปีติยามที่ไม่ต้องพบเห็นมัน

 

ถนนสายแคบทอดยาวเลาะห้วยแม่งอน มันถูกโอบล้อมอยู่ด้วยบ้านเรือน ทั้งบ้านดินแบบจีนโบราณที่เหลือไม่มากหลัง อาคารไม้ชั้นเดียว รวมถึงตึกปูนรูปทรงสมัยใหม่ตามความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนบ้านยาง

 

“แต่ก่อนที่นี่มีแต่ผู้หญิง คนแก่ และเด็กๆ ผู้ชายขึ้นไปข้างบนกันเกือบหมด” อย่างที่ ไซ่ฉ่าง แซ่มิ เล่าให้ฟัง “ข้างบน” ของพวกเขาหมายถึงบ้านถ้ำง็อบ เหนือขึ้นไปทางที่จะไปดอยอ่างขาง ฐานที่มั่นของทัพกองกำลังที่ 3 ของนายพลหลี่เหวินฝาน หรือที่หลายคนคุ้นเรียกเขาว่า นายพลเลาลี

 

หน้าห้องแถวไม้ชั้นเดียว วันนี้ลุงไซ่ฉ่างคือมุสลิมที่เคร่งครัด พร้อมหน้าพร้อมตากับลูกสาวที่เป็นครูของเด็กๆ ในทุกมือข้าว ไม่เหมือนคืนวันในอดีตที่กว่าจะได้มาซึ่งแผ่นดินที่เรียกว่าบ้าน คนรุ่นบุกเบิกของบ้านยางล้วนรู้จักบาดแผลและบทเรียนของการเร่ร่อนเดินทาง

 

อย่างที่รู้กันโดยทั่วไปในประวัติศาสตร์ ว่ากองพล 93 (ก๊กมินตั๋ง) กองทัพภาคใต้ของเจียงไคเช็ก ซึ่งเป็นตัวแทนฝ่ายขุนศึกที่รบพุ่งต่อสู้กับกองกำลังทหารพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตุง การขัดแย้งทางความคิดในแผ่นดินจีนช่วงนั้นส่งผลกระทบเป็นการสู้รบจนบ้านเมืองคลอนแคลน ท้ายสุดเมื่อเจียงไคเช็กพ่ายแพ้ ลี้ภัยไปจนเป็นประธานาธิบดีที่ไต้หวัน กองพล 93 จึงกลายเป็นทหารไร้สังกัด แตกพ่ายหลบหนีการกวาดล้าง ถอยร่นจากมณฑลยูนนานของจีนสู่ดินแดนพม่า โดยมีทั้งอาสาสมัครและครอบครัวลี้ภัยสมทบมากมาย และแบ่งกำลังพลได้มากถึง 5 กองทัพ

 

กองทหารพลัดถิ่นเร่ร่อน สู้รบเดินทางอย่างไร้จุดหมายเพื่อหล่อเลี้ยงกองทัพ หลังพ่ายแพ้จากการปราบปรามของรัฐบาลพม่าที่เมืองสาด เมื่อ พ.ศ.2504 ทัพที่ 1 2 และ 4 ถูกส่งตัวไปไต้หวัน คงเหลือแต่ทัพที่ 5 ของนายพลต้วนซีเหวิน และทัพที่ 3 ของนายพลเลาลี ที่ไม่ต้องการไป หวังจะกลับสู่แผ่นดินจีนอีกครั้ง ต่างก็อพยพหนีการกวาดล้างเข้าสู่แดนดอยแผ่นดินไทย

 

ทัพนายพลต้วนไปปักหลักอยู่ที่ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย ขณะที่ทัพนายพลเลาลีเดินทางผ่านบ้านนอแล บนดอยอ่างขาง มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านถ้ำง็อบ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ หลังผ่านข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย โดยให้ร่วมรบต่อสู้กับ ผกค. ในเขตจังหวัดเชียงราย ทั้งดอยหลวง ดอยยาว โดยเฉพาะบริเวณดอยผาหม่น รวมถึงสมรภูมิเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นภารกิจสุดท้ายก่อนปลดอาวุธให้รัฐบาลไทย

 

หลังผ่านสงครามหน่วงหนัก แลกมาด้วยหลายชีวิต บางหนทางเลือกได้ บางเส้นทางก็ไม่แม้จะมีโอกาสพร่ำบ่น พี่น้องจีนยูนนานอพยพได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสัญชาติไทยให้เหล่าทหารจีนคณะชาติและครอบครัวที่ติดตาม และเมื่อนั้นคือวันที่กองทหารพลัดถิ่นเหล่านี้เลิกคิดอยากหวนคืนแผ่นดินแม่ ปลดปืน และไม่ต้องเร่ร่อนอีกต่อไป

 

จริงๆ มันก็ไม่ง่ายนัก จากหมู่บ้านกองทหารที่เคยดำรงอยู่ด้วยการสู้รบ รับจ้างลำเลียงฝิ่น ตั้งด่านเก็บภาษีเถื่อนหรือค้าอาวุธสงคราม ทุกอย่างล้วนต้องยุติ และพวกเขาต่างหันหน้าลงสู่แผ่นดินอันสมบูรณ์ชุ่มที่เหยียบยืน

 

“ตอนนั้นโครงการหลวงบนดอยอ่างขางเพิ่งก่อตั้งและทดลองปลูกพืชใหม่ๆ พืชพรรณต่างๆ ก็ให้เราลองปลูก” ทั่วทั้งบนและล่างดอยอ่างขาง ไล่มาจนถึงหมู่บ้านเล็กๆ อย่างบ้านยาง ล้วนเป็นแหล่ง “ศึกษา” การเพาะปลูกไม้เมืองหนาวของโครงการหลวง และเมื่อพวกเขาเลือกที่จะเรียกที่ตรงนี้ว่า บ้าน ความเปลี่ยนแปลงก็ได้ก้าวมาสู่วิถีชีวิต ผืนดินจึงถูกพลิกฟื้นเพื่อปลูกและป้อนวัตถุดิบให้โครงการหลวง มีการจัดตั้งโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 (ฝาง) ขึ้น กว่า 30 ปีที่พวกเขาหยอดความหวังลงไปในทุกเมล็ดพันธุ์และเฝ้าฝันถึงชีวิตที่ดีขึ้น

 

“เราโตมาก็เห็นรุ่นพ่อแม่ทำไร่ทำสวนกันแล้ว” อุษา แซ่ม้า เล่าผ่านยิ้มอารมณ์ดีเหมือนทุกเช่าที่เราพบกัน บ้านของเธอหันหลังให้ห้วยแม่งอน ตรงข้ามกับเกสต์เฮาส์ที่ผมมาพักอยู่สามสี่วัน

 

ทุกเช้าหากไม่ขึ้นไปในสวนบนภูเขา อุษาและกวางวู่ แซ่จางต้องช่วยกันบรรจุหมี่ยูนนานที่นวดและตัดเส้นมาจากเมื่อคืน กลิ่นแป้งหอมไปทั่วบ้าน

 

“เราปลูกหลายอย่างให้โครงการเอาไปแปรรูป นี่กำลังลงสตรอวเบอร์รี่แบบเอาไว้อบแช่อิ่ม ไม่เหมือนแบบกินสดที่ปลูกบนอ่างขาง” กวางวู่เตรียมพันธุ์พืชผล รวมไปถึงกล้าไม้สักที่ริเริ่มตามโครงการป่าชุมชนที่เขาและภรรยาสนใจ “ไม่เหมือนแต่ก่อน วันๆมีแต่เสียงฝึก เตรียมรบ และความเครียด” อดีตครูฝึกทหารของกองพล 93 ผู้คร่ำเคร่งในอดีตรินชาร้อนๆ มาเผื่อผม เรานั่งคุยกันท่ามกลางความเคลื่อนไหวเล็กๆ ยามเช้าของหมู่บ้าน

 

“โครงการหลวงอยู่กับเรามาเป็นสิบๆ ปี ทำไมหลายคนเพิ่งเข้ามา” เธอตั้งคำถามลอยๆ ยามเมื่อเราทิ้งหมู่บ้านไว้เบื้องล่าง และขึ้นมาถึงพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) มันดูทันสมัยขรึมเข้ม คล้ายโรงแรมมีดีไซน์ ยิ่งเมื่อมองลอดเข้าไปในส่วนที่เป็นโรงงานหลวงฯ หากไม่เห็นมะเขือเทศสดๆ ที่บรรทุกมาเต็มคันรถกระบะ ลำเลียงเข้าด้านในรอการแปรรูป ผมแทบนึกภาพของโรงงานไม่ออก

 

ไม่นับผลไม้อย่างส้มสายน้ำผึ้งเคยเป็นรายได้ให้คนบ้านยางลืมตาอ้าปาก มีชีวิตที่ดีขึ้นอยู่ช่วงหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า โรงงานหลวงฯต่างหากที่เป็น “ของแท้” มาแต่รุ่นพ่อแม่ของอุษาและอีกหลายคนในหมู่บ้าน “ปลูกส้มรายได้ดี ปีละสองล้านก็เคยได้มาแล้ว แต่เหนื่อยนะ เหนื่อยใจขาด เพื่อลูกๆ น่ะ” เธอนิ่งไปสักครู่ “พอนายทุนที่กรุงเทพฯ เขามาซื้อที่ทีห้าหกพันไร่ ปลูกเอง ส่งเอง ขายเอง ชาวบ้านก็ไม่เหลือแล้วล่ะ”

 

เช่นนั้นเองที่คนบ้านยางและรายรอบล้วนรู้ว่า พืชผลการเกษตรและความรู้ต่างๆ ล้วนมีที่มาจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและโครงการหลวง มันคือทางรอดอันคงทนมากเสียยิ่งกว่าอื่นใด

 

“ตอนนั้นผมยังไม่ได้มาอยู่ที่นี่ครับ คนบ้านยางเล่าว่าคืนวันที่ 8 ตุลาคม 2549 ที่ราบเชิงเขาแห่งนี้มีแต่ความสูญเสีย” กศิดิษฐ์รัตนโอภาส เจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์ฯ เล่าให้ผมฟัง ซึ่งภาพความเสียหายจากน้ำป่าเข้าท่วมและ “สลาย” โรงงานหลวงฯ รวมถึงบ้านเรือนกว่า 100 หลัง ก็ล้วนปรากฏให้เห็นและรู้สึกได้ไม่ยากเมื่อเข้าไปอยู่ด้านในพิพิธภัณฑ์ฯ

 

โรงงานหลวงฯ และพิพิธภัณฑ์ฯ ถูกสร้างใหม่ขึ้นพร้อมกันตามโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่งอนตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ใช่เพียงอาคาร แต่หมายรวมไปถึงการทำความเข้าใจและเสนอองค์ความรู้ผ่านระบบนิทรรศการ ทั้งยังดึงให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในหลายๆ เรื่อง รวมถึงแนวคิดที่ว่า “ได้ความรู้และเกิดความรัก”

 

การถากถางพื้นที่ป่าเพื่อทำไร่ฝิ่นในอดีตส่งผลรุนแรงและเป็นบทเรียนแสนแพง เครื่องจักรทางการเกษตรและโรงงานกลายเป็น“ซาก” ที่นอนนิ่งให้รู้จักภัยธรรมชาติอยู่ในพิพิธภัณฑ์ฯ ทว่าเมื่อมาอยู่ร่วมกับอีกหลายส่วนอันประกอบกันขึ้น ทั้งการงาน แนวคิดของโครงการหลวง ความเป็นอยู่ ตลอดจนความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนบ้านยาง ที่จัดแสดงออกมาอย่างมีมิติ ก็ราวกับพิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้มีชีวิต

 

ผมจมอยู่กับส่วนของภาพถ่ายพอร์ทเทรตขาวดำกลางที่สาดด้วยไฟดิมเมอร์อยู่นาน ภาพชายชรากับหลานๆ กลางแสงทึมเทาในครัว ข้าวของระเกะระกะ ทหารกองพล 93 ปลดระวางถือธงไทย เหนือขึ้นไปคือพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เฒ่าจีนสวมหมวกกะปิเยาะห์สีขาว หรือแม่ชีน้อยในขณะหัดอ่านธรรม เหล่านี้แสดงตัวตน ของคนบ้านยางอย่างเงียบเชียบ ทว่าแสนทรงพลัง

 

เดินผ่านโซนที่แสดงบรรยากาศของโรงงานบรรจุผลไม้กระป๋อง สู่โซนข้าวของเครื่องใช้ในอดีต อุษายิ้มอยู่หน้าห้องก่อนที่ผมจะมาถึงเสียอีก “ข้าวของแทบทั้งหมดเธอบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ฯ ครับ ยังมีของพี่ชาญชัยอีกคน” เขาหมายถึงชาญชัย จารุวรกุลหนุ่มใหญ่เจ้าของเกสต์เฮาส์ที่ผมพักอยู่ ที่ก็ให้ยืมสมบัติอันตกทอดจากพ่อแม่มาร่วมจัดแสดง

 

เท่าที่ผมเห็น อานม้า ตะเกียง กระทะทองเหลือง เครื่องครัว กล้องยาสูบ เหล่านั้นล้วนมีค่าในฐานะสมบัติของบรรพบุรุษอันสะท้อนถึงคืนวันผันผ่านที่ควรดูแลหวงแหนไว้เฉพาะคน และมันก็คือความภูมิใจในการมีที่ยืนของคนรุ่นต่อมาอย่างอุษา “พอรู้ว่าจะสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ ใหม่ เราก็คิดเลย จะมีส่วนร่วมอย่างไรดี ทำให้คนเขารู้จักบ้านเรา” หากนี่คือการต่อยอดไปสู่ความยั่งยืนอย่างที่หลายคนมุ่งหวัง คนบ้านยางก็รู้จักและเข้าใจมันได้ไม่ยาก

 

ตกบ่ายผมออกไปเยือนน้ำตกบ้านยางกับไกด์เด็กสาวจีนฮ่อทั้ง 3 คน ในโครงการมัคคุเทศก์น้อยของชุมชน เราแวะดูบ้านดินของคนจีนฮ่อ ผ่านสวนลิ้นจี่ที่เพิ่งผละผลไปไม่นาน เดินตัดธารน้ำใสฉ่ำชุ่มไปตามห้วยแม่งอน ดูมวลน้ำโจนตัว สักครู่ก็กลับลงมาเดินเล่นกันในโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านยางตามโครงการพระราชดำริ ที่วันนี้ก็ยังทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดและเพียงพอต่อการใช้ไฟของคนบ้านยาง ผ่านสถานีอนามัยพระราชทาน ป้ายและอาคารไม้หลังเล็กๆ ล้วนมีเรื่องราวของคืนวันอันผ่านพ้น

 

มาพักเหนื่อยจริง ๆ กันที่ห้องจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ดอยคำ กาแฟอาราบิการ้อนๆ คลายเหนื่อยได้อย่างรื่นรมย์

 

นั่งมองเด็กๆ มองคนงานหลากหลายทั้งในพิพิธภัณฑ์ฯ และโรงงานหลวงฯ นาทีนั้นราวพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้เปรียบเหมือนห้องเรียนอันมีค่า

 

ห้องเรียนที่ไม่เคยหยุดซึ่งบอกเล่าถึงภูเขา ผืนดิน และผู้คนอันเป็นสุขที่ใช้ชีวิตอยู่รายล้อม

 

เช้านี้ถนนในหมู่บ้านดูเหมือนจะยาวขึ้นกว่าเดิม หากเพราะการพบปะพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ตามแต่ละบ้านล้วนยืดยาว รู้กันอยู่ว่าคนบ้านยางมีทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลาม หากไม่นับขั้นตอนพิธีกรรมของแต่ละศาสนา ความเป็นอยู่แบบพี่น้องเพื่อนบ้านอันแนบแน่นของพวกเขาก็บอกกับภายนอกเสมอว่า เรื่องราวภายในนั้นไม่มีการแบ่งแยก

 

ตลาดสดกลายเป็นที่พบปะของทุกคนก่อนจะไปสู่การงานอันเป็นจริงเป็นจัง เพิงกาแฟหน้ามัสยิดอัล-เอียะห์ซานคลาคล่ำไปด้วยเสียงพูดคุย ซุย หย่งกวา นั่งผ่านคืนวันในวัย 96 ปี ด้วยแววตาอ่อนโยน ไม่มีอะไรต้องกดดันดั่งวันก่อน คล้ายโลกข้างหน้ามีเพียงการรอคอยไปสู่ดินแดนของพระเจ้าอย่างที่มุสลิมยึดถือ

 

“เราถือกันมาเมินก่อนเข้ามาอยู่เมืองไทยอีก ทั้งในกองทัพและขบวนพ่อค้าที่อพยพตามกันมา” เฒ่าชราเล่าอย่างเนิบช้า สำเนียงไทยไม่ชัดนัก ทว่าความตั้งใจในการสื่อสารกับผมนั้นล้นเหลือ

 

เราผ่านยามเช้าหน้าตลาดสดที่คึกคักมาก่อนหน้าด้วยเหล่าแม่บ้าน เด็กๆ กำพร้าที่ทางมัสยิดดูแลอยู่วิ่งเล่นหัวเราะร่า “ที่นี่คือบ้านคือแผ่นดิน ความรักของเราคือความศรัทธา พระเจ้าสอนเราว่า มุสลิมที่สมบูรณ์แบบต้องรักบ้านเกิด” เนื้อความแจ่มชัดนั้นสื่อถึงความสุขสงบ ซึ่งก็คล้ายๆ กับภาพตรงหน้าที่กำลังโลดแล่น

 

สายวันอาทิตย์เช่นนี้ คริสตจักรบ้านยางเริ่มคึกคักด้วยผู้คนอีกกลุ่มหนึ่ง คริสต์ศาสนิกชนมาทำมิสซาที่โบสถ์กันเนืองแน่น ราว 10นาฬิกา เสียงกังวาลใสดังมาจากชั้นสองก็ดึงให้ทุกคนขึ้นไปสู่ความหนึ่งเดียว

 

ผมนั่งนิ่งอยู่ข้างอนิพัน ลิลา คาทอลิกหนุ่มที่รอนแรมไปสู้ชีวิตมายาวไกล ทั้งไต้หวัน กรุงเทพฯ ท้ายสุดก็รู้ว่า ไม่มีที่ไหนจะอบอุ่นเท่าบ้านกลางหุบเขา ก่อนเข้าพิธีเล็กน้อย พวกเขาทำให้ผมรู้สึกอบอุ่น เมื่อความหมายของคำกล่าวว่า “ยินดีต้อนรับผู้มาเยือนเข้าร่วมพิธี” จากอิหม่ามถูกถอดความเป็นภาษาไทย และคุณป้าคนหนึ่งหันมาบอกให้ผมรีบลุกขึ้นโค้งคำนับ

 

ทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบง่าย แดดสายส่องผ่านกระจกสีที่กรุลายตรงผนัง แม้ไม่ได้ละเอียดลออเหมือนโบสถ์ใหญ่ๆ ทว่าความหมายของคำว่าศรัทธาในพระเจ้าของพวกเขาก็ล่องลอยห่มคลุมไม่แตกต่าง

 

“…แม้หยาดฝนจะสาดลงบนใบหน้า ตะวันบนเมฆไม่เคยเปลี่ยนแปลง…”

 

“…ลุกขึ้นเถิดคนตะวันออก ลุกขึ้นเถิดชนกลุ่มของเรา… ตาสีดำ ผมสีดำ ผิวสีเหลือง พระเจ้าทรงรักพวกเราตลอดกาล”

 

ทำนองสากลเคล้าด้วยคำร้องที่แปลเป็นภาษาจีน หนุ่มน้อยดีดกีตาร์ ขณะที่สาวคนหนึ่งร้องนำ สลับให้เยาวชนสองรุ่นขึ้นมานำบ้างในบางเพลง

 

หลังพิธีมิสซาสิ้นสุด ข้างหน้าคริสตจักรก็กลับสู่ความเป็นไปเดิมๆ เสียงพูดคุยทักทาย การซื้อขาย ตลอดจนถ้อยคำห่วงใยถามไถ่ระหว่างกันและกัน

 

สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปอย่างไม่ได้มี “เส้นแบ่ง” ของคำว่าศาสนาเหมือนบางที่

 

หากเพราะชีวิตจริงแท้อันปรารถนาถึงการอยู่ร่วมกันต่างหาก คือสิ่งที่หลายคนที่นี่ใฝ่ฝันถึง

 

วันท้ายๆ ก่อนลงไปสู่ที่ราบ ผมพบตัวเองอยู่ที่โรงเรียนสอนภาษาจีนจงเจิง ยามค่ำหลังจากเรียนภาคภาษาไทยในโรงเรียน “ข้างล่าง” ลูกหลานบ้านยางต้องมาเรียนภาษาจีนกลางกันต่อ ตั้งแต่หกโมงเย็นถึงสองทุ่ม อาคารไม้สีขาวเขียนตัวอักษรจีนสีฟ้าถ้วนทั่ว บวกเสียงท่องอ่านของเด็กๆ เมื่อมาอยู่ตรงนั้น ก็ราวพวกเขาเป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุด ไม่ต้องผูกติดกับเงื่อนไขใดของคนอื่นๆ เรียนรู้สิ่งที่อยากรู้ เข้าใจและตัดสินใจในสิ่งที่สอนให้คนรุ่นต่อๆ ไปพร้อมจะเลือกและเชื่อ

 

กับคนที่นี่ ด้วยสงคราม ความแตกต่าง การร่อนเร่หลีกหนี หรือหันหน้าเข้าเผชิญต่อสู้นั้น อาจทำให้บางคนอยากหลงลืมสิ่งผ่านพ้นอันข้นแค้น

 

หากเมื่อย้อนมองกลับไป ไม่ว่าจะโดยใด อดีตย่อมเป็นเรื่องของการจากลา

 

และเมื่อรู้ว่าปัจจุบันอันดำเนินนั้นหอมหวานด้วยความหมายของคำว่าถิ่นฐาน

 

การก้าวไปข้างหน้าก็ไม่ใช่เรื่องของการเดินไปสู่ความสิ้นหวัง

ยามเช้าที่บ้านยางห่มคลุมอยู่ด้วยฝนบางๆต่อเนื่อง