ชัยชน สวันตรัจฉ์
เขาเป็นดีไซน์เนอร์ที่บอกว่าตัวเองไม่ได้ชอบงานนี้มาตั้งแต่แรก แต่พอได้ลองเข้ามาสัมผัส ก็ทำให้เขาหลงรักเข้าอย่างจัง รู้ตัวอีกทีเขาก็อยู่ในวงการนี้มากว่า 20 ปีแล้ว
วันนั้นเราพบกันที่ห้องเสื้อ Muse ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่ ในร้านเราสังเกตเห็นเสื้อผ้าที่บางตัวดูสวยงามแบบเรียบหรู ขณะที่บางชิ้นก็ดูอลังการ บ่งบอกถึงความคิดทางด้านศิลปะการออกแบบเสื้อผ้าอย่างถึงแก่นในความเป็นตัวตนของเขาเอง
“คุณแม่เป็นครูสอนศิลปะ คุณตากับคุณยายก็เป็นช่างศิลป์ ทำขันน้ำ ทำเทียนพรรษา ทอผ้าไหม ก็เลยเห็นมาตั้งแต่เด็กๆ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้คิดอะไรเลย นอกจากเรียนหนังสือ ผมไม่เคยรู้จักอาชีพดีไซน์เนอร์ว่ามันคืออะไร เพียงแต่ผมชอบเขียนรูปอยู่แล้ว พอดีสมัยนั้นนิตยสารฉบับหนึ่งเขามีการจัดประกวดงานดีไซน์ เราก็เขียนรูปของเราไปเรื่อยเปื่อยตามประสาคนที่ชอบดรอว์อิ้ง ปรากฏว่าได้ลงหนังสือ เราก็ดีใจ
“จากนั้นเราก็ส่งไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้สนใจแฟชั่นหรอกว่ามันคืออะไร รู้แต่ว่าเขียนรูปอย่างไรแล้วสวย เราไม่ได้คิดว่าเรามาออกแบบเสื้อผ้า ก็ทำมาจนได้ประกวดทำชุดจริง ได้ทำงานเกี่ยวกับเสื้อผ้าจริง ก็เลยทำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
“ด้วยความรู้สึกว่าเราชอบศิลปะ หากงานที่ทำช่วงนั้นเราชอบอะไรมันก็จะสื่อออกมา อย่างแนวอียิปต์ก็จะมีเครื่องประดับทองเหลือง มีใบไม้แห้งผสมอยู่ในชุด มันอาจไม่ได้เป็นแฟชั่นมากมายแต่มันเป็นตัวเรามากกว่า
“แรงบันดาลใจมันก็มาเป็นระลอกๆ แต่มันก็มาจากสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา บางทีก็อยู่ในกรอบอย่างมีผ้าเท่านี้เราก็ต้องทำออกมาให้ดีที่สุด อย่างเราไปเที่ยวลอนดอน ไปเที่ยวปารีส เราก็ได้แนวความคิดของเมืองนั้นๆ เสื้อก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่ไม่เคยทำก็คือไปเปิดแม็กกาซีนแล้วดูว่าชาวบ้านเขาทำอะไรกัน แต่ใช่ว่าทำแบบนี้จะดีนะ บางทีมันก็ไม่ดี (หัวเราะ) เพราะเราสวนกระแสสังคม
“พอมาเป็นทำแฟชั่นโชว์มันเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่งที่มีความกลมกล่อมในการมาโชว์ มันอาจจะมีข้อจำกัดไม่เท่ากัน เช่น เราไปดูโชว์ที่ห้างเราก็จะได้แบบหนึ่ง เราไปดูโชว์ตามโรงแรมเราก็จะได้เห็นการโชว์อีกลักษณะหนึ่ง ถ้าเราไปดูโชว์ของดีไซน์เนอร์ที่มีมาตรฐานสูงๆ เราดูเสร็จแล้วเราก็อาจจะช็อคไปเลยก็ได้ แล้วแต่มาตรฐานของสิ่งที่เขาอยากทำ เราจะเห็นว่าเขามีความคิดแค่ไหน
“การทำเสื้อผ้าต้องใช้ความคิดเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแฟชั่นดีไซน์ เรื่องของการถ่ายรูป มันเกี่ยวกับศิลปะหมดเลย แล้วการที่จะทำเสื้อผ้าสวยๆ มันใช้เวลามาก คืองานมันมีลูกเล่น มันมีรายละเอียดเยอะ บางทีเสื้อผู้หญิงที่ร้านก็จะมีตัวเดียว ของผู้ชายก็จะมีลูกเล่นในลายปักบ้าง ทำให้มีความแตกต่างออกไป
แน่นอนว่าการออกแบบเสื้อผ้าที่ผ่านมานั้น มีมากมายนับไม่ถ้วน แต่ที่เขาประทับใจจนเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นเอกของเขาก็คือ
“มันเป็นเซ็ตแรกในการทำเสื้อผู้หญิงที่ผมประทับใจ ได้ไอเดียมาจากผีเสื้อหลวมๆ เสื้อจะดูออกใหญ่ๆ หน่อย คล้ายเสื้อแม่บ้านใส่สบายๆ ส่วนของเซ็ตผู้ชายที่ชอบก็เป็นชุดนกแก้ว เพราะมีความเป็นตัวของเองสูง”
หลังจากทำงานมานาน ทำให้เขามีมุมมองในเรื่องของวงการแฟชั่นในเมืองไทยมากมาย สิ่งที่เขาพูดสะท้อนถึงความเป็นจริงทางสังคม ที่หลายๆ ฝ่ายควรหันกลับมามองปัญหาเหล่านี้
“งานดีไซน์เนอร์มันเป็นเสน่ห์ที่ลึกซึ้ง ทำให้รู้ว่าชีวิตมันยากเหลือเกินสำหรับการเป็นดีไซน์เนอร์ในโลกที่ 3 คือมันไม่มีการสนับสนุนใดๆ ทั้งสิ้น มันไม่มีใครมองเห็น เพราะทุกคนจะมุ่งตรงไปที่ซูเปอร์แบรนด์ทั้งหมด ไม่ว่าอะไรก็ตามที่มาจากซูเปอร์แบรนด์จะสวยเก๋ ได้รับความชื่นชมต่างๆ แต่เขาก็มีตำนานของเขานะ เราเองก็มีตำนานของเรา ถึงแม้จะไม่ได้สร้างนานขนาดนั้น แต่เราก็ภูมิใจไม่ได้ก๊อปปี้ใคร
“จริงๆ สิ่งที่ยากที่สุดในงานนี้ก็คือเรื่องของเงิน เพราะเราเป็นศิลปินมากกว่านักธุรกิจในการทำเสื้อผ้าขาย ถ้าเราทำตามกระแสมันก็ทำได้ดี แต่เราอยากเห็นคนรุ่นใหม่ทำงานด้วยความคิดสร้างสรรค์ เห็นงานในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ก็อปปี้ใคร เราก็เป็นหนึ่งในหัวหอกในด้านนี้ ส่วนในงานที่ไม่มีใครมาสนับสนุน เราก็ต้องทำเอง ตอนนี้เราก็เลยมีสมาคมบางกอกโซไซตี้ จะมีสมาชิกประมาณ12-13 แบรนด์ ทุกคนก็จะพบปะกัน ได้คุยกันเรื่องเสื้อผ้าแล้วก็จะพยายามผลักดันดีไซน์เนอร์ให้ไปตลาดโลก โดยมีกลไกลของทางรัฐบาลเข้ามาช่วย ตอนนี้จะมีดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก แล้วแฟชั่นมันก็จะสร้างอาชีพให้คนเป็นร้อยเป็นพันมากกว่าแต่ก่อน
“แต่เราต้องยอมรับกันว่า คนไทยไม่ได้ชื่นชมคนไทยด้วยกัน คือมองว่าของนอกดีกว่า บางครั้งมันก็จริง แต่เราก็มีการทำงานที่ดีนะ อย่างไม่ได้ใส่ทำออกมาเยอะแล้วใส่ชนกัน
“กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นนี่เขาล้มไปแล้วนะ มันมีความเป็นไปได้นะ แต่ต้องล้างสมองคนให้เปลี่ยนความคิดกันบ้าง ส่วนใหญ่คนไทยต้องให้ฝรั่งมาชี้ว่าเราดี ตัวเราเองจะไม่รู้ บางทีต้องให้ฝรั่งเขาหยิบไปทำ แล้วเอามาขาย แล้วเราก็เชิดชู”
เราหันมาถามถึงเสื้อผ้าละเมิดลิขสิทธิ์กันบ้าง ซึ่งเขาเองก็มีแบรนด์เนมเป็นของตัวเองแถมยังเคยถูกละเมิดลิขสิทธิ์เขาตอบคำถามเราอย่างเซ็งๆ เพราะเป็นเรื่องที่ตอนนี้ก็ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้
“ก็มีคนก๊อปปี้งานเราเหมือนกัน เคยเดินไปถนนสีลมแล้วไปเจอ คือเสื้อของเราทำสีเดียวแต่ของเขาเพิ่มมา 5 สี เราก็แบบเซ็งเลยนึกออกมั้ย เราก็สั่งเก็บแผงนั้นไปเลย แล้วก็กลับมาเปลี่ยนแปลงไม่ให้เหมือนที่เขาขายกันอยู่ แต่บางรุ่นก็ไม่เปลี่ยน สู้กันไป ก็คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของกรรมเวรแล้วกัน คือเราไปทำอะไรเขาไม่ได้ มันก็ต้องปลงทั้งชีวิต
“ตอนนี้ที้ร้านเลยหันมาทำเสื้อที่มีการตัดเย็บที่เนี้ยบมากขึ้น คอนเส็ปต์เราจะแยกชัดเจนระหว่างผู้หญิงหรือผู้ชาย อาจเริ่มมองดูตลาดเมืองนอกด้วย เราอาจไม่ได้ขายตัวเราเองเหมือนเดิม เราอาจจะทำอะไรที่มันง่ายขึ้นกว่านี้บ้าง”