กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา
รอยยิ้มอย่างผู้ใหญ่ใจดี ทำให้รู้ว่าเขาผู้นี้พร้อมที่จะถ่ายทอดเรื่องราวในอดีต ซึ่งเป็นเบื้องหลังของก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตการทำงานที่พร้อมขับเคลื่อนแรงบันดาลใจให้กับหมู่มวลมนุษยชาติด้านสถาปัตยกรรมไทยอีกหลายคน ตึกหรูสูงตระหง่านอลังการงานสร้าง ทั่วกรุงเทพมหานครกว่า 100 ตึกและหมู่บ้านอีกหลายร้อยโครงการ หากเอ่ยชื่อขึ้นมาก็คงร้องอ๋อ ทั้งหมดล้วนเป็นผลงานการรังสรรค์ด้านสถาปัตยกรรมของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ปี พ.ศ. 2550 นักสถาปัตยกรรมชื่อก้องของเมืองไทย ผู้สืบราชนิกุลในสมัยรัชกาลที่ 2 ท่านร่ำเรียนวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์จบรุ่นแรกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาจากสหรัฐอเมริกา นำความรู้มาบ่มเพาะ สั่งสอนสานุศิษย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เท่าที่สังเกตผลงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลา 50 ปี ผลงานที่โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ของท่าน ก็เริ่มจากการต่อเติมพระราชฐานในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ออกแบบสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ถนนสีลม เป็นอาคารสูง 30 ชั้น อาคารแรกของประเทศไทย อาคารมาบุญครองเซ็นเตอร์ อาคารสาทรธานี ถนนสาทรเหนือ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลหลายสาขา อาคารศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ อาคารสินธร อาคารชาญอิสระทาวเวอร์ถนนพระราม 4 อาคารใหม่สวนอัมพร อาคารสำนักงานใหญ่การบินไทย อาคาร IBM โรงแรมอินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ตดอนเมือง โบสถ์ซาเวียร์ ศูนย์ธุรกิจอาคารชำนาญเพ็ญชาติ ถนนพระราม9 อาคารอาร์เอส ถนนรัชดาภิเษก อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ห้างสรรพสินค้า Seacon Square อนุสาวรีย์เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และหมู่บ้านจัดสรรทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พร้อมกับได้รับรางวัลเกียรติคุณออกแบบอีกมากมาย ท่านจึงถือว่าเป็นผู้มีคุณูประการอย่างสูงต่อวงการวิชาชีพสถาปัตยกรรม ในฐานะอาจารย์ที่เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ไทย ให้ทันสมัยสอดคล้องกับการปฏิบัติวิชาชีพ
นอกจากงานออกแบบตึก ท่านยังเคยแสดงภาพยนตร์จอเงินในฐานะพ่อของพระเอกมาหลายเรื่อง และหลังเกษียณได้ 4 ปี ท่านตัดสินใจลงสมัครในนามพรรคพลังธรรม และได้ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแบบคะแนนถล่มทลาย ต่อจากพลตรีจำลอง ศรีเมือง
ทุกวันนี้ท่านยังมีความสุขกับการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบพอเพียงที่สวยงามเป็นศิลปะทรงคุณค่า งดงามและมีอายุยืนยาวกว่าผู้สร้างสรรค์ พร้อมกับพร่ำสอน ย้ำเตือนเสมอมาว่า ถ้าเป็นคนดีก่อนเป็นคนเก่ง ก็จะช่วยให้สังคมอยู่ด้วยกันอย่างสงบเรียบร้อย
สืบสานราชนิกุล
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา หรือที่เพื่อนร่วมรุ่นเรียกว่า “ตู๋” ปัจจุบันท่านอายุ 76 ปีท่านเป็นบุตรคนที่ 1 ในจำนวนพี่น้อง 2 คนของหม่อมหลวงอารุณ อรุณวงษ์และนางจอบแก้ว อรุณวงษ์
“ต้นตระกูลอรุณวงษ์ สืบทอดในอดีตราชนิกุลในรัชกาลที่ 2 เป็นราชโอรสแต่ไม่ใช่กับพระมเหสี มีบุตรออกมาก็ได้เป็นพระองค์เจ้าฯ เฉยๆ ไม่ใช่กับพระมเหสี ที่มีบุตรก็เป็นเจ้าฟ้า ลูกของเจ้าฟ้าออกมาก็ยังเป็นพระองค์เจ้าฯ ลูกพระองค์เจ้าออกมาก็เป็นหม่อมเจ้า เป็นขั้นๆ ไป
“พ่อของผมเป็นลูกของหม่อมราชวงศ์ลพ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ท่านจึงมีศักดิ์เป็นปู่ ส่วนทางด้านคุณแม่ของผม พระองค์เจ้าประภา พรรณพิไล ซึ่งเป็นพระราชธิดารัชกาลที่ 5 ท่านทรงนำคุณแม่ของผมมาเลี้ยงตั้งแต่อายุ 1 ขวบ พอเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็เสด็จออกมาอยู่รวมกันที่วังสวนสุนันทา จากนั้นจึงไปซื้อตึกที่ถนนวิทยุหนึ่งหลัง
“พระองค์เจ้าประภา พรรณพิไล ท่านก็ทรงเลี้ยงคุณแม่ผมเหมือนพระธิดา แต่อย่าไปเรียกว่าลูกเลย ท่านได้ส่งไปเรียนที่เซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ต่อมาแม่ผมแต่งงานกับพ่อคือหม่อมหลวงอารุณ มีบุตรออกมาเป็นผมกับน้อง ตั้งแต่ผม 1 ขวบ พระองค์เจ้าประภา พรรณพิไล ท่านก็ทรงนำผมไปเลี้ยงแทนแม่ ผมเป็นราชนิกุลอยู่แล้ว เพราะพ่อเป็นหม่อมหลวง แต่แม่ไม่ใช่
“ตอนเด็กๆ ผมจึงเรียนที่มาแตร์ฯ (มาแตร์เดอีวิทยาลัย) เขาจะนับชั้นเรียนถึง ป.3 พอแปดขวบเขาก็ให้ออก เพราะโตเกินไปเดี๋ยวจะไปรังแกผู้หญิง แล้วผมก็ไปเรียนต่อที่อัสสัมชัญจนจบ ม.7 ไม่จบ ม.8 เพราะที่บ้านให้ไปเรียนต่อที่อเมริกาจนจบเกรด12 แล้วเข้าเรียนมหาวิทยาลัยจนจบปริญญาตรี สถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิตและปริญญาโทสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาบัณฑิตที่MIT (Massachusetts Institute of Technology) ที่แมสซาชูเซตส์”
จุดหักเหสู่สถาปนิก
“ที่ MIT เขาบอกเรียนเก่งอย่างเดียวไม่พอ เรียนเก่งแล้วต้องเอาชนะคนเก่งด้วย เอามาแข่งขันกันทำให้ได้ผลดีขยันขันแข็ง ไม่ไปเที่ยวเล่น เวลาสอบไม่มีการช่วยเหลือกัน พอปลายปี 1 เขาก็อัดวิชาการโดยให้คณบดีของคณะต่างๆอย่างวิศวกรรมโยธาวิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมอวกาศ วิศวกรรมโครงสร้าง มาเล็คเชอร์ให้ฟังตอน 4-5 โมงเย็น ทำให้เราเข้าใจพื้นฐาน หากสนใจวิชาไหนก็ไปฟังหลายๆ แห่ง คณบดีภาควิชาวิศวฯ ต่างๆ เขาก็จะมาบอกว่าเรียนวิศวกรรมมันดีอย่างไร ตอนแรกผมมุ่งมั่นที่จะเรียนวิศวกรรมโยธา แต่พอไปฟังสถาปัตยกรรมบ้าง ได้ถ้อยคำของคณบดีของคณะสถาปัตยกรรม ท่านบอกว่าเป็นวิศวฯ คิดอะไรสำคัญๆ เยอะ คิดเรื่องโทรศัพท์ขึ้นมา ก็สบายกันไปชั่วลูกชั่วหลาน มีเงินใช้ตลอดชีวิต แต่การเป็นสถาปนิก ขายอะไรไม่ได้ออกแบบไปก็ใช้ได้อันนั้นอันเดียว แล้วก็เลิกกัน ก็ต้องมาคิดใหม่ทั้งโครงการ แล้วในประวัติศาสตร์ไม่เคยมีสถาปนิกคนไหนเป็นมหาเศรษฐี นอกจากไปทำอย่างอื่นด้วย เป็นสถาปนิกอย่างเดียวไม่รวยเป็น แต่ท่านบอกว่าหากมีพรสวรรค์ในการสร้างสรรค์ก็จะเป็นศิลปะ เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ และคุณค่าของงานจะยาวนานกว่าชีวิตของตัวเอง ไม่มีใครทำได้นอกจากสถาปนิก
“โอ้โห ผมเลยสมัครเรียนสถาปนิกเลย ตอนนั้นอายุ 18 ปีเท่านั้นเอง กับถ้อยคำเล็กๆ ว่า เราจะมีงานดีมีคุณค่าที่ยาวนานกว่าชีวิตเรา มันก็น่าทำแล้ว มันเป็นเรื่องของอุดมคติตอนนั้นไม่ค่อยจะกลัวเรื่องไม่มีสตางค์ แต่อะไรที่มันคล้ายๆ กับอุดมคติ ทำให้งานของเรามีคุณค่า ยาวนาน