
5 Decades Enduring Friendship - 5 ทศวรรษกับมิตรภาพที่ยั่งยืน : Scoop
ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีนที่ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2518 หลังจากวันนั้นสายสัมพันธ์ระหว่างกัน ได้เติบโตและพัฒนาอย่างมั่นคงตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
MiX Magazine ฉบับที่ 201 ได้เล่าเรื่องราวของความสัมพันธ์ไทย – จีน ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบันระหว่างทางมีเรื่องราวมากมายในหลายมิติผ่านสกู๊ป “5 Decades Enduring Friendship - 5 ทศวรรษกับมิตรภาพที่ยั่งยืน” ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับปัญหา สงครามการค้าโลกที่กำลังสร้างความท้าทาย ต่อการวางตัวบนเวลาทีโลก การเปลี่ยนแปลงนี้เองทำให้ประเทศไทยต้องมาทบทวนจุดยืนของประเทศ ในการรักษาผลประโยนช์ของชาติกับความสัมพันธ์ไทย -จีนในอนาคตต่อไป
เส้นทางประวัติศาสตร์สายใยไทย – จีน
หากมองย้อนกลับไปยังอดีต จะพบบันทึกหรือหลักฐานที่ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอว่าไทยและจีนต่างก็มีประวัติศาสตร์ร่วมกันในหลากหลายด้าน ทั้งยังผูกมิตรภาพระหว่างกันไม่เคยห่างไปไหนไกล ดังประโยคที่ว่า ‘中泰一家亲 ไทย - จีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน’
เส้นทางความสัมพันธ์ของทั้งสองอาณาจักรนั้นเริ่มก่อตัวชัดเจนในเหตุการณ์เทียบท่าเรือ ณ สยามประเทศของแม่ทัพขันที ‘เจิ้งเหอ (郑和)’ ที่นำพาชาวจีนมากมายเข้ามาทำการค้าขายกับชาวไทย พร้อมประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของราชวงศ์หมิงซึ่งสมัยนั้น ตรงกับยุคการปกครองของราชวงศ์สุพรรณภูมิพอดิบพอดี ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกันขึ้น
เวลาต่อมาไทยและจีนยังคงข้องเกี่ยวกันอยู่เรื่อย ๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาไปจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จำนวนชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินไทยนั้นเพิ่มขึ้นมากมาย พวกเขามีบทบาททั้งด้านกำลังแรงงาน การค้าขายผ่านเรือสำเภา ไปจนถึงอิทธิพลในราชสำนักที่แม้แต่รัชกาลที่ 5 ยังเคยตรัสเอาไว้ว่า “จีนกับไทย ไม่ถือว่าจีนเป็นคนต่างชาติ ไม่เหมือนชาติอื่น สำหรับพระองค์ จีนกับไทยเชื้อสายเดียวกัน”[1] ซึ่งประโยคนี้ประโยคเดียวได้สร้างแรงกระเพื่อมลูกใหญ่ทางสายสัมพันธ์ของไทยและจีนอย่างมาก
ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชาวจีนก็ยังคงมองว่าไทยเปรียบเสมือนแผ่นดินทองให้พึ่งพายามยาก ซึ่งจนถึงตอนนี้จะสามารถแบ่งกลุ่มชาวจีนที่อาศัยอยู่ในไทยออกได้เป็น 5 กลุ่มหลัก นั่นคือ แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน แคะ ไหหลำ และกวางตุ้ง ทั้งหมดหลอมรวมกลายเป็นพลเมืองไทยโดยสมบูรณ์ในปัจจุบัน คิดเป็น 11 – 14 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ (จากการประมาณการเมื่อปี 2020)[2]
ความสัมพันธ์ของไทย – จีนนั้นแน่นแฟ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงในด้านวัฒนธรรมที่ไทยเราต่างก็คุ้นชินกับจีนอยู่มาก ขณะเดียวกันฝั่งจีนเองก็มองว่าไทยเปรียบดั่งเพื่อนบ้านที่ดีมาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 1 กรกฎาคม 1975 ทั้งสองประเทศจึงได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันและกันขึ้น ยกระดับความร่วมมือ ยกระดับความใกล้ชิด ผูกมิตรฉันท์พี่น้องมายาวนานกว่า 5 ทศวรรษ
พลวัตความสัมพันธ์ทางการเมืองการปกครองของไทยและจีน
หลังจากที่จีนตกอยู่ในวังวนสงครามกลางเมืองมาหลายสิบปี พรรคคอมมิวนิสต์จีนกุมอำนาจสำเร็จ ได้ประกาศสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี พ.ศ. พ.ศ. 2492 ได้สำเร็จ ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในปี พ.ศ. 2475 มาก่อนหน้าแล้ว
ในช่วงแรกทั้งสองประเทศมีปัญหาและอุปสรคทั้งในและนอกประเทศอยู่บ่อยครั้ง เช่นในยุดสงครามเย็น ไทยมองจีนว่าเป็น "ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์" แต่ในท้ายที่สุดก็พูดคุยกันอย่างลงตัว จนนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา
แม้อุดมการณ์ด้านการปกครองต่างกัน แต่ไม่ได้ก้าวก่ายระบบการเมืองการปกครองต่อกัน ทั้งยังมีความร่วมมือในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงไทย โดยในปี 2014 ไทยถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกบางส่วน (เนื่องจากมีการทำรัฐประหาร) แต่จีนได้ยืนมือเข้ามาช่วยสนับสนุนซึ่งไทยได้ซื้ออาวุทธยุธปกรณ์จนเป็นข่าวดังอย่างเรือดำน้ำ (ไร้เครื่องยนต์) กลายเป็นที่วพากษ์วิจารณ์อยู่ทุกวันนี้ แต่สาเหตุที่แท้จริงคือเยอรมนีไม่ส่งมอบเครื่องยนต์ MTU396 ให้จีน ทำให้ต้องมีการเจรจาทางเลือกใหม่ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป
สิ่งที่กระทบความมั่นคงและเศรษฐกิจของไทยอีกเรื่องหนึ่งคือ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการดำเนินการของกลุ่ม “จีนเทา” ที่อาศัยประเทศไทยเป็นฐานบางส่วน และทางผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในภายหลังจีนใช้มาตรการเด็ดขาดส่งเจ้าหน้าที่มาร่วมปฏิบัติการในไทย และไทยส่งผู้ต้องหาชาวจีนกลับประเทศ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกับรัฐไทยอย่างแน่นแฟ้น
ความมือด้านความั่นคงในเรื่องการทหารไทย-จีนครอบคลุมหลายมิติ เช่นการฝึกซ้อมรบร่วม “Blue Strike” ระหว่างนาวิกโยธินไทยกับจีน การฝึก “Falcon Strike” ระหว่างกองทัพอากาศทั้งสองประเทศ และการฝึก “Strike” ระหว่างกองทัพบก ซึ่งถือว่ามีความสัมพันธ์อันดีเป็นอย่างมาก
50 ทศวรรษแห่งความสัมพันธ์ไทย-จีน ในปีนี้ เรามองเห็นได้ว่ามิตรภาพที่มีระหว่างกันนั้น ก้าวข้ามผ่านระบบการปกครองไปแล้ว กลายเป็นพันธ์มิตรที่มีรากฐานความสำพันธ์อันแน่แฟ้นสู่อนาคตต่อไป
ไทยมองจีนอย่างไร? ผ่านมุมมองอันหลายมิติ
เมื่อพูดถึง ‘จีน’ แน่นอนว่าชาวไทยย่อมต้องคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพราะจำนวนประชาการชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศนั้นมีมากถึง 11 – 14 เปอร์เซ็นต์[3] แต่หากต้องพูดถึงมุมมองที่ชาวไทยมีต่อชาวจีนก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าค่อนข้างมีภาพเหมารวมอยู่พอสมควรทั้งในแง่ดีและไม่ดี ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทุกชนชาติเพราะฝั่งชาวจีนเองก็คงมีภาพจำต่อชาวไทยในหลากหลายด้านเช่นเดียวกัน
อย่างแรกที่ต้องพูดถึงนั่นคือชาวจีนมีบทบาทสำคัญสำหรับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยอย่างมาก ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามาในไทยมากกว่า 5 ล้านคนต่อปี (ในปี 2019 พุ่งไปถึง 10 ล้านคน) อีกทั้งเมื่อปี 2024 ที่ได้มีประกาศการใช้ฟรีวีซ่าระหว่างไทย – จีนขึ้นก็ยิ่งทำให้คนจีนเข้ามาประเทศไทยกันอย่างต่อเนื่อง แถมยังนำมาซึ่งการปรับตัวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน อาทิ มีร้านอาหารจีนผุดขึ้นมากมาย ห้างใหญ่จัดอีเวนต์ตามเทศกาลจีนมากขึ้น แม้กระทั่งป้ายต่าง ๆ ยังต้องเพิ่มภาษาจีนเข้าไปด้วย
แต่อีกทางหนึ่งเมื่อสามารถนำคนเข้า – ออกประเทศได้ง่ายกว่าเดิม มันจึงเกิดขบวนการ ‘จีนเทา’ ขึ้นมา กลุ่มคนเหล่านี้จะแฝงตัวทำธุรกิจผิดกฎหมายไปจนถึงก่ออาชญากรรม (แน่นอนว่าคงมีคนไทยร่วมด้วย) อย่างข่าวที่นักแสดงชาวจีนตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2025 ที่ผ่านมาคาดการณ์ว่ามีสาเหตุจากกลุ่มจีนเทา ซึ่งจนถึงตอนนี้ประเทศไทยยังคงไม่สามารถจัดการปัญหาจีนเทาให้เด็ดขาดได้ แถมไปตอกย้ำภาพจำของการเป็นเมืองเถื่อนให้กับชาวจีนบริสุทธ์ที่กำลังแพลนมาเที่ยวไทย จนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเริ่มลดน้อยลงไปบางส่วน
อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ไม่แพ้กันคือคอนเสิร์ตศิลปิน K-Pop ในประเทศไทยกลายเป็นแหล่งรวมผู้ชมชาวจีน (?) โดยต้องเท้าความกลับไปในปี 2016 ที่จีนและเกาหลีใต้มีข้อพิพาทกันจากประเด็นเรื่องติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD[4] ผลที่ตามมาคือรัฐบาลจีนสั่งแบนบันเทิงจากเกาหลีใต้ทั้งหมด รวมถึง K-Pop ทำให้ไม่สามารถจัดอีเวนต์ใหญ่ในประเทศจีนได้ ชาวจีนจำนวนมหาศาลจึงเลือกจะมาชมคอนเสิร์ตที่ศิลปินจัดขึ้นในประเทศไทย และอัตราการแย่งชิงตั๋วคอนเสิร์ตจากคนทั้งประเทศอันยากยิ่งอยู่แล้ว กลับทวีคูณมากไปอีกเมื่อมีชาวต่างชาติมาปะปนด้วย
ไม่นับรวมวัฒนธรรมที่แตกต่างระหว่างชาวไทยกับชาวจีน อันไปกระตุ้นให้เป็นบ่อเกิดแห่งความเกลียดชังต่อกัน เพราะยิ่งจำนวนชาวจีนในประเทศไทยมีเยอะก็ทำให้ยิ่งพบเจอกับพฤติกรรมไม่ดี ๆ ตามไปด้วย ซึ่งปัญหาที่กล่าวมานี้ได้สร้างอคติต่อชาวไทยและชาวจีนบางส่วน แต่ขณะเดียวกันมุมมองดี ๆ ระหว่างทั้งสองชาติก็ยังคงมีอยู่ ชาวจีนจำนวนไม่น้อยเลยที่ประทับใจในความเป็น ‘ไทย’ และชาวไทยอีกมากเช่นกันที่ต่างก็ชื่นชอบในความเป็น ‘จีน’ ดังนั้นมันจึงอยู่ที่คุณจะเลือกตัดสินเอาเองอย่างไรว่าสิ่งไหนดีไม่ดี
วัฒนธรรมและความนิยม ‘จีน’ ในไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยเราต่างก็คลุกคลีกับความเป็นจีนอยู่มาก ในหลากหลายด้านผ่านวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่เผยแพร่เข้ามา ยกตัวอย่างเมื่อนึกถึงอาหารยอดฮิตในปัจจุบันของคนไทยหนึ่งในนั้นย่อมมี ‘หม้อไฟหมาล่า(麻辣火锅)’ ส่วนเทศกาลที่คนไทยคุ้นเคยกันดีแน่นอนว่าต้องมีชื่อ ‘ตรุษจีน(春节)’ อันมาพร้อมกับซองแดงมงคล ‘อั่งเปา(红包)’ แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของวัฒนธรรมจีนที่วนเวียนอยู่รอบ ๆ ตัวเราเท่านั้น
จำนวนชาวไทยเชื้อสายจีนนั้นมีมากมาย และกระจายไปยังหลากหลายภูมิภาคต่าง ๆ ในไทย ซึ่งแถบอาศัยของชาวไทยเชื้อสายจีนที่เรารู้จักกันดีคงหนีไม่พ้น‘เยาวราช’หรือ China Town ที่ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตของไทยไปแล้ว สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมจีนมีอิทธิพลอย่างมากโดยเฉพาะผลลัพธ์ของการเรียนภาษาที่สามในไทยคนส่วนใหญ่ เลือกภาษาจีนมาเป็นอันดับแรกมีจำนวนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง 146 เปอร์เซ็นต์ จากการเปิดเผยของแอปพลิเคชันฝึกภาษา Duolingo[5]สาเหตุคงมาจากแนวโน้มทางเศรษฐกิจอันพอจะคาดเดาได้เพราะกลุ่มผู้ใช้ภาษาจีนมีมากเป็นอันดับต้น ๆ ในโลกรวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาไทยก็มีจำนวนเยอะขึ้นทุก ๆ ปีส่วนเหตุผลในอีกด้านหนึ่งนั้นคงจะเป็นเรื่องความคุ้นเคยและการเปิดใจรับต่อวัฒนธรรมจีนของคนไทยส่วนใหญ่ร่วมด้วยแน่นอน
นอกจากนี้คนไทยเรายังรู้จักกับความเป็นจีนผ่านสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมประชานิยมหรือ Pop Culture กันดีอยู่แล้วด้วยถ้ายุคเก่าหน่อยคงไม่พ้นกิมย้ง (金庸) กับคอลเล็กชันมังกรหยก ดาบมังกรหยก กระบี่เย้ยยุทธจักร เป็นต้น รวมถึงละครสุดฮิตทั้งเปาบุ้นจิ้น อุ้ยเสี่ยวป้อ หรือเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ที่ร้อยทั้งร้อยย่อมต้องเคยผ่านตา ยังไม่นับรวมว่าวรรณกรรมจีนสุดยิ่งใหญ่อย่างสามก๊กและไซอิ๋วได้มีการบรรจุลงในหน้าหนึ่งของแบบเรียนวรรณคดีของไทยเราเสียด้วยซ้ำ
จีนแผ่นดินใหญ่ปฏิรูปเปิดประเทศในปี 1978 แต่ช่วงแรก ๆ คนไทยมักควบรวมระหว่างสื่อบันเทิงจีน ไต้หวัน และฮ่องกงเพราะตั้งแต่ยุค1970s ลากยาวจนถึงยุค 2000s ต้น ๆ อุตสาหกรรมบันเทิงฝั่งกวางตุ้งได้เจิดจรัสขึ้นมา (เติ้งลี่จวิน หว่องกาไว กลุ่ม F4 และอีกมากมาย) ทว่าคลื่นความนิยมฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่กำลังค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นเมื่อโลกเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต อุตสาหกรรมบันเทิงจีนที่ได้รับการสนับสนุนพัฒนาอย่างต่อเนื่องเริ่มส่งผลงอกเงย
ด้วยพฤติกรรมการเสพสื่อของคนที่เปลี่ยนแปลงไป จีนสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Douyin (抖音) หรือ TiKTok ออกมาได้ (คนไทยเล่น TiKTok มากถึง 44 ล้านคน ติด 1 ใน 10 อันดับจากทั่วโลก[6]) รวมถึงมีแพลตฟอร์มสตรีมมิงอย่าง iQIYI (อ้ายฉีอี้) WeTVและ YouKu ทำหน้าที่เผยแพร่คอนเทนต์บันเทิงต่าง ๆ ของจีนออกมาให้เข้าถึงกลุ่มคนดูต่างประเทศโดยเฉพาะด้วยตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์ความดังของซีรีส์ปรมาจารย์ลัทธิมาร (The Untamed)เมื่อปี 2019 ที่ออนแอร์แค่ใน WeTVเท่านั้น ส่งผลให้มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเฉลี่ยเดือนละล้าน ดันยอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นไปถึง 250 เปอร์เซ็นต์[7]
ในวาระครบรอบ 47 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – จีน (ค.ศ. 2022) ทั้งสองประเทศยังได้มีการเสวนาเพื่อผลักดันธุรกิจบันเทิงร่วมกันอีกด้วย หลังจากนั้นก็เริ่มมีรายการบันเทิงจีนที่หันมาสนใจใช้ประเทศไทยเป็นโลเคชันถ่ายทำมากขึ้น ไม่นับรวมนักแสดงและศิลปินชาวไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงอยู่จีนมากมาย อาทิ ซันนี่-เกวลิน เนเน่-พรนับพัน บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ ใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก เป็นต้น อนาคตคงต้องรอติดตามกันว่าจะมีผลงานร่วมทุนสร้างระหว่างไทยและจีนเกิดขึ้นจริงหรือไม่
ไทย - จีน ความท้าทายท่ามกลางสงครามการค้าโลก
เมื่อสหรัฐมีมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของประเทศตัวเอง จึงส่งผลกระทบแทบทุกประเทศทั่วโลก บางประเทศยอมทำตามเงื่อนไขที่สหรัฐวางแนวเอาไว้ แต่ไม่ใช่กับประเทศจีนเพราะพวกเขามีการโต้ตอบด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเช่นเดียวกัน
ประเทศไทยไม่สามารถหลีกหนีสงครามการค้านี้พ้น เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน จากการที่จีนเข้ามาตั้งบริษัทใช้ประเทศไทยเป็นฐานการส่งออกไปยังสหรัฐ ทำให้ประเทศไทยถูกตรวจสอบจากสหรัฐอย่างหนัก จนมีการขึ้นภาษีไปถึง 36% ในส่วนของสินค้าไทยจากคนไทยจริง ๆ ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในส่วนของประเทศไทยเอง เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ก่อนโควิด-19 คนจีนมาเที่ยวประเทศไทยมากถึง 11 ล้านคน สร้างรายได้ให้ไทยมากถึง 5.3 แสนล้านบาท ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายรัฐบาลไทยใช้วิธีเปิดฟรีซ่าส่งเสริมการท่องเที่ยว ระหว่างไทย-จีน ทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวดีกว่าช่วงโควิด - 19 แต่ก็นำปัญหาสังคมจากการไม่คัดกรองคนเข้ามาด้วยเช่นกัน
ในวันที่ 1 มกราคม 2022 อาเซียนที่มีไทยเป็นสมาชิกได้ทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ช่วยส่งเสริมสินค้าเกษตรของไทยและอาหารแปรรูปซึ่งได้รับความนิยมในจีน ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรจากโครงการนี้ได้เช่นกัน
ในเรื่องของการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จีนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมหลายชนิดเช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หลายยี่ห้อ BYD, Great Wall Motor และ SAIC Motor การลงทุนนี้ยังช่วยเรื่องการจ้างงานและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ได้อีกทางหนึ่งด้วย
แม้จะมีการทุนของทั้ง 2 ประเทศ แต่ถ้าดูตัวเลขดุลการค้าของไทยแล้วเป็นเรื่องที่ท้าทายรัฐบาลเป็นอย่างมาก โดยไทยขาดดุลจีนมากถึงไทยขาดดุลจีน 1.6 ล้านล้านบาท ใน ปี 2567 (ยังไม่นับรวมไทยที่ยังขาดดุลญี่ปุ่น 2 แสนล้านบาท และขาดดุลไต้หวัน 5.6 แสนล้านบาท)
ทางออกของปัญหานี้ต้องอยู่ที่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจการส่งออก เช่นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้า สร้างแบรนด์ให้ติดระดับโลก รวมถึงขยายช่องทางดิจิตอลให้เข้าไปถึงตลาดจีนให้ได้ (ยากมาก)
ท่ามกลางสงครามการค้าโลกที่เริ่มต้นโดยสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าโลก ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำต้องมีไทยอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่ง จึงต้องมีการกระจายความเสี่ยงในหารหาตลาดใหม่ ไม่พึ่งพาประเทศใดมากเกินไป
ในยุคที่ภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนแปลง ความสมดุลระหว่างการเปิดรับโอกาสและการจัดการความเสี่ยง ช่วยให้ไทยสามารถดึงประโยชน์สูงสุดจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าได้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-จีน ยังคงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเสมอ
50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลง
อย่างที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังปั่นป่วนด้วยมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ จีนจึงตอบโต้มาตรการภาษีของสหรัฐอย่างทันควันด้วยการขึ้นภาษีคืนเช่นกัน เป็นใหญ่ปัญหายังแก้ไขไมได้ นำไปสู่ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่กระทบหลายประเทศ
ในความเป็นจริงจีนมองไทยในฐานะ “ประตูสู่อาเซียน” จากทำเลทางภูมิศาสตร์ที่ศูนย์กลางอาเซียนบทภาคพื้นดิน มีการร่วมมือการพัฒนาในหลายด้านเช่น รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ไทยลงทุนเองทั้งหมด) ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) แสดงให้เห็นถึงธุรกิจการค้าการลงทุน ที่จีนให้ความสนใจมาก
แม้การส่งออกของประเทศไทยมีตัวเลขที่สูงขึ้น แต่ต้องผิดหวังเนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นการสวมสิทธิ์ ในการผลิตสินค้าเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าไปยังสหรัฐ จากการการที่ไทยได้ทำสัญาเอาไว้ก่อนหน้านี้ การขาดดุลทางการค้าระหว่างไทยกับจีนยังเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงอยู่เป็นระยะ การเข้ามาของจีนนอกจากจะเป็นการลงทุนแล้วยังมีจีนเทาแฝงเข้ามาสร้างปัญหามากมาย โดยเฉพาะเรื่องของคอลเซนเตอร์มีทั้งที่ตัวอยู่ในเมืองไทยและเป็นทางผ่านไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ในขณะที่ประเทศไทยมีจุดเด่นที่จีนสนใจคือเรื่องของการบริการ การท่องเที่ยว รวมถึงสินค้าทางการเกษตรเช่นทุเรียน ซึ่งเป็นที่นิยมมากในกลุ่มชาวจีน แต่หลายอย่างไม่ได้เป็นไปตามเป้า โดยเฉพาะเรื่องของตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง แต่นักท่องเที่ยวไทยกลับเพิ่มขึ้นที่จีน หรือแม้กระทั่งมาตรการตรวจเข้มงดรับสินค้าเกษตรบางรายการจากไทยไปจีน ซึ่งเราเองมองว่าไม่เป็นธรรม ซึ่งยังมีเรื่องราวนี้อยู่เป็นระยะ
เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่สมดุลและยั่งยืน ไทยเองต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการรักษาผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง โดยที่เปิดรับข้อเสนอและโอกาสจากจีนผ่านกรอบการเจรของอาเซียนและทวิภาคี เพื่อถ่วงดุลอำนาจสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย
แม้จะมีเรื่องราวมากมายแต่ความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่มีการพัฒนาทางการทูตอย่างเป็นทางการผ่านมา 50 ปี ทั้งสองประเทศยังคงเป็นมิตรที่ดีต่อกัน บนพื้นฐานของความเคารพซึ่งและให้เกียรติเพื่อมุ่งสู่อนาคตร่วมกันที่ยั่งยืนต่อไป
[1] โชคจรัสกุล ก. (2022, February 12). “แต้จิ๋วแต่แจ๋ว” คนจีนไม่ได้มาเมืองไทยกับเสื่อผืนหมอนใบแต่มากับตะกร้า? กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/987982
[2] ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. (2020). ไทยเชื้อสายจีน.Wikipedia. https://th.wikipedia.org/wiki/ไทยเชื้อสายจีน
[3] ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. (2020). ไทยเชื้อสายจีน.Wikipedia. https://th.wikipedia.org/wiki/ไทยเชื้อสายจีน
[4] THAAD เป็นระบบของสหรัฐอเมริกา จีนที่อาณาเขตใกล้เกาหลีใต้จึงกลัวรัศเรดาร์จะไปสอดแนมตน
[5] สรสิช ลีลานุกิจ. (2024, September 26). พลังแห่งอิทธิพลจีน! Duolingo ชี้คนไทยแห่เรียนภาษาจีน ขึ้นแท่นภาษาที่โตแรงสุด 146% บนแพลตฟอร์ม. https://thestandard.co/duolingo-chinese-language-thailand/
[6] ไม่ระบุผู้เขียน. (2024, March 20). เปิดสถิติ ปี 2024 ประเทศไหนมีคนใช้ Tiktokติ๊กต็อก มากที่สุด คนไทยฉ่ำติดที่ 9. Spring News. https://www.springnews.co.th/digital-business/digital-marketing/848802
[7] sunnywalker. (2019, October 17). Tencent เผย “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” ดันWeTVโต 250%, ยอดดาวน์โหลดเฉลี่ยเดือนละล้าน.blognone. https://www.blognone.com/node/112591