
The Major Painters ความงดงามของนามธรรม อาจารย์สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์
อาจารย์สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ เล่าให้เราฟังว่างาน Abstract (นามธรรม) ก็เหมือนการฟังดนตรีที่ไร้เนื้อร้อง เราอาจไม่ต้องเข้าใจมันทั้งหมดแต่ให้ใช้ใจสัมผัสอารมณ์ ความงามที่ซ้อนอยู่ภายใน ซึ่งในความเป็นจริงการมองและทำความเข้าใจงาน Abstract อาจเป็นเรื่องท้าทายปัจเจกบุคคล เพราะไม่ได้เล่าเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมาเหมือนงานศิลปะที่เป็นรูปธรรม (Realism) แต่แสดงให้เห็นถึงความงดงามและเรื่องราวของศิลปะได้ไม่แพ้กัน
อาจารย์สมศักดิ์ เป็นศิลปินฝีมือดีท่านหนึ่ง ที่มีจุดเด่นในเรื่องการสร้างสรรค์งาน Abstract ที่มีบทบาทในการเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยให้กับลูกศิษย์มากมาย แม้จะทำงานด้านวิชาการไปด้วยแต่กลับสร้างผลงานศิลปะออกมาอย่างต่อเนื่องหลายสิบปี มีผลงานระดับรางวัลมากมายทำให้คณะกรรมการพิจารณาศิลปินแห่งชาติ ยกย่องให้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ในปี พ.ศ. 2560
“การได้รางวัลศิลปินแห่งชาติเหมือนเป็นการให้เกียรติกับคนทำงานมาทั้งชีวิต โดยปกติเราจะเห็นว่าส่วนใหญ่ผู้ที่ได้ศิลปินแห่งชาติจะอายุ 60 ปีขึ้นไปแทบทั้งนั้น จึงเหมือนรางวัลความสำเร็จในช่วงชีวิตของเรา และให้เกียรติคนทำงานมาอย่างยาวนาน กว่าที่เราจะฟันฝ่าอุปสรรคมาต้องใช้ความมุ่งมั่นที่สำคัญต้องใช้เวลาในการยอมรับจากคณะกรรมการหลายชุดกว่าจะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ ฉะนั้นนี่คือความดีใจที่ผมได้รับกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้”
ย้อนไปในวัยเด็กอาจารย์สมศักดิ์เกิดที่กรุงเทพในย่านชุมชนชาวจีน ทำให้ซึมซับเรื่องราวและวัฒนธรรมหลายอย่างของที่นั่นไว้พอสมควร โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน ทุกปีจะมีคนในชุมชนออกมาเขียนคำอวยพรด้วยพู่กันจุ่มสีกับลีลาการเขียนอักษรที่พลิ้วไหว เมื่ออาจารย์สมศักดิ์ในวัยเด็กได้เห็นจึงประทับใจเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชอบศิลปะนับจากนั้นเป็นต้นมา
อาจารย์สมศักดิ์ได้เข้าเรียนระดับมัธยมที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน นอกจากการเรียนในวิชาปกติแล้วเรื่องของศิลปะท่านมักส่งผลงานวาดภาพเข้าประกวดในงานคริสมาสต์ของโรงเรียนเสมอ นอกจากนี้ยังเคยส่งผลงานไปที่ช่องทีวี 4 บางขุนพรม เป็นรายการเล่านิทานที่จัดให้มีการส่งประกวดภาพ ซึ่งท่านได้รับรางวัลมาโดยตลอด เมื่อรู้ตัวว่าชอบศิลปะทางครอบครัวจึงพอเห็นแววเพื่อส่งเสริมในสายวิชาชีพนี้ แต่ด้วยเงื่อนไขของศิลปินยุคนั้นที่ไม่มีความมั่นคงในชีวิต ต่างจากอาชีพอื่นเช่นรับราชการหรือนักธุรกิจ คุณพ่อของอาจารย์สมศักดิ์จึงได้พูดให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า “ถ้าชอบศิลปะต้องเข้าเรียนไม่ใช่ว่าจะมานั่งวาดรูปแล้วอยู่ที่เฉย ๆ” ตรงนี้เองทำให้ท่านเริ่มวางแผนอนาคตของตัวเองในเส้นทางสายศิลปะดังกล่าว
“ช่วงเวลาที่ผมอยู่ ม. 6 ครูที่สอนผมชื่อ สุชาติ ตันกิ่งเพชร ท่านคงเห็นหน่วยก้านผมมาทางศิลปะแน่นอน จึงเดินทางมาที่บ้าน เพื่อช่วยพูดกับคุณพ่อคุณแม่เพื่อทำความเข้าใจในสายวิชาศิลปะ และให้คุณแม่ยินยอมให้ผมไปเรียนต่อที่โรงเรียนช่างศิลป์ เพราสมัยก่อนไม่ค่อยมีคนอยากให้ลูกหลานไปเรียน พอครูมาช่วยพูดคุณแม่ก็ไม่ขัดข้อง ผมรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมาก ที่จะได้เข้าเรียนอย่างจริงจังโดยมีครูศิลปะสอนมีหลักสูตรการศึกษาอย่างเป็นแบบแผน ไม่ใช่ประเภทที่ผมเคยซื้อตำรามาอ่านเอง
ผมจำได้ว่าตอนเรียน ม.4 ม.5 ม.6 ผมมักซื้อนิตยสารชาวกรุง นิตยสารเฟื่องนคร อ่านอยู่เป็นประจำ ทำให้รู้จักศิลปินระดับโลกอย่าง วินเซนต์ แวน โก๊ะ, พอล โกแกง, เลโอนาร์โด ดา วินชี และศิลปินไทยรุ่นใหม่ในสมัยนั้นมากมายเมื่อผมเข้ามาเรียนที่ช่างศิลป์ผมก็ได้รู้จักปรมาจารย์ตัวจริงของไทย เช่น อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข อาจารย์พิชัย นิรันต์ เรารู้ว่าที่สถานศึกษาแห่งนี้มีครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงเป็นผู้สอนเราเราจึงรู้สึกดีใจ
“โรงเรียนช่างศิลป์มีการเรียน 3 ปี เทียบเท่ากับระดับ ปวช. ซึ่งถ้าเรียนไป 2 ปีจะสามารถสอบเทียบเพื่อเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยได้ บังเอิญผมเป็นเด็กที่เรียนพื้นฐานวิชาสามัญจากกรุงเทพคริสเตียนมาดีพอสมควร จึงสามารถสอบเทียบ และเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรในคณะจิตรกรรมได้
“ในสมัยนั้นผมสอบเรียนได้ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรถือว่าเป็นคณะเดียวของประเทศ เพราะมหาวิทยาลัยอื่นยังไม่เปิดคณะศิลปะใด ๆ เลย มหาวิทยาลัยศิลปากรจึงเป็นมหาวิทยาลัยที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้ด้านศิลปะอย่างแท้จริง จึงเหมือนเป็นความหวังของนักศึกษาศิลปะทุกคนที่ได้เข้ามาเรียนที่คณะจิตรกรรมนี้ เป็นก้าวแรกสำหรับคนที่อยากมาเป็นศิลปินในอนาคต เมื่อเรามีโอกาสเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรแล้ว ผมก็ตั้งใจเรียนศิลปะอย่างเต็มที่ และเราได้ใกล้ชิดกับงานศิลปะมากมาย โดยเฉพาะงานงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ เป็นงานแสดงศิลปะที่สำคัญที่สุดในประเทศของตอนนั้น คนที่หวังจะเป็นศิลปินเป้าหมายใหญ่คือต้องเข้ามาแสดงงาน แม้จะไม่ได้รับรางวัลก็ตามก็เหมือนเป็นประกาศนียบัตรที่รับรองความสามารถของเรา
“เมื่อผมเรียนจบในระดับปริญญาตรี ก็ได้เป็นสอบบรรจุเป็นครู จากนั้นก็ลาไปเรียนต่อปริญญาโท เมื่อเรียนจบก็กลับมาสอนต่อยาวนานอีกหลายสิบปี ผมก็อยู่ในระบบการศึกษาของไทยมากกว่า 30 ปี ช่วงหนึ่งทางรัฐบาลมีการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้น ก็มีอีกหน่วยงานย่อยเกิดขึ้นตามมาคือสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผมก็ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือในส่วนนั้น เราได้เข้าไปคลุกคลีกับเรื่องของการส่งเสริมสนับสนุนศิลปิน ได้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่การบริหารที่เข้าไปเพื่อทำประโยชน์ให้กับสังคม ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของศิลปะวาดภาพแต่รวมถึงสาขาอื่น ๆ ที่หน่วยงานนี้มีพันธะกิจ ไม่ว่าจะเป็นสาขาออกแบบวรรณกรรม สถาปัตยกรรม ศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ ฯลฯ
“ถ้าถามผมว่าทำไมไม่เป็นศิลปินอย่างเดียว ต้องตอบว่าอาชีพศิลปินในประเทศไทยอยู่ยากตั้งแต่ยุคเก่าแล้ว ศิลปะในประเทศไทยยังไม่เป็นอาชีพที่มั่นคง คนที่เขียนรูปอย่างเดียวไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ในสมัยก่อนหนักกว่านี้มากเลยครับ เพราะว่าไม่มีใครสนใจเรื่องศิลปะ มองเห็นเรื่องของศิลปะเป็นเรื่องนอกตัว บางคนไม่เคยเอารูปเขียนมาตกแต่งบ้านด้วยซ้ำ อาชีพที่เราจะเขียนรูปขายอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องยึดอาชีพความเป็นครูหรืองานด้านอื่นทำให้ใกล้ชิดกับศิลปะมากที่สุด
“คำว่าศิลปะสำหรับผมมันคืออะไรบางอย่างที่บอกตัวตนความคิด รวมทั้งประสบการณ์องค์ความรู้ที่สั่งสมอยู่ในตัวเรา มันคือสื่อชนิดหนึ่งที่บอกเล่าความในใจผ่านออกมาเป็นความจริงใจบริสุทธิ์ โดยที่ไม่มีการเสแสร้งมันคือศิลปะในความรู้สึกของผม ถามว่าทำไมต้องทำแนวนามธรรม มันตอบยากมาก เพราะในสมัยรุ่นผมเมื่อ 40 ปี ที่แล้วช่วงสมัยที่ผมเรียนอยู่คณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรในยุคนั้นศิลปะแบบนามธรรมกำลังเฟื่องฟูมาก สิ่งเหล่านี้มันจึงกลายเป็นแรงบันดาลใจเป็นเรื่องราวที่ทำให้เราสนใจเรื่องศิลปะนามธรรม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผมก็แสวงหาและทำงานศิลปะนามธรรมมาโดยตลอด มันจึงเป็นเรื่องที่ตอบไม่ได้ว่าเพราะเหตุใดถึงต้องมาทำแนวนี้
“ศิลปะนามธรรมผมขออธิบายง่าย ๆ อย่างเวลาที่เราฟังเพลงบรรเลงที่ไม่มีเนื้อร้องตรงนี้เปรียบได้กับงานศิลปะนามธรรม เพลงไม่มีเนื้อร้องมีแต่เสียงดนตรีมีลีลาจังหวะท่วงทำนอง ศิลปะนามธรรมก็ใช้เส้นสีแสงเงาจังหวะช่องต่าง ๆ ในการที่จะเรียบเรียงขึ้นมาหนึ่งภาพเช่นกัน อย่างเพลงบรรเลง Lawrence of Arabia หากคนได้ฟังจะทำให้รู้สึกเวิ้งว้างในทะเลทรายมันคือท่วงทำนองจินตนาการความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ เปรียบเทียบกับที่เราเขียนงานนามธรรม เส้นสี แสง เงา ที่มันปรากฏขึ้นในภาพนามธรรมที่มองไม่เหมือนที่สายตาเราเห็น แต่ให้เหมือนกับเสียงดนตรีที่เราได้ยิน อันนี้จะเป็นวิธีการที่เรามองภาพ Abstract หรือ นามธรรม อย่างเข้าใจได้ดีที่สุด
“งาน Abstract ถือว่าเป็นงานที่ให้อิสรภาพกับผู้ชมอย่างเต็มที่ แต่มันไม่ให้อิสรภาพกับผู้ทำ ศิลปินที่ทำงานนามธรรมหลายคนไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นการทำอะไรก็ได้ที่ดูไม่รู้เรื่อง เราจึงเห็นงาน Abstract ที่ไม่มีคุณภาพแค่ทำสีเลอะเทอะเปรอะเปื้อนแล้วบอกว่าเป็นงาน Abstract ความจริงแล้ว Abstract เป็นงานที่มีความหมายมีความตั้งใจให้เกิดเรื่องราว ภาพที่มองดูไม่รู้เรื่องมีจุดมุ่งหมายจุดประสงค์ของมัน ไม่ใช่ภาพที่ทำอย่างมั่ว ๆ แล้วบอกว่านี่คืองาน Abstract ที่ดี คนที่ดูงานศิลปะเป็นจะรู้ว่างาน Abstract ที่ดีกับไม่ได้เรื่องมันเป็นอย่างไร แต่บางคนก็บอกว่างานนามธรรมเป็นงานที่ง่ายซึ่งไม่ใช่เลย มันคืองานที่ยากแล้วคนที่จะถึงขั้นทำงาน Abstract ได้สมบูรณ์และมีคุณค่าผมคิดว่าศิลปินต้องผ่านการทำงานและพัฒนาตัวเองมาพอสมควร
“ศิลปินบางคนเขียนภาพสีดำจากพื้นดำหรือเขียนภาพสีขาวจากพื้นขาว จริง ๆ แล้วศิลปิน มีจุดมุ่งหมายในการทำแบบนั้นมีนัยเนื้อหาที่ซ้อนไว้กลายเป็นนามธรรมในตัวเอง อาจซ่อนความประชดประชันเสียดสีสังคมเหมือนกับที่มีการเอาลิงมาเขียนภาพ Abstract มันคือการประชดประชันว่าคือการเขียนอะไรก็ได้
อย่างแจ็กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) ศิลปินการเขียนภาพแบบสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม (Abstract Expressionism) เขาทำงานศิลปะสาดสี ก็มีคนตั้งคำถามว่ามันเป็นศิลปะได้อย่างไร ถ้าเราได้ศึกษาจริง ๆ จะเห็นว่าเขาไม่ใช่อยู่ ๆ มาสาดสี แต่กว่าที่เขาค้นคิดวิธีการปลดปล่อยหรือสร้างเทคนิคต่าง ๆ เขาทำงานมานานมากกว่าจะออกมาเป็นงานศิลปะเหล่านี้ ถ้าเราศึกษาเข้าใจงานศิลปะมานานจะรู้ถึงที่มาที่ไป แล้วก่อนหน้าไม่ใช่ว่าไม่เคยมีศิลปินทำแบบแจ็กสัน พอลล็อก มาก่อน มีคนเคยทำมาแล้วแต่อาจไม่ลึกซึ้งหรือมีชื่อเสียงมากพอ แต่แจ็กสัน พอลล็อก กลายเป็นเจ้าพ่อของการสาดสีมันจึงไม่เหมือนกัน
“คนธรรมดาที่ไม่ได้เข้าใจงานศิลปะจึงไม่สามารถแยกงานนามธรรมที่มีคุณภาพได้ ในสมัยหนึ่งมีนักวิจารณ์เอาลิงมาเขียนรูป ลิงมันไม่มีสามัญสำนึกหรือสัญชาตญาณแบบคน มันก็สาดสีไปตามกิริยาอย่างหนึ่ง มันไม่สามารถหาความหมายจุดประสงค์ที่ศิลปินทำได้ ฉะนั้นคนธรรมดาที่ไม่มีความรู้เรื่องศิลปะเลยยากมากที่จะดูแล้วเข้าใจว่างานนี้ดีหรือไม่ดี จนกว่าเขามีประสบการณ์ดูงานนามธรรมมาพอสมควร แน่นอนว่าในอีกมุมหนึ่งคนดูงานศิลปะเขาอยากจะเห็นอะไรในภาพ ถึงแม้ภาพนั้นอาจไม่ปรากฏอะไรที่เป็นธรรมชาติหรือรูปภาพแบบปกติ แต่มีบางอย่างที่คนเราดูแล้วสื่อถึงความมุ่งหมาย แต่อย่าไปขวางสิ่งที่ศิลปินต้องการสื่อสาร
“วงการศิลปะในประเทศตอนนี้ผมคิดว่า เราเพิ่งพ้นจากความเป็นศิลปะที่อยู่ในโบสถ์ในวังมาไม่ถึง 150 ปี งานของเราวันนี้ยังค่อนข้างเป็นแบบไทย แต่เรื่องความสามารถของศิลปินไทยผมคิดว่าได้ก้าวผ่านมาตรฐานเช่นเดียวกับนานาประเทศแล้ว ความเจริญทางด้านศิลปะมันเป็นหนึ่งเดียวกันหมดแล้ว เราอาจจะมีบางอย่างเท่านั้นที่ประเทศเราไม่อาจ เทียบกับต่างชาติได้เช่น เราไม่มีพิพิธภัณฑ์ในระดับมาตรฐานสากล ซึ่งฝั่งตะวันตกศิลปะของเขามันคือสินค้ามาตั้งแต่สมัยเรเนสซองส์มีการซื้อสะสมงานศิลปะกันนานแล้ว
“วันนี้ศิลปินไทยคนหนึ่งบอกว่าขายรูปตัวเองในราคา 1 ล้านบาท มันเป็นเพียงราคาซื้อขายของความพอใจ แต่มันไม่ใช่ราคาที่เป็นมาตรฐานที่ชัดเจนในระดับของผู้นิยมหรือผู้สะสมที่เขาจะซื้อได้ราคานี้แน่นอน แต่ระดับนานาชาติมันชัดเจนแน่นอน ตรงนี้ประเทศไทยยังคงขาดการเติบโต ในวงการศิลปะของไทยจึงยังไม่ครบรอบวงจรตั้งแต่การมีศิลปิน ผู้เสพงานผู้ซื้อมีสถาบันรองรับ อาจหมายถึงสถานศึกษาหอศิลป์หรือแกลเลอรี ถ้าเรามีสิ่งเหล่านี้จึงเรียกได้ว่าครบวงจร
“ในอนาคตผมคิดว่าวงการศิลปะในประเทศจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ในระดับหนึ่ง แต่ว่าความก้าวหน้าศิลปะในประเทศไทยถ้าจะให้พูดแล้วก็เหมือนกับว่าต้องอาศัยองค์ประกอบด้านอื่นเสมอ ตัวศาสตร์ของมันเองก้าวหน้าก็จริงแต่ว่าสิ่งแวดล้อมไม่พร้อมหรือการรองรับจากผู้สนใจยังขาดหายไปบางส่วน แม้สัดส่วนประชากรจะเพิ่มขึ้นแต่ความสนใจในงานศิลปะยังมีจำนวนเท่าเดิม หรือแม้แต่สถานที่ที่ให้คนเข้าชมงานศิลปะก็มีสัดส่วนไม่เพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อนนัก เป็นผลให้คนที่ทำอาชีพศิลปะจึงดูไม่มั่นคงทำให้ศิลปินจำเป็นต้องมีอาชีพอื่นเสริม เช่นต้องไปเป็นครูบาอาจารย์ เป็นดีไซน์เนอร์ซึ่งเวลาเหล่านี้มันจะไปบั่นทอนช่วงเวลาในการทำงานศิลปะเต็มเวลาให้มันน้อยลงไป
อย่างไรก็ตามถ้าเทียบกันจริง ๆ เรามีจำนวนศิลปินที่เพิ่มมากขึ้น เรามีความกว้างของบรรดาผู้ทำงานศิลปะในหลากหลายอาชีพมากขึ้น เริ่มมีนักสะสมรุ่นใหม่เกิดขึ้นจนกลายเป็นความหวังให้กับเรา ถ้าศิลปินเหล่านี้มุ่งมั่นที่จะทำงานศิลปะเราต้องมองเป็นระดับโลกเป็นลักษณะที่ไปสู่ระดับสากล เพราะทุกวันนี้การแข่งขันทางด้านศิลปะสูงมากขึ้น แล้ววันนี้เพื่อนบ้านเราอย่างประเทศสิงคโปร์ในอดีตพวกเขาต้องเดินทางมาเพื่อหางานศิลปะจากศิลปินไทยเพื่อขายในแกลลอรี่ของเขา แต่ตอนนี้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางศิลปะของอาเซียน โดยเขาเตรียมความพร้อมทั้งสถานที่บุคลากร การจัดการศิลปะสมัยใหม่ แม้แต่เรื่องของพิพิธภัณฑ์ทุกอย่างเขาพร้อมหมดเลย ในขณะที่ประเทศไทยมีทรัพยากรทั้งสถาบันสอนทางด้านศิลปะและบุคลากรศิลปิน แต่เรายังไม่มีหอศิลปะในระดับสากลแม้แต่แห่งเดียว
“สำหรับคนที่คิดว่ารู้จักตัวเองพอที่อยากเป็นศิลปิน หรือเป็นบุคลากรที่อยู่ในวงการนักออกแบบหรือศิลปะ เมื่อเราตัดสินใจเข้ามาสู่เส้นทางนี้แล้วผมคิดว่าถอยไม่ได้ แต่ไม่ถึงกับต้องตายไปกับมัน หลายอย่างขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและโอกาสของชีวิต ผมจะบอกว่าถ้าหนุ่มสาวคนใดมุ่งมั่นมาทางนี้ควรจะทุ่มเทให้กับมันให้ฝังอยู่ในสายเลือด ให้มีองค์ความรู้ส่วนหนึ่งไม่ว่าเราจะไปทำอาชีพใดก็ตาม มันจะมีเซ้นส์พิเศษเหนือกว่าคนอื่นแน่นอนจึงไม่ควรทิ้ง ทำให้เต็มที่ถึงปลายทางของมันให้ได้ผมคิดว่าไม่น้อยกว่า 80%ต้องมีคนทำได้”
Did You Know
- อาจารย์สมศักดิ์สำเร็จการศึกษาศิลปะบัณฑิต (จิตรกรรม) เกียรตินิยมอันดับ ๒ และสำเร็จการศึกษาศิลปมหาบัณฑิต จากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- นอกจากนี้ยังได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งเมืองอูร์บีโน ประเทศอิตาลี และมหาวิทยาลัยแห่งชาติโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น
- ท่านเริ่มต้นรับราชการที่วิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากรและเกษียณอายุราชการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม
- ด้านการเป็นศิลปินท่านได้สร้างสรรค์งานจิตรกรรมแบบศิลปะนามธรรมจนเป็นที่ยอมรับอันดับต้นๆ คนหนึ่งของประเทศไทย