The Opportunity Seeker ไทย - จีน สายสัมพันธ์บนความท้าทายใหม่ในสงครามการค้า ภากร กัทชลี

The Opportunity Seeker ไทย - จีน สายสัมพันธ์บนความท้าทายใหม่ในสงครามการค้า ภากร กัทชลี

ท่ามกลางสงครามการค้าที่นำโดยสหรัฐอเมริกาเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า หลายประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนักรวมถึงไทยด้วย ในส่วนของจีนใช้วิธีการตอบโต้ด้วยมาตรการภาษีเช่นเดียวกัน ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจระดับโลกส่งผลกระทบเป็นวงกว้างรวมถึงประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับทั้งสองประเทศ ขณะที่ความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างไทย – จีนครบ 50 ปีรอบนี้อยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่าท้าทายเป็นอย่างมากในการจะรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ

โดยคุณปอ ภากร กัทชลี หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ไทย - จีนได้มาให้มุมมองเชิงลึกจากประสบการณ์ที่ได้ไปศึกษาอยู่ประเทศจีน กับการรับมือสงครามการค้าท่ามกลางช่วงเวลาที่ยากลำบากของประเทศไทยในเวลานี้ แต่ก่อนอื่นเรามารู้จักกันก่อนว่าเขาเป็นใครมาจากไหน

เส้นทางชีวิตที่ไม่ยอมแพ้ของ "อ้ายจง"

คุณปอเป็นนักเขียน นักวิเคราะห์ วิทยากรเกี่ยวกับจีนศึกษา ผู้ก่อตั้งเพจ Facebook อ้ายจง นำเสนอเรื่องราวสังคม วัฒนธรรม รวมถึงเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความสัมพันธ์ไทย - จีน นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย

ถ้าเรามองแค่ความสำเร็จของคนที่มีชื่อเสียงในสังคม คนส่วนหนึ่งมักคิดว่าเป็นเรื่องง่ายหากมีครอบครัวคอยสนับสนุนทั้งในเรื่องการเงิน การศึกษา และเส้นทางเดินในอาชีพ ทว่าไม่ใช่ทั้งหมดสำหรับชายที่ชื่อปอ ภากร กัทชลี แม้ครอบครัวไม่ได้อัตคัดแต่ส่วนหนึ่งเขาก็ต้องต่อสู้มาด้วยตัวเองกว่าจะมาถึงจุดนี้

คุณปอเกิดในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นข้าราชการบำนาญ ในวัยเด็กมีปัญหาเรื่องการพูดติดอ่าง (Stuttering) เป็นภาวะผิดปกติทางการพูดที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อ เส้นประสาท หรือสมองบางส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพูดทำงานผิดปกติ โดยคุณหมอวินิจฉัยว่าอาจจะเป็นใบ้เนื่องจากพูดช้ากว่าเด็กทั่วไป เมื่ออายุ 3 - 4 ขวบครอบครัวพาไปรักษากับแพทย์หลายครั้ง ผลวินิจฉัยระบุว่ามีภาวะติดอ่างเนื่องจากการทำงานของสมองและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการพูดอาจไม่สัมพันธ์กัน การจะพูดแต่ละคำจึงเป็นเรื่องยาก ทำให้มีความลำบากในการสื่อสารตั้งแต่เด็ก

แต่เขาไม่ยอมแพ้ เมื่ออ่านออกเขียนได้จึงใช้ช่องทางนี้ถ่ายทอดความคิดความรู้สึกเพื่อแสดงออกแทนการพูด โดยมีความฝันเสมอว่าอยากเป็นนักเขียนเลยมีโอกาสส่งเรียงความเข้าประกวดในรายการ ‘ทุ่งแสงตะวัน’ (รายการทีวีในอดีตที่มีชื่อเสียงมากโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน) ซึ่งเขาสามารถคว้ารางวัลมาได้และเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและเป็นเหตุผลว่าทำไมการเขียนถึงมีความหมายในชีวิต

ในช่วงที่ศึกษาอยู่มัธยมปลาย แม้จะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารทางการพูด แต่โชคดีที่มีกลุ่มเพื่อนที่เข้าใจพากันไปทำกิจกรรมในเรื่องที่สนใจอย่างข่าวสารและเทคโนโลยี ทำให้คุณปอก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์โดยการเป็นแอดมินดูแลเว็บบอร์ดต่าง ๆ มีการแบ่งปันความรู้กับเพื่อน ๆ โดยเฉพาะข้อมูลการศึกษารวมถึงทุนศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย

ด้วยความที่คุณปออยู่ในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นข้าราชการบำนาญซึ่งบุตรสามารถใช้สิทธิ์ในการกู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เพียง 3 คนแรกเท่านั้น ทำให้ลูกคนที่ 4 อย่างคุณปอไม่ได้รับสิทธิ์ ตรงนี้เป็นช่องว่างของปัญหาด้านการศึกษาที่ทำให้ต้องดิ้นรนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยด้วยตัวเอง

เมื่อได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในขณะที่กำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ครอบครัวประสบปัญหาทางการเงิน คุณแม่ได้โทรศัพท์เข้ามาบอกว่า ‘ไม่มีเงินส่งเรียนแล้วนะ’ เขาไม่อยากเดินออกจากรั้วมหาวิทยาลัยด้วยการเป็นผู้แพ้ จึงตั้งสติแล้วถามตัวเองว่า ‘เรามีอะไรที่สามารถใช้สร้างโอกาสให้ตัวเองได้’ โดยมองหาหนทางที่เหมาะกับตัวเอง นั่นคืองานทางด้านสื่อมวลชนและงานสายไอที เขาจึงลองเข้าไปสมัครฝึกทำงานกับ ‘เด็กดีดอทคอม’ ซึ่งนอกจากจะพอมีรายได้แล้ว ยังมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับสื่อดิจิทัลก่อนเพื่อนในวัยเดียวกันด้วย

“ถ้าพูดอย่างโลกไม่สวย คนเราต้องมีอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมเราต้องเจอปัญหา แต่ด้วยความที่ผมเจอปัญหามาตั้งแต่เด็กมันทําให้เชื่อว่าเรามีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ อย่างเช่นทําไมผมถึงกล้าถามหาโอกาสจากคนอื่น ผมเคยเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้ที่บ้านฟังในการถามหาโอกาสกับการเข้าไปฝึกงานกับ ‘เด็กดีดอทคอม’ ที่บ้านถามกลับมาว่าไม่กลัวเขาปฏิเสธเหรอ ผมตอบไปว่า ‘จะไปกลัวอะไร เพราะทั้งชีวิตก็อยู่กับคําว่าอายมาโดยตลอด’ ตั้งแต่ในเรื่องของการพูด ผมกล้าที่จะเดินไปขอทุนการศึกษาถึงแม้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร หรือการไปของานพาร์ทไทม์ทำจากมหาวิทยาลัย เช่น งานรับคีย์ข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ เพราะว่าถ้าเราอายมันก็คงไม่มีใครที่หยิบยื่นอะไรมาให้เราครับ

“หลายอย่างในชีวิตผมไม่ได้มองว่ามันคือปัญหาเพราะว่ามันติดตัวเรามาตลอดอยู่แล้ว แต่ทํายังไงให้เราก้าวผ่านไปได้ การที่ผมพูดไม่ติดอ่างได้แบบทุกวันนี้เพราะผมพยายามหาทางโดยการไปเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตแล้วเจอว่ามีหนังเรื่อง ‘The King's Speech’ (เรื่องราวของพระเจ้าจอร์จที่ 6 แห่งอังกฤษ ผู้มีปัญหาในการพูดติดอ่าง) หรืออีกหลายกรณีสำหรับคนที่เจอปัญหาเหมือนกัน ซึ่งการพูดต้องทำการฝึกฝนให้มีจังหวะ (Rhythm) เหมือนกับการร้องเพลง ผมก็ฝึก ฝึก ฝึก อย่างนั้นมาโดยตลอด ฃทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน สุดท้ายมันก็ก้าวข้ามผ่านมาได้ ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าผมมองว่าตัวเองเก่งนะ แต่ผมมองว่ามันก็เป็นสัญชาตญาณของทุกคนที่จะทํายังไงก็ได้ให้สู้ต่อ”

ถอดรหัสความสำเร็จ ประสิทธิภาพการศึกษาจีน

หลังจากเรียนจบในระดับปริญญาตรีคุณปอได้มีโอกาสไปศึกษาระดับปริญญาโทต่อที่ประเทศจีนในสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยแห่งนี้มีชื่อเสียงเรื่องการบินและอวกาศโดยเฉพาะด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมอวกาศและภูมิสารสนเทศ แล้วการได้ไปอยู่ประเทศจีนทำให้เขาซึมซับเอาหลายสิ่งมาบอกเล่าจนบางคนอาจคาดไม่ถึง

“อย่ามองว่าผมอวยจีนเกินไปนะ ในอดีตต้องยอมรับว่าจีนเองก็มีภาพจำว่าล้าหลัง แต่ปัจจุบันนี้ทําไมเราเห็นว่าการศึกษาของเขามันค่อนข้างเติบโต ผลสัมฤทธิ์ที่ออกมาชัดเจนนะครับในส่วนของการสร้างเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ ล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากการศึกษา แล้วเขาทําได้ยังไง ในอดีตจีนเคยเกิดปัญหาสมองไหลครับ เขาแก้ปัญหาโดยการทําเศรษฐกิจให้เอื้อต่อการลงทุนในการทำมาหากิน ตามเขตหัวเมืองมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคให้เพียงพอ

“ในส่วนของสถาบันการศึกษาของโรงเรียนที่ผมเคยมีโอกาสลงพื้นที่เป็นโรงเรียนในเขตภูเขา เชื่อไหมครับว่าแม้จะอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูง แต่โรงเรียนของเขาตึกใหญ่มากเทียบเท่ากับโรงเรียนชั้นนําของไทยเราได้สบายเลย แล้วจำนวนครูที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำก็มีเพียงพอ โดยเขามีโครงการคืนครูสู่สังคมบ้านเกิดเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการแลกเปลี่ยนหลายส่วนกับโรงเรียนในหัวเมืองใหญ่ โรงเรียนไหนถ้ามองว่ามีจํานวนนักเรียนน้อยเกินไปก็ยุบแล้วให้ไปเรียนในเขตใหม่ที่ไม่ได้ไกลจนเกินไป

 “สมัยที่ผมไปเรียนอยู่จีน ผมมองเห็นว่ายังไงเขาน่าจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้าน IT ได้ ในขณะที่หลายคนมองว่าจีนทำสินค้าก๊อปปี้ แต่ผมกลับมองว่าถ้าเขาก๊อปปี้ได้แสดงว่ากำลังมีองค์ความรู้ นั่นคือเปลี่ยนตัวเองจากการที่เป็นแค่โรงงานรับจ้างผลิตมาใช้องค์ความรู้ที่เขาเก็บเอาไว้ โดยมองว่าตัวเองเติบโตมาจากคำว่าก๊อปปี้แต่เป็น C2D ในจีนมีคำว่า ‘โม๋ฝ่างช่วงซิน (模仿创新)’ หมายถึงการดูต้นแบบและสร้างนวัตกรรมสร้างสรรค์ต่อยอด

“สิ่งที่ผมได้รับรู้อีกอย่างคือเรื่องของการตลาดว่าจีนเขาพัฒนาไปอย่างไร ถ้ามองจีนตอนนี้เขาไม่ได้พัฒนาแค่ด้านเดียว อย่างด้านของดิจิทัลและเทคโนโลยีเขาก็พัฒนาตลาดควบคู่ไปด้วย เพราะถ้าคุณพัฒนาสิ่งหนึ่งขึ้นมาแต่ขายไม่เป็นก็ไม่ประสบผลสำเร็จ หรือถ้าคุณทําสินค้าเทคโนโลยีออกมาแต่ทําให้เป็นเชิงพาณิชย์หรือ Commercial ไม่เป็นมันก็ไปต่อไม่ได้ถูกไหมครับ

“จริง ๆ แล้วผมเชื่อว่าคนไทยเก่งในเรื่องของการสร้างองค์ความรู้พัฒนาสิ่งต่าง ๆ ออกมา อย่างเช่นเรื่องของ IT ต่าง ๆ แต่สิ่งที่เรายังขาดคือทํายังไงให้มันสามารถเติบโตในตลาดได้และเรายังขาดการส่งเสริมจากภาครัฐด้วย ดังนั้นผมเลยเลือกมาเป็นอาจารย์ทางด้านการตลาดเพื่อใช้องค์ความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์มาผนวกกับเรื่องของการตลาด ให้ความรู้นี้ไปต่อยอดในส่วนอื่นได้”

ยุทธศาสตร์เปลี่ยนเมือง ความสำเร็จด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลก

หนึ่งโครงการสำคัญที่ทำให้จีนพัฒนาด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจมาจนถึงทุกวันนี้ คือการเปลี่ยนแปลงเมืองเซินเจิ้น (深圳) ในปี 1980 จากที่เคยเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็ก ๆ ใกล้ฮ่องกง รัฐบาลจีนเปลี่ยนให้เป็นเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ด้วยการเปิดรับนักลงทุนจำนวนมากจนกลายเป็นแหล่งผลิตสินค้าสำคัญของโลก โรงงานต่าง ๆ ผุดขึ้นมากมายเพื่อรองรับการจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ระดับนานาชาติ

ปัจจุบันเซินเจิ้นไม่ได้เป็นเพียงศูนย์กลางการผลิตอย่างเดียว แต่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำคัญของโลก ประเทศจีนขยายโมเดลความสำเร็จนี้ไปยังเมืองอื่น ๆ ด้วย เช่น หางโจว (杭州) เป็นศูนย์กลางของ E - Commerce ระดับโลก กุ้ยโจว (贵州) พัฒนาอุตสาหกรรม Big Data และพลังงานสะอาด เป็นต้น

“เมืองที่น่าสนใจแต่หลายคนอาจไม่รู้จักคือเมืองเหอเฝย์ (合肥) มณฑลอันฮุยซึ่งเป็นเมืองควอนตัมที่เรียกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ต้องย้อนไปในสมัยเติ้ง เสี่ยวผิงที่จีนกำลังเปิดประเทศ เขามองว่าการรับจ้างผลิตอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการพัฒนานวัตกรรมด้วย แล้วนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้จากอะไร มันก็ต้องเกิดขึ้นได้จากการศึกษา เกิดได้จากนักคิด

“จีนจึงได้สร้างมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (USTC) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในท็อป 100 ของโลกนะครับ สมัยนั้นเขาอยากพัฒนาไปสู่หัวเมืองภูมิภาคด้วยจึงมองหาหลายพื้นที่ แต่รัฐบาลท้องถิ่นหลายเมืองในขณะนั้นอาจจะมองว่าเป็นภาระหรือเพราะแบกรับความคาดหวังค่อนข้างเยอะดังนั้นหลายแห่งจึงปฏิเสธ ทว่าเมืองเหอเฝย์ซึ่งขณะนั้นจนมากกลับขอรับโครงการนี้ไว้ จากเมืองที่ไม่มีอะไรปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างดี นอกจากนี้ยังมีหลายเมืองของจีนที่ถูกพัฒนาเช่นกันโดยมีเงื่อนไขที่ต่างกันออกไป แต่ก็ยังอยู่ในเรื่องเดียวกันคือสอดรับกับนโยบายการพัฒนาของจีนครับ”

มิตรภาพและความเข้าใจ สายใยไทย - จีน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนมีประวัติศาสตร์ยาวนาน จนถึงปัจจุบันสายสัมพันธ์นี้เติบโตผ่านการค้าขาย การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การอพยพย้ายถิ่น และเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมที่เห็นได้ชัดในสังคมไทย แม้จะมีปัญหาในเรื่องต่าง ๆ อยู่บ้างแต่ความสัมพันธ์ระดับประชาชนยังคงแน่นแฟ้น สะท้อนถึงความเข้าใจและการยอมรับซึ่งกันและกัน

“ผมต้องขอออกตัวก่อน ไม่ต้องเชื่อที่ผมพูดก็ได้เพราะประสบการณ์การเป็นนักศึกษาของแต่ละคนที่ไปเรียนจีนไม่เหมือนกัน แต่สำหรับผมรวมถึงคนที่ผมรู้จักมองในมุมเดียวกันว่าเมื่อคนจีนรู้ว่าเราเป็นคนไทย พวกเขาค่อนข้างที่จะเฟรนด์ลี่ เปิดใจเริ่มต้นการพูดคุย หรือเป็นมิตร เพราะว่าคนจีนไม่น้อยรู้จักเกี่ยวกับไทยมานานอยู่แล้ว บางคนมีโอกาสมาเที่ยวเมืองไทยในช่วง 10 - 20 ปีมานี้ การท่องเที่ยวไทยค่อนข้างจะได้รับความนิยมในจีน นอกจากนี้เขายังรู้จักผลไม้ไทย อาหารไทย รวมถึงดาราไทยด้วย ซึ่งในประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นที่พวกเขามักนำมาพูดคุยในสื่อออนไลน์เสมอ

“อีกมุมหนึ่งคนจีนเองก็มองว่าไทยเป็นคนเอเชียเหมือนกัน มีความใกล้กันทั้งในแง่ของวัฒนธรรม เชื้อสายและเชื้อชาติครับ อย่างผมมีประสบการณ์ส่วนตัวคือเคยเช่าคอนโดอยู่ที่เมืองจีน ผมโดนนิติของคอนโดเรียกไปถามว่าคุณทําอะไรทำไมถึงมาอยู่คอนโดนี้ ที่เขาถามเนื่องจากมีคนจีนจำนวนไม่น้อยยังคงกลัวต่างชาติ แต่พอเขาได้คุยกับเราแล้วก็รู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นคนต่างชาติ นั่นคือเป็นคนจีนด้วยกันนี่แหละแต่เป็นคนเชื้อสายจีนที่อยู่ต่างประเทศ คําว่า ‘กากี่นั้ง’ มาจากภาษาแต้จิ๋ว 家己人 แปลว่าคนกันเองที่เราได้ยินมาตั้งแต่เด็ก หรือ ‘เหล่าเผิงโหย่ว (老朋友)’ คือในเรื่องของเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ สำหรับคนจีนกับคนไทยผมว่าคำเหล่านี้ยังใช้ได้อยู่เสมอ”

มิตรภาพข้ามศตวรรษกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนดำเนินมายาวนาน มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการครบรอบ 50 ปีในหลายมิติ แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นความท้าทายใหม่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหลายบริบทของสังคมโลกทำให้ทั้งสองประเทศต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ในมุมมองของคุณปอเองได้ให้แง่คิดในเรื่องความสัมพันธ์ไทย – จีนอย่างตรงไปตรงมากับยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้

 “ความสัมพันธ์ระหว่างไทย - จีนผมมองว่าค่อนข้างแนบแน่นมาช้านาน มีมาก่อนที่จะเปิดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการแล้ว อย่างเช่นหลายคนเป็นคนไทยเชื้อสายจีนไม่ว่าจะลูกครึ่งหรือลูกเสี้ยวรวมถึงตัวผมด้วย เรามีความสัมพันธ์มาอย่างยาวนานในการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลกับบุคคล รวมถึงในด้านการค้าขายเราจะเห็นว่าคนจีนโพ้นทะเลหลายคนก็มาประสบความสำเร็จในประเทศไทยเป็นเจ้าของกิจการต่าง ๆ มากมาย  

“ตอนนี้ทางจีนเองก็มีเป็นนโยบายปรับภาพลักษณ์ของตัวเองในเวทีโลก ส่งเสริมในเรื่องการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลให้เพิ่มมากขึ้น เป็นที่มาในเรื่องการฟรีวีซ่าฝ่ายเดียวค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่แค่เมืองไทยนะครับ ทางฝั่งประเทศในกลุ่ม EU จีนก็ฟรีวีซ่าฝ่ายเดียวเหมือนกัน เพราะเขาหวังว่าเมื่อมีคนเข้าไปในประเทศเพิ่มมากขึ้นก็จะรับรู้เกี่ยวกับจีนเพิ่มมากขึ้น ช่วยทําความเข้าใจเกี่ยวกับจีนได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะหลังโควิด-19พบว่ามีวาทกรรมทางการเมืองในเรื่องความขัดแย้งของประเทศต่าง ๆ ที่กระทบจีนโดยตรง แล้วก็รวมถึงในยุคสงครามทางการค้าซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมาก ผมเชื่อว่าครบรอบ 50 ปีไทย – จีนเขาจะส่งเสริมในหลายเรื่องกับประไทยให้มากขึ้น”

แก๊งคอลเซนเตอร์ เงาอาชญากรรมข้ามชาติ

ปัญหาสำคัญที่หลายประเทศพบเจอคือเรื่องการหลอกลวงของคอลเซนเตอร์ที่มักมีจีนเทาอยู่เบื้องหลังเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ โดยใช้ฐานปฏิบัติการจากประเทศพื้นบ้านและใช้ประเทศไทยเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกในการก่อเหตุดังกล่าว เรื่องนี้ทำให้เกิดความไม่พอใจในหลายฝ่าย ก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์และความเข้าใจผิดระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศได้

“ผมขออนุญาตแตะประเด็นที่อาจจะละเอียดอ่อนนิดหนึ่งนะครับ ในช่วงที่ผ่านมามีเรื่องของการทลายแก๊งคอลเซนเตอร์ เราจะเห็นว่าผู้ช่วยรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงของจีนลงพื้นที่โดยตรง บางคนอาจมองว่าเข้ามากดดันเลยด้วยซ้ำ แต่ในอีกมุมหนึ่งถ้าเราดูข่าวจากจีนเขาจะบอกเลยว่าเกิดความกังวลเพราะกลัวว่าจะเกิดความเข้าใจผิดระหว่างบุคคลเพิ่มมากขึ้น ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเราปฏิเสธไม่ได้เลยครับว่ามันมีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับไทยในจีนค่อนข้างเยอะทั้งเรื่องของความปลอดภัย และในขณะเดียวกันจีนเองก็ทราบครับว่ามีข่าวไม่ดีเกี่ยวกับจีนในไทยเช่นกัน

“ถ้าปล่อยให้มีประเด็นตรงนี้ต่อไปมันจะมีปัญหา การแก้ไขเรื่องแก๊งคอลเซนเตอร์มันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของไทยหรือเรื่องของประเทศเพื่อนบ้านเพียงอย่างเดียว แต่มันเกิดปัญหาในจีนด้วยเพราะแก๊งคอลเซนเตอร์ที่ประเทศเพื่อนบ้านเราก็ได้ไปหลอกลวงคนในจีนด้วยเหมือนกัน แล้วต้องยอมรับว่าในแก๊งคอลเซนเตอร์ที่เป็นทุนจีนสีเทา สีดํา มันก็มาจากจีนเช่นกัน

“ดังนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่ว่าจีนเพิ่งจะมาแก้ปัญหาโดยการเข้ามาในเมืองไทยหรือประเทศเพื่อนบ้านของเรา จีนเขาประสานมานานพอสมควรแล้วเขาจึงต้องเข้ามาแก้ไขตรงนี้ครับ แต่มันก็มีประเด็นอันหนึ่งที่เราต้องคิดด้วยเหมือนกันว่าเราจะปล่อยให้เกิดปัญหาเมื่อเจอแรงกดดันแล้วค่อยแก้ไขเหรอ ซึ่งตรงนี้ภาครัฐของเราเองก็ต้องแก้ไขช่องโหว่ทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายด้วยเหมือนกัน เพราะมันจะกระทบกับความสัมพันธ์อย่างแน่นอนครับ”

ตลาดจีนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

การนำสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนเป็นความฝันของผู้ประกอบการไทยหลายราย แต่มันไม่ง่ายแบบนั้นเนื่องจากมีเรื่องของวัฒนธรรมทางธุรกิจ กฎหมาย รวมทั้งความแตกต่างในเรื่องอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาอย่างรอบด้าน ซึ่งคุณปอได้แบ่งปันประสบการณ์และข้อควรระวังให้สามารถรักษาผลประโยชน์ในการทำธุรกิจกับพันธมิตรจีนได้อย่างยั่งยืน

 “ผมมีโอกาสได้สอนนักศึกษาหรือบรรยายให้กับผู้ประกอบการฟัง ผมมักเตือนเรื่องการทำธุรกิจกับคนจีนมาโดยตลอด เราไม่ได้มองเขาไม่ดีแต่ต้องระมัดระวัง ต้องบอกตามตรงว่าคนจีนเวลาทําธุรกิจเขามักจะคุยกันด้วยเรื่องของผลประโยชน์ตรง ๆ  ดังนั้นเราเองต้องอย่าใช้คําว่า ‘หยวน ๆ’ หรือไม่กล้าพูด คนจีนเขามองว่าตัวเองทําการค้าก็ต้องได้ผลประโยชน์ ต้องคุยกันตรงไปตรงมาหรือทะเลาะกันให้จบ ให้ทำเรื่องเกี่ยวกับสัญญาทางกฎหมายรวมถึงเอกสารให้ชัดเจน

“เมื่อเราป้องกันตัวเองได้ก็ต้องป้องกันไว้ก่อน แล้วกฎหมายไทยกับจีนไม่เหมือนกัน บางครั้งต้องมีการใช้อนุญาโตตุลาการหรือกระบวนการระหว่างประเทศนะครับ การค้ากับคนจีนเขามักชอบคุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อย่างเช่นเวลาใช้ซัพพลายเออร์ก็มักจะต้องเป็นของจีนด้วย ซึ่งถ้าเรามองว่ามันไม่แฟร์ก็ต้องคุยกันตามตรง อย่ามองแค่ว่าทําไปก่อนหรือมองแค่ว่าเเอาผลประโยชน์ไว้ก่อนแล้วค่อยมาคุยกันทีหลัง มันเกิดปัญหามาเยอะแยะแล้วครับ

“คนจีนมาทำการค้าในบ้านเราก็ไม่ควรเปิดช่องโหว่ให้มากจนเกินไป ในกรณีของกลุ่มทุนจีนสีเทามันไม่เกิดผลประโยชน์กับเศรษฐกิจไทย เพราะคําว่าจีนเทาบางครั้งมันอาจมาจากการเอื้ออํานวยของไทยเองด้วยหรือเปล่า สุดท้ายประเทศไทยเสียผลประโยชน์นะครับ”

ไทยในสมรภูมิเศรษฐกิจโลก

เรื่องที่คนให้ความสนใจในขณะนี้คือสหรัฐอเมริกามีนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศทั่วโลกซึ่งจีนเองกลายเป็นเป้าหมายหลักของสงครามการค้านี้ด้วย และความขัดแย้งนี้ยังส่งผลถึงประเทศไทยอันมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับทั้งสองมหาอำนาจ

“อเมริกาและจีน สองประเทศนี้มีเศรษฐกิจใหญ่ที่ครองสัดส่วนเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ของโลก ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาย่อมส่งผลกระทบต่อไทยอยู่แล้ว ทิศทางต่อจากนี้จีนจะบอกว่าสิ่งที่อเมริกาทําเรียกว่าแบ่งแยกหรือตัดห่วงโซ่อุปทาน ไม่ได้ทําตามหลักการค้าเสรีหรือกฎของ WTO ซึ่งหลังจากนี้จะเกิดการแบ่งแยกหรือเรียกว่าโลก 2 ใบ นั่นคือโลกของประเทศที่ต้องการทําการค้ากับอเมริกาอาจจะต้องรับให้ได้กับกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เขาตั้ง ส่วนประเทศที่ต้องการทําการค้ากับจีนก็ต้องเจอกับกฎระเบียบของจีนเช่นกัน เพราะว่าจีนเองก็ตอบโต้อเมริกาในแบบเดียวกัน

“สงครามการค้าจีนอเมริกามันมีเรื่องของ Tech War ด้วยนะครับ หนึ่งในนั้นคือ AI War เพราะจีนเองตั้งเป้าภายในปี 2030 จะเป็นผู้นําทางด้าน AI โลก ถ้าเราดูข่าวจากจีนเราจะเห็นเลยว่าจีนกําลังปฏิรูปการศึกษา ปลูกฝังบ่มเพาะตั้งแต่ในโรงเรียนชั้นอนุบาลและประถมศึกษา การศึกษาในมหาวิทยาลัยเขาก็มีหลักสูตร AI บรรจุ มีสาขา Semiconductor สาขา New Material เพราะว่าเขาต้องการส่งเสริมในส่วนของนวัตกรรมใหม่ ๆ

“นอกจากนี้ยังมีสาขาที่เกี่ยวกับกลุ่มออนไลน์เพื่อให้คนในกลุ่มนี้ได้เข้ามาอยู่ในระบบแรงงานอย่างถูกต้องจะได้เก็บภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย คนที่อยู่ในสายเหล่านี้เลยรู้สึกว่ามีความมั่นคง ที่จีนมีอาชีพไลฟ์สด เกมเมอร์ คนควบคุม IoT (Internet of Things) คนจัดอีเวนต์ ฯลฯ อาชีพเหล่านี้ได้รับการบรรจุอยู่ในกระทรวงแรงงานจีนหมด เขามีการพัฒนาตั้งแต่เชิงนโยบายจนถึงดำเนินการจริงโดยดึงภาคเอกชนเข้ามาช่วยอีกทางหนึ่ง

“กลับมาที่บ้านเรา การเกิดสงครามการค้าระดับโลกไทยเองต้องไม่พึ่งพิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเกินไป แล้วก็ไม่ต่อต้านฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเกินไป ต้องทําตัวเองให้แข็งแกร่งมากขึ้นด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังขาดในภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตคืออะไรรู้ไหมครับ มันคือ Value Added (การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการ) ถ้าเราเข้าไปดูข่าวเศรษฐกิจของจีนในการรายงาน Index ชี้วัดการผลิตต่าง ๆ ในแต่ละเดือน ไตรมาส และรายปี เขามีการพูดถึงในเรื่องการเติบโตของอุตสาหกรรมแบบ Value Added อยู่ตลอด

“ถามว่าไทยเรามีไหม เราพูดถึงเรื่องนี้น้อยมากเลยนะถูกไหมครับ ถามว่าเรามีแพลตฟอร์มอะไรของตนเองบ้าง น้อยมากครับ ถ้ามองในเรื่องที่เราเคยมีความหวาดกลัวคือแพลตฟอร์ม E - Commerce จากจีนรายใหม่เข้ามา เรากลัวว่าจะเจอกระแสสินค้าราคาถูกจากจีนมาตีตลาด ส่วนหนึ่งที่กลัวเพราะเราไม่มีแพลตฟอร์มแบบเดียวกันในการสู้ มองไปทางไหนก็แพลตฟอร์มจีนหรือของต่างประเทศ ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียเรามีของไทยนะ แต่ในแง่ของการครองตลาดก็ไม่เท่ากับของต่างประเทศ

แล้วทําไมผมต้องพูดถึงเรื่องนี้ เพราะมันจะเป็นภูมิคุ้มกันในเรื่องของสงครามการค้าไงครับ ความอยู่รอดในยุคสงครามการค้าและการแข่งขันทางเทคโนโลยีไม่ได้อยู่ที่การปิดกั้นหรือการกีดกัน แต่อยู่ที่การสร้างทางเลือกและความแข็งแกร่งจากภายในประเทศ พัฒนาภูมิคุ้มกันและความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ถือเป็นความท้าทายอนาคตของประเทศไทยในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงครับ”

 

The Opportunity Seeker ไทย - จีน สายสัมพันธ์บนความท้าทายใหม่ในสงครามการค้า ภากร กัทชลี