The Most Disgrace Referee in Football History

The Most Disgrace Referee in Football History

ในขณะที่ผมกำลังตั้งต้นจะเขียนเรื่องราวสาระลงใน Legend ฉบับนี้ ลิเวอร์พูล (Liverpool) ทีมโปรดของผมกำลังอยู่ในช่วงขับเคี่ยวรักษาตำแหน่งจ่าฝูงของพรีเมียร์ลีก หวังทำคะแนนทิ้งห่างอันดับสองอย่างอาร์เซนอล (Arsenal) ออกไปเป็น 9 คะแนน ซึ่งเมื่อคืนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2025 ที่ผ่านมา ลิเวอร์พูลต้องไปเยือนเอฟเวอร์ตัน (Everton) อริร่วมเมืองคู่แค้นเมอร์ซีย์ไซด์ (Merseyside) อันเป็นการแข่งนัดตกค้าง และผลการแข่งขันคือเสมอกัน  2 - 2   เอฟเวอร์ตันตามตีเสมอได้ในนาทีบาปที่ 90 + 7 ชนิดที่สร้างให้ประเด็นดราม่ายิ่งร้อนระอุ ทว่าประเด็นดราม่าแท้จริงไม่ได้เริ่มต้นจากการตีเสมอครับ ลูกตีเสมอท้ายเกมนี้เป็นเพียงเพลิงที่ลุกไหม้ แต่ไฟที่โหมให้หนักขึ้นเกิดจากความวุ่นวายท้ายเกม เพราะเชื้อไฟที่ก่อชนวนนั้นเกิดจากชายเชิ้ตดำผู้ทำหน้าที่ตัดสินในวันนี้ นั่นคือ ‘ไมเคิล โอลิเวอร์ (Michael Oliver)’  นั่นเอง

มีหลายประเด็นที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเป่าฟาวล์ให้กับทางเอฟเวอร์ตันถึง 22 ครั้ง ในขณะที่เป่าฟาวล์ให้กับทางลิเวอร์พูลไปเพียง 8 ครั้ง หลาย ๆ จังหวะที่ชัดแจ้งอย่างกรณีของ ‘โมฮาเหม็ด ซาลาห์ (Mohamed Salah)’ กองหน้าตัวเก่งของลิเวอร์พูลถูกเตะตัดขาล้มหน้ากรอบเขตโทษก็ไม่ได้ให้ฟาวล์ แต่กลับกันทางเอฟเวอร์ตันดันได้ฟาวล์ในจังหวะที่ไม่ควรได้ เช่น การเตะส่งบอลแล้วลื่นล้มเองโดยที่อีกฝ่ายไม่ได้ไปสัมผัสตัว จังหวะเหล่านี้ยังไม่นับรวมการวิ่งปะทะกันเองของนักเตะเอฟเวอร์ตันในนาทีที่ 90 + 5 อีกเพียงแค่ 3 วินาทีจะครบกำหนดทดเวลา ทว่าไมเคิล โอลิเวอร์กลับทดให้เพิ่มอีก 2 นาทีจนนำมาสู่ประตูตีเสมอของเอฟเวอร์ตันในท้ายที่สุด และประเด็นดราม่าก็ยิ่งร้อนแรงขึ้นอีกเมื่อมีการแจกใบแดงหลังเกมเพิ่มเติมให้กับนักเตะทั้งสองฝ่ายที่มีเหตุชุลมุน รวมถึงการแจกใบแดงโดยตรงอีก 2 ใบให้กับ ‘อาร์เน่ สล็อต (Arne Slot)’ ผู้จัดการทีมพร้อม ๆ กับผู้ช่วยโค้ชของลิเวอร์พูล จากการใช้คำพูดที่กล่าวว่าเป็นการพูดเชิงกระแทกจิตใจให้กับไมเคิล โอลิเวอร์ ซึ่งหลาย ๆ ฝ่ายต่างก็ออกมาบอกว่าไมเคิล โอลิเวอร์นั้นช่างเปราะบางเสียจริง หลังจากนี้ลิเวอร์พูลยังเสียเปรียบเต็ม ๆ ด้วย เพราะจะไม่มีผู้จัดการทีมอยู่ในสนามกับเกมถัดมาถึง 2 เกม จนมีหลาย ๆ ทีมที่เคยเจอฤทธิ์ของไมเคิล โอลิเวอร์ได้ออกมาตั้งคำถามว่า แล้วถ้าหากผู้ตัดสินเกิดตัดสินผิดพลาดขึ้นมา จะมีผลรับผิดชอบอย่างไรบ้าง

คำตอบคือยังไม่มีบทลงโทษใด ๆ ในคำตัดสินที่ผิดพลาดของกรรมการ เพราะถือได้ว่าเป็นการทำหน้าที่และไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ความผิดใด ๆ ที่ชัดแจ้งว่ากรรมการมีส่วนช่วยทีมใดทีมหนึ่ง อีกทั้งเราไม่สามารถเยียวยาหรือกลับคำตัดสินใด ๆ ในการแข่งขัน ทำได้อย่างมากคือการตำหนิกันเองผ่านสื่อหรืออดีตกรรมการด้วยกันเพียงเท่านั้น ดังนั้นกรรมการเชิ้ตดำทั้งหลายจึงเหมือนลอยตัวอยู่เหนือปัญหาทั้งหมด

แต่มีการลงโทษที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดเป็นรายแรกเมื่อไม่นานมานี้กับกรณี ‘เดวิด คูต (David Coote)’ กรรมการตัดสินของพรีเมียร์ลีกอังกฤษล่าสุดที่ผ่านมา ซึ่งความผิดนั้นไม่ได้มาจากการกระทำฉ้อฉลต่อการตัดสินแต่อย่างใด ทว่าเหตุเกิดจากมีคลิปวิดีโอหลุดออกมาเป็นชายหน้าตาคล้ายเดวิด คูต (ภายหลังเจ้าตัวยอมรับว่าคือตนเอง) ด่าทอ ‘เจอร์เกน คล็อปป์ (Jurgen Klopp)’ อดีตผู้จัดการทีมลิเวอร์พูลด้วยคำหยาบและมีการใช้ข้อความที่เกี่ยวข้องกับการพนัน ทั้งนี้ทั้งนั้นเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นตนเองและได้ยืนยันหนักแน่นว่าแม้เขาจะมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อลิเวอร์พูลหรือเจอร์เกน คล็อปป์ แต่เขานั้นไม่เคยทำลายความยุติธรรมของเกมการแข่งขันใด ๆ เลย อย่างไรก็ตามได้มีการตัดสินหลาย ๆ เหตุการณ์ของเดวิด คูตที่ชวนน่าสงสัยในเรื่องของผลการตัดสิน แล้วต่อมาเพียงแค่ไม่กี่วันหลังจากคลิปวิดีโอเดวิด คูตด่าทอเจอร์เกน คล็อปป์ถูกปล่อยก็ดันปรากฏคลิปวิดีโอหลุดออกมาอีก เป็นชายคนเดิมนั่นคือเดวิด คูตกำลังเสพสารเสพติดโคเคนชนิดสูดเข้าจมูกฟอดเบ้อเร่อ โดยเจ้าตัวออกมายอมรับว่าเป็นตนเองอีกนั่นแหละ รวมถึงให้เหตุผลว่าที่ใช้สารเสพติดดังกล่าวเพราะตนเป็นเกย์และรู้สึกกดกันที่ไม่สามารถเปิดเผยเรื่องนี้กับสาธารณะได้ ซึ่งฝ่ายคณะกรรมการผู้ตัดสินของสมาพันธ์ฟุตบอลอังกฤษได้มีมติลงโทษด้วยการขับเดวิด คูตให้พ้นสภาพกรรมการผู้ตัดสิน ไม่สามารถที่จะตัดสินเกมใด ๆ ได้อีกในลีกเกาะอังกฤษ ด้วยสาเหตุจาก 2 คลิปทั้งในเรื่องของทัศนคติและการเสพสารเสพติดนั่นเอง ทั้งหมดไม่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ในสนามแต่อย่างใด

เรื่องของกรรมการในโลกฟุตบอลนั้นมีประเด็นมาอย่างต่อเนื่องครับ การมี VAR กลับไม่ช่วยให้การตัดสินง่ายขึ้นแต่อย่างใด แต่มันยิ่งทำให้มีประเด็นดราม่าซ้ำแล้วซ้ำอีกไปเรื่อย ๆ ซึ่งหากถามถึงวีรเวรวีรกรรมของกรรมการในโลกฟุตบอลแล้วนั้น ถ้าต้องจัดอันดับผู้ตัดสินอันเป็นที่โจษจันมากที่สุดและทุกคนต่างโหวตให้กับชื่อนี้ในทันทีเลยคงจะเป็นชายผู้มีชื่อว่า ‘ไบรอน อัลเดมาร์ โมเรโน รัวเลส' (Byron Aldemar Moreno Ruales)’ กรรมการผู้ตัดสินชาวเอกวาดอร์

โมเรโนได้รับการโหวตอันดับหนึ่งว่าเป็นผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ได้เอียงสุด ๆ และเข้าข่ายฉ้อฉล แถมยังเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของผลการแข่งขันที่อัปยศมากที่สุดด้วย โดยโมเรโนรับหน้าที่เป็นผู้ตัดสินเกมการแข่งขันรอบ 16 ทีมสุดท้ายในการแข่งฟุตบอลโลกปี 2002 ระหว่างเจ้าภาพเกาหลีใต้และอิตาลี ซึ่งผลการแข่งจบลงด้วยสกอร์ 2 - 1 เกาหลีใต้ชนะผ่านเข้ารอบไป แต่ด้วยเกมนี้แหละครับที่กลายเป็นข้อพิพาทและชนวนสำคัญให้อิตาลีประกาศแบนนักเตะจากเกาหลีใต้อย่างโกรธจัดเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ แม้กระทั่งนักร้องซูเปอร์สตาร์ของเกาหลีใต้อย่าง ‘PSY’ เจ้าของเพลงฮิต ‘Gangnam Style’ ไปเล่นคอนเสิร์ตช่วงเบรกในรอบชิงชนะเลิศถ้วย Coppa Italy ระหว่างโรมา (Roma)และลาซิโอ (Lazio) เมื่อปี 2012 ก็โดนโห่หนักชนิดใครเป็นนักร้องคงต้องร้องไห้

การแข่งขันเจ้าปัญหาของฟุตบอลโลกปี 2002 ระหว่างเจ้าภาพเกาหลีใต้และอิตาลี ฝั่งทีมชาติอิตาลีในยุคนั้นเต็มไปด้วยผู้เล่นคุณภาพระดับตำนานอย่าง ‘คริสเตียน วีเอรี (Christian Vieri)’ กองหน้าตัวเป้าอย่าง ‘ฟรานเชสโก ต็อตติ (Francesco Totti)’ รวมทั้งผู้รักษาประตูอย่าง ‘จานลุยจิ บุฟฟอน (Gianluigi Buffon)’ ขณะที่กองทัพฝั่งเกาหลีใต้ล้วนแล้วแต่โนเนม ที่พอจะมีชื่อหน่อยก็คือ ‘ปาร์ค จีซอง (Park Jisung)’ อดีตกองกลางตัวรับของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (Manchester United)

ตลอดการแข่งขัน นักเตะอิตาลีถูกเข้าบอลหนักทั้งเกมและดูเหมือนกรรมการเป่าเอียงข้างไปให้ฝั่งเจ้าภาพด้วยเช่นกัน ฝั่งเกาหลีใต้เข้าบอลหนัก นักเตะอิตาลีโดนพุ่งเสียบก็ไม่ให้ฟาวล์ ข้อกังขาเริ่มขึ้นเมื่อมีการให้จุดโทษกับเกาหลีใต้ในครึ่งเวลาแรก (อย่างไรก็ตามจานลุยจิ บุฟฟอนสามารถเซฟเอาไว้ได้) การไม่ให้ใบแดงกับ ‘ฮวัง ซุนฮง (Hwang Sunhong)’ ซึ่งพุ่งเข้าเสียบ ‘จานลูก้า ซัมบรอตตา (Gianluca Zambrotta)’ ในนาทีที่ 72 ชนิดเลือดพุ่งออกจากศีรษะและทำให้ซัมบรอตตาต้องออกจากเกมเพราะบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังตัดสินลูกโกลเดนโกลของ ‘ดาเมียโน ตอมมาซี (Damiano Tommasi)’ ให้เป็นลูกล้ำหน้า ทั้ง ๆ ที่ตอมมาซีไม่ได้อยู่ในตำแหน่งล้ำหน้า ที่หนักที่สุดคือการให้ใบเหลืองที่ 2 แก่ฟรานเชสโก ต็อตติข้อหาพุ่งล้มใส่เขตโทษของฝั่งเกาหลีใต้ทั้งที่เขาถูกเข้าสกัดหนักท่ามกลางเสียงคัดค้านจากแฟนฟุตบอลในสนาม จนเกาหลีใต้ได้ลูกโกลเดนโกลจากลูกโหม่งนาทีที่ 117  เอาชนะอิตาลีไปได้ชนิดหักปากกาเซียน

สิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับทุกคนที่ได้ชมเกม ณ วันนั้นคือความผิดปกติ ความไม่ชอบมาพากล การถูกปล้นชัย ความรู้สึกไม่ยุติธรรมและความอัปยศ ซึ่งศูนย์กลางของปัญหาก็คือ ‘โมเรโน’ ผู้ตัดสินในเกมนี้นั่นเอง เช้าวันต่อมาหลังจากการแข่งขันจบสิ้น หนังสือพิมพ์กีฬาทุกฉบับของอิตาลีพร้อมใจกันพาดหัวอย่างกราดเกรี้ยว โดยคอร์เรียเร เดลโล สปอร์ต (Corriere dello Sport) ถึงขั้นอุทิศพื้นที่เกือบครึ่งหน้ากระดาษให้กับคำว่า ‘LADRI’ หรือ ‘ไอ้หัวขโมย’ ขณะที่กัซเซตตา เดลโล สปอร์ต (The Sports Gazette) พาดหัวด้วยคำว่า ‘Vergogna!’ ที่แปลตรงตัวว่า ‘หน้าไม่อาย!’

สหพันธ์ฟุตบอลอิตาลียื่นคำร้องขอให้ฟีฟ่า (FIFA) สอบสวนการทำหน้าที่ในฐานะกรรมการตัดสินนัดนั้นของมูเรโนทันทีว่ามีการรับงานพิเศษกับทางเกาหลีใต้เจ้าภาพหรือไม่ ซึ่งผลคือไม่พบหลักฐานใด ๆ ในความผิดที่จะเอาโทษโมเรโนได้ อย่างไรก็ตามฟีฟ่านั้นส่งตัวโมเรโนกลับไปยังเอกวาดอร์ทันที และแม้จะไม่ได้มีการสั่งห้ามหรือสั่งแบนในตัวโมเรโนแต่อย่างใด ทว่าก็ไม่ได้มีการป้อนงานใด ๆ อีกจากทั้งทางฟีฟ่าหรือทางลีกชั้นนำในยุโรปแก่โมเรโนเช่นกัน … ถึงไม่เรียกว่าแบนแต่ก็คงไม่ต่างนั่นแหละครับ

โมเรโนกลับบ้านเกิดไปด้วยการเป็นคนดังชั่วข้ามคืน เขาถูกพูดถึงอย่างมากและออกรายการทีวีบ่อยครั้ง จนกระทั่งเขาเริ่มมองหาตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองด้วยการลงสมัครแข่งขันเลือกตั้งในเมืองกีโต (Quito) เมืองหลวงของเอกวาดอร์ พร้อมแคมเปญหาเสียงแสนเจ็บแสบว่า “พร้อมมอบใบแดงให้แก่ทุกการคอร์รัปชันและทุจริต” ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้ดี แต่แล้วเขาก็ทำเรื่องฉ้อฉลในวงการฟุตบอลชนิดงามไส้เข้าอีกจนได้ ด้วยการมาเป็นกรรมการฟุตบอลให้แมตช์ในบ้านเกิดระหว่างทีมลีกา เดอ กีโต (Liga de Quito) ทีมฟุตบอลหลักในเมืองที่ตนเองหาเสียงและบาร์เซโลนา สปอร์ตติง คลับ (Barcelona SC) กับการตัดสินอันแสนจะชวนกังขาอีกแล้ว

เขาทดเวลาบาดเจ็บถึง 13 นาที เปิดโอกาสให้ทีมกีโตที่ตามหลัง 2 - 3 ทำแต้มเอาชนะไปที่ 4 - 3 เขาถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าเปิดช่องให้ทีมกีโตได้ชนะเพื่อผลประโยชน์แก่การหาเสียงของตัวเอง เขาถูกสหพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติของเอกวาดอร์ตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นผลให้เขาถูกแบนไม่ให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการนานร่วม 20 นัด จนกระทั่งในปี 2003 สหพันธ์ฟุตบอลเอกวาดอร์จะลงดาบเขาด้วยการถอนเขาออกจากการเป็นกรรมการฟุตบอลถาวร  เพราะชื่อโมเรโนกลายเป็นชื่อที่น่ารังเกียจในวงการฟุตบอลไปแล้ว เขาไม่ได้รับเลือกให้มีตำแหน่งทางการเมือง ไม่ได้มีงานตัดสินฟุตบอลให้ทำอีก และจุดต่ำสุดในชีวิตของเขาก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อเขายอมทำทุกอย่างเพื่อเงิน และที่น่าขบขันอย่างบัดซบที่สุดคือรายการทีวีในอิตาลีมองเห็นช่องทางทำเงินนี้จากตัวโมเรโน

โดยเขาได้ถูกเชิญให้กลับไปออกรายการตลกรายการหนึ่งของอิตาลี เขาเข้าร่วมรายการเกมโชว์ในฐานะตัวตลกที่ถูกคนในห้องส่งสบถใส่ไปจนถึงเอาถังน้ำคว่ำใส่หัว รวมทั้งไปปรากฏตัวตามเทศกาลต่าง ๆ และยอมให้ผู้คนปาไข่ใส่เขาเพื่อแลกกับเงินก้อน เขากลายเป็นคนที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อเงินโดยไม่อายไม่กลัวต่ออะไรทั้งสิ้น และจุดต่ำสุดในชีวิตของเขาก็เริ่มต้นเมื่อถูกจับกุมตัวในวันที่ 21 กันยายน 2010 ณ ท่าอากาศยานนานาชาติจอห์น เอฟ. เคนเนดี ขณะกำลังพยายามลักลอบนำเข้าเฮโรอีนน้ำหนัก 6 กิโลกรัมที่ซุกซ่อนอยู่ในกางเกงชั้นในภายในกระเป๋าสัมภาระของเขา อันเป็นผลให้ตัวเขาถูกส่งเข้าเรือนจำในที่สุด

โมเรโนพ้นโทษมาอีกทีในเดือนธันวาคมปี 2012 จบสิ้นชีวิตไอ้เสือร้าย ไม่มีอนาคตใด ๆ ในวงการฟุตบอลให้กับเขาอีกแม้กระทั่งการมาเป็นนักพากย์ฟุตบอลก็ตาม อีกทั้งเขายังคงถูกประณามด่าทอจากฝั่งนักฟุตบอล แฟนบอลชาวอิตาลีและประเทศอิตาลีไปตลอดกาล

The Most Disgrace Referee in Football History