
ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด รัฐควรจัดการอย่างไร
ประเทศไทยต้องเผชิญกับความท้าทายด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่องจากการพึ่งพาพลังงานนำเข้าเป็นหลัก ทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อวิกฤตพลังงานมาตั้งแต่อดีต ตัวอย่างหนึ่งคือวิกฤต "Oil Shock" ในทศวรรษ 1970 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจไทย จนรัฐบาลต้องออกมาตรการประหยัดพลังงานอย่างจริงจังเพื่อควบคุมสถานการณ์
ในปัจจุบันปัญหาพลังงานกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งเนื่องจากราคาน้ำมันพุ่งสูงจากหลายปัจจัย ทั้งความต้องการน้ำมันที่เพิ่มขึ้น สงครามในตะวันออกกลาง และความขัดแย้งระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ทำให้ทั่วโลกต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในตลาดพลังงาน เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจไทยถดถอยจากวิกฤตพลังงาน รัฐบาลไทยควรดำเนินมาตรการอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพและจัดการกับปัญหาในระยะยาว
1. ปัจจัยที่ผลักดันราคาน้ำมันในปัจจุบัน
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2567) (1) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนตุลาคมลดลง 2.36 ดอลลาร์หรือร้อยละ 3.11 ปิดที่ 73.55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนตุลาคมลดลง 1.14 ดอลลาร์หรือร้อยละ 1.43 ปิดที่ 78.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
การลดลงของราคาน้ำมันครั้งนี้มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย รวมถึงการผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากความกลัวว่าจะเกิดการขาดแคลนอุปทาน นอกจากนี้ความพยายามในการเจรจาและสร้างเสถียรภาพด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังช่วยลดความเสี่ยงที่อาจกระทบต่ออุปทานน้ำมันในระยะสั้น
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังคงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะระหว่างประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ เช่น รัสเซียและยูเครนเกิดรุนแรงขึ้นอีกครั้ง ราคาน้ำมันทั่วโลกอาจปรับตัวสูงขึ้นอีก
นอกจากนี้ปัจจัยด้านตลาด เช่น การจำกัดการผลิตจากกลุ่มประเทศโอเปกพลัส (OPEC+) หรือการหยุดชะงักของการผลิตน้ำมันที่ไม่คาดคิดก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันได้ในอนาคต และความต้องการน้ำมันที่ยังคงแข็งแกร่งโดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดียก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลกเช่นกัน
2. สถานการณ์และแนวโน้มราคาน้ำมันในประเทศไทย
ในประเทศไทยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน พ.ศ. 2567 อยู่ที่ 156.68 ล้านลิตรต่อวัน โดยมีการใช้เพิ่มขึ้นในกลุ่มน้ำมันดีเซล กลุ่มน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ และกลุ่ม LPG ขณะที่การใช้ในกลุ่มน้ำมันเบนซินกลุ่ม NGV และกลุ่มน้ำมันเตาลดลง (2)
ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไทยข้อมูล ณ วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2567 อยู่ที่ 32.94 บาทต่อลิตร (3) เพิ่มสูงขึ้นจากข้อมูล ณ วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2567 ที่ราคา 30.94 บาทต่อลิตรอยู่ถึง 2.00 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ราคาน้ำมันในประเทศไทยยังคงมีความผันผวนตามปัจจัยต่าง ๆ ในตลาดโลกและนโยบายภายในประเทศ
3. ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูง
น้ำมันถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญประการหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ และทุกครั้งที่ราคาน้ำมันมีความผันผวนโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้างหลายประการ เช่น
3.1 ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น
การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น เนื่องจากน้ำมันเป็นต้นทุนหลักในการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบต่าง ๆ นอกจากนี้สินค้าบางประเภท เช่น วัสดุก่อสร้าง ยังได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันโดยตรง ส่งผลให้ราคาสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
เมื่อราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ทำให้ยุโรปเผชิญกับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศในยุโรป
3.2 ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด
เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่จะผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้บริโภคผ่านการปรับราคาสินค้า นักวิชาการมองว่าเพดานราคาน้ำมันดีเซลไม่ควรเกิน 32 บาทต่อลิตรเพื่อป้องกันไม่ให้กำลังซื้อของประชาชนอ่อนแอลง อย่างไรก็ตามในอดีตรัฐบาลได้อุดหนุนราคาน้ำมันมากเกินไปจนกองทุนพลังงานติดลบทะลุเพดาน ทำให้เกิดความท้าทายในการจัดการราคาพลังงานอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ราคาค่าไฟฟ้าก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันผ่านค่า FT (Fuel Adjustment Tariff) ซึ่งเป็นผลจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจะเพิ่มขึ้นในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า หรือค่าสินค้าบริการพื้นฐาน
3.3 ซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวให้ยิ่งถดถอย
ประเทศไทยมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่แล้ว รวมถึงการขาดความน่าดึงดูดสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ล่าช้า ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งทำให้ประเทศไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession) ในอนาคต
นอกจากนี้ภาระหนี้ครัวเรือนและธุรกิจที่สูงก็ทำให้การปล่อยสินเชื่อและการลงทุนหดตัว รวมถึงการปรับค่าจ้างที่เร็วกว่าอัตราการเติบโตของผลิตภาพ (Productivity) ทำให้ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตามบางกลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการปรับเพิ่มราคาน้ำมัน เช่น ปั๊มน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และธุรกิจไบโอดีเซล/ไบโอฟิล กลุ่มธุรกิจเหล่านี้มักถูกวิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากมักไม่ปรับลดราคาตามทิศทางราคาน้ำมันโลก แม้ว่ารัฐบาลจะขอความร่วมมือ
ตัวอย่างเช่น ราคาดีเซลในประเทศไทยยังคงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย เมียนมา และเวียดนาม แม้กระทั่งกัมพูชาที่นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากประเทศไทยยังมีราคาน้ำมันที่ถูกกว่า ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาแนวทางเพื่อลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยให้ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในกรอบที่กำหนด
4. ข้อเสนอของผมต่อรัฐบาลในการรับมือกับปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น (4)
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น แม้จะมีความพยายามในการบริหารจัดการแต่ก็ยังมีช่องทางที่สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ ดังนั้นผมจึงขอเสนอแนวทางในการจัดการกับปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในปัจจุบันและเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ดังนี้
4.1 ปรับโครงสร้างการอุดหนุนราคาพลังงาน
การอุดหนุนราคาพลังงานเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและช่วยเหลือประชาชนในช่วงที่ราคาพลังงานโลกผันผวน แต่การอุดหนุนที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้กลไกตลาดบิดเบือน ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคไม่รับรู้ต้นทุนที่แท้จริงของพลังงาน ทำให้การพัฒนาผลิตภาพและการปรับตัวลดลง
การอุดหนุนที่มากเกินไปยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้น้ำมันอย่างสิ้นเปลือง ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มขึ้นและการนำเข้าพลังงานมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในระยะยาว
ดังนั้นควรปรับโครงสร้างการอุดหนุนให้สมดุล โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและพลังงานทางเลือกแทนที่จะอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง การปรับลดการอุดหนุนต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ
4.2 ใช้ปตท. เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงโครงสร้างราคาน้ำมัน
ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและถือครองส่วนแบ่งตลาดน้ำมันในประเทศไทยสูงสุดควรมีบทบาทในการควบคุมโครงสร้างราคาน้ำมันให้เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่น
รัฐบาลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของปตท.ควรมีข้อมูลโครงสร้างต้นทุนและใช้ข้อมูลนี้ในการกำหนดราคาหน้าโรงกลั่น ค่าการตลาด และค่าบริหารจัดการ เพื่อให้ราคาน้ำมันสอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงและไม่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้ผลิตพลังงานรายอื่น
4.3 เสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในประเทศ
การสร้างความมั่นคงทางพลังงานในประเทศเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะในยุคที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอน การลดการนำเข้าน้ำมันดิบและพึ่งพาพลังงานจากในประเทศมากขึ้นเป็นทิศทางที่ควรส่งเสริม
นอกจากนี้การลดการใช้พลังงานน้ำมันในกิจกรรมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม หันมาเน้นการพัฒนาจุดแกร่งของประเทศไทยให้เป็นเมืองหลวง 4 ด้าน (Thailand’s Niches) (5) รวมทั้งพัฒนาขนส่งมวลชนและพลังงานทางเลือกจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำมันโลกได้
ประเทศไทยควรพิจารณาโครงการที่เน้นความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น การค้าแบบแลกเปลี่ยนสินค้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงในช่วงวิกฤตได้
4.4 สร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ด้านพลังงานทางเลือก
ประเทศไทยควรส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกอย่างจริงจัง โดยการเปลี่ยนจากการพึ่งพาพลังงานน้ำมันไปสู่พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และไฮโดรเจน การสนับสนุนให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและการรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชนในราคาที่เป็นธรรมจะช่วยสร้างความยั่งยืนในระบบพลังงาน
การสร้างคลัสเตอร์พลังงานทางเลือกและเชื่อมโยงระบบการขนส่งพลังงานในระดับภูมิภาคจะช่วยดึงดูดการลงทุนด้าน Green Tech ซึ่งเป็นอนาคตของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสร้างโอกาสในการลงทุนมากขึ้น
ในท้ายที่สุด การรับมือกับปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นต้องอาศัยการวางแผนระยะยาวและการปรับปรุงเชิงโครงสร้างที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงาน การปรับโครงสร้างการอุดหนุน การใช้ปตท.เป็นเครื่องมือในการแทรกแซง เสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานในประเทศ และสร้างระบบนิเวศพลังงานทางเลือก เป็นแนวทางที่มีศักยภาพในการพัฒนาและเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต หากดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพรัฐบาลจะสามารถสร้างความยั่งยืนและลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาพลังงานได้อย่างมั่นคง
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(1) ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. (2567, 31 สิงหาคม). "ราคาน้ำมัน" ตลาดโลกปิดร่วง 2.36 ดอลล์ หลังโอเปกเล็งเพิ่มการกำลังผลิต. ฐานเศรษฐกิจ. https://www.thansettakij.com/sustainable/energy/605504
(2) ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. (2567, 2 สิงหาคม). สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบครึ่งปีแรกของปี 2567 (มกราคม – มิถุนายน). Electricity & Industry Magazine.
https://www.electricityandindustry.com/energy-data-visualization/
(3) ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. (2567, 2 กันยายน). ราคาน้ำมันวันนี้ (2 ก.ย. 67) เช็กราคาน้ำมันทุกชนิด ล่าสุด จาก ปตท. บางจาก เชลล์. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1142793
(4) เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2567). ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด รัฐควรจัดการอย่างไร. Facebook Live.
https://www.facebook.com/share/v/E29P21dUFzPCTChK/?mibextid=ZbWKwL
(5) เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2564). ประเทศไทย เมืองหลวงโลก 4 ด้าน. กรุงเทพธุรกิจ. https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/126811