Toy Stories เรื่องราวที่อยู่เหนือกาลเวลา : Scoop
ของเล่นไม่ใช่แค่สิ่งที่เด็ก ๆ เล่นเพื่อความสนุกสนาน แต่เป็นส่วนสำคัญที่หล่อหลอมพัฒนาการทางสังคม อารมณ์ และจินตนาการของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ของเล่นบางชิ้นยังมีความพิเศษคือ มันอยู่เหนือกาลเวลา เพราะไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหนมันก็ยังคงอยู่กับมนุษย์ไม่เสื่อมคลาย
MiX Magazine ฉบับที่ 198 เราจึงนำเสนอเรื่องราวของของเล่น ที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะของเล่นที่ได้รับความนิยมอย่าง ‘อาร์ตทอยส์ (Art Toys)’ ซึ่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย ทำให้เห็นว่าของเล่นมีบทบาทที่ไม่เพียงแค่สร้างความสุข แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการบอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ที่ไม่เคยสูญหายไปตามกาลเวลา
วิวัฒนาการของเล่นจากยุคโบราณสู่ยุคปัจจุบัน
‘ของเล่น (Toys)’ ถูกบัญญัติขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 14 นิยามเอาไว้ว่าคือสิ่งที่จับต้องได้และสร้างขึ้นมาเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน จรรโลงใจต่อผู้เล่น แม้ไม่อาจระบุแน่ชัดว่าของเล่นชิ้นแรกบนโลกอยู่ ณ แห่งหนใด แต่นักโบราณคดีได้สันนิษฐานไว้ว่าจุดกำเนิดของมันมีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งยาวนานกว่า 4,000 ปีเสียอีก
The Ancient Time : ‘ของเล่น’ แหล่งกำเนิดความบันเทิงของมนุษย์
ในอดีตของเล่นถือกำเนิดขึ้นมาจากสัญชาตญาณมนุษย์เพื่อเอาตัวรอดและใช้เรียนรู้ อย่างของเล่นในยุคโรมันที่มักมีลักษณะคล้ายกับอาวุธขนาดจิ๋ว อาทิ เกวียน รถม้า คันธนูและลูกศร เป็นต้น ซึ่งเดิมทีแล้วพวกผู้ใหญ่ได้ประดิษฐ์อาวุธย่อส่วนนี้ขึ้นให้เด็กผู้ชายใช้ฝึกฝนเพื่อการต่อสู้ตามประสานักรบโรมัน ส่วนในยุคกรีกโบราณเริ่มมีการปรากฏขึ้นของตุ๊กตาที่ทำจากไม้ ขี้ผึ้ง ดินเผา เรียกว่า ‘Plagones’ สร้างเลียนแบบรูปร่างของมนุษย์ สัตว์ สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อให้เด็กผู้หญิงได้เรียนรู้บทบาทหน้าที่ทางเพศในสังคม นอกจากนี้เจ้าแห่งอารยธรรมพันปีฝั่งเอเชียอย่างจีนก็มีการคิดค้นของเล่นประเทืองปัญญาอย่าง เกม 9 ห่วง (九连环) ที่นำทฤษฎีเรขาคณิตมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางสมองของเด็กและฝึกการแก้ไขปัญหาอีกด้วย ถึงจุดนี้เราจะสังเกตได้แล้วว่าแรกเริ่มสิ่งของเหล่านั้นมีไว้สำหรับสั่งสอนหรือเรียนรู้ แต่ผลพลอยได้กลับกลายเป็นความสนุกสนานที่ตามมานั่นเอง
The Middle Ages: ‘ของเล่น’ สัญลักษณ์ทางชนชั้นในยุคศิลปะและปัญญา
ช่วงยุคกลางการจะเสพศิลป์ได้ต้องถือว่ามีฐานะประมาณหนึ่ง เพราะไม่ใช่ทุกบ้านที่พร้อมยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อความบันเทิงใจอันถูกมองว่าฟุ่มเฟือย เด็ก ๆ จากครอบครัวที่มีฐานะนิยมเล่นตุ๊กตาประดับประดาด้วยผ้าเนื้อดี ปราสาทจำลองหรูหรา หุ่นกองทัพทหารและอัศวิน ซึ่งของเล่นเหล่านี้สามารถสร้างเสริมจินตนาการของพวกเขาได้ นอกจากความสวยงามที่มีมากแล้ว ยุคนี้ยังเริ่มเฟื่องฟูทางปัญญามากขึ้นด้วย ดังนั้นของเล่นบางอย่างจึงมีความซับซ้อนในการเล่นอย่างพวกหมากรุกหรือเกมกระดานต่าง ๆ แต่แน่นอนว่ามันถูกจำกัดไว้สำหรับกลุ่มคนรวยเท่านั้นที่จะเข้าถึงได้ เรียกว่าของเล่นยุคนี้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่บ่งบอกสถานะทางสังคมรวมถึงใช้แบ่งแยกชนชั้นไปโดยปริยาย
The Industrial Revolution And Modern Time: ปฏิวัติอุตสาหกรรม ‘ของเล่น’ ยุคใหม่
ภายหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ของเล่นกลายเป็นสินค้าที่เข้าสู่กระบวนการผลิตในโรงงานซึ่งสามารถผลิตออกมาได้ทีละเยอะ ๆ จนขยายตลาดการขายไปทั่วโลก อีกทั้งด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้ามากขึ้นก็ได้ส่งผลหลายอย่างกับของเล่นในยุคนี้ อย่างการที่ของเล่นมีราคาถูกลงและเข้าถึงได้แทบทุกชนชั้นเพราะถูกสร้างจากพลาสติก รวมถึงของเล่นดัง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กตาบาร์บี้ (Barbie), ตุ๊กตาหมีเท็ดดี้ (Teddy Bear) และการเปิดตัวของ จักรวาลดิสนีย์ (Disney) กับ จักรวาลซานริโอ้ (Sanrio) ยังก่อให้เกิดของเล่นซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเหล่าตัวการ์ตูนตามมา ไม่เพียงเท่านั้นวิทยาศาสตร์ได้นำพามาด้วยของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่มีการใช้แบตเตอรี่ รีโมตคอนโทรล และหุ่นยนต์อันกลายเป็นของเล่นคลาสสิกจนถึงปัจจุบันอีกด้วย
The Globalization Time: ยุคทอง ‘ของเล่น’ ไม่สิ้นสุด
ในยุคโลกาภิวัตน์ โลกไร้พรมแดนที่มนุษย์เข้าสู่ความเป็นสากลมากขึ้น ของเล่นทั่วโลกเริ่มพัฒนาไปไกลทั้งสีสันที่สดใส ดีไซน์ที่สวยงาม รวมถึงฟังก์ชันที่มีความน่าสนใจจนทำให้การเล่นของเล่นในแบบเก่า ๆ เปลี่ยนแปลงไปและเพิ่มมูลค่ามากขึ้นกว่าเดิม ตลาดของเล่นขยายใหญ่อย่างรวดเร็ว แต่ละบริษัทพยายามแข่งขันกันผลิตของเล่นโดยใส่เทคนิคสร้างสรรค์ความสนุกรูปแบบใหม่เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำในตลาด ทว่าราคาก็พุ่งสูงขึ้นไปมากเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามกลุ่มเป้าหมายในยุคนี้ไม่ได้จำกัดเพียงแค่เด็กและครอบครัวอย่างวันวาน เพราะวัยรุ่นรวมถึงผู้ใหญ่เองยังตกเป็นทาสการตลาดของเล่นที่สุดแสนจะครีเอตในยุคสมัยนี้ด้วย ดังนั้นบทบาทของเล่นในปัจจุบันนอกจากมีไว้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กในรูปแบบความบันเทิงชนิดหนึ่งแล้ว มันยังอยู่ในรูปแบบของสะสมที่มีคุณค่าทางจิตใจไปโดยปริยาย อย่างที่เราจะเห็นสิ่งที่เรียกกันว่า ‘อาร์ตทอยส์ (Art Toys)’ ถือกำเนิดขึ้นมาและได้รับความนิยมอย่างรุนแรงชนิดที่ว่าแย่งกันครอบครองแทบไม่ทันเลยทีเดียวแม้ว่าจะมีราคาสูงลิบลิ่ว ซึ่งอาร์ตทอยส์คือตัวอย่างของวิวัฒนาการของเล่นที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันและทำให้การตีความคำว่า ‘ของเล่น (Toys)’ นั้นแตกต่างออกไปจากในอดีตจนสร้างข้อถกเถียงกับสังคมอยู่ไม่น้อย แต่ด้วยปรากฏการณ์นี้เองก็ทำให้น่าติดตามต่อไปว่าอนาคตวิวัฒนาการของเล่นจะมุ่งสู่ทิศทางใดได้อีกบ้าง
ความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ‘ของเล่น’
เชื่อหรือไม่ว่าของเล่นนั้นเปรียบเสมือนตัวแทนและสัญลักษณ์ของวัยเยาว์ โดยเราอยากจะยกตัวอย่างเรื่องราวของ
ในประเทศเกาหลีใต้สักหน่อย ขณะที่เด็กน้อยอายุครบ 1 ขวบปี ครอบครัวจะนำเอาของเล่นหรือวัตถุต่าง ๆ มาวางเรียงไว้ให้เลือกหยิบ เพราะมีความเชื่อว่าสิ่งที่เด็กน้อยเลือกคือตัวบ่งชี้อนาคตของเขาเอง เช่น หยิบดินสอสีโตไปอาจได้เป็นศิลปิน หยิบลูกบอลโตไปอาจได้เป็นนักกีฬา หยิบเครื่องครัวของเล่นโตไปอาจได้เป็นเชฟ หยิบดาบจิ๋วโตไปอาจได้เป็นทหารหรือตำรวจ เป็นต้น ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการตีความหมายจากความสนใจของมนุษย์อันซ่อนอยู่ภายใต้วัตถุของเล่น
ไม่เพียงเท่านั้น ของเล่นยังส่งผลต่อความรู้สึกของมนุษย์ในทุกช่วงวัยด้วย โดยเมื่อปีค.ศ. 2011 ได้มีงานวิจัยหนึ่งของนักศึกษาชาวสิงคโปร์ระบุไว้ว่าตุ๊กตาหมีเปรียบเสมือนพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ของผู้ได้ครอบครองมัน เนื่องจากรูปลักษณ์ กลิ่น และสัมผัสของมันสามารถเชื่อมโยงกับความผูกพันทางอารมณ์ ทำให้ระดับคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดลดลงได้ การกอดตุ๊กตาหรือของเล่นชิ้นโปรดใด ๆ จึงเทียบได้กับการโอบกอดใครสักคนที่ไว้ใจนั่นเอง
ดังนั้นมนุษย์เราจึงมักมองของเล่นในวัยเด็กว่าเป็นเพื่อนคู่ใจที่ช่วยปลอบประโลมยามต้องเผชิญหน้ากับความทรหดในวัยผู้ใหญ่อันไม่อาจหลีกเลี่ยงไปโดยปริยาย
“ไม่มีคำว่าโตเกินไปสำหรับของเล่น” วลีแทนภาพความผูกพันระหว่างผู้คนกับของเล่นในยุคนี้ที่แปรเปลี่ยนกลายเป็นของสะสมสำหรับผู้ใหญ่อันมีมูลค่าเกินกว่าเด็กจะเอื้อมถึง กิจกรรมสะสมของเล่นหรือตุ๊กตาหายากต่าง ๆ ได้กลายเป็นเทรนด์ฮิตขึ้นมา ซึ่งแท้จริงแล้วสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความสนุกสนานของการได้ครอบครองนั้นคือช่องว่างทางใจในวัยเด็กที่ไม่อาจเติมเต็มจนกระทั่งเติบใหญ่ สำหรับพวกเขาของเล่นคือสิ่งที่สามารถกระตุ้นความทรงจำเชิงบวกอันเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ความสบายใจ และความเรียบง่ายอันชวนให้หวนนึกถึงได้เสมอ นี่คือความสำคัญที่ซ่อนอยู่ภายใต้ของเล่น
เราทุกคนล้วนผ่านช่วงเวลาอันแสนสุขกับของเล่นชิ้นโปรดกันมาทั้งนั้น กระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วความรู้สึกผูกพันทางอารมณ์ที่มีต่อของเล่นวัยเด็กก็ยังคงไม่จางหายไป มีอยู่หลายครั้งที่ของเล่นนั้นซ่อนความหมายเอาไว้ภายใต้วัตถุไร้ชีวิต แต่แม้ว่ามันจะไร้ชีวิต ทว่ากลับมีความสำคัญต่อชีวิตจริงของใครหลายต่อหลายคน เปรียบดั่งสายสัมพันธ์ที่อบอุ่นเหนือกาลเวลา
ของเล่น เครื่องมือพัฒนาศักยภาพเด็กสู่อนาคต
หากลองสังเกตดูจะเห็นว่ามนุษย์ในยุคหลังที่เกิดมาช่วงวัยเด็ก สิ่งที่ขาดไม่ได้คือของเล่น โดยข้อมูลจาก UNICEF ได้พูดถึงข้อดีของของเล่นต่อพัฒนาการเด็กว่าช่วยกระตุ้นการเรียนรู้และพัฒนาสมอง ส่งเสริมทักษะการเคลื่อนไหวและประสานงาน พัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ช่วยในการเรียนรู้ภาษาและการสื่อสาร ซึ่งที่ UNICEF กล่าวมาทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นข้อเท็จจริงทั้งสิ้น
เหตุผลสำคัญที่เด็กต้องมีของเล่น คือเรื่องของกระบวนการตอบสนองตามสัญชาตญาณของเด็ก ความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการส่วนสำคัญในการพัฒนาทักษะการคิดและการแก้ปัญหาเมื่อเติบโตขึ้นในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการฝึกฝนทักษะทางกายภาพ เช่น การประสานงานระหว่างมือและตา การทรงตัวและการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับพัฒนาการในด้านอื่น ๆ ต่อไป
ของเล่นยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสติปัญญา อารมณ์ และสังคมของเด็ก ในด้านสติปัญญาของเล่นช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และความจำ เช่น การต่อจิ๊กซอว์ช่วยฝึกการคิดเชิงตรรกะและการมองภาพรวม ขณะที่การเล่นบล็อกไม้ช่วยพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับมิติและความสัมพันธ์เชิงพื้นที่
ของเล่นส่งผลต่ออารมณ์ของเด็กโดยตรง เช่น การเล่นกับตุ๊กตา เด็กจะมีแนวโน้มการพูดคุย การดูแลและเอาใจใส่ผู้อื่น ซึ่งเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความเห็นอกเห็นใจในอนาคตได้ ส่วนด้านสังคม บางครั้งการเล่นของเล่นนั้นทำให้ได้เจอเพื่อน จึงช่วยส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มีการแบ่งปันและการทำงานร่วมกันเป็นทีม
การเลือกของเล่นจึงมีส่วนสำคัญต่อผลกระทบทางจิตวิทยา เช่น เลือกของเล่นแนวต่อสู้ ใช้กำลัง หรือส่งเสริมความรุนแรง จะมีผลต่อพัฒนาการของเด็กส่งผลต่อเนื่องไปถึงวัยผู้ใหญ่ การเล่นของเล่นแนวสร้างสรรค์จะช่วยพัฒนาทักษะการคิด การแก้ปัญหาในสถานการณ์จำลอง เป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการทำงานและการดำเนินชีวิตในวัยผู้ใหญ่ต่อไป
ของเล่นไม่เพียงแต่เป็นแหล่งความบันเทิงสำหรับเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะรอบด้านที่จำเป็นสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ การเลือกของเล่นที่เหมาะสมและการส่งเสริมให้เด็กได้เล่นอย่างสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กควรให้ความใส่ใจ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการส่งเสริมทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพด้วยนั่นเอง
ของเล่นอมตะที่อยู่มาทุกยุคสมัย
- ตุ๊กตาบาร์บี้ (Barbie) เป็นของเล่นยอดนิยมมากว่า 60 ปี ความสำเร็จของบาร์บี้มาจากการปรับตัวให้สอดคล้องกับค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยนำเสนอตุ๊กตาที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในแง่ของเชื้อชาติ รูปร่าง และอาชีพ
- เลโก้ (LEGO) เริ่มต้นจากธุรกิจร้านขายของเล่นสัญชาติเดนมาร์กที่มีอายุกว่า 90 ปี ด้วยความเรียบง่ายของบล็อกที่สามารถต่อกันได้อย่างไม่มีสิ้นสุด เลโก้จึงช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และทักษะการแก้ปัญหา นอกจากนี้ เลโก้ยังปรับตัวให้ทันสมัยด้วยการออกชุดใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความสนใจของเด็กในแต่ละยุคด้วย
- ดินน้ำมัน เป็นของเล่นสำหรับเด็กที่ช่วยพัฒนาการทางสมองและกล้ามเนื้อมือ สามารถปั้นตามรูปทรงได้ตามที่ต้องการ แม้ว่าดินน้ำมันจะเป็นของเล่นพื้นฐานของเด็กที่ปลอดภัยแต่ก็ยังมีส่วนผสมที่เป็นเคมีอยู่บ้าง ในช่วงหลังจึงนิยมทำแป้งโดให้เด็กเล่นแทนดินน้ำมันซึ่งมันทำมาจากแป้งสาลีที่ใช้ทำขนมนั่นเอง
- ของเล่นไม้สำหรับเด็ก ของเล่นบล็อกและตัวต่อช่วยพัฒนาการการเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และส่งเสริมให้เล่นอย่างอิสระ ที่สำคัญคือทำมาจากไม้ซึ่งปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างสำหรับเด็กร้อยเปอร์เซ็นต์
อาร์ตทอยส์ (Art Toys) ศิลปะร่วมสมัยในโลกของเล่น
ปัจจุบันกระแสการสะสมของเล่นกำลังมาแรงมาก มีการผลิตของเล่นเฉพาะกลุ่มที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับของเล่นที่ผ่านการออกแบบมาจากศิลปินชื่อดังและผลิตออกมาในจำนวนจำกัด มักเป็นที่ต้องการของนักสะสมโดยไม่เกี่ยงราคา
‘ดีไซเนอร์ทอยส์ (Designer Toys)’ ชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันมานานในวงการของเล่น ในภายหลังได้มีการตั้งชื่อใหม่โดยคุณจูเนียร์ วัชร วัชรพล ให้เป็น ‘อาร์ตทอยส์ (Art Toys)’ (ตามคำบอกเล่าของคุณจิ๊บ พงศธร ธรรมวัฒนะ) จากนั้นเป็นต้นมาคำนี้ก็ถูกใช้แพร่หลายจนถึงปัจจุบัน
‘ดีไซเนอร์ทอยส์’ หรือ ‘อาร์ตทอยส์’ เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 โดยศิลปิน ‘เรย์มอนด์ ชอย’ ชาวฮ่องกง เขาสร้างผลงานชุดที่มีชื่อว่า ‘Qee (คี)’ ซึ่งทำออกมาคล้ายตัวต่อของเลโก้ โดยงานจะมีลักษณะตัวเป็นคนและหัวเป็นสารพัดสัตว์ จากนั้นอีกไม่กี่ปี ‘ไมเคิล หลิว (Michael Lau)’ ก็ได้แสดงงานของตัวเองในชื่อ ‘Gardeners’ อันได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง ‘จี.ไอ.โจ (G.I. Joe)’ โดยปรับแต่งตุ๊กตาทหารให้รับวัฒนธรรมสเก็ตบอร์ดและฮิปฮอปมาเป็นนักเล่นสเก็ตบอร์ด ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากในหมู่นักสะสม
จากจุดเริ่มต้นนี้ แนวคิดของ ‘อาร์ตทอยส์’ จึงได้แพร่กระจายไปทั่วเอเชียและต่อมาก็ลามไปถึงตะวันตก โดย ‘Kidrobot’ ได้เปิดตัว Vinyl Toys หน้ากระต่ายอย่าง ‘Dunny Series’ ออกมา และบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ‘Medicom Toys’ ได้ผลิต ‘BE@RBRICK’ ตุ๊กตาหมีของเล่นเน้นแต่งบ้านที่มีมูลค่าสูงมากในปัจจุบัน
เมื่อสิ่งที่ผลิตออกมามีมูลค่าและได้รับความนิยมสูงจากนักสะสม เหล่าบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการ ‘อาร์ตทอยส์’ ก็กระโดดเข้าร่วมวงเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ศิลปินมืออาชีพ มือสมัครเล่น บริษัทผู้ผลิตของเล่นรายเล็กรายใหญ่ ผลิตของเล่นออกมาหลายคอลเล็กชันทั้งกล่องสุ่มหรือแม้แต่แบบลิมิเต็ด สร้างกระแสให้กับสังคมอยู่พักใหญ่
ความแตกต่างของ ‘อาร์ตทอยส์’ กับของเล่นปกติ อย่างแรกคือการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์จากศิลปิน ไม่เหมือนกับตุ๊กตาหรือฟิกเกอร์ทั่วไปที่มักยึดติดกับลักษณะของตัวละครต้นแบบ วัสดุและกระบวนการผลิตมีความหลากหลายมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนกว่าของเล่นทั่วไป บางชิ้นทำด้วยมือทั้งหมด อาร์ตทอยส์มักสื่อความหมายหรือแนวคิดบางอย่าง บางครั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมหรือวัฒนธรรมป๊อป ในส่วนการผลิตมักมีจำนวนจำกัด บางครั้งเป็นชิ้นเดียวในโลกทำให้มีความพิเศษและมีมูลค่าสูง แต่ช่วงหลังบริษัทที่ถือลิขสิทธิ์เห็นถึงความนิยมจึงผลิตสินค้าจำนวนมากออกมาพอสมควร
‘อาร์ตทอยส์’ เป็นรูปแบบของศิลปะร่วมสมัยที่ผสมผสานระหว่างงานศิลปะและของเล่น สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมป๊อปและงานศิลปะในยุคปัจจุบัน ด้วยความหลากหลายและความคิดสร้างสรรค์จึงโดนใจนักสะสมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในประเทศไทยและทั่วโลก
ศิลปินที่มีชื่อเสียงในวงการ ‘อาร์ตทอยส์’
KAWS (Brian Donnelly) ศิลปินชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงจากการสร้างตัวละคร ‘Companion’ซึ่งมีตาเป็นรูปกากบาท KAWS ได้ร่วมงานกับแบรนด์ดังมากมายและผลงานของเขายังมีมูลค่าสูงในตลาดศิลปะ
Frank Kozik ศิลปินชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงจากการออกแบบโปสเตอร์คอนเสิร์ตร็อก เขาได้สร้าง ‘Labbit’ ซึ่งเป็นกระต่ายที่มีลักษณะเฉพาะตัว
Takashi Murakami ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่มีสไตล์การวาดภาพแบบ Superflat เขาได้สร้างตัวละครในผลงานศิลปะของเขา เช่น ดอกไม้ยิ้ม (ดอกมุราคามิ) และ Mr. DOB
Coarse (Mark Landwehr และ Sven Waschk) คู่หูศิลปินชาวเยอรมันที่มักมีธีมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ ซึ่งเขาได้ออกแบบ ‘น้องควาย’ ที่สื่อถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาแล้ว
อาร์ตทอยส์ (Art Toys) แฟชั่นชั่วคราวหรือกระแสหลัก
ณ ร้านขายของเล่นแห่งหนึ่งมีผู้คนจำนวนมากยืนอออยู่ตรงทางเข้า เมื่อประตูถูกเปิดออกผู้คนต่างพุ่งตัวอย่างรวดเร็ว วิ่งเข้ามาเลือกของเล่นที่ตัวเองต้องการ ภาพนี้สร้างความงวยงงให้กับผู้ที่อยู่นอกวงการของเล่นว่านี่คืออะไร แต่สำหรับคนที่อยู่ในวงการของเล่นมันคือภาพที่ชินตาสำหรับแฟนพันธุ์แท้ อาร์ตทอยส์ (Art Toys) ที่ต้องการของลิมิเต็ดจากศิลปินชื่อดังนั่นเอง
การเติบโตของวงการของเล่นโดยเฉพาะอาร์ตทอยส์ เริ่มตั้งแต่เปิดพื้นที่ให้ศิลปินทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นได้แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในการออกแบบและการผลิต สร้างชุมชนของนักสะสมของเล่น รวมถึงเรียนรู้กระบวนการทางความคิดที่ศิลปินได้สื่อออกมาจากผลงาน ที่สำคัญมันมีมูลค่าสร้างรายได้ให้กับบริษัทผู้ผลิตและศิลปินมาอย่างต่อเนื่อง
การซื้อขายของเล่นเป็นกิจกรรมที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ‘อาร์ตทอยส์’ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมของเล่น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภควัยผู้ใหญ่หรือชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูง ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเป็นเงินมหาศาล
แต่ในทางกลับกันเมื่อ ‘อาร์ตทอยส์’ มีมูลค่าสูง บริษัทเห็นถึงกำไรตรงนี้จึงผลิตออกมาในปริมาณที่อาจจะมากเกินไป วันหนึ่งเมื่อถึงจุดอิ่มตัวจากราคาที่สูง คนอาจแห่เทขายของเล่นบางชิ้นออกมา ปรากฏการณ์การปั่นราคา ‘อาร์ตทอยส์’ นี้เองทำให้ราคาสูงเกินจริงและอาจนำไปสู่ฟองสบู่ทางการเงินได้
ปัญหาสำคัญของวงการของเล่นคือผู้ผลิตบางรายใช้วิธีการขายแบบกล่องสุ่ม (Blind Box) ซึ่งอาจเข้าข่ายการพนันและส่งผลเสียต่อเยาวชน กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการซื้อซ้ำเพื่อให้ได้ของที่ต้องการ โดยผู้ซื้อที่ไม่เห็นของข้างในมาก่อน หากไม่ได้ของที่ตัวเองต้องการทำให้ต้องเสียเงินเพิ่มไปเรื่อย ๆ วิธีผลักดันการขายแบบกล่องสุ่มถือเป็นเทคนิคการขายที่เน้นเอาผลลัพธ์ด้านกำไร แต่กลายเป็นว่าลดทอนคุณค่าทางศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ของ ‘อาร์ตทอยส์’ ลงไปด้วย
ต้องยอมรับว่า ‘อาร์ตทอยส์’ ได้สร้างมิติใหม่ให้กับวงการของเล่นและศิลปะ แม้จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ปรากฏการณ์นี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมการบริโภคและการแสดงออกทางศิลปะในยุคใหม่ระหว่างคุณค่าทางศิลปะและมูลค่าทางการตลาดนั่นเอง
กระแสความนิยม ‘อาร์ตทอยส์’ อาจเป็นเพียงแฟชั่นชั่วคราว หากบริษัทที่ผลิตของเล่นออกมามากเกินจำนวนเพียงแค่เล็งเห็นผลกำไรซึ่งอาจทำลายตลาดที่ตัวเองอาศัยอยู่ในเวลาไม่นาน ลูกโซ่นี้ส่งผลกระทบต่อศิลปินและนักสะสมในระยะยาว เหมือนสัจธรรมของโลกที่มีวงจรเกิดและดับ อันเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ที่อยู่ในวงการ ‘อาร์ตทอยส์’ ว่าควรจะปรับตัวอย่างไร