เกียรติระบบ : Honor System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ

เกียรติระบบ : Honor System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ

 

คำพูดบอกเรื่องตัวเรา สิ่งที่เราพูดเรื่องตัวเรา บอกว่าเราคิดว่าเราเป็นคนเช่นไร สิ่งที่เราพูดเรื่องคนอื่น บอกว่าเราเป็นคนเช่นไร - ดร.แดน แคนดู

คำพูดดังกล่าวนี้ผมนำเสนอเป็นอินโฟกราฟิก (Info Graphic) เพื่อให้ข้อคิดกับสังคม

การให้เกียรติคือสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม มนุษย์โดยทั่วไปชอบการได้รับเกียรติ ไม่ชอบการถูกดูหมิ่น

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 (พจนานุกรม, 2554) นิยาม “เกียรติ” ไว้ว่า “น. ชื่อเสียง, ความยกย่องนับถือ, ความมีหน้ามีตา” สังคมที่มีการให้เกียรติกันและกันอย่างเหมาะสมสะท้อนความมีอารยะหรือการมีความเจริญงอกงามในสังคม

ตลอดประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์มีระบบเกียรติ (Honor System) มาโดยตลอด เช่น การจัดชนชั้นทางสังคมที่แบ่งเป็นชนชั้นปกครองกับชนชั้นผู้ถูกปกครอง การแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณให้เกียรติพ่อแม่ การยกย่องให้เกียรติครูบาอาจารย์ เป็นต้น แม้สังคมจะยอมรับการมีระบบเกียรติ แต่โดยทั่วไปยังมีการหลู่เกียรติ ทอนเกียรติ และตู่เกียรติผ่านการแสดงออกลักษณะต่าง ๆ ของคนในสังคม อย่างการดูหมิ่นทางชนชั้น การไม่ให้หรือทำลายเครดิตกันและกัน

  กรณีของประเทศไทย ผมวิเคราะห์ว่าเป็นสังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ และตู่เกียรติ ดังนี้

ให้เกียรติ แสดงออกเป็นการยอมรับในความดี ความรู้ ความสามารถ คุณลักษณะชีวิตของบุคคล เช่น การให้อยู่ในตำแหน่งสำคัญ การให้เป็นที่ปรึกษา เป็นต้น รวมถึงการยกย่องให้ความสำคัญ ทำให้มีชื่อเสียง สะท้อนผ่านทางคำพูดและการกระทำ เช่น การให้รางวัลในสังคม การยกย่องเชิดชูบุคคลสำคัญ การพูดถึงความเก่ง ความรู้ ความสามารถ ความดีของผู้อื่นในที่สาธารณะ เป็นต้น

หลู่เกียรติ แสดงออกเป็นการดูหมิ่นผู้อื่น เช่น ลูกดูถูกพ่อแม่แก่ชรา การดูถูกคนอื่นว่าการศึกษาน้อยหรือไม่มีการศึกษา การส่งตัวแทนไม่เหมาะสมเข้าร่วมงาน การแต่งตัวไม่เหมาะสมกับงานหรือไม่ตามธีม การสวมใส่ชุดลำลองในงานทางการ เป็นต้น รวมถึงการทำให้อับอายรู้สึกขายหน้า เปิดเผยความผิดหรือความบกพร่องของผู้อื่นในที่สาธารณะ

ทอนเกียรติ แสดงออกเป็นการปฏิบัติไม่สมเกียรติหรือน้อยกว่าที่บุคคลควรจะได้รับ ถือเป็นการลดทอนเกียรติของผู้อื่น เช่น การใส่ตำแหน่งผิดหรือต่ำกว่าตำแหน่งจริง การปฏิบัติไม่เหมาะสมกับฐานะหรือน้อยกว่าฐานะ เป็นต้น การทอนเกียรติแง่หนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับในความดี ความรู้ ความสามารถหรือคุณลักษณะชีวิตของบุคคลด้วยเช่นเดียวกัน อย่างการที่ลูกสมัยใหม่มองพ่อแม่ว่าเลี้ยงดูตนเองตามหน้าที่

ตู่เกียรติ แสดงออกเป็นการแย่งผลงานและไม่ให้เครดิตผลงาน เช่น ในที่ทำงานหัวหน้าแย่งเครดิตลูกน้อง ลูกน้องแย่งเกียรติหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน การแย่งผลงานทางการเมือง พรรคการเมืองลอกนโยบายกัน บนโซเชียลมีเดีย โพสต์บทความโดยไม่ให้เครดิต ในวงการเพลไม่ให้เครดิตเหมาะสมแก่ผู้ที่ทำงานร่วมกับตนหรือนำเพลงผู้อื่นมาร้องจนคนคิดว่าเป็นเพลงของตน แวดวงวิชาการคัดลอกผลงานทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผลงานหรือความคิดของตน สร้างภาพทำให้ผู้อื่นเห็นเหมือนว่าทำจริง เป็นต้น

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีทั้งให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ และตู่เกียรติ ดังนั้นการจะพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมศิวิไลซ์ สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือต้องพัฒนาคนไทยให้มีการให้เกียรติกันและกันอย่างเหมาะสม

สังคมหลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ ทำให้เกิดผลเสียอย่างไร?

  สังคมที่คนไม่ให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติส่งผลเสียหลายประการ ดังนี้

ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจลดลง เมื่อคนในสังคมไม่ให้เกียรติกัน ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจระหว่างบุคคลจะลดลง ทำให้ยากต่อการสร้างความร่วมมือและความสามัคคีในชุมชนหรือองค์กร เช่น หัวหน้างานแย่งเครดิตผลงานลูกน้อง ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างลูกน้องและหัวหน้างาน เป็นต้น

ความขัดแย้งและความรุนแรงเพิ่มขึ้น การที่คนไม่ให้เกียรติกันสามารถทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น จนบางครั้งอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาแทนที่จะใช้การสื่อสารที่สร้างสรรค์ เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งต่าง ๆ ในสังคม การใช้คำพูดก้าวร้าว ยั่วยุอีกฝ่ายทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น เป็นต้น

ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ในองค์กรหรือที่ทำงาน การไม่ให้เกียรติกันสามารถทำให้เกิดความเครียดและความไม่พอใจในการทำงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงและเกิดบรรยากาศที่ไม่ดีในการทำงานร่วมกัน เช่น หัวหน้างานดุด่าว่ากล่าวลูกน้องต่อหน้าพนักงานคนอื่นเป็นประจำ สั่งสมความรู้สึกไม่พอใจและทำให้ลูกน้องไม่ให้ความร่วมมือ เป็นต้น

ความรู้สึกมีคุณค่าน้อยลง กรณีคนที่ถูกหลู่เกียรติหรือทอนเกียรติ บางคนจะรู้สึกมีคุณค่าต่ำและสูญเสียความภาคภูมิใจในตนเอง จนทำให้มีผลต่อสุขภาพจิต บุคลิกภาพ และพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น เด็กถูกบูลลี่ ไม่อยากไปโรงเรียน ปลีกตัวจากสังคม บางคนคิดฆ่าตัวตาย เป็นต้น

การขาดการพัฒนาและความคิดสร้างสรรค์ สังคมที่คนไม่ให้เกียรติกันมักไม่ส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและสร้างสรรค์ซึ่งจะทำให้การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ช้าลงหรือหยุดชะงัก เช่น ทำให้เกิดบรรยากาศเป็นพิษ (Toxic) ในที่ทำงาน พนักงานหมดไฟ ขาดกำลังใจในการทำงาน เป็นต้น

การลดความสามารถในการแข่งขัน เมื่อสังคมหรือองค์กรไม่สามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ จะทำให้ขาดความสามารถในการแข่งขันในระดับประเทศหรือระดับโลก อย่างเช่น ทำให้เกิดบรรยากาศในสังคมที่คนไม่กล้าริเริ่มสิ่งใหม่

การไม่ให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรตินั้นส่งผลกระทบมากกว่าระดับปัจเจกบุคคล เพราะยังมีผลต่อทั้งชุมชนและสังคมการอยู่ร่วมกันด้วย

การสร้างสังคมที่ให้เกียรติกันทำได้อย่างไร

การสร้างสังคมที่ให้เกียรติกันต้องการการแก้ไขอย่างรอบด้าน ตั้งแต่การศึกษา การเลี้ยงดู ไปจนถึงการพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อสารในระดับบุคคลและสังคมโดยรวม เช่น

ส่งเสริมค่านิยมการให้เกียรติ มองเห็นสิ่งดีในตนเอง มองเห็นสิ่งดีในผู้อื่น ทำให้ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างให้เกียรติ แบ่งชนชั้นด้วยความดี ยกย่องคนทำดี (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2555) สร้างความตระหนักว่าทุกคนมีเอกลักษณ์และมีอัตลักษณ์ มีค่านิยมพูดสิ่งดีของผู้อื่นในที่สาธารณะ ไม่ทำให้ผู้อื่นรู้สึกอับอาย

บ้านสามหลังเป็นแบบอย่าง เริ่มต้นจากบ้านสามหลัง (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2560) เป็นแบบอย่างทำให้ดู บ้านหลังที่หนึ่ง สามีภรรยาให้เกียรติกัน ลูกให้เกียรติพ่อแม่ บ้านหลังที่สอง ลูกศิษย์ให้เกียรติครูบาอาจารย์ ลูกน้องให้เกียรติหัวหน้างาน บ้านหลังที่สาม ลูกบ้านให้เกียรติผู้นำ ผู้ปกครองบ้านเมือง

สร้างบรรทัดฐานการปฏิบัติต่อกัน ทุกความสัมพันธ์กำหนดลักษณะพฤติกรรมพึงประสงค์ให้เกียรติกันและกันปลูกฝังในบ้านทุกหลังตั้งแต่ครอบครัว สถาบันการศึกษา ที่ทำงานและสังคมส่วนรวม เช่น การเป็นสามีที่ดี การเป็นภรรยาที่ดี การเป็นลูกที่ดี การเป็นพี่น้องที่ดี การเป็นญาติที่ดี การเป็นนักเรียน นักศึกษา ลูกศิษย์ที่ดี เป็นต้น

ระบบเกียรติหรือการให้เกียรติเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการส่งเสริมความเจริญงอกงามของสังคม ด้วยการส่งเสริมให้ทุกคนในสังคมให้เกียรติกันและกันอย่างเหมาะสม ทำสังคมให้เป็นสังคมที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

เอกสารอ้างอิง

เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (2555). ชาวอารยะ: ชาวศิวิไลซ์ที่ใฝ่หา. กรุงเทพฯ: ซัคเซส

มีเดีย.

________. (2560). คนกล้าสร้างได้ : โมเดลบ้านสามหลัง. กรุงเทพฯ : ซัคเซส มีเดีย.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. (ม.ป.ป.). เกียรติ. สืบค้นเมื่อ 13

กรกฎาคม 2567, จาก https://dictionary.orst.go.th/

คำพูดบอกเรื่องตัวเรา สิ่งที่เราพูดเรื่องตัวเรา บอกว่าเราคิดว่าเราเป็นคนเช่นไร สิ่งที่เราพูดเรื่องคนอื่น บอกว่าเราเป็นคนเช่นไร ดร.แดน แคนดู