โดดเดี่ยว แต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ 47 นรกกัมพูชา
หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ผ่านไป บ้านเมืองก็ดูจะมีระเบียบเรียบร้อย ประชาชนได้รัฐบาลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือมี “
นายสัญญา ธรรมศักดิ์” เป็นนายกรัฐมนตรี
ในช่วงระยะเวลานี้ ฉันได้รับการติดต่อจากผู้ที่อ้างว่าเป็นญาติของ “นายควง อภัยวงศ์” อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขาอ้างว่าติดตามงานของฉันมาตั้งแต่ครั้งทำงานอยู่ที่นสพ.พิมพ์ไทย มีความใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์สมัย “มรว.เสนีย์ ปราโมช” เป็นหัวหน้าพรรค ประกอบกับเขารู้จักญาติคนหนึ่งของนายควง อภัยวงศ์ที่ฉันรู้จักมาก่อนคือ “นายชวลิต อภัยวงศ์” ชวนฉันให้ไปทำข่าวสงครามในเขมร
ในตอนแรกฉันไม่ได้เชื่ออะไรกับเขามากนักเพราะไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เขาว่าให้สอบถามประวัติของเขากับ “คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์” ภรรยาของนายควง อภัยวงศ์ได้ ซึ่งก็ได้รับการยืนว่าเขาเป็นเชื้อสาย "เจ้าพระยาอภัยภูเบศร” ที่เคยเป็นเจ้าเมืองพระตะบองในสมัยรัชกาลที่ 5 จริง
ฉันจึงนำเรื่องไปทำข่าวในประเทศนี้บอกกับหัวหน้ากองบรรณาธิการ “คุณสมิต มนัสฤดี”
“คุณกล้าไปทำข่าวสงครามในเขมรหรือ มันอันตรายนะ” ท่านถาม
เมื่อฉันยืนยันว่าต้องการไปทำข่าวสงครามจริง เพราะฉันเคยทำข่าวสงครามเวียดนามมาแล้วตั้งแต่สมัยทำงานอยู่ที่นสพ. พิมพ์ไทย
หัวหน้ากองสมิตจึงนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมกองบรรณาธิการ บรรดาหัวหน้าข่าวมีความเห็นว่าควรจะส่งฉันเข้าไปทำข่าว เพราะสงครามภายในประเทศเขมรเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก นสพ.ไทยรัฐเป็นหนังสือพิมพ์อันดับหนึ่งของประเทศไทย หากเราได้เข้าไปทำข่าวสงครามในประเทศนี้หนังสือพิมพ์ของเราจะได้รับการยอมรับในระดับโลก
"ตกลงคุณไปทำข่าวที่เขมรได้ แต่คุณจะต้องรับผิดชอบตัวเองเพราะเป็นความต้องการของคุณนะ บริษัทไทยรัฐไม่เกี่ยวด้วย" หัวหน้ากองสมิตบอกเช่นนั้น
การที่หัวหน้ากองบรรณาธิการบอกกับฉันแบบนั้นก็เป็นเพราะว่าสงครามในเขมรแตกต่างไปจากสงครามในเวียดนาม เนื่องจากที่นั่นไม่มีทหารไทยเข้าไปร่วมรบ
คนเขมรรบกันเองคือฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลซึ่งมี “นายพลลอนนอล” เป็นประธานาธิบดีและมีประเทศสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอย่างไม่เปิดเผย ส่วนอีกฝ่ายมี “นายพลพรต” หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ที่เรียกตัวรองว่า "เขมรกะฮอม" ซึ่งหมายถึง “เขมรแดง” ได้รับการสนับสนุนจากประเทศคอมมิวนิสต์จีน
"ผมจะพาคุณเข้าไปพระตะบองก่อน จากนั้นเราจะไปให้ถึงพนมเปญ ให้คุณได้ทำข่าวสงครามในเขมรอย่างละเอียด" ญาติของนายควง อภัยวงศ์ยืนยันเช่นนั้น
ความจริงการตัดสินใจไปทำข่าวสงครามในเขมรนั้นมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ฉันอยากไปประเทศนี้ นั่นก็คืออยากจะได้เห็นปราสาทหินนครวัด สิ่งอัศจรรย์ระดับโลกที่มีประโยคหนึ่งของนักเขียนฝรั่งเขียนไว้ว่า “SEE ANKOR WAT AND DIE” หมายถึงว่า
ต้องเห็นนครวัดให้ได้ก่อนตาย
ฉันเป็นคนหลงใหลศิลปวัฒนธรรมของขอมโบราณ ประกอบด้วยความรู้สึกชาตินิยมที่เคยเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยว่าบริเวณส่วนนี้เคยเป็นของเรามาแต่เก่าก่อน คือจังหวัดเสียมราฐที่มี "นครวัด” และ “นครธม” จังหวัดพระตะบอง จังหวัดศรีโสภณ และอำเภอมงคลบุรี
แต่เราต้องสูญให้จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสที่เข้ามารุกรานสมัยรศ.112 ซึ่งตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 5
แม้ว่าต่อมาในสงครามหาเอเชียบูรพา เราจะได้รับดินแดนส่วนนี้คืนมาจากการรบสมัย “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” แต่ก็คืนกลับไปให้ฝรั่งเศสเมื่อเราพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ร่วมกับเยอรมันและญี่ปุ่น
หัวหน้ากองสมิตอนุญาตให้ฉันนำรถเก๋งที่เราใช้ตระเวนข่าวเข้าไปในเมืองเขมร โดยเลือกรถคันที่มีเครื่องยนต์สมบูรณ์อย่างที่สุดและให้คนรถติดตามไปด้วย
โชคดีที่ “ปรีชา” คนรถเป็นคนอรัญประเทศและเคยขับรถเข้าไปในเขมรมาก่อนแล้ว ทำให้ฉันมีความอบอุ่นใจเพราะไม่ได้ไปเพียงลำพังกับผู้ที่อ้างว่าเป็นญาติของนายควง อภัยวงค์
ข่าวการเดินทางไปทำข่าวในเขมรของฉันเป็นเรื่องใหญ่โตของวงการ
มีเพื่อนหนังสือพิมพ์บอกกับฉันว่า
“เอ็งมันบ้า ใครวะจะกล้าเดินทางไปทำข่าวในเขมร มันนรกชัด ๆ "
เพื่อนหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าฉันจะกล้าไปจริง คงจะเป็นราคาคุยมากกว่า
แต่ก็มีเพื่อนหนังสือพิมพ์อีก 2-3 คน เชื่อว่าฉันกล้าเดินทางไปจริงและยินดีที่จะร่วมเดินทางไปด้วยกัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะมีอะไรเกิดขึ้นเราจะได้ช่วยเหลือกัน
ขอบันทึกเพื่อนนักหนังสือพิมพ์ที่ร่วมเดินทางไปทำข่าวในสงครามเขมรร่วมกับฉัน ประกอบด้วย
ปรีชา แสงอุทัย จากหนังสือพิมพ์ "ประชาธิปไตย” (ปัจจุบันเสียชีวิต)
ธเนศ จำนามสกุลไม่ได้ ซึ่งเสียชีวิตแล้วเช่นกัน จากหนังสือพิมพ์ "เดลิไทม์"
เสนีย์ ด้ายมงคล นักหนังสือพิมพ์อิสระ ส่งข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ “บางกอก โพสต์” (ปัจจุบันหายสาบสูญจากเหตุการณ์ที่พระตะบอง ซึ่งจะเขียนเล่าต่อไป)
คณะเดินทางของเราจึงอัดแน่นในรถตระเวนข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ แต่ทุกคนมีความพร้อมใจที่จะไปเผชิญชะตากรรมที่เกิดขึ้นในสงคราม ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น
เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปอำเภออรัญประเทศ ซึ่งในสมัยนั้นยังขึ้นอยู่กับจังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันอยู่จังหวัดสระแก้ว)
ที่อรัญประเทศ เราแลกเงินไทยเป็นเงินเรียลของเขมรที่มีค่าของเงินต่ำมาก แต่เราจำเป็นเพราะในสงครามนั้นเงินที่เราใช้ได้มีตั้งแต่เงินเรียล เงินบาทและเงินดอลลาร์
การเข้าด่านปอยเปตของพวกเราไม่มีเอกสารการเดินทางใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะในภาวะสงครามไม่มีใครสนใจกัน เงินเท่านั้นที่สามารถใช้ทำทุกอย่างได้
“จากปอยเปตเราจะต้องออกตั้งแต่เช้า คะเนว่าประมาณสองสามทุ่มเราก็จะถึงพระตะบอง” คนนำทางญาติของพวกอภัยวงค์บอกเช่นนั้น
ระยะเดินทางประมาณ 60 กว่ากิโลเมตร แต่เราต้องใช้เวลาถึง 12 ชั่วโมงจะถึงพระตะบองได้ ทว่าคนบางคนอาจต้องใช้ชีวิตทั้งสิ้นก็ยังเดินทางไปไม่ถึง.....
.....ฉันสงสัยว่าฉันจะเดินทางไปถึงพระตะบองหรือไม่ ฉันถามกับตัวเองตลอดระยะเวลาในการเดินทาง....
"สันติ เศวตวิมล"
นักเขียนและบรรณาธิการอาวุโส
เจ้าของรางวัลนักเขียนนราธิปพงศ์ประพันธ์ 2565