The Man Behind The Toys เพราะของเล่นคือสิ่งที่มีค่าในชีวิต คุณจิ๊บ พงศธร ธรรมวัฒนะ

The Man Behind The Toys เพราะของเล่นคือสิ่งที่มีค่าในชีวิต คุณจิ๊บ พงศธร ธรรมวัฒนะ

“สิ่งที่ทำให้อาร์ตทอย (Art Toy) มีมูลค่าคือเรื่องของการตลาด ความหายาก ความลิมิเต็ด (Limited) ความซับซ้อนของกลไกต่าง ๆ สิ่งนี้แหละทําให้ราคามันพุ่งขึ้นไป ทำให้ของเล่นมันมีคุณค่า และชื่อของอาร์ตทอยเองก็อาจมีส่วนเพิ่มมูลค่าด้วยนิดหนึ่งเพราะคนจะรู้ว่าเป็นของที่มีความลิมิเต็ด  “ปัจจุบันเราแบ่งได้เป็น 2 ตลาดคือตลาดแมส (Mass) ที่ทำอออกมาจำนวนมากกับตลาดลิมิเต็ด (Limited) บางเจ้าผลิตไม่เกิน 300 ชิ้น มีคนถามว่าทําไมผลิตน้อยจัง ผมว่านี่แหละคือเสน่ห์ของอาร์ตทอย”

คุณจิ๊บ พงศธร ธรรมวัฒนะ คือผู้ก่อตั้งงาน Thailand Toy Expo มหกรรมของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและอาเซียน ซึ่งปัจจุบันงาน Thailand Toy Expo ติดอันดับท็อป 5 ของโลกไปแล้ว เขายังเป็นเจ้าของบริษัท J.P. TOYS Gallery ร้านของเล่นและแกลลอรี่สำหรับจัดแสดงผลงานของเล่นของเหล่าศิลปินชื่อดัง ไม่เพียงเท่านี้ยังมีบริษัท JPX ที่ผลิตของเล่นโดยร่วมมือกับศิลปินจากทั่วโลกอีกด้วย 

ถ้าพูดถึงเรื่องของเล่น เขาจึงเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญตัวจริงที่ผลักดันให้วงการของเล่นไทยเติบโตเป็นที่รู้จักในระดับสากล สิ่งที่เขาทำได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่หลงใหลในงานศิลปะและการออกแบบของเล่น นอกจากนี้ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในอีกทางหนึ่งด้วย  

เก็บของเล่น เก็บความทรงจำ

“ปัจจุบันของเล่นมันพัฒนาไปไกลและหลากหลายมาก อย่างคำว่า ‘ทอย (Toy)’ คือของเล่นทั่วไปหรือของเล่นสะสมอะไรแบบนี้ ส่วนคำว่า ‘อาร์ตทอย (Art Toy)’ มาจากคําว่า ‘ดีไซเนอร์ทอย (Designer Toy)’ แต่ถ้าคนพูดว่าดีไซเนอร์ทอยมันดูยาวไปเขาจึงเปลี่ยนเป็นอาร์ตทอยให้มันดูสั้นกระชับ จริง ๆ คนที่คิดคําว่าอาร์ตทอยคนแรกคือพี่จูเนียร์ไทยรัฐ (วัชร วัชรพล) เขาบอกผมว่าคนชอบคำสองพยางค์ไม่ชอบคำยาว  

“คนส่วนหนึ่งอาจมองว่าเป็นของของฟุ่มเฟือยไร้สาระ แต่ในมุมมองผมมันเป็นของที่มีค่าสําหรับผม เนื่องจากในวัยเด็กได้เกิดเหตุการณ์ข่าวดังเกี่ยวกับคุณพ่อ ตอนนั้นผมอายุประมาณ 3 ขวบ แทบจำอะไรไม่ได้เลย มีเพียงคำบอกเล่าจากคุณแม่ว่าในรูปนั้นมือของผมถือของเล่นด้วย ของเล่นจึงเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ผมมีความทรงจําร่วมกับคุณพ่อ 

“หลังจากเหตุการณ์นั้นชีวิตของผมก็ถูกเลี้ยงดูโดยคุณแม่ ไม่ได้ใช้ชีวิตหรูหรา ผมต้องตื่นตี 4 ตี 5 นั่งรถเมล์ไปโรงเรียน พูดแล้วคนจะบอกว่าแต่งเรื่องแน่นอน แต่ถ้าถามคนที่รู้จักจริง ๆ จะรู้ว่าชีวิตผมเป็นแบบนั้น

“ผมมีโอกาสได้เข้าไปบ้านใหญ่ของตระกูลที่คุณย่าสร้างเอาไว้ คนใกล้ชิดคุณพ่อเขาบอกให้มาดูของเก็บคุณพ่อ ผมก็ไปรื้อค้นจนกระทั่งเจอของเล่น หุ่นยนต์ ปืนแก๊ป ลูกข่าง มีของเล่นหลายประเภทที่คุณพ่อเก็บอย่างดีไว้ในลัง จนกระทั่งมาเจอหุ่นแบทเทิลฟีเวอร์ เจ ของขบวนการ 5 สี ซึ่งเป็นของเล่นชิ้นแรกของผม 

“นี่คือจุดเริ่มต้นการเก็บของเล่น สมัยก่อนของเล่นมันเป็นเหล็ก เราก็เอามาคุยกับคุณแม่ว่าปะป๊ามีหุ่นเหล็กอะไรอย่างนี้ ผมอยากเล่นอันนี้ ผมอยากเก็บอันนั้น ซื้อของใหม่ให้หน่อยได้มั้ย ตอนนั้นคุณแม่มองว่าของเล่นเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ถ้าอยากได้ต้องตั้งใจเรียนเก็บเงินซื้อเองไม่ก็เอาเงินแต๊ะเอียมาซื้อสิ จนผมเริ่มโตเลยสร้างข้อแม้ว่าถ้าตั้งใจเรียนได้เกรดที่น่าพอใจขอให้พาผมไปที่ญี่ปุ่น เพราะตอนนั้นของเล่นส่วนใหญ่มาจากเมดอินเจแปน แต่ช่วงหลังมีเมดอินไชน่า เมดอินไทยแลนด์ เมดอินเวียดนาม นี่คือจุดเริ่มต้นการเก็บสะสมของเล่นของผม” 

คิดนอกกรอบ สร้างสรรค์สิ่งใหม่

“เมื่อก่อนถ้าพูดถึงเรื่องดีไซเนอร์ทอยหรืออาร์ตทอย ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย ผมแค่ชอบเก็บของเล่นมาเรื่อย ๆ ซื้อการ์ดยูกิ การ์ดเมจิก แลกเปลี่ยนการ์ดเอามาขายเพื่อนในโรงเรียน จนกระทั่งผมอยู่ประมาณม.6 หรือเข้ามหาวิทยาลัยปี 1 นี่แหละ กระแสของเล่นเมดอินไชน่ามาแรงมาก เป็นจุดเปลี่ยนของโลกเลยเพราะฐานการผลิตย้ายไปที่เมืองจีนเกิน 70% 

“ผมคิดว่าที่บ้านในตระกูลนี้ไม่ค่อยมีใครไปเรียนที่จีนก็เลยอยากไปเรียน แต่พอไปถึงภาพที่เราคิดไว้กับความเป็นจริงมันไม่เหมือนกัน ความฮาคือตอนที่กำลังไปดูมหาวิทยาลัยเพื่อจะเรียนต่อ ได้มีการจัดงานของเล่นขึ้นติดกับมหาวิทยาลัยพอดี ผมเข้าไปในงานแล้วซื้อของเล่นแบรนด์ ThreeA (3A) ซึ่งเป็นแบรนด์ระหว่าง Threezero กับ Ashley Wood เป็นดีไซเนอร์ทอยหรืออาร์ตทอยเจ้าแรกที่ผมรู้จักในชีวิตเลย

“จุดเปลี่ยนที่ทําให้มองเห็นเรื่องธุรกิจคือผมได้สิทธิ์ซื้อลำดับท้าย ๆ ประมาณ 3,000 บาท แล้วมีคนยุโรปมาขอซื้อต่อในราคา 30,000 กว่าบาท เพราะเขาบอกว่าบินมาแล้วยังไม่ได้อะไรเลย ผมเห็นช่องว่างตรงนี้จึงโทรไปคุยกับคุณแม่ แต่ด้วยความเป็นเด็กพอเราพูดอะไรไปไม่มีใครเชื่อหรอก หาว่าเราโม้ ไร้สาระ เพ้อเจ้อ มันมีคำแบบนี้เกิดขึ้นตลอด ผมถึงบอกว่าขนาดคนในครอบครัวเราหรือคนรอบข้างยังเห็นเลยว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ 

“ตอนนั้นผมไม่มีความรู้เรื่องธุรกิจเลย ผมเรียนมัธยมสายวิทย์ที่โรงเรียนสาธิตเกษตรอินเตอร์แล้วย้ายไปเรียนสายศิลป์ที่โรงเรียนสาธิตธรรมศาสตร์ ผมเบื่อสายวิทย์แต่ที่ย้ายไปแค่อยากรู้ว่าสายศิลป์เป็นยังไง หลังจากนั้นผมอยากไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ปักกิ่งก็เลยถอยกลับมาเรียนประเทศไทยดีกว่าเพราะไม่อยากอยู่ห่างจากที่บ้าน 

“ระหว่างที่ผมเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมีอาจารย์ท่านหนึ่งถามผมว่า ‘โตขึ้นอยากเป็นอะไร’ มันเป็นคําถามที่เราตอบไม่ได้เลย แต่สิ่งที่ผมจำได้คือ ‘ผมอยากเป็นทูตเพราะผมไปดูละครมาเมื่อคืน’ อาจารย์ก็หัวเราะ ท่านถามผมว่า ‘ทำไมถึงอยากเป็นทูต’ ผมบอกว่า ‘เพราะทูตไม่ต้องเสียภาษี ถ้าผมไปซื้อของเล่นต่างประเทศผมก็เอาเข้ามาได้เลย’ ตอนนั้นผมคิดแค่นี้จริง ๆ เวลาผ่านไปน่าจะช่วงปี 3 เทอม 1 อาจารย์ท่านเดิมมาถามผมแบบเดิม คราวนี้ผมตอบว่า ‘อยากขายของเล่น’ ท่านคงงงแบบว่าของเล่นอะไรวะ วันนี้มึงกวนตีนกูอีกหรือเปล่า แต่ความจริงคือผมเริ่มศึกษาเรื่องของเล่นมาสักพักแล้ว 

“ผมไปรื้อหานามบัตรและค้นว่าแบรนด์ของเล่นต่าง ๆ เขาทำอะไร นั่งดูว่าท็อปแบรนด์ที่ติดลําดับยอดนิยมสำหรับของเล่นคืออะไร แล้วก็เจอแบรนด์ที่ขึ้นอันดับหนึ่งตอนนั้นคือ ThreeA (3A) ผมกับเพื่อน ๆ ช่วยกันร่างจดหมายติดต่อ อารมณ์เหมือนเด็กประถมร่างจดหมายส่งหาศาสตราจารย์ ส่งไปทุกวันเช้า - เย็นประมาณ 3 เดือน จนกระทั่งเขาตอบกลับมาว่าได้รับอีเมลแล้ว ไม่ต้องส่งมาอีกเดี๋ยวนัดคุยกัน เขาอาจจะเห็นถึงความพยายามอะไรแบบนี้ ผมก็เลยได้ร่วมงานเป็นตัวแทนจำหน่ายให้เขา”

 

ความลับที่ถูกเปิดเผย

“แต่ก่อนที่ผมจะทำธุรกิจได้ผมต้องมีเงินทุนก่อน ตอนนั้นผมเรียนอยู่ประมาณปี 3 ได้ดูหนังเรื่อง ‘Top Secret วัยรุ่นพันล้าน’ เลยตัดสินใจเดินเข้าไปที่ธนาคารเพื่อกู้เงินแต่ธนาคารดันโทรมาหาคุณแม่เพราะรู้จักกัน คุณแม่ถามว่ามาเล่นอะไรที่นี่ แต่สุดท้ายท่านก็คุยกับธนาคารทำนองว่าอย่าไปขัดใจเด็กเพราะเห็นว่าเป็นคนที่มีความฝันและความพยายาม สรุปธนาคารให้เงินกู้ 5 แสนบาทเพื่อนำไปทำธุรกิจ โดยคุณแม่ขอเก็บเอาไว้ 1 แสนบาทเผื่อไว้ใช่ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบันผมเพิ่งมารู้ความจริงไม่นานนี้ว่า เงินที่ได้มาจากธนาคารวันนั้นคุณแม่เบิกเงินของตัวเองแล้วส่งต่อธนาคารเอามาให้ผมอีกที 

“พอได้เงินมาผมซื้อของหมดเงินไปกับออเดอร์แรกมากพอสมควร จนกระทั่งแฟนผม (ภรรยาปัจจุบัน) บอกว่า ‘เธอลองไปดูที่สะพานเหล็กสิว่าเขาขายของเล่นกันยังไง’ เชื่อไหมว่าผมเก็บของเล่นมาหลายปีแต่ผมไม่เคยรู้จักสะพานเหล็ก คลองถม ตลาดมืด มันเหมือนเปิดโลกใบใหม่ว่าผมจะไปดูของเล่นที่ญี่ปุ่นทำไม 

“แต่การขายของเล่นในสมัยนั้นมันไม่ง่าย ผมเอาของเล่นไปขายคลองถม โซนธนาคารไทยพาณิชย์ใกล้ตู้โทรศัพท์ วันแรกโดนเจ้าถิ่นใช้มีดจี้คอเลย เขาไม่ให้ขาย ผมก็เอาชีวิตรอดก่อน ขอโทษเขาแล้วรีบเก็บของออกมา หลังจากนั้น 6 เดือนผ่านไปผมขายของเล่นไม่ได้เลย จนผมกลับมาทบทวนชีวิตว่ามันใช่แนวเราหรือเปล่าวะ 

“คุณอาท่านหนึ่งแนะนำว่าทำไมไม่ฝากขาย การฝากขายคืออะไรผมไม่เคยรู้มาก่อนเลย จนมานึกถึงร้านพี่ที่รู้จักคนหนึ่งซึ่งผมซื้อของเขาเป็นประจํา ผมตัดสินใจเข้าไปถามร้านเขาตรง ๆ พอเขารับข้อเสนอก็ลุยฝากขายทันที พี่เขาน่ารักมากนะ ให้ตู้ผมมาหนึ่งโซนในพื้นที่ของเขาเลย 

“แต่ผ่านไปหลายวันของเล่นก็ยังขายไม่ได้ ตอนนั้นคิดว่าเลิกดีกว่าแล้วลองไปหาธุรกิจอื่น ผมมีความคิดว่าอยากนำร้านน้ำปั่นแบรนด์หนึ่งที่อังกฤษเข้ามาขายในประเทศไทย ผมส่งอีเมลไปแต่เขาตอบกลับมาว่าไม่รู้จักประเทศไทยก็เลยคิดว่าไม่ใช่ทางเราอีกแล้ว ช่วงจังหวะที่ผมกำลังเอาของเล่นที่ฝากขายกลับมาโละทิ้งแล้วจะหาวิธีอื่นเพื่อเอาเงินมาคืนธนาคาร (ความจริงเป็นเงินของคุณแม่) อยู่ดี ๆ ทางร้านที่ฝากขายของเล่นก็โทรมาบอกว่ามีลูกค้าฝรั่งเหมาของเล่นไปหมด มีอะไรเหลือให้รีบเอามาขายเพราะเขารออยู่ ผมรีบขนของเล่นที่มีทั้งหมดนั่งแท็กซี่ไปเลย ปรากฎว่าขายหมด จุดนี้เองเป็นการขายของเล่นที่ได้กำไรครั้งแรกในชีวิต แต่ได้กำไรน้อยมาก เลยกลับมานั่งคิดว่าหรือนี่จะเป็นแสงริบหรี่ของเรา

“หลังจากนั้นผมเก็บเงิน พอมีเงินก็ไปดูงานของเล่นทั่วโลกจนเราเจออะไรหลากหลายอย่างทั้งข้อดีข้อเสีย แล้วแบรนด์ ThreeA (3A) เขาเชิญผมไปงานของเล่นอยู่ฮ่องกง ที่สำคัญมีคนเริ่มรู้จักเราด้วยจากการที่ ThreeA (3A) แนะนำว่าเราเป็นผู้จัดจำหน่าย ผมสังเกตว่าสถานที่ที่เขาจัดงานเล็กมากแต่มีคนมางานหลายพันคน ที่นี่เองมีคนบอกให้ผมทำของเล่น Exclusive ผมงงว่าคืออะไร เขาเลยอธิบายว่าเหมือนของที่ผมไปซื้อต่างประเทศโดยให้ทำของเล่นลิมิตเต็ดออกมาขาย จากนั้นก็จัดอีเว้นต์ดึงคนเข้ามาร่วมงาน ผมถามว่ากำไรเยอะไหม เขาบอกว่าพอ ๆ กันเลย ภรรยาผมก็บอกว่า ‘เธอไปงานของเล่นไม่เห็นเหรอว่าเขาต่อคิวทำอะไรกัน แล้วทำไมไม่ลองทำดู’

 

ก้าวสู่เส้นทางของผู้จัดงาน Thailand Toy Expo
“วันหนึ่งห้างฯ เซ็นทรัลเวิลด์ติดต่อมาให้ช่วยจัดงานของเล่นวันเด็ก จึงเป็นครั้งแรกที่ผมเริ่มนำของเล่นไปตั้งขายซึ่งยังไม่เป็นมืออาชีพเท่าไหร่ มีพื้นที่ 5x5 เป็นบูธเล็ก ๆ แต่ก็มีคนสนใจเดินผ่านเริ่มมาดูและพูดคุย ผมเห็นว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่น่าใช่กลุ่มลูกค้าที่เคยเห็น ก็คิดว่าควรจะต้องทำแบรนด์ของเล่นเพิ่มเพื่อดึงคนกลุ่มน่ารักทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ภายหลังผมติดต่อแบรนด์ของเล่นประมาณ 7-8 แบรนด์ระดับท็อปของโลกเข้ามาอยู่ในมือ ตอนนั้นเงินทุนของผมไม่เยอะทำให้ต้องประหยัดมาก เป็นแบบ Money Cycle คือการหมุนเงินมาใช้จ่ายเอา

“ปีถัดมาผมมีแผนจัดงานของเล่นครั้งที่ 2 ผมอยากขยายให้เต็มพื้นที่ เพื่อนบอกว่าให้ลองไปขอสปอนเซอร์ดู ผมก็งงว่าสปอนเซอร์อะไร ผมไม่ได้เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง แต่มุมมองหรือแนวทางของเราไม่อยากให้ใครมาจำกัดด้วยการมีสปอนเซอร์ เพราะกลัวจะไม่ใช่งานในรูปแบบที่เราต้องการ

“ผมได้เจอผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เขามาให้ความหวังผมด้วยการเป็นสปอนเซอร์ อยากเข้ามาซัพพอร์ตทุกทาง ตอนนั้นรู้สึกว่าทุกอย่างมันเรียบง่ายมากจึงได้จองพื้นที่มัดจําเรียบร้อย แต่ความพีคที่สุดซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตคือผู้ใหญ่ท่านนี้ขอถอนสปอนเซอร์ก่อนจัดงานเพียง 2 อาทิตย์ ทั้งที่เราคุยกันมา 6 เดือน เขาบอกว่า ‘งานของน้อง ดูแล้วพี่ว่าคนมาไม่ถึง 100 คน’ ตอนนั้นผมฟิวส์ขาดบอกไปว่า ‘เดี๋ยวผมจะทำให้คุณดู’

“ตอนนั้นผมคิดอะไรไม่ออกเลย ธนาคารก็ไม่ให้กู้เพราะสินทรัพย์ไม่พอ ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ผมจัดงานของเล่นคือการเซอร์ไพรส์ครอบครัว ตอนนี้ได้เซอร์ไพรส์ของจริงเพราะต้องกลับไปหาคุณแม่ บอกท่านว่าผมเจอปัญหาต้องใช้เงินจำนวนก้อนโตเพื่อนำมาจัดงาน ผมบอกว่า ‘นี่คือจุดเปลี่ยนเลยนะ ถ้าเราไม่ได้ทําเราเสียมากกว่าได้ ทั้งความน่าเชื่อถือที่ไม่ใช่แค่คนไทยแต่จากทั่วโลกเลย’ แล้วก็อธิบายเหตุผลหลาย ๆ อย่าง เอาตัวเองเป็นประกันกับมรดกในการขอเงินก้อนนี้เพื่อไปจัดงาน คือผมจะไม่ขอยุ่งกับเงินมรดก ให้ตัดออกจากส่วนนี้ได้เลย

“สุดท้ายก็ได้ผู้ใหญ่บางท่านเข้ามาช่วยซัพพอร์ตรวมถึงคุณแม่ที่ให้เงินก้อนนี้มาจัดงาน ตอนนั้นผมจัดการงานเองแทบทุกอย่าง มีคนทํางานอยู่แค่ 4 คน ขนาดลูกค้าหรือคนส่งของผมก็เรียกให้เขามาช่วย 

“ในวันเปิดงานผมไม่คิดว่าจะเจอภาพแบบนี้ ผู้คนวิ่งมาจากทุกมุมได้เห็นทุกคนมาออกันเพื่อซื้อของเล่น ภาพนี้ทำผมร้องไห้เลยนะ ดีใจมากว่าเราทำได้แล้วเพราะตอนนั้นเราไม่มีสปอนเซอร์ หลังจากนั้นเราก็จัดงานมาเรื่อย ๆ จนวันนี้เป็นปีที่ 13 แล้ว ส่วนเงินที่ยืมคุณแม่มาก็ทยอยคืนจนเกือบครบแล้วครับ”

 

Thailand Toy Expo แหล่งรวมของเล่นระดับโลก

“การจัดงานของเล่นนอกจากเป็นสิ่งที่ผมอยากให้มันเกิดขึ้นแล้ว ยังรวมถึงเรื่องการตอบแทนคุณแม่ที่สนับสนุนผมทุกอย่างด้วย อย่างน้อยสิ่งที่ผมทำได้สร้างชื่อเสียงกับตระกูลและประเทศชาติ ที่ผมพูดแบบนี้เพราะผมไปเจออะไรรู้ไหม สมัยมัธยมที่ผมไปเรียนแลกเปลี่ยนต่างประเทศ มันมีคนถามผมว่า ‘เฮ้ย! คุณขี่ช้างพันธุ์อะไรไปเรียน’ หรือ ‘พายเรือไปเรียนหรือเปล่า’ คือเขามองเราว่าต้องอยู่บ้านไม้ไผ่เหมือนเป็นประเทศโลกที่ 3 

“แต่ผมทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดศูนย์รวมของผู้ชื่นชอบของเล่นว่าต้องมาที่ Thailand Toy Expo มีแบรนด์ของเล่นอยากจะเข้าร่วมงานจำนวนมาก รอผมตัดสินใจทุกวัน ซึ่งใครที่ช่วยผมมาตั้งแต่ปีแรกผมให้ความสำคัญกับพวกเขาก่อน เลือกพื้นที่ได้เลยว่าจะลงตรงไหน ส่วนคนอื่นใช้วิธีจับฉลากเข้ามา ที่เป็นแบบนี้เพราะพวกเขาคือคนแรก ๆ ที่ช่วยเราในวันที่ไม่มีอะไรเลย ผมจําบุญคุณทุกคนได้ ทุกวันนี้ก็เป็นพันธมิตรที่ดีต่อกัน  

“ทุกวันนี้ผมรู้สึกแฮปปี้นะครับที่เห็นบริษัทใหญ่ ๆ ต่างเข้ามาให้ความสนใจในตลาดของเล่นและสร้างมูลค่าให้ตลาด ผมคิดว่าทั่วโลกเลยดีกว่าที่ต้องมาลงทุนในประเทศไทย สิ่งที่ผมไม่คาดคิดเลยคือมี B2B (Business-to-Business) เกิดขึ้นในงาน Thailand Toy Expo มีหลายแบรนด์ร่วมกันสร้างของเล่นหรือมีสองสตูดิโอจับมือกัน ซึ่งเกิดจากงานของเรา ทำให้คนทั้งโลกมองว่านี่คืออะไร ทำให้ชื่อของประเทศไทยที่ไม่ใช่ไต้หวันเริ่มเป็นที่รู้จัก กลายเป็นว่าประเทศไทยสามารถจัดงานเล็ก ๆ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศได้ อย่างช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเราเลื่อนการจัดงานให้มาอยู่ช่วงต้นเดือนเมษายนเพราะอยากให้นักท่องเที่ยวอยู่ต่อถึงเทศกาลสงกรานต์”

พลิกโฉมวงการของเล่นไทย

“ชีวิตผมมันกลับด้านสวนทางกับที่โรงเรียนธุรกิจสอนทุกอย่างเลย เพราะผมจัดงานของเล่นก่อนแทนที่จะทำของเล่นเล็ก ๆ ช่วงที่จัดงาน 2-3 ปีแรกผมขับรถส่งของเล่นเอง พอมาถึงปีที่ 4 เพื่อน ๆ ศิลปินถามว่าร้านคุณอยู่ไหน ซึ่งผมควรต้องมีเพื่อให้ต่างประเทศมาเห็นว่ามีของเจ๋ง ๆ อะไร แต่ผมเริ่มต้นจากเป็นผู้จัดงาน จากนั้นเปิดร้านของเล่น ทำของเล่นเอง แล้วก็จำหน่ายออกไปทั่วโลก สลับกันหมดกับสิ่งที่ควรเป็น

“มีเพื่อนคนหนึ่งแนะนำว่าต้องทำของเล่นและคาแรกเตอร์ของตัวเอง ผมจึงให้ทีมงานวาดคาแรกเตอร์มาสคอตของงานเพราะว่าในโลกนี้ยังไม่เคยเห็นงานของเล่นที่ไหนมีมาสคอตเลย ผมสร้างน้องทอยขึ้นมาเป็นมาสคอตของงานเรา แต่คีย์หลักคือตัวคาแรกเตอร์น้องทอยจะขายเฉพาะ Thailand Toy Expo ที่เดียวเท่านั้นไม่มีขายที่อื่น ซึ่งแต่ละปีก็จะต่างกันไป

“น้องทอยตัวแรกที่ทำคือเด็กขี่ไม้ก้านกล้วย ตอนแรกผมก็คิดว่าจะมีใครซื้อหรือเปล่าเพราะยัดเยียดความเป็นไทยมากเกินไป แต่คิดว่าไม่ได้ก็ไม่เป็นไรขำ ๆ สรุปคนซื้อหมดจนผมเองก็ไม่มีเก็บเอาไว้ เสร็จแล้วเริ่มทําควายกับนกเอี้ยง ไก่ชน นักมวย ตัวเงินตัวทอง ลิงลพบุรี และพระพิฆเนศ ผมว่าเราน่าจะเป็นคนแรกนะที่เอาคำว่า ‘ควาย’ หรือ ‘เหี้ย’ มาอยู่บนกล่องแพ็กเกจจิงขายต่างประเทศ  

“รายได้หลักของบริษัทผมมาจากการขายของเล่นนี่แหละครับ แต่ความตลกคือเหมือนเราเอาเงินที่บริษัทนี้ทำเพื่อไปลงในงาน Thailand Toy Expo มากกว่า ซึ่งข้อดีของเราคือมีลูกค้าต่างประเทศเยอะเพราะผมไม่ได้มองตลาดไทย ผมไม่ได้เกลียดประเทศไทยนะ แค่รู้สึกว่า 70 ล้านคนยังไม่พอ ผมมอง Global ไม่มอง Local ไม่ใช่ว่าคนไทยไม่มีกําลังซื้อแต่ผมมองว่าอย่างน้อยอยากให้ของเล่นมันไปทั่วโลก เป้าหมายเราคืออยากให้ทั่วโลกได้มีของเล่นของเรา Thailand Toy Expo คือ Local แต่มันเป็น International ที่ Global Grand Prix”

ความสุขคือกำไรที่แท้จริง

“ผมว่าปัจจัยหลักที่ทําให้เรามาถึงวันนี้คือเราเอาความสุขและเอาแพสชันเข้าแลกไม่ได้เอาวงเงินเป็นตัวตั้ง คนส่วนใหญ่ที่พลาดเพราะอยากได้เงินมากเกินไป มีคนถามผมตลอดว่าเป้าหมายปีนี้คุณอยากได้เงินเท่าไหร่ ผมบอกไม่ต้องคิด เอาแค่ไม่เจ๊งและให้มีกำไรจ่ายเงินเดือนลูกน้องพอ ถ้าตั้งเป้าว่าอยากได้ 50 ล้านบาทผมว่าเครียด เราต้องขายความสุขให้คน ผมพูดตรง ๆ นะผมรู้สึกว่าผมโคตร โชคดีเลยที่ได้ตื่นมาแล้วทําสิ่งที่เราชอบ ตื่นมาเล่นกับลูก ส่งลูกไปโรงเรียน พูดคุยหาไอเดียใหม่ ๆ ผมรู้สึกว่าเราขายของเล่นเราต้องทําตัวเองให้แฮปปี้ แต่ส่วนหนึ่งผมคิดว่าตัวเองเจอเพื่อน พาร์ทเนอร์ และศิลปินที่ดีด้วย

“ปัจจุบันเรามีเครือข่ายที่กว้างขึ้น สิ่งนี้ทำให้เราไม่ตายและกลายเป็นจุดแข็ง เราไม่เคยเอาเปรียบใคร แต่เสียเปรียบให้คนอื่นได้แล้วอยู่รอดกันแค่นี้ก็จบ ทำงานกับผมไม่ต้องการ Win – Win มันอาจเป็น Win – Lose เช่น ผมขายของโดยไม่ต้องมีโลโก้ก็ได้ อีกอย่างผมว่าอีโก้ต้องอย่ามี ผมยินดีทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่ตอนแรกมาขอพื้นที่ฟรี ตอนนี้เป็นศิลปินดังไปแล้วเขาก็กลับมาอุดหนุนพื้นที่เรา มีบางคนดังแล้วลืม แต่เราดีใจที่เป็นบันไดให้เขาเหยียบขึ้นไป
“โดยส่วนตัวผมไม่ค่อยทําการตลาดเยอะ แต่เราให้ความสำคัญกับเรื่องความรู้การลงทุน เช่น คุณซื้อของลิมิเต็ดไปยังไงให้คุณไม่ขาดทุน เราก็มีกติกาที่เป็นธรรมอย่างการจับฉลาก ผมเอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่างพระพิฆเนศผมตั้งราคาถูกที่ทุกคนรับได้ ผมไม่เอากําไรมากให้ลูกค้าเขาเอาไปแล้วแฮปปี้มากกว่า เนื่องจากที่บริษัทอยู่ได้มันไม่ใช่เพราะเราแต่เป็นเพราะพวกเขา ผมกับพาร์ทเนอร์ถึงอยู่ด้วยกันได้เพราะคอนเซ็ปต์ตรงกัน

“ส่วนเรื่องกล่องสุ่มผมเคยทำมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่ถ้าทำแล้วเอาเปรียบผู้บริโภคผมไม่ทำ ผมไม่ชอบทําการตลาดที่หลอกลวงผู้บริโภค ภายหลังผมขอถอนตัวออกเลย ผมไม่เอา บางแบรนด์ตกลงว่าจะผลิตเท่านี้ซึ่งผมรู้ว่ามันเยอะแล้ว แต่เขาไปผลิตซ้ำทำให้วงการเสียหายเพราะกําลังจะฆ่าศิลปินและกําลังจะฆ่าแบรนดิ้ง ของลิมิเต็ดที่ดีจริงพอทำออกมาแล้วจะเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อเอาเปรียบผู้บริโภคไม่ได้ 

“สิ่งที่สะท้อนกลับมาเมื่อผมตัดสินใจไม่ทำการตลาดแบบผิดทาง คือผมไปเห็นภาพหนึ่งที่ทำให้รู้สึกสะเทือนใจมาก มีแม่คนหนึ่งทําอาชีพเก็บกวาดขยะหรือทำความสะอาด แล้วลูกอยากได้ของเล่นมากเพราะเพื่อน ๆ มีกันหมด เขาไม่อยากได้ของปลอมก็เลยมาดูของเล่นที่หน้าร้าน ซึ่งถ้าแม่เขาจ่ายเงินซื้อมันคือค่าแรงทั้งวันของเขาเลย ผมเห็นภาพนี้แล้วสะเทือนใจมาก มันกลายเป็นว่าวันนั้นผมต้องกลับมาทบทวนความรู้สึกของตัวเองว่าของเล่นเราเหมือนไปทําร้ายคนอื่นรึเปล่า

“ผมกลับไปนั่งคิดว่าควรทำอย่างไรดีกับการผลิตของเล่น เพราะผมไม่เคยทําตลาดแมสเลย ผมนำภาพเหตุการณ์วันนั้นมาเล่าให้น้อง ๆ ในทีมและศิลปินฟังว่าเราจะทําอะไรได้ไหม ไม่ต้องมีกําไรก็ได้แต่ขอให้มันถูกลิขสิทธิ์แล้วเข้าถึงกลุ่มทุกคนเลย 

“ผมบอกตรงนี้เลยว่า Thailand Toy Expo ครั้งนี้ผมทําได้แล้วนะ ปลายปีนี้ผมจะแจกของเล่น 2,000 ชิ้น ตัวที่ทุกคนชอบและมีลิขสิทธิ์ถูกต้องโดยที่ผมไม่เอาอะไรเลย ซึ่งงาน Thailand Toy Expo จะจัดขึ้นที่เซ็นทรัลเวิลด์ช่วงปลายปีนี้ครับ

สิ่งที่ทำให้อาร์ตทอย (Art Toy) มีมูลค่าคือเรื่องของการตลาด ความหายาก ความลิมิเต็ด (Limited) ความซับซ้อนของกลไกต่าง ๆ