The Power of The Cartoonist อัตลักษณ์นิยายภาพไทย อาจารย์โอม รัชเวทย์
ในวงการวาดภาพการ์ตูนไทยคนส่วนใหญ่รู้จักอาจารย์โอม รัชเวทย์ จากการสร้างสรรค์งานคุณภาพมาแล้วนับถ้วน ตั้งแต่การเขียนภาพประกอบ วาดการ์ตูน และนิยายภาพไทยแนวพุทธประวัติ เช่น องคุลิมาล,พระโมคคัลลานะ,พระสารีบุตร,หมอชีวกโกมารกัจจ์,พระเจ้าอโศกมหาราชฯลฯ ฝีมือของท่านนั้นมีลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์สวยงามน่าอ่านตรงนี้เองทำให้มีคนติดตามผลงานอยู่ตลอดเวลา
“การเป็นนักเขียนในความหมายผมคือนักวาดรูปตั้งแต่เด็ก ผมคิดว่ามันไม่ได้เป็นอาชีพแต่มันเป็นความสุขที่ได้วาดรูป บางคนบอกว่าผมทำงานเกี่ยวกับการวาดรูปซึ่งผมไม่คิดอย่างนั้น ผมคิดว่านี่คือการทำความสุขทุกวัน รูปที่ผมเขียนอยู่เป็นประจำตอนนี้เป็นรูปเขียนกึ่ง Realistic กึ่งเสมือนจริง เมื่อก่อนผมเขียนการ์ตูนเยอะเขียนไปตามเทรนด์ของยุคสมัย การ์ตูนสำหรับผมให้ผมรู้สึกว่าใกล้ชิดกับเด็ก เพราะงานของผมที่ทำออกมาเกี่ยวกับเด็กนั้นจะถูกกับความรู้สึกของผม แต่ปัจจุบันผมหันมาวาดรูปเสมือนจริงมากกว่า”
อาจารย์โอมเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีลูกชายทั้งหมด 5 คน ส่วนอาจารย์โอมเป็นคนที่ 2 โดยพื้นเพเดิมท่านเป็นคนกรุงเทพย่านฝั่งธนบุรีในสมัยกว่า 50 ที่แล้วทำให้ได้วิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ ในพื้นที่สวน ช่วงวัยเด็กยังมีโอกาสตามญาติไปอาศัยอยู่วัดใกล้บ้าน ทำให้มีมุมมองการใช้ชีวิตที่กว้างตั้งแต่สมัยนั้น
ในส่วนของการวาดภาพอาจารย์โอมชื่นชอบการ์ตูนมาตั้งแต่อยู่ประถมปีที่ 1 เรียกได้ว่าหลงใหลในเรื่องของภาพเป็นอย่างมาก ขนาดที่ว่าไม่กินข้าวกลางวันเพื่อมานั่งรอรุ่นพี่ประถมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งวาดรูปเก่งมาวาดภาพการ์ตูนฮีโร่ให้ ส่วนการเรียนในสมัยก่อนมักใช้หนังสือที่มีตัวอักษรจำนวนมากสอนเด็ก เมื่อขึ้นชั้นประถม 4 อาจารย์โอมพบว่าวิชาเรียนภาษาอังกฤษ ที่มีการสอนด้วยภาพจึงชื่นชอบมากกว่าวิชาอื่นทำให้อยากเรียนหนังสือเฉพาะวิชานี้มากขึ้น
“ชีวิตวัยเด็กผมไม่ได้สนใจตัวอักษรเลยคือสนใจแต่รูป จากความคลั่งไคล้ก็พยายามฝึกวาด แต่ก็เขียนได้แค่การ์ตูนหัวกลมมือกลมก็ต้องฝึกฝนทุกวัน พอเลิกเรียนก็กลับบ้านมาเล่นกับเพื่อน ช่วยงานบ้านนิดหน่อย พอตอนกลางคืนคุณแม่ให้นอนแต่ผมไม่นอนคือแกล้งหลับ พอคุณแม่หลับผมก็มาเปิดไฟแอบวาดรูป ที่ต้องทำแบบนี้เพราะสมัยก่อนผู้ใหญ่เขาไม่ได้ส่งเสริมให้เป็นนักวาด ผมก็เข้าใจ แต่ผมมีเป้าหมายเรื่องรูปภาพจึงไม่ได้สนใจเรื่องอื่นเลย แล้วผมไม่ได้คิดจะต้องสอบเข้าสถาบันศิลปะด้วย คิดว่าวาดรูปทุกวันนั่นคือสิ่งที่เราต้องทำ
“แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อโตขึ้นผู้ใหญ่คุณพ่อท่านอยากให้ผมเรียนต่อก็เลยให้ผมเข้าเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่าง ที่นี่เป็นสวรรค์เลย เพราะเป็นการเรียนสนุกลุกนั่งสบาย ไม่มีใครว่าอะไรทั้งสิ้นขอให้คุณส่งงานก็แล้วกัน มันอยู่ที่ว่าใครจะตักตวงวิชาไปได้การเรียนเพาะช่างมันมีวิชาหลักคือวาดรูป ส่วนวิชาอื่นอาจจะเป็นวิชารองแต่ไม่หนัก แล้วพอใกล้เรียนจบจะได้วุฒิ ปวส. ถ้าอยากได้ปริญญาต้องไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ผมก็ไปติวกับอาจารย์ปรีชา เถาทอง ซึ่งท่านสอนในสถาบัน วันว่างก็ตามท่านไปถึงบ้านเลย
“อาจารย์ที่ผมชื่นชมมากอีกท่านหนึ่งซึ่งท่านสอนอยู่นอกสถาบันคือ อาจารย์จ่าง แซ่ตั้ง ผมเรียนเพาะช่างตอนเย็นเลิกเรียนก็ไปบ้านอาจารย์จ่าง คือท่านสอนในสิ่งที่ไม่เคยเรียนในสถาบัน อย่างท่านสอนว่าการเขียนก้อนหินไม่ได้เขียนให้เหมือน แต่ต้องเขียนให้ได้ถึงจิตวิญญาณของก้อนหิน ซึ่งเราไม่เคยเรียนมาก่อน ผมรู้สึกว่าโชคดีที่ได้เจออาจารย์จ่าง เลยรู้สึกว่าตอนเรียนจบไม่อยากถูกผูกมัดอีกต่อไป ถ้าไปสอบศิลปากรมันจะเหมือนกับเด็กศิลปากรทั่วไปคือเก่งแน่ ถ้าผมไม่ไปสอบก็เก่งแต่อาจจะมีตัวตนของเรา ผมก็คิดว่าจะเลือกอะไรดีก็เลยเลือกตัวตนของเรา ซึ่งอาจไม่ได้ดีไปกว่าเด็กศิลปากรหรอก”
หลังจากเรียนจบวิทยาลัยเพาะช่าง อาจารย์โอมตัดสินใจไม่ศึกษาต่อ แต่เลือกเส้นทางเปิดโลกทัศน์ของตัวเองด้วยการท่องเที่ยวไปในภาคอีสาน แบบค่ำไหนนอนนั่นด้วยเงินเก็บก้อนหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ได้นานราว 2 ปี จนกระทั่งเงินหมดจึงต้องหางานทำโดยการส่งต้นฉบับไปที่ หนังสือชัยพฤกษ์การ์ตูน ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ท้ายที่สุดอาจารย์โอมก็ได้เข้าทำงานในตำแหน่งนักวาดภาพแบบเรียน แต่งานที่ชื่นชอบจริง ๆ คือ งานเขียนการ์ตูนรายเดือน จึงได้เสนอตัวให้สำนักพิมพ์จ่ายงานชิ้นนี้กลับไปทำที่บ้านโดยไม่คิดค่าแรงแม้แต่บาทเดียว
“ผมทำงานที่ไทยวัฒนาพานิช ซึ่งพิมพ์แบบเรียนใหญ่ที่สุดในประเทศตอนนั้น แต่ผมทำงานที่นี่ได้เพียง 8 เดือน จากนั้นทางขายหัวเราะให้โอกาสได้ทำงาน ในหนึ่งวันจะเขียนมากเท่าไหร่ก็ได้เขารับหมด ผมคิดว่าถ้าทำงานนี้จะมีรายได้มากพอที่จะออกมาทำหนังสือเด็กเอง ก็เลยบอกเขาว่าผมขอทำงานเป็นนักเขียนสักหนึ่งปี ผมต้องขอบคุณขายหัวเราะมากเพราะเขาไม่เคยปฏิเสธงานผมเลยให้เกียรติผมตลอดแม้งานอาจไม่ได้ดีมาก พอครบหนึ่งปีตามสัญญาผมได้เงินมาก้อนหนึ่งก็ไปเปิดออฟฟิศทำหนังสือเด็กในแนวหนังสือภาพ (Picture book) ของตัวเอง
“หนังสือภาพที่ผมทำคือสอนเด็กเล็กในประเทศไทยช่วงเวลานั้นพึ่งเริ่มบูม พ่อแม่เริ่มให้ความสำคัญกับลูกในการสอนลูกด้วยหนังสือภาพสำหรับเด็ก ผมเข้าวงการนี้ช่วงเริ่มต้นพอดี เล่มหนึ่งมี 16 หน้าค่าวาดเล่มละ 7 พันบาท ซึ่งมันสูงมากเงินเดือนปริญญาตรีตอนนั้นเพียง 3 พันบาท ผมเขียนเดือนหนึ่งได้ 3 เล่ม ในช่วงหลังคนก็เริ่มเข้ามาทำกับมากขึ้น แต่ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องปริมาณ ผมคิดแค่ว่าอยากทำให้ออกมาสวยอย่างที่เราต้องการแค่นั้น”
ในปี พ.ศ. 2524 อาจารย์โอม ได้รับการเสนอชื่อได้รับรางวัล นักวาดการ์ตูนดีเด่นเพื่อเยาวชน จากสำนักงานเยาวชนแห่งชาติ ในวันนั้นเองทำให้ได้รู้จักกับคนในวงการโฆษณาได้มีการชักชวนให้มาทำโฆษณา ท่านจึงตัดสินใจจัดตั้งสำนักงานเพื่อทำงานโฆษณาอย่างเต็มตัว โดยรับงานจากบริษัทชื่อดังอย่าง บริษัท ลินตาส,ฟาอีสท์,โอกิลวี่ ฯลฯ ซึ่งการทำโฆษณาสำหรับอาจารย์โอมแล้ว วิธีคิดจึงกลายเป็นเรื่องของธุรกิจเต็มตัวแม้จะมีค่าตอบแทนที่สูง แต่ใจลึก ๆ ยังโหยหาการวาดรูปอยู่ตลอด อาจารย์โอมอยู่ในวงการโฆษณาถึง 12 ปี จึงตัดสินใจกลับมาวาดรูปอีกครั้ง
“ผมกลับมาทำหนังสือเด็กอีกครั้งแต่ด้วยฝีมือยังไม่เหมือนเดิม จึงให้ทีมงานทำแต่ผมจะดีไซน์การ์ตูนให้พวกเขา จากนั้นก็เข้าสู่ยุคของการ์ตูนแอนิเมชัน ผมรับจ้างทำให้กับผู้ว่าจ้างอยู่พักใหญ่ ในยุคนั้นเป็นการทำการ์ตูนแอนิเมชันโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ต้องเขียนรูปเท่ากับจำนวนการยิงเฟรมซึ่งใช้กล้องกล้อง 16 มม. คือจะต้องวาดกี่พันภาพก็ต้องทำมันเป็นเรื่องที่สาหัสมาก อย่างหนังการ์ตูนหนังครึ่งชั่วโมงต้องซื้อฟิล์มแผ่นใสจำนวนเป็นพัน ๆ แผ่น สมมุติว่า 24 เฟรมต่อ 1 วินาที เราอาจจะเขียนรูป 12 ภาพต่อ 1 วินาที ก็คูณเข้าไปครึ่งชั่วโมงเข้าไป แล้วลองคิดดูต้องใช้จำนวนคนขนาดไหนหลังจากนั้นคอมพิวเตอร์ได้เข้ามาเรียกว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่านความจุก็ไม่กี่เมก ฮาร์ดดิสพังง่าย เครื่องยังไม่เสถียร แล้วถ้าพังเราต้องย้อนกลับมาทำใหม่ โดยใช้เวลาถึงสองเดือน คือต้องอดทนมาก ๆ
“ผมหมกมุ่นอยู่กับการทำแอนิเมชันอยู่พักใหญ่ พอมันเริ่มเบ่งบานหลายบริษัทก็เริ่มเข้ามาอยากทำบ้าง บางงานมีคนมาลงทุนให้โดยที่ผมลงแรงแล้วเอาต้นฉบับไปขายให้กับบริษัท แต่หลังจากการขายผมไม่คิดจะทำแอนิเมชันอีกเลย เพราะเมื่อนำไปขายให้เขาแล้ว แต่ลิขสิทธิ์กลับเป็นของผู้ชื้อทั้งหมด ทำได้เพียงแค่ต้นทุนกลับมาเท่านั้น
“ผมคิดแบบง่าย ๆ ว่าถ้าทำแอนิเมชันจะไม่เหลืออะไรติดตัวเลย แต่ถ้าทำหนังสือจะมีสิ่งที่เหลือติดตัวเพราะหนังสือคือลิขสิทธิ์ ผมอยากขายก็ได้ไม่อยากขายก็ได้ อยากขายหมายถึงเล่มนี้ผมชอบมากหนังสือที่ผมแต่งหรือวาดร่วมกันกับผู้ลงทุนวางขายตลาด แต่ลิขสิทธิ์เป็นของผมรายได้นำมาแบ่งกันก็ย่อมได้ หรือไม่ผมก็พิมพ์เอง หรือผมอยากจะขายให้บริษัทไปเลยก็ได้อีก ตรงนี้เองคือสิ่งที่เราตัดสินใจเลยว่าเลิกทำแอนิเมชันอย่างเด็ดขาด หลังจากนั้นผมก็ไม่เคยคิดถึงมันอีกเลย”
หลังจากอาจารย์โอมกลับมาวาดภาพอย่างจริงจังอีกครั้ง ก็ไม่ทำให้ผู้อ่านผิดหวังท่านได้สร้างผลงานโดยเฉพาะนิยายภาพไทยมากมาย โดยเฉพาะเรื่องที่อิงเกี่ยวกับพุทธประวัติ อาจเรียกได้ว่ากลายเป็นตัวจริงคนหนึ่งของวงการนิยายภาพไทยไปแล้ว
“การจะทำนิยายภาพสักเรื่องหนึ่ง สมมุติว่าผมเขียนเรื่ององคุลิมาล ซึ่งผมไม่มีความรู้เรื่องนี้มาก่อน ได้ยินแต่เขาฆ่าคนเอานิ้วมาร้อยคอเพื่ออะไรสักอย่างหนึ่งคือรู้สั้น ๆ แต่เมื่อผมเขียนเรื่ององคุลิมาล ผมก็ต้องไปอ่านเอามาเป็นข้อมูล หลังจากอ่านเราตีความ อาจตีความแบบผู้ไม่รู้ซึ่งเราไม่ได้เก่งธรรมะ ผมก็เขียนมาจากความเข้าใจเราก่อน ถ้าจะผิดพลาดให้มีคนมาช่วยตรวจ ผมก็ให้อาจารย์ทางพระมาช่วยดูภาพรวม
“แม้แต่คำพูดเช่นพระพุทธเจ้าเห็นองคุลิมาลกำลังมาฆ่าแม่ ผมก็เขียนคำบรรยายว่าพระพุทธเจ้าทรงมีความเป็นห่วงกังวล พระท่านบอกไม่ใช่พระองค์ไม่มีความกังวลอีกแล้วมีแต่ความเมตตา เนื่องจากผมเอาตัวเองไปใส่ว่ากังวลจะมาฆ่าแม่ตัวเอง คือถ้าเราเขียนโดยไม่ให้ตรวจก็จะพลาดเล็ก ๆ น้อยๆ ซึ่งผมเคยทำเรื่องอื่นผิดมาก่อนแล้วพิมพ์ออกไปด้วย คนอ่านก็มีข้อเสนอแนะกลับมา ซึ่งเราก็ไปแก้ไขในการพิมพ์ครั้งถัดไป
“การทำงานของผมมีทั้งเรื่องยากและไม่ยากสลับกันไป อย่างตอนที่ผมเขียนเรื่องพระมหาชนกร่วมกับคุณชัย ราชวัตร และทีมงาน เหตุผลที่เขียนไม่ยากนักเพราะทุกอย่างมันเป็นจินตนาการ สมมุติว่าเราอยากได้อะไรที่ไม่ผิดพลาดจากความเป็นจริงมากเกินไปเราก็ไปค้นคว้าจากประเทศอินเดีย เช่นวังอินเดียเป็นอย่างนี้แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเขียนถูกเป๊ะ เราก็เอาตรงนั้นมาจินตนาการย้อนไปกว่า 2,500 ปี เป็นอย่างไร ซึ่งไม่มีใครเคยเห็นอยู่แล้ว เราก็เอาตรงนั้นมาปรับใช้ร่วมกับจินตนาการว่าควรใช้มุมนี้ แล้วคนอื่นก็บอกไม่ได้ว่าเขียนผิดเพราะไม่มีใครเคยเห็น
“แต่สิ่งที่วาดยากคือการวาดเรื่องคุณทองแดง ที่ยากเพราะทุกอย่างมีจริงทั้งหมด คนมีจริงสถานที่มีจริง วัตถุมีจริง สมมุติว่าต้องวาดโต๊ะที่ระบุเอาไว้ เราจะไปเขียนโต๊ะตัวอื่นไม่ได้ ส่วนมุมมองเราจะเล่นยังไงก็ได้ แต่ข้อเท็จจริงคือส่วนที่เราต้องระมัดระวัง อะไรที่มีอยู่จริงจะทำยาก
“การจะทำงานสักชิ้นหนึ่งผมคิดว่าเนื้อหาต้องสำคัญที่สุดก่อน สมมุติว่าจะเขียนนิยายภาพ เราต้องเป็นนักแต่งเรื่องด้วย ถ้าเราเป็นนักวาดที่เก่งมากแต่แต่งเรื่องไม่เก่ง งานก็จะดร็อบลง หรือเราเป็นนักเขียนเรื่องที่เก่งแต่เราวาดรูปไม่เก่งก็ยังพอถัวเฉลี่ยกันได้ ถ้ามุมมองของคนอ่านคาดหวังในความสนุกคนที่แต่งเรื่องเก่งจะถูกใจนักอ่าน รูปอาจไม่สวยร้อยเปอร์เซ็นต์แต่เนื้อเรื่องของคุณร้อยเปอร์เซ็นต์คนอ่านก็แฮปปี้ แต่ว่าถ้าคนอ่านชอบในเชิงสุนทรียะการวาด เนื้อหาไม่ต้องดีมากก็ได้ แต่รูปต้องเป๊ะมันก็อยู่ที่ว่าใครเป็นผู้เสพ
“ต้องยอมรับว่าผมมีชื่อเสียงมาจากนิยายภาพไทย ความรู้สึกวันนี้เราคงหลีกหนีไม่พ้นเป็นคนเขียนนิยายภาพไทย แต่ปัจจุบันผมไม่ได้เขียนเป็นนิยายภาพแล้ว ผมเขียนเป็นภาพ แต่องค์ความรู้มันได้มาจากการเขียนนิยายภาพไทย อย่างผมเขียนพระพุทธเจ้าผมก็เขียนเป็นองค์ประกอบจบในภาพเดียวได้ ถ้าผมขายผมจะขายเป็นงานอาร์ตแล้วแต่ความพอใจของผู้ซื้อ แต่เดิมบริบทของนิยายภาพไทยต้องเขียนเป็นการ์ตูนช่องเอาไปพิมพ์วางขาย แต่ผมเอาองค์ความรู้มาเขียนงาน จะอาร์ตหรือไม่อาร์ตผมไม่รู้ หรืออาจจะเรียกผมว่างานช่างหรืองานศิลปะก็แล้วแต่ผมไม่สนใจเรื่องคำจำกัดความ
“ปัจจุบันสนามของนักวาดหรือนักเขียนการ์ตูนที่มันเคยอยู่บนกระดาษ ณ วันนี้มันไปอยู่บนโลกออนไลน์เรียบร้อยเมื่อสนามเปลี่ยนกติกาการเล่นก็เปลี่ยน สมัยก่อนวาดอยู่ที่บ้าน วาดเสร็จถือต้นฉบับไปสำนักพิมพ์ขาย จากนั้นเขาก็เอาไปพิมพ์ออกจำหน่ายทั่วประเทศ แต่ตอนนี้เขียนลงบนโลกออนไลน์ได้เลยมันเป็นสนามที่กว้างแต่คู่ต่อสู้ก็เยอะหน่อย ต่างจากสมัยก่อนสนามแคบคู่ต่อสู้น้อยแต่สุดท้ายก็ไม่พ้นความสามารถคุณต้องมีความสามารถ
“เท่าที่ผมมองโลกออนไลน์มันเหมือนการวิ่งแข่งที่มีคนอันดับที่ 1 2 3 4 5 แล้วจะทิ้งคนไว้ข้างหลังอีกเยอะแยะ สังคมจะโฟกัสคนลำดับต้น ๆ เพราะฉะนั้นบนโลกออนไลน์จะอัดด้วยจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม ถ้างานไม่โดดเด่นมันจะเหลืองานที่คนให้ความสนใจไม่กี่คนเท่านั้น แล้วจริงๆ มีสองประเภทคือทำเงินหรือไม่ทำเงิน ไม่ใช่ว่าคนที่ขึ้นไปอยู่บนโลกออนไลน์แล้วจะทำเงินทุกคน อยู่ที่ว่ากระแสได้ไหมหรือคุณอาจจะเด่นมากแต่ไม่ใช่กระแสมันก็ไปเรื่อยๆ ได้เหมือนกัน
“จากการทำงานของผมมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้งานของผมต่างจากคนอื่นคือ อย่าทำในสิ่งที่เคยทำคราวที่แล้วคุณทำอย่างนี้คราวนี้คุณก็อย่าทำ เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ หลีกเลี่ยงสิ่งที่คนอื่นทำมาก่อนด้วยอย่างการเขียนรูปคนเหมือนที่ผมทำได้ดีตั้งแต่เด็กคือไม่ตีสเกลแบ่งช่องตามหลักการ เขาจะตีเส้นเพื่อให้เหมือนเป๊ะไม่มีผิดพลาด แต่ผมไม่ชอบจึงฝึกฝนเองพอเราฝึกแบบนี้วันหนึ่งเราเจออะไรข้างหน้าเราก็จดจำ คนเดินผ่านเราจำเราเขียนหน้าคนที่เดินผ่านหน้าเราได้โดยไม่ต้องให้มานั่งเป็นแบบ อย่างนี้มันเป็นการฝึกให้เราเขียนนิยายภาพที่ดี แม้วันหนึ่งผมจะเขียนรูปโดยไม่มีแบบคือเขียนไปเลย คิดเอาจินตนาการเอา แต่ถ้าคุณเห็นแบบแล้วอยากฉีกออกนอกแบบอันนั้นแหละดี แต่ถ้าไม่ดูแบบหรือไม่มีความท่องแท้กับมันแล้ว คุณอยากจะฉีกออกนอกแบบคุณฉีกไม่หลุดหรอก เหมือนคนที่บอกว่า ปิกัสโซ่เขียนรูปอะไรก็ไม่รู้แต่ว่ามันแพงที่สุดในโลก เพราะเขามีพื้นฐานที่แม่นมากมาก่อนไม่ใช่จู่ ๆ เขาจะเขียนอะไรก็ไม่รู้ เราต้องมีพื้นฐานที่ดีก่อนด้วย
“ผมมาถึงวันนี้ได้ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นตัวของตัวเอง มุมมองภายนอกคนอาจมองว่าเป็นคนดื้อ แต่ผมคิดว่าสิ่งนี้สำคัญที่สุดในความเป็นมนุษย์การมาถึงจุดนี้ อย่างน้อยมันคือความดื้อรั้นของตัวเองไม่ยอมคิดเหมือนคนอื่น ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือการคิดต่างมันทำให้เกิดสิ่งใหม่ อย่าว่าแต่สังคมศิลปะเลยสังคมทุกสังคมมันจะก้าวหน้า มันต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ผมอาจถูกปลูกฝังทางอ้อมจากพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาเต็มที่ จึงคิดอะไรเป็นของตัวเอง ในทางกลับกันถ้าคนรุ่นใหม่เข้าใจข้อนี้ก็จะช่วยผลักดันทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพในสังคมได้”
อาจารย์โอม รัชเวทย์ในช่วงแรกวาดภาพประกอบแบบเรียนมากมายโดยมีผลงานเด่นอาทิหนังสือ "ทางช้างเผือก" (มานะ มานี ปิติ ชูใจ) เคยเป็นผู้ออกแบบภาพยนตร์โฆษณาในโครงการตาวิเศษ ยังเป็นหนึ่งในทีมศิลปินผู้วาดภาพผลงานการ์ตูนฉบับพระราชนิพนธ์ พระมหาชนก และ คุณทองแดง และ ผลงานนิยายภาพฉบับการ์ตูน เช่น พุทธประวัติ,องคุลิมาล,พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร,พระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช