The Sculptor s Vision ประติมากร ผู้บอกเล่าเรื่องราวของสังคม อาจารย์มานพ สุวรรณปินฑะ
“การปั้นรูปเหมือนสำหรับศิลปินอาจทำด้วยฝีมือปกติ แต่งานที่ลึกซึ้งมากกว่านั้นไม่ง่าย อย่างผมได้รับโจทย์มาชิ้นหนึ่งให้ปั้นเรื่อง “กาลเวลากลืนกินทุกสรรพสิ่ง” คำถามคือจะปั้นเรื่องความว่าง ปั้นเรื่องกาลเวลาอย่างไร ซึ่งโดยนิสัยผมชอบไปอิงอยู่กับพวกปรัชญาการเดินทางของจิต เรื่องคาทาดอร์ (Cathedral) หรือวิหารภายในจิตใจของคน งานที่จะทำออกมาแต่ละชั้น มันจึงเป็นเครื่องหมายคําถามที่ยากมาก”
เราติดตามผลงานอาจารย์มานพ สุวรรณปินฑะมานานหลายปี เนื่องจากผลงานของท่านจัดว่าอยู่ในระดับสูง เพียงแต่ไม่ได้เปิดเผยออกมาสู่สาธารณชนมากนัก เหมือนยอดฝีมือที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาเดียวดาย ไม่ออกงานสังคม ไม่สนตำแหน่ง ลาภ ยศ พอใจกับชีวิตอยู่กับศิลปะของตัวเอง และเนื่องจากสัจธรรมของโลกคือเวลาที่กำลังเดินทางมาจนถึงโค้งสุดท้ายของชีวิต อาจารย์มานพ จึงได้ประกาศเอาไว้ว่าท่านจะแสดงงานอีกแค่ 2 ครั้งเท่านั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องกลับมาหาท่านอีกครั้ง
ประติมากรรม สะท้อนทุกข์และความสุขของชีวิต
อาจารย์มานพ เป็นชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เติบโตในครอบครัวค้าขายย่านราชวัตร ท่านมีใจรักศิลปะตั้งแต่วัยเยาว์ เริ่มหัดวาดรูปตั้งแต่ชั้นประถมต้น ในช่วงมัธยมอาจารย์มานพเลือกเรียนสายสามัญ แต่เรียนไปเพียงปีเดียว ท่านก็ตระหนักว่าไม่ใช่เส้นทางของตัวเอง จึงตัดสินใจย้ายไปเรียนที่โรงเรียนช่างศิลป์
“ด้วยความที่คุณพ่อของผมเสียชีวิตตั้งแต่ผมอายุ10 กว่าขวบ คุณแม่มีอาชีพแม่ค้าขายต้องเลี้ยงลูก 3 คน ช่วงที่ผมเรียนช่างศิลป์ เรียนไปทำงานไปรับจ้างทำทุกอย่างเกี่ยวกับศิลปะ มันก็ลําบากนะ แต่เราได้ใช้ความสามารถเลี้ยงตัวเอง คือจะบอกว่าส่งตัวเองเรียนก็ได้เหมือนกัน ผมหาเงินเรียนเองจนกระทั่งได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร สมัยก่อนการเรียนศิลปะผู้ใหญ่จะไม่ค่อยชอบเพราะไม่มั่นคง แต่คุณแม่ของผมนี่สนับสนุนอยากให้เรียนเพราะท่านเป็นคนหัวทันสมัย”
การได้เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต ทำให้ได้เรียนรู้ศิลปะในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะงานปั้นที่ท่านชื่นชอบมาก จนเลือกเป็นแขนงหลักในชั้นปีสุดท้าย
หลังจบการศึกษา อาจารย์มานพได้ลองทำงานในบริษัทเป็นเวลา 1 ปี แต่พบว่าตนเองไม่เหมาะกับงานออฟฟิศ รู้สึกทุกข์ทรมานมาก ประสบการณ์นี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านสร้างงานศิลปะชุด "หน้าเปิด" สะท้อนความรู้สึกของตัวท่านเอง
“ช่วงแรกที่เรียนจบไปทํางานเอกชนมันเป็นทุกข์ ตอนนั้นลาออกจากงานมาก็ตกงาน ไม่รู้จะทําอะไรดี จึงกลับไปทํางานศิลปะส่วนตัว ผมก็ทำการปั้นหน้าตัวเองแล้วผ่าเปิดออกข้างใน มีตัวเองกําลังดิ้นรนอยู่ มันคือความทุกข์นั่นเอง ทุกข์มันเป็นวัฏสงสารก็เลยกลายเป็นซิกเนเจอร์ ที่ทํามาจนถึงตอนนี้ ซึ่งงานชิ้นแรกเป็นเหมือนสัญลักษณ์ส่วนตัว แล้วงานผมจะแสดงถึงความละโมบและความเห็นแก่ตัวของผม งานผมเชิงลบไม่บวก
“บางคนอาจเข้าใจผิดว่าผมมีแต่ความทุกข์ แต่มีความสุขกับการทํางาน ผมใช้ความคิดเชิงลบเนี่ยมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน เวลาสร้างงานเสร็จผมจะแฮปปี้นะ แต่ว่างานสะท้อนในทางทางโลกของผมจะมีงานที่สะท้อนออกในทางความสุขอยู่บ้าง”
ในช่วงที่อาจารย์มานพกำลังค้นหาตัวเอง หลังจากว่างงานก็มีเพื่อนมาชวนไปทำงานปั้นรูปเหมือนหุ่นขี้ผึ้งและอนุสาวรีย์ เทคนิคการปั้นของท่านได้รับการถ่ายทอดจากอาจารย์ไข่มุกด์ ชูโต ศิลปินชั้นครู นอกจากนี้ยังใช้วิธีครูพักลักจำบ่มเพาะให้ผลงานของท่านเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผสมผสานกับทักษะที่สั่งสมจากประสบการณ์อันโชคโชนหลายสิบปีผ่านไป ส่งผลให้ชื่อของอาจารย์มานพเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะจนถึงวันนี้
สัมผัสปรัชญาและคติธรรมผ่านศิลปะการปั้นพระ
งานศิลปะของอาจารย์มานพนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วน แต่ศิลปะการปั้นแขนงหนึ่งที่ท่านบอกว่าต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ใหม่แทบทั้งหมด แม้คนภายนอกอาจมองว่าไม่น่ายาก แต่ความจริงแล้วมีรายละเอียดลึกซึ้งที่ไม่ใช่ว่าใครจะทำได้ง่าย ๆ งานชิ้นนั้นคือการปั้นพระพุทธรูป ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น แต่แฝงไว้ด้วยความหมายอันลึกซึ้ง สะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาและคติธรรมอันล้ำค่าของพระพุทธศาสนา
“ในเรื่องการปั้นพระในช่วงแรกผมจะปั้นรูปเหมือนพระสงฆ์ครูบาอาจารย์ สมัยก่อนเขาเรียกว่าหุ่นขี้ผึ้ง แต่ก่อนปั้นผมต้องทำการศึกษาประวัติของท่านเสียก่อน คืออ่านชีวประวัติอย่างละเอียด เพราะผมคิดว่าจำเป็นแต่ช่างปั้นคนอื่นอ่านหรือเปล่าผมไม่ทราบ สิ่งที่ได้คื่อเรื่องราวธรรมะโดยอัตโนมัติ
“งานชิ้นแรกของผมคือท่านพุทธทาสภิกขุ ผมนี่ตะลุยอ่านหนังสือท่านพุทธทาสเยอะเลย แล้วได้ความรู้ด้วย จากนั้นก็ได้ทำงานของหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่เทพโลกอุดร ฯลฯ คือเยอะมากเลย ต้องยอมรับว่าผมสร้างเนื้อสร้างตัวมีกินมีใช้มาจากการปั้นรูปเหมือนพระสงฆ์ ทำให้มีคนรู้จักมากขั้นเรื่อย ๆ”
“แต่ในส่วนการปั้นพระพุทธรูปให้สําเร็จ ไม่ใช่ว่าปั้นให้เหมือนของโบราณนะ มันต้องไม่เหมือน แต่ให้มีบุคลิกของเราอยู่ด้วย ช่วงแรกผมไม่ได้ปั้นพระพุทธรูปเพราะหรอกไม่ถนัด พอมาปั้นจริง ๆ มันยาก คือปั้นให้ออกมาแบบปกติไม่ยาก แต่ปั้นให้มันเป็นมันเป็นอัตลักษณ์ของเรา มีความลึกมีคาแรคเตอร์ ให้มีความหมายยาก กว่าผมทำงานชิ้นแรกออกมาใช้เวลาถึง 4 ปี เลยทีเดียว”
ความรักและความผูกพันกับการปั้นอนุสาวรีย์ในหลวงรัชกาลที่ 9
การทำงานของอาจารย์มานพนั้นเรียกว่ามีความหลากหลาย โดยเฉพาะงานปั้นอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ ส่วนหนึ่งมีงานบูรพกษัตริย์หลายพระองค์ แต่งานของในหลวงรัชกาลที่ 9 กลับเป็นงานที่ไม่ต้องมีใครมาจ้าง แต่อาจารย์มานพยินดีตั้งใจทำด้วยตัวเอง
“ถ้าพูดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ผมใช้คำว่าความรักและความผูกพัน คนไทยทุกคนตั้งแต่เด็ก พบพระองค์ท่านตั้งแต่อยู่ในธนบัตร แล้วตอนเด็ก ๆ ผมชอบวาดพระองค์ท่านโดยลอกรูปเหมือนตามแบบธนบัตร ชีวิตจริงผมพบพระองค์ท่านน้อยมาก คือตอนเรียนจบรับปริญญา กับตอนเข้าไปถวายเงินให้พระองค์ท่าน คือผมปั้นรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 กำลังทรงงาน แล้วพอดีมีผู้ใหญ่คนหนึ่งเขามาเห็นแล้วชอบ
“ผู้ใหญ่ท่านก็ได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้า ขออนุญาตพระองค์ท่านบอกว่าอยากให้มีรูปเหมือนจําหน่ายกับคนทั่วไป เพราะเมื่อก่อนงานของกษัตริย์ไม่อนุญาตให้ขาย เพราะกลัวจะไปหาผลประโยชน์ ผมเนี่ยจะเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ทำ ตอนนั้นพอได้รับอนุญาต ทำงานเสร็จก็นำออกจําหน่ายที่ธนาคารกสิกรไทยได้เงินมา 15 ล้านบาท เมื่อ พ.ศ.2536 ถือว่าเยอะนะ ซึ่งเงินทั้งหมดที่ได้มาก็ถวายพระองค์ท่านทั้งหมดเลย”
แรงบันดาลใจจากศิริราช สู่ "สายธารแห่งชีวิต"
นอกจากการทำงานปั้นเพื่อเลี้ยงชีพแล้ว ส่วนหนึ่งงานของอาจารย์มานพยังได้ตอบแทนสังคมจากโครงการที่ท่านตั้งขึ้นมาอีกด้วย เพื่อนำรายได้ไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและสนับสนุนกิจกรรมสาธารณกุศลอีกด้วย
“คือผมได้รับการชักชวนให้เอางานศิลปะไปประมูลให้กับภาควิชาศัลยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เพื่อผู้ป่วยยากไร้ และพัฒนาวงการศัลยแพทย์ ผมก็ให้งานไปประมูลอยู่ 2 ปี ได้เงินไปประมาณเกือบ 1 ล้านบาท ซึ่งทางคณะที่จัดเขาก็มอบเงินให้โรงพยาบาลศิริรราชไปทั้งหมด มันก็เลยเป็นแรงบันดาลใจทําให้ผมก็คิดโครงการชื่อว่า “สายธารแห่งชีวิต” คืองานของผมไม่ว่าจะเป็นรูปพระหรืองานศิลป์ ถ้าใครสนใจ ก็มาติดต่อผมจะหล่อให้ รายได้หักค่าใช้จ่ายแล้วส่วนหนึ่ง ผมก็จะไปมอบให้กับภาควิชาศัลยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลครับ
“อยกให้เข้ามาดู ผลงานของผมมีงานเยอะเลย เช่นรูปพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 งานพุทธศิลป์ งานศิลปะหลากหลายแขนง แต่ส่วนมากผมคัดงานที่เป็นไทย งานที่เป็นสากลหรือดูยากมาก ๆ ก็ไม่ได้เอาเข้าโครงการ จะนำงานที่คนปกติดูง่ายออกเท่านั้น
“เนื่องจากผมเป็นแฟนตัวยงของโรงพยาบาลศิริราชพยาบาล เวลาป่วยผมจะถึงศิริราช เพราะหมอเก่ง แล้วยังไม่พอนะคนไข้เยอะนอนเกลื่อนเลย ส่วนนี้คือปัญหาแต่เราเห็นประโยชน์ตรงที่เราทํางานศิลปะช่วยเหลือได้ ถ้าใครจะมาร่วมโครงการผมก็ยินดี สามารถติดต่อในเฟสบุ๊คผมได้เลยครับ
การเดินทางใกล้ถึงจุดหมาย
ผมเดินทางมาบั้นปลายชีวิตแล้วผมจะแสดงงานแค่ 2 ครั้งเท่านั้น ปีหน้าผมจะแสดงงาน ชื่องานทิวทัศน์ที่ไม่รู้จัก The Unknown landscape แสดงที่ Sculptor house Art studio เป็นงาน แอปสแตค (Abstract) คืองานที่ดูยาก งานประเภทนี้ผมไม่ได้ผมทํามานานแล้ว เป็นงานแอปสแตคอิงศาสนา เกี่ยวกับเรื่องปรัชญาทางพุทธ ทําเรื่อง คน วัด ฟ้า ทําอะไรของผมเนี่ยแหละแล้วคอยติดตามต่อไปครับ
ส่วนงานที่ผมจะแสดงครั้งสุดท้ายคือ สายธารแห่งชีวิต The River of Live เป็นเหมือนสูงสุดกลับสู่สามัญ ปั้นงานที่ดูง่ายเป็นแม่กับลูก เป็นการละเล่นของเด็กไทยแต่แฝงนัยยะ แล้วเป็นเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาทางพระพุทธศาสนา มีทั้งรูปเหมือนทั้งแอปสแตคแต่ดูไม่ยาก
“ปัจจุบันวงการศิลปะบ้านเราผมคิดว่ามันดีขึ้นกว่าสมัยที่ผมยังเด็กคือ 30 ปี ก่อน คือผมลุยมาแบบหัวเดียวกระเทียมลีบไม่มีใครสนับสนุนเลย แต่ไม่เป็นไรตอนนี้เราอยู่ได้แล้วเราก็ทําในสิ่งที่รักแล้วก็ตอบแทนสังคม
“ในส่วนของวงการปั้นตอนนี้ จะเน้นไปในเรื่องป๊อบอาร์ตเป็นการ์ตูนเยอะ ซึ่งมีมูลค่าขายได้ บางตัวขายเป็นร้อยล้านบาท กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างนึ่ง มันมีเรื่องของการขายลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว
“สำหรับผมอาชีพศิลปินมันเป็นอาชีพนึงที่ทรงอิทธิพลสําหรับจิตใจคน ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีแต่งเพลง เป็นกวี วาดรูป ปั้นรูป โดยส่วนตัวผมพยายามสอดแทรกเรื่องราวทางสังคมทางปรัชญาบางชิ้นก็เสียดสีสังคม เหมือนเอาเข็มมาจิ้มให้คนฉุกคิด ว่าเขาทําอะไรวะ เรียกเอ๊ะให้มันรู้สึกมันสงสัย บางทีก็ดูหน้าขบขันบางทีก็ดูน่าเกลียด
“ผมคิดว่าใจผมวันข้างหน้าสังคมจะดีขึ้น หมายถึงว่าผมก็ใช้ความรู้ความสามารถของผม ทางการปั้นรูป วาดรูปแต่ผมผมจะสอดแทรกเนื้อหาทางปรัชญาเสียดสีสังคมไว้ทุกรูปครับ และสําหรับนักศึกษา ผู้ที่สนใจงานศิลปะ หรือผู้ต้องการร่วมทำบุญก็ติดต่อผมมาได้ที่ โครงการ“สายธารแห่งชีวิตได้ตลอดครับ”
สามารถติดตามผลงานของอาจารย์มานพได้ทั้ง 3 Facebook Fanpage คือ
Sculptor house Art studio
Go to Sukhawadee by Manop Suwanpinta - สู่แดนสุขาวดี
พระมิ่งขวัญ ของแผ่นดินโดย มานพ สุวรรณปินฑะ