The Mammoth Ivory Hunter
ช้างถือได้ว่าเป็นสัตว์บกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่มีพละกำลังและความสง่างามไม่แพ้สัตว์ชนิดใด ๆ ในโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ความผูกพันระหว่างคนกับช้างมีอยู่มากกว่าภูมิภาคไหน ๆ ช้างมีบทบาทในทุก ๆ ยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นพาหนะการทำสงครามหรือแม้กระทั่งในการช่วยเหลืองานทางด้านแรงงานลากจูงต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ช้างได้ถูกยกให้เป็นสัตว์ประจำชาติเลยทีเดียว
แต่ช้างมีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่งก็คือ งาคู่สวยของมันนั่นเอง ช้างยิ่งมีงายาวสวยเท่าใด ยิ่งเป็นอันตรายต่อตัวมันมากเท่านั้น ไม่ต่างจากคนเราที่ใส่ทองเส้นโตเดินอยู่ในตรอกซอกซอยอันตราย ความนิยมในงาช้างมีมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน มนุษย์นิยมล่าช้างเพื่อเลื่อยเอางาคู่สวยออกมาใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย บ้างถือเอาไปทำเป็นวัตถุมงคลปกป้องคุณไสย และบ้างเอาไปแกะสลักเพื่อประดับบารมี ส่งผลให้ปริมาณช้างในโลกของเราลดน้อยลงมาก โดยแต่เดิมในประเทศไทยนั้นมีช้างป่าอาศัยอยู่หลักหลายแสนตัว แต่ในปัจจุบันจากการสำรวจล่าสุด ช้างป่าหลงเหลืออยู่เพียงแค่สี่พันกว่าตัว ซึ่งกระเตื้องขึ้นกว่าปีก่อน ๆ ที่จำนวนช้างป่าตกลงไปที่สามพันกว่าตัว ช้างป่าแอฟริกันมีจำนวนกว่าสามแสนตัว แต่ในทุก ๆ ปีจะมีการลักลอบล่าช้างเพื่อเอางากว่าหนึ่งหมื่นตัวในแต่ละปี ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปไม่ช้า ช้างแอฟริกันจะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในที่สุดเป็นแน่
ทางองค์กรอนุรักษ์ต่าง ๆ ได้ออกมาต่อต้านการล่าช้าง รวมถึงการเพิ่มอัตราโทษต่อการลักลอบล่าสัตว์ป่าและออกกฎหมายห้ามซื้อขายงาช้างระหว่างประเทศ พร้อมคว่ำบาตรประเทศที่รับซื้องาช้างที่ถูกล่า ซึ่งในแต่ละปีประเทศที่เข้าร่วมต่อต้านการซื้อขายงาช้างก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ประเทศจีนยังคงเป็นหนึ่งในประเทศใหญ่และประเทศหลักที่ยังไม่ได้เข้าร่วมกฎหมายต่อต้านการซื้อขายงาช้าง เพราะประชากรในประเทศจีนนั้นมีความต้องการงาช้างอยู่มากนั่นเอง เนื่องด้วยมีความเชื่อในเรื่องการมีงาช้างไว้ประดับบารมี
เมื่อการออกล่าช้างเป็นสิ่งต้องห้ามและอัตราโทษที่ปรากฏนั้นมีสูงขึ้น การล่างาช้างจึงได้เปลี่ยนทิศทางออกไป จากเดิมที่ออกล่าช้างเพื่อเอางา ก็กลายมาเป็นออกล่าซากช้างที่ตายแล้วแต่เดิม และจากเดิมที่งาช้างถูกจำกัดอยู่ในวงศ์ช้าง ปัจจุบันก็กระจายวงส์ออกไปเป็นงาช้างดึกดำบรรพ์อย่างงาของช้างแมมมอธนั่นเอง
เกริ่นมาเสียยืดยาว สิ่งที่ผมจะกล่าวคือในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ ได้มีอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจเกิดขึ้นมาครับ นั่นคืออาชีพนักล่างาช้างแมมมอธ ด้วยเหตุผลของการต่อต้านการล่างาช้างจากช้างป่าในปัจจุบันนั้นไม่เอื้ออำนวย แต่การตามล่างาช้างแมมมอธนั้นไม่ได้ผิดกฎหมายการล่าสัตว์แต่อย่างใดเนื่องจากเป็นซากโครงกระดูกจากช้างที่ตายมาแล้วนับหมื่นปี จึงทำให้เกิดอาชีพดังกล่าวขึ้น และแม้ว่าหลาย ๆ ประเทศยังคงมีการห้ามซื้อขายงาช้างก็ตาม แต่ตลาดใหญ่ยังคงเป็นประเทศจีนที่ยังคงตั้งรับซื้ออยู่อย่างไม่จำกัด ซึ่งงาช้างแมมมอธกิ่งหนึ่งมีมูลค่าการรับซื้อสูงถึง 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ ราวกว่า 2 ล้านบาท
แต่งาช้างแมมมอธใช่ว่าที่ไหน ๆ จะมีได้ เพราะแหล่งที่จะพบซากงาช้างแมมมอธได้นั้น โดยรวมจะอยู่ในพื้นที่ไซบีเรียซึ่งเป็นภูมิภาคทางภูมิศาสตร์ที่กว้างขวางในเอเชียเหนือ และเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซียนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ภายหลังจากการพิชิตไซบีเรียของรัสเซียในดินแดนทางตะวันออกของเทือกเขายูรัล ไซบีเรียเป็นดินแดนที่กว้างใหญ่และมีประชากรอาศัยอยู่อย่างเบาบางด้วยสภาพอากาศที่หนาวเย็นอุณหภูมิติดลบ แต่พื้นที่ของไซบีเรียนั้นกลับครอบคลุมพื้นที่กว่า 13.1 ล้าน ตารางกิโลเมตร (5,100,000 ตารางไมล์) ในขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ราว ๆ 5 แสนกว่าตารางกิโลเมตร เทียบได้ว่าใหญ่กว่าประเทศไทย 25 เท่าและที่สำคัญพื้นที่ตรงนี้ในอดีตช่วงหลายหมื่นปีก่อนอุดมไปด้วยช้างแมมมอธจำนวนมากอาศัยอยู่
ทั้งนี้การประกอบอาชีพล่างาช้างแมมมอธ ถือได้ว่าเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความอดทนและเสี่ยงอันตรายมาก โดยการล่างาช้างแมมมอธนั้นไม่ใช่ว่าจะทำได้ตลอดเวลา พรานผู้ล่าต้องอดทนรอเวลาในการขุดหาล่าได้เฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้น โดยต้องรอเวลาให้ชั้นดินในจุดที่จะทำการค้นหานั้นได้คายความชื้นของน้ำในดินออกมาเสียก่อน และจะต้องนำรถน้ำที่มีหัวฉีดเหมือนรถดับเพลิงทำการฉีดอัดลงไปในชั้นดินตามผาต่าง ๆ ให้ดินทลายลงมา จึงจะทำการขุดต่อเนื่องเพื่อค้นหาต่อไปได้
หากกระทำในหน้าหนาว สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือชั้นดินที่ยังคงความชื้นอยู่นั้นมีความแข็งตัวไม่ต่างจากก้อนภูเขาน้ำแข็ง เครื่องมือเครื่องไม้จะขุดเจาะหาทำอะไรก็ทำได้อย่างลำบาก อีกทั้งนำน้ำฉีดอัดเข้าไปก็ไม่ทลายตัวลง และที่สำคัญด้วยความหนาวเย็นอย่างถึงที่สุด ดินจะยิ่งอุดมไปด้วยความชื้นและแข็งตัวหนักขึ้นกว่าเดิมทำให้ขุดเจาะได้ยาก ซ้ำบางครั้งรถบรรทุกน้ำที่เข้าไปในหน้าหนาวก็เสี่ยงที่น้ำในถังบรรทุกนั้นจะแข็งตัวอีกต่างหาก
สิ่งสำคัญก็คือการขุดค้นหางาช้างแมมมอธนั้น กระทำในป่าเขาพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง สิ่งหนึ่งที่ต้องจัดเตรียมนอกจากเสบียงคือชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุใด ๆ ให้คำนึงไว้ว่าโรงพยาบาลนั้นอยู่ห่างไกลมาก ๆ การเดินทางออกจากจุดที่หางาช้างแมมมอธไปสู่โรงพยาบาลกินเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งการเกิดบาดแผลในช่วงดังกล่าวยังเสี่ยงต่อสภาวะติดเชื้อและเสี่ยงต่อน้ำแข็งกัดให้เกิดเนื้อตาย และสิ่งหนึ่งที่อันตรายที่สุดคือ สภาวะดินถล่มจากการที่พรานล่างาช้างแมมมอธทำการฉีดน้ำอัดลงไปในชั้นดินซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งอีกด้วย
แต่เมื่อเทียบกับรายได้ที่จะได้รับนั้น พรานเหล่านี้ก็พร้อมที่จะเสี่ยงชีวิต เพราะอย่างที่กล่าวเอาไว้ งากิ่งหนึ่งของช้างแมมมอธสามารถทำกำไรตอบแทนได้อย่างงาม โดยงาที่มีองค์ประกอบที่จะสามารถทำราคาได้อย่างสูงนั้นคืองาที่มีความยาวประมาณ 3 – 4 เมตร และมีน้ำหนักต่อกิ่งราว 70 กิโลกรัม และจะมีมูลค่าสูงไปกว่านั้นอีกมากหากงามาเป็นคู่ ซึ่งเมื่อทำการขุดค้นพบนั้น ใช่ว่าจะพร้อมนำไปขายได้ พรานจะต้องนำเอางาช้างแมมมอธดังกล่าวไปทำความสะอาดและแช่น้ำเสียก่อน เพราะงาของช้างแมมมอธนั้นเดิมฝังอยู่ในชั้นดิน
หากไม่ทำการแช่น้ำ เมื่องาสัมผัสโดนอากาศภายนอกเป็นเวลานาน งาช้างแมมมอธก็จะเกิดการปริแตกเสียหาย ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่พรานพยายามค้นหามาโดยตลอดนั้นจะสูญเปล่าโดยสิ้นเชิง ซึ่งแน่นอนครับว่ากว่า 90 % ของจำนวนงาทั้งหมดนั้น ถูกส่งไปขายในประเทศจีนและฮ่องกง ที่ซึ่งเหล่าผู้ซื้อเต็มใจที่จะให้ราคางาม ๆ กับเหล่านายพราน นำไปแกะสลักเป็นเครื่องประดับบารมี อยู่ในบ้านเศรษฐีชาวจีนต่าง ๆ
ถามว่าการกระทำดังกล่าวของพรานเหล่านี้ผิดกฎหมายหรือไม่ คำตอบคือผิดเต็ม ๆ ครับ ทางการของรัสเซียไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องของงาช้างแมมมอธมากนัก แต่ผลกระทบของการขุดค้นหานั้นได้ส่งผลในการทำลายสภาพแวดล้อมของป่าไซบีเรียอย่างสิ้นเชิง ทั้งเป็นต้นเหตุของดินโคลนถล่ม และเป็นต้นเหตุที่ทำให้แม่น้ำที่ไหลลงมายังหมู่บ้านของผู้พักอาศัยทางตอนล่าง ปนเปื้อนจากดินโคลนที่เกิดจากการฉีดน้ำพังทลายหน้าดิน เพราะแต่เดิมนั้นการขุดหางาช้างแมมมอธทำเพียงใช้เครื่องมือจอบเสียมในการขุดเท่านั้น แต่ภายหลังการแข่งขันในการค้นหาเริ่มมีมากขึ้นจึงมีการใช้เครื่องมือและเครื่องยนต์อุตสาหกรรมหนักเข้ามาใช้ในการค้นหาจนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมดังกล่าว
แต่สิ่งหนึ่งที่ได้จากการตามล่าหาซากช้างแมมมอธเหล่านี้ก็คือ กลุ่มนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ได้มีผลพลอยได้จากการค้นหาซากเหล่านี้ด้วย การค้นหาหลายครั้งสามารถค้นพบซากช้างแมมมอธที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และนั่นเป็นผลที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ สามารถทำการพิสูจน์ซี่งสาเหตุการสูญพันธุ์ของช้างแมมมอธที่สูญพันธุ์ไปเมื่อ 13,000 ปีก่อนได้ และสิ่งสำคัญก็คือ เซลล์ช้างแมมมอธที่ได้จากการขุดค้นพบ สภาพเซลล์นั้นยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต่างมีความพยายามในการเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่งเชื่อได้ว่าในอนาคตอันใกล้อาจจะมีการโคลนนิ่งช้างแมมมอธโดยให้ช้างเอเชียอุ้มบุญก็เป็นได้