Bridging Cultures, Building Businesses ผู้สร้างอาณาจักร EV ในไทย
คุณหวง หย่ง เจีย (Mr. Huang Yongjie) คือนักธุรกิจที่คร่ำหวอดอยู่ในประเทศไทยกว่า 30 ปี อยู่นานจนเรียกได้ว่าพูดภาษาไทยชัดมาก จนบางคนอาจคิดว่าเขาเป็นคนไทยไปแล้ว แม้ที่ผ่านมาคุณหวงจะทำธุรกิจหลากหลาย แต่ปัจจุบันเขากำลังลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV (Electric Vehicle) โดยเป็นประธานกรรมการ บริษัท โกลด์ อินทิเกรท จำกัด ผู้แทนจำหน่ายรายใหญ่และให้บริการหลังการขายรถยนต์ไฟฟ้า แบรนด์ GAC AION ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง โดยในเชิงธุรกิจอะไรก็ตามที่มีคนนิยมย่อมมีคู่แข่งจำนวนมากเช่นกัน แต่คุณหวงกลับไม่ได้มีความกังวลต่อเรื่องนี้มากนัก เรามาติดตามทัศนคติของเขากับเรื่องราววงการ ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนโฉมวงการคมนาคมไทย ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
“ผมมองว่า AION เป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่แข็งแกร่ง โดยในเชิงธุรกิจยังไปได้อีกไกล ในระยะเวลาประมาณ 1 ปี ตอนนี้เรามี โชว์รูมและศูนย์บริการเต็มรูปแบบ 17 แห่ง และปีนี้เป้าหมายของเราคือจะทำโชว์รูมให้ได้ 35 แห่งทั่วประเทศ เมื่อมีรถแล้วก็ต้องมี Eco Station ของรถยนต์ไฟฟ้าด้วย เราก็จับมือกับ TC New Energy ของ GAC Group ประเทศจีน ลงทุนสร้างสถานีเพื่อชาร์จไฟแบตเตอรี่รถยนต์ AION เป้าหมายของเราภายใน 3 หรือ 4 ปีข้างหน้าจะมีสถานีชาร์จ 180 แห่ง สำหรับบริการรถยนต์ไฟฟ้าของแบรนด์ AION ครับ”
ภูมิหลังชีวิตนักธุรกิจสายเลือดมังกร
“ผมชื่อมิสเตอร์หวง (มาจากแซ่หวง) หวง ในภาษาจีนแปลว่า สีเหลือง (黄) ผมเกิดที่เมืองปักกิ่ง ประเทศจีนเรียนจบมาทางด้าน Food & Beverage เกี่ยวกับโรงแรมและท่องเที่ยว ช่วงนั้นวัยรุ่นเลยยังไม่รู้จะทำอะไรแต่มีญาติอยู่ที่เมืองไทยเยอะ จึงมาเที่ยวแล้วหาช่องทางทำธุรกิจบ้าง แต่มาทำธุรกิจเป็นเรื่องเป็นราวน่าจะอายุใกล้ ๆ 30 ปี คือผมไม่ได้มาสายธุรกิจโดยตรงนะ แต่ว่าชอบทำธุรกิจครับ โดยผมย้ายมาอยู่ประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ.1993 จนถึงปีนี้เป็นเวลา 31 ปีแล้ว เรียกได้ว่าครึ่งชีวิตของผมอาศัยอยู่ประเทศไทยมานานแล้ว
“ผมเริ่มต้นทำธุรกิจเทรดดิ้ง ช่วงนั้นผมดูแล้วว่าประเทศจีนเขาทำส่งออกมีอะไรบ้าง ผมจึงเลือกทำธุรกิจครั้งแรกเกี่ยวกับอาหาร เราก็ส่งออกบางอย่างไปที่เมืองจีน แล้วก็นำเข้าอาหารจีนที่คนไทยรู้จัก ยกตัวอย่างขนม White Rabbit หรือกระต่ายขาว จำได้ไหมครับสมัยเด็ก ๆ ขนมกระต่ายกินได้ ผมนำเข้ามาขายที่ 7-11 ช่วงนั้น 3,000 กว่าสาขา มีที่ Tesco Lotus และ Tops ด้วยครับ
“หลังจากนั้นผมจำหน่ายเหล้าเรียกว่า เหล้าเส้าซิง (绍兴酒) คนญี่ปุ่นชอบกิน ส่วนเมืองจีนเรียกหวงจิ่ว (黄酒) หรือเหล้าสีเหลือง รสชาติออกหวานนิดหน่อย เอาบ๊วยไปแช่จะมีรสเปรี้ยวหวาน ผมนำเข้ามาไทยคือทำมาหลายปี กระจายไปได้หลายพันสาขา ธุรกิจก็ไปได้ของมันเรื่อย ๆ แต่ตลาดมันกระจายอยู่แค่นี้เอง
“ระหว่างนั้นผมมามองเรื่องพลังงานแทน สมัยนั้นสินค้าประหยัดพลังงานมันไม่มีอะไรนอกจากแอลอีดี (LED) ยกตัวอย่าง หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วหลอดไฟแอลอีดีประหยัด 60% กระแสช่วงนั้นมาแรง ผมกลับคิดว่าเราจะทำเทรดดิ้งต่อดีไหม เพราะการทำเทรดดิ้งเมื่อขายดีแล้วก็มีเจ้าอื่นมาเป็นคู่แข่ง พอเป็นแบบนี้ผมก็ลงทุนกับกลุ่มทุนไต้หวัน จดทะเบียน 200 ล้านบาท สร้างโรงงานที่บางพลีเพื่อผลิตเม็ดชิป (Chip LED) เจ้าแรกของประเทศไทย แล้วก็มีผลิตเวเฟอร์หลอดไฟ แพ็คกิ้งต่าง ๆ
“พอทำไปไม่นานผมคิดดูแล้วว่าเรามาทำธุรกิจพลังงาน คือสายประหยัดพลังงานดีกว่า ก็เลยจัดตั้งบริษัท อีพีซี ทำเกี่ยวกับโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) คือผมเปลี่ยนจากทำเทรดดิ้งอาหาร มาทำเทรดดิ้งหลอดไฟ ทำโรงงานหลอดไฟ ทำบริษัท อีพีซี โซลาร์
“ที่ประเทศจีนช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมารถยนต์ไฟฟ้า EV พัฒนาไปเร็วมาก กระแสมาแรง หลายแบรนด์มีชื่อเสียงโกอินเตอร์ไปแล้ว เมื่อ 2 ปีที่แล้วแบรนด์ GAC AION มีนโยบายเจาะตลาดต่างประเทศ ซึ่ง GAC Group เป็นบริษัทกรุ๊ปใหญ่ของประเทศจีนที่มีแบรนด์รถยนต์ต่างชาติในเครือ ทั้งแบรนด์ Toyota, Honda และ Mitsubishi และมีแบรนด์รถยนต์ของตนเองคือ Trumpchi และ AION
“ซึ่งแบรนด์ AION ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% แบรนด์นี้มีนโยบายเจาะตลาดต่างประเทศ เขาได้รีเสิร์ชข้อมูลว่าแถบตะวันออกกลางที่เขาจะไปมีประเทศในยุโรปและลาตินอเมริกา ส่วนในแถบอาเซียนเขามองไว้ 2 ประเทศที่จะไป ประเทศแรกคืออินโดนีเซียและประเทศที่สองคือไทย เมื่อทางเรารู้เรื่องนี้ก็ได้ประสานงานกับบอร์ดที่ AION ทันที เกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย เพื่อให้บริษัท AION ตัดสินใจมาประเทศไทยเป็นที่แรก นี่คือที่มาของ AION ประเทศไทยครับ”
AION รถยนต์ไฟฟ้า 100%
“ต้องยอมรับว่ารถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ AION ในประเทศไทย ยังมีคนรู้จักน้อย เพราะเพิ่งเข้ามาทำตลาดเพียงแค่ปีกว่า เราไม่ได้โฆษณาเยอะแยะด้วย แต่ที่เมืองจีนแบรนด์นี้ยอดขายอยู่ในท็อป 3 ครับ คือที่ 1 กับที่ 2 ในจีนจะเป็น BYD กับ Tesla ส่วน AION คือที่ 3 แต่ในด้านประสิทธิภาพ AION มีปัญหาน้อยสุดแบรนด์หนึ่ง ยกตัวอย่าง รถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งล้านคันในท้องตลาด รถของแบรนด์ AION มีปัญหาประมาณร้อยคัน คือมีปัญหาน้อยมาก
“ในประเทศจีนมีแบรนด์เล็ก-ใหญ่เกือบร้อยแบรนด์ ค่าเฉลี่ยรถยนต์ไฟฟ้า 2 ล้านกว่าคัน พบรถที่มีปัญหาจำนวน 1 ล้านคันนะครับ แต่แบรนด์ AION มีปัญหาแค่ร้อยกว่าคัน อาจจะมีปัญหาจุกจิกบ้าง มันไม่มีทางที่จะไม่มีปัญหาอยู่แล้วเพราะเป็นสินค้าอุตสาหกรรม แต่ AION คืออันดับหนึ่งของแบรนด์ที่มีปัญหาน้อยสุดในจีนครับ
“AION ตั้งเป้าไว้คือจะทำรถยนต์ไฟฟ้า 100% แพลตฟอร์มทุกอย่างเลยแข็งแกร่งเพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า หลายแบรนด์เขาทำรถยนต์ใช้น้ำมันหรืออาจจะทำรถยนต์ไฮบริดมาก่อนแล้วค่อยมาทำรถยนต์ไฟฟ้า นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้คุณภาพมันต่างกัน แบรนด์ AION มีประวัติทำร่วมกับแบรนด์ Toyota, Honda และ Mitsubishi ด้วย โดยที่ควบคุมประสิทธิภาพตามมาตรฐานของญี่ปุ่น พูดตรง ๆ นะครับ โรงงาน AION น่าจะมีสายพานผลิตทันสมัยที่สุดในจีน ถึงแม้ไม่ได้ใช้หุ่นยนต์หรือเอไอ(AI) ทั้งหมด แต่ว่า Supply Chain ทั้งหมดควบคุมได้ดีมาก
“บางท่านถามผมว่าทำไมมั่นใจที่จะเอารถยนต์ไฟฟ้า AION ไปทำแท็กซี่ เพราะแท็กซี่ไม่ใช่ใคร ๆ ก็ทำได้นะครับ บ้านเราก็มีเจ้าตลาด คือประสิทธิภาพรถมันต้องดี ต้องทน ใช้แล้วไม่จุกจิก อย่างคนขับแท็กซี่ สหกรณ์แท็กซี่หรือเถ้าแก่แท็กซี่ จะต้องไม่มีภาระซ่อมแซมเพิ่มเพราะต้องใช้ไปหลายปี แต่แบรนด์ AION เรากล้าการันตีครับ ที่เราทำมา 9 ปี 900,000 คัน ไม่มีใครทำ เพราะเรามั่นใจว่าแบตเตอรี่อยู่ได้ถึงขนาดนั้นประสิทธิภาพยังดี”
แบตเตอรี่ หัวใจของรถยนต์ EV
“ผมไม่ได้รีเสิร์ชแค่เฉพาะโรงงานแต่รีเสิร์ชเกี่ยวกับ Supply Chain ของ AION ด้วย ยกตัวอย่างแบตเตอรี่ที่ AION ใช้ ปืน AK17 ยิงยังไม่ระเบิดเลยครับ แต่ดูข่าวที่จีนหรือทั่วโลกมักจะเกิดเหตุการณ์รถยนต์ไฟฟ้าไฟไหม้ในบางแบรนด์ ซึ่งในข่าวไม่มีแบรนด์ AION เลย 1 ล้านคันนั้นไม่มีเลย
“รถยนต์ไฟฟ้าจะแยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ หนึ่งมี Know How ของตนเองกับสองกลุ่มที่ Mix เอาสิ่งดี ๆ ต่าง ๆ มารวมกัน ซึ่งกลุ่ม Mix ตัวรถจะสวยทันสมัยลูกเล่นเยอะดูแล้วสมาร์ท แต่กลุ่มที่มี Know How ของตนเองจะน่าเชื่อถือกว่า เขามีไอเดีย มี Know How ที่สำคัญมีแบตเตอรี่ของตนเอง อย่างแบรนด์ AION ก็มีแบตเตอรี่ของตนเอง คนอาจจะมองว่าเทคโนโลยีมันต่างกันนะครับ แต่ยกตัวอย่างในประเทศจีน รถแท็กซี่และพวกบริการรถยนต์ส่วนตัว 40% เป็นแบรนด์ของ AION เพราะเขามั่นใจว่าไม่มีปัญหาจุกจิกปลอดภัยทนทาน แบตเตอรี่แทบจะเป็นต้นทุนครึ่งหนึ่งของรถยนต์ไฟฟ้า ถ้าแบตเตอรี่ไว้วางใจไม่ได้ก็ไม่น่าไว้วางใจทั้งหมด แพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้าของ AION มันแข็งแกร่งครับเพราะพัฒนาตามแบบแพลตฟอร์ม
“แบรนด์ AION มี Supply Chain เองทั้งหมดเลยครับ ผลิตทั้งแบตเตอรี่ มอเตอร์ สถานีชาร์จ ทุกอย่าง แบรนด์ AION ผลิตทั้งหมดเลยครับ วิจัยและพัฒนาด้วยตนเองหมดเลย แผนก Research and Development ของ แบรนด์ AION มีวิศวกร 6,000 คนอยู่ในตึกเดียวกัน ต้องเข้าไปดูไปสัมผัสตรงนั้นว่าอลังการขนาดไหนครับ”
สร้างแบรนด์รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
“สาเหตุหนึ่งที่ผมตัดสินใจทำรถยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ นั้นเพราะผมเลือกแบรนด์ที่แข็งแกร่งก่อน โดย AION ถือว่าแข็งแกร่งมากที่ประเทศจีนและยังไปได้อีกไกล หลังจากมั่นใจกับ แบรนด์ AION ผมมองเห็นว่าที่ประเทศไทยมีมอเตอร์ไซค์เยอะมาก แต่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในไทยมีไม่ถึง 1% ตามท้องตลาดพอดูแล้วแบรนด์ดัง ๆ ในสายรถไฟฟ้า EV เขายังไม่ทำรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเต็มตัว เรากลับมาศึกษาดูว่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่เราทำน่าจะประสิทธิภาพดี เป็นแบรนด์ของไทย อย่างน้อยอาจจะขยายไปเป็นแบตเตอรี่ แพ็คกิ้ง มอเตอร์ต่าง ๆ ในไทยด้วย เราโฟกัสตัวนี้ว่าน่าจะทำแบรนด์สักตัวหนึ่งมาแข่งขันในตลาด ก่อนหน้านี้เราสื่อสารนานมากนะครับเพราะเรามีทีมตลาดจากไต้หวัน จีน และประเทศไทย
“แบรนด์ที่ผมทำคือรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2 ล้อ ชื่อ SMOGO เทคโนโลยีค่อนข้างง่าย แต่ว่าถ้าทำให้รถ 2 ล้อมันดีไม่ง่ายนะครับ เพราะต้องควบคุม Supply Chain ของเราด้วย ตรงนี้เราจะมีทีม Research and Development มี ทีม Product Manager อยู่ในสายธุรกิจรถไฟฟ้า EV เป็นท็อป ๆ ในโลก มีทีม After Sale กับทีม Detail เป็นบริษัทที่ไทยมารวมกันสร้างทีมงานตรงนี้ขึ้นมา
“ผมตั้งเป้าหมายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าตัวนี้ไว้ว่า 1 คือต้องทน เพราะว่าเมืองไทยมีน้ำท่วมบ้างในบางพื้นที่ ต่างประเทศอาจจะกันน้ำจากการถูกสาดหรือฝนตก แต่เมืองไทยรถต้องแช่น้ำได้ แช่น้ำสักครึ่งชั่วโมงน้ำไม่เข้า มันมีหลายแบรนด์ที่พอเจอน้ำเข้าแล้วแบตเตอรี่เสียหาย ดังนั้นแบตเตอรี่เราต้องทน ผมคุยกับซัพพลายเออร์แบตเตอรี่ว่าต้องการการันตี 5 ปี จะต้องทำยังไงได้บ้าง มันมีหลายส่วนนะ แล้วคนไทยเก่งเรื่องใช้มอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว เขาขี่กันมาหลายสิบปีรู้จักทุกแบรนด์ที่ดี ๆ อยู่แล้ว
“ดังนั้นของเราคือรูปร่างต้องสวย มีสีสัน ทน แล้วแบรนด์เราจะไปได้ของมันเองครับ แต่ตัวผมมองแล้วนะเราอาจจะไปทาง B2B (Business To Business) ก่อน ถ้าสมมุติเราเซ็นสัญญากับบริษัทใหญ่ เราจะมี Eco System ที่สมบูรณ์ตู้ชาร์จพร้อม เราจะเอาโวลุ่มมาก่อน ใช้เสร็จแล้วเราจะมีชื่อเสียงหันกลับมาดูที่ลูกค้าบางคนที่มาซื้อสินค้าครั้งหนึ่ง อาจจะไม่ได้ต้องการสัมผัสแบรนด์ใหม่ ๆ แต่อาจจะดูตรงรูปร่างหรือสีที่เขาชอบ ความต้องการก็จะเกิดขึ้น
“นอกจากนี้เราจะทำแอปพลิเคชัน Eco System เพื่อดูแลรถแต่ละคันว่าแบตเตอรี่ปกติไหม รถวิ่งปกติไหม ที่สำคัญที่สุดคือระบบเราจะดูแลประสิทธิภาพแบตเตอรี่ด้วย คือในเมืองไทยตอนนี้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ายังไม่เยอะครับ ข่าวไฟไหม้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเลยยังไม่เยอะตามไปด้วย แต่ที่เมืองจีนเจอปัญหานี้หลายครั้งแล้ว บางครั้งเขาเอาแบตเตอรี่ไปชาร์จไฟแล้วไฟไหม้อาคารมีคนเสียชีวิต ตรงนี้เราจะใช้ระบบเราดูแลประสิทธิภาพแบตเตอรี่ ยกตัวอย่าง แบตเตอรี่นี้ใช้ไป 3 ปี 4 ปี มันจะเริ่มเสื่อม เริ่มบวม เริ่มมีปัญหาแล้ว ระบบเราจะต้องเตือนผู้ขับขี่ว่าให้นำแบตเตอรี่มาที่ส่วน การซ่อมบำรุงเพราะมันไม่ปกติแล้ว
“แต่ถ้าเขายังไม่ไป ระบบเราจะเตือนอีกขั้นหนึ่งว่าแบตเตอรี่จะอันตราย เราต้องตัดไฟเขาไม่ให้ใช้แล้วครับ ตรงนี้เราดูแลเพราะว่าผู้ใช้ไม่อยู่กับเรา แต่เราก็ไม่ได้ขายรถให้เขาอย่างเดียวแล้วปล่อยเขาใช้ไปเรื่อย ๆ ถ้าเราทำธุรกิจแบบ B2B มีบริษัทใหญ่ ๆ เช่ารถเราหลายร้อยคัน ตรงนี้เราต้องดูประสิทธิภาพแบตเตอรี่ของเขาด้วย ว่าแบตเตอรี่เหลือกี่เปอร์เซ็นต์ มีสถานีชาร์จที่ใกล้สุดตรงไหน เราก็ใช้แอปดูแลเขาด้วย อันนี้อาจจะทำต่างจากทั่วไปครับ”
วางรากฐานจ้างงานสร้างสังคม
ผมเข้าใจครับว่าจะทำธุรกิจที่เมืองไทยสำเร็จมันต้องเป็นสเกลไหน คือถ้าผมถือกระเป๋าออกไปขายของแบบนี้ มันไปไม่ไกล แต่ผมต้องยืนอยู่กับที่ คือต้องมีสินค้าที่ดีให้ผู้บริโภคใช้แล้วไม่มีปัญหา ผลตอบรับตามมาต้องดี อีกอย่างหนึ่งต้องให้สังคมยอมรับสินค้าของเรา ผมถึงต้องเอา Training Education เข้ามาที่ไทยด้วย 1 คือเราสร้างสินค้าเป็นของเรา 2คือต้องสร้างคน ผมก็ไปที่วิทยาลัยเทคนิคหลายที่ครับ เช่น ชลบุรี ช่างเขาตั้งใจเรียนด้วยนะ แต่ผมดูแล้วเครื่องมือช่าง วิธีการสอนต่าง ๆ อาจต้องเสริมเรื่องความทันสมัยอีกสักหน่อย
แต่ว่าเรามีช่องทางนี้ เรามี Know How ก็เจรจากับบริษัทที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ใช้เอไอ (AI) ใช้คลาว (cloud) ไปเทรนนิ่ง สื่อที่เขาสอนมันครบและทันสมัยมาก เรารวมกับหลายที่ต่าง ๆ นะ ยกตัวอย่าง บริษัทของเยอรมันให้เขาไปเทรนช่าง เราดีลกับหลายแบรนด์ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า EV มาเทรนช่างหรือว่าคนงานที่ผลิตในโรงงานครับ รวมถึงเซลล์เราก็เทรน เราสร้างสินค้าเสร็จแล้ว มีแบรนด์สินค้าแล้วเราต้องสร้างคนด้วย
เราทำเพื่อสังคมครับคือไปเจรจากับวิทยาลัยเทคนิคและมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับในเรื่องจบมามีอาชีพทำแล้ว หรือต่อไปสิ่งที่ผมคิดไว้ อาจจะเขาไปในกลุ่มของทหาร ไปเทรนทหารช่างต่าง ๆ พวกนี้ ไอเดียผมแตกกระจาย แต่ผมก็ยังไม่รู้นะว่าผมจะทำได้ใหญ่แค่ไหน แต่ตรงนี้ผมว่าเรารักสังคมด้วยดีกว่า ดีกว่าที่เราทำธุรกิจล้วน ๆ ขายของอย่างเดียว อันนี้ไม่ใช่นิสัยผม
ผมอายุ 50 กว่าแล้วนะ ผมทำเสร็จมาหมดแล้ว จริง ๆ ผมไม่ทำอะไรอีกก็ได้ครับ ผมพออยู่ได้ แต่นี่ผมบอกเลยว่าผมอายุ 50 กว่าแล้ว มี 30 ปีที่สั่งสมและเก็บมา (ประสบการณ์) เราจะทำให้สังคมได้ เป็นเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุด เป้าหมายที่ดีที่สุดด้วยครับ
บริการหลังการขายความท้าทายในระยะยาว
ถามว่าปัญหาของรถยนต์ ผมคิดว่ามันมีทุกแบรนด์อยู่แล้ว ผมขอพูดตามความคิดของตัวเองนะไม่ใช่ตัวแทน AION นะครับ คือปัญหามันมี แต่สิ่งที่ผมจะคุยกับผู้บริโภคก็คือ การเอาสินค้ากระจายตลาดเพื่อลดราคาไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป อย่างสมมุติรถผมขายราคา 1 ล้านบาท แต่วันข้างหน้าผมลดราคาเหลือ 950,000 บาทผมเสียไป 50,000 บาทแต่ทุกคนจะรู้สึกไม่ดี (สินค้าคุณภาพด้อยลง) แบรนด์ก็เสียหาย
ตอนนี้ที่จีนมีหลายแบรนด์กระแสมาแรง ผมไม่อยากให้ไปแข่งราคาสู้กันแบบนั้น คือเราไปอัพตรงเซอร์วิสหรืออย่างอื่น ๆ ดีกว่า อย่างแบตเตอรี่ก็รับประกันการวิ่งหลายแสนกิโลเมตร หรือการซ่อมบำรุงอะไหล่รถแบบนี้ดีไหม ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นเลยคือการลดราคามาสู้กันนะครับ เพราะลูกค้าจะรู้สึกไม่ดี ลดราคาไม่ใช่แค่ว่าจะมากระตุ้นตลาดนะ อย่างรถคันละ 1 ล้านบาทกับคันละ 950,000 บาท ลูกค้าจะเริ่มรอดูแล้วว่าลดอีกไหม เขาไม่ซื้อเขารออีก มันต้องตามราคาด้วย เราอัพที่เซอร์วิสดีกว่า แต่ที่พูดมานี่คือความคิดส่วนตัวผมนะ ไม่ได้ตอบคำถามแทนใครครับ
ปัจจุบันนี้อีกปัญหาที่เราเจอคือเรื่ององค์ความรู้ของคนด้านด้านรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า ว่าเครื่องยนต์นี้รับกับรถยนต์ไฟฟ้าไหม อะไหล่ที่ถูกต้องคืออะไร กังวลว่ารถหลังจากใช้มาเป็นเวลากี่ปี ราคาจะตกลงไหม มองที่ภาพรวม รถที่ใช้ต่อไปหลังจาก 5 ปี 10 ปี เมื่อมันใช้ไม่ได้แล้วต้องจัดการพวกนี้ยังไง อย่างแบตเตอรี่ คุณจะจัดการยังไง รีไซเคิลมันเหรอ? คุณก็ต้องวางแผนการจัดการมาแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ต้องให้ความรู้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าครับ ไม่อย่างนั้นเขาจะกังวล อย่าง การชาร์จ พวกนี้มันเกี่ยวกับสังคม ดังนั้นผมอาจจะทำเรื่องของ Training ด้วย ให้ความรู้ช่างก่อนเลย ไม่อย่างนั้นผู้บริโภคเขาอาจจะไม่เชื่อ อย่างเราเทรนช่าง อัพสกิลให้เขารู้เรื่องรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นจนเชี่ยวชาญ ในวิทยาลัยก็มีครูที่เขารู้เรื่องพวกนี้ก่อน กลุ่มคนพวกนี้เขาพูดแล้วคนจะเชื่อถือ ดังนั้นผมเลือกโฟกัสตรงนี้เลย คือ Education กับ Training ที่ทันสมัยและกระจายไปให้ได้มากที่สุด ให้คนมีความรู้ด้านรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด
แบตเตอรี่และการจัดการสิ่งแวดล้อม
“หากพูดถึงเรื่องการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ต้องยอมรับว่ามีเรื่องของมลพิษเยอะมาก ปกติแล้วแบตเตอรี่ในรถยนต์และมอเตอร์ไซค์เราเอากลับมาใช้ประมาณ 70-90% ยกตัวอย่างรถยนต์ถ้าแบตเตอรี่เสื่อม ไม่ได้ใช้งานแล้ว ตัวแบตเตอรี่ยังใช้กับอย่างอื่นได้ด้วย ก็ถอดมาซีลแพ็คใหม่ ไม่ได้เสียหาย แต่ถ้าตัวแบตส่วนที่เสียหายไป 20-30% อาจจะนำไปรีไซเคิลส่งไปโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ใช้ใหม่
“แบตเตอรี่โดยปกติถ้าราคาตามท้องตลาดมันลดลง คุณภาพตัวแบตเตอรี่ก็น่าจะลดลงด้วย แต่ในอีกทางหนึ่ง ราคามันลดลงเพราะเทคโนโลยีแบตเตอรี่มันพัฒนามากขึ้น เดี๋ยวนี้มี Super Quick Charge แล้ว อย่างล่าสุดชาร์จ 1 นาที วิ่งได้ 1 กิโลเมตร หมายความว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่มันพัฒนามากขึ้น แต่ราคามันลดลง มันต้องมีจุดหนึ่งที่รถยนต์ไฟฟ้าจะเร็วมากขึ้นกว่าปัจจุบันนี้แน่นอน ไม่ไกลด้วย อาจจะ 2 ปีข้างหน้าก็เกิดขึ้นแล้ว
“ในส่วนของการจัดการแบตเตอรี่เมื่อไม่ได้ใช้งานแล้ว ต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐของประเทศที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม เขาสามารถตัดสินใจในโครงการใหญ่ได้ เพราะว่ามันต้องมีโรงงานจัดการแบตเตอรี่เกิดขึ้น แต่ก่อนจะมีขึ้นได้ต้องสร้างมาตรฐานก่อน คือต้องให้การจัดการแบตเตอรี่ไม่มีมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อม ถ้ามาตรฐานไม่ดี มลพิษก็เกิดขึ้นด้วย
“เพราะฉะนั้นเรื่องของ Know How สำคัญมาก ต้องสร้างมาตรฐานก่อน เสร็จแล้วในโรงงานการจัดการจะกระจุยกระจายไม่ได้ หรือให้เอกชนไปเปิดเอง 10-20 โรงงานเพื่อจัดการแบตเตอรี่ไม่ได้ มันต้องโฟกัสว่าเฉพาะบริษัทที่มี Know How ตามมาตรฐานสัก 3-4 เจ้า ตัวนี้เรียกว่า Whitelistคือจะอนุญาตเฉพาะบริษัทที่มันมั่นคงที่มีวิธีการความรู้แข็งแกร่ง มีมาตรฐานมาจัดการแบตเตอรี่ให้ ตอนนี้ภาครัฐต้องมองแล้วครับ เพราะรถยนต์ไฟฟ้ามันกำลังมาแล้ว ต้องเตรียมพร้อมก่อนครับ”
กุญแจสู่อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย
“ถ้าวันนี้คุณใช้รถยนต์ไฟฟ้า ความคิดผมนะคุณจะไม่อยากขับรถยนต์ใช้น้ำมันแล้ว ลองใช้ก่อนสัก 3-4 วัน อย่างบริษัทพันธมิตรเรามีการปล่อยเช่ารถ 3 วัน ซึ่งใน 3 วันนี้คุณจะเห็นทุกอย่างไม่ว่าจะขับในตัวเมืองหรือว่าต่างจังหวัด ชาร์จไฟแค่ครั้งเดียวแล้วดูว่ามันรวดเร็วไหม ใช้แอปพลิเคชันสะดวกไหม เช่าสัก 3 วันก่อนจะตัดสินใจซื้อ ผมมั่นใจว่าถ้าใช้แล้วจะไม่อยากใช้รถยนต์แบบเติมน้ำมัน
“ยุคของรถยนต์ไฟฟ้ามันมาแล้ว หลายประเทศรัฐก็ช่วยสนับสนุน อย่างผมนี่ไปเมืองจีนบ่อยครับ ไปเจรจาเรื่อง Supply Chain ของจีนว่าจะร่วมมือกับบริษัทของไทยที่ไหนบ้าง เพราะเรามี Supply Chain ของรถยนต์ไฟฟ้าด้วย ตรงนี้มีข่าวดีมานะครับ คนจีนมาลงทุนโรงงานรถยนต์ไฟฟ้าเยอะ ตอนนี้ผมเลยกำลังดูอยู่ หาพันธมิตรว่ามีบริษัทไหนต้องการ JV (Joint Venture) กับคนไทย เพราะเมืองไทยมันมี Supply Chain รถยนต์จากเจ้าดัง ๆ ใหญ่ ๆ อยู่แล้วครับ เราจะได้จับมือกันสร้าง Supply Chain
“วันข้างหน้าอาจมีรถยนต์ของยุโรปหรือญี่ปุ่นที่เราใช้กันอยู่จะทำรถยนต์ไฟฟ้า แล้วเรามี Supply Chain พวกนี้ไหม ไม่ใช่ซื้อจากโรงงานจีนอย่างเดียว ผมกำลังดูอยู่ครับ แล้วก็พร้อมทำพวกนี้ แต่ผมอาจจะไม่ได้ไปจัดการส่วนนี้เอง ผมอาจจะช่วยปรึกษาแล้วจับมือร่วมกันทำตรงนี้ด้วย ที่ผมจัดการได้คือพวก Education Training พวกนี้ทุกแบรนด์มันเหมือนกันหมด เราจะมีคอร์สที่ทันสมัยที่สุด ดูอย่างเมืองจีนมีอะไรหรือต่างประเทศมีอะไรทันสมัยบ้างแล้ว เอาคอร์สพวกนี้มาสอนนักเรียนกับช่างที่นี่ อาจจะมีร่วมกับวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยให้มีคอร์สเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน เครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด นำมาที่นี่เพื่อพัฒนา Supply Chain หรืออุตสาหการรถยนต์ไฟฟ้าก็ได้ คือเราจะช่วยได้ส่วนหนึ่งครับ
“ตอนนี้ผมโฟกัสที่รถชาร์จไฟฟ้าและพลังงานสีเขียว ในแต่ละธุรกิจที่ผมจับอยู่ผมมีพันธมิตร ผมทำคนเดียวไม่ไหวหรอกครับ ผมมีพันธมิตรโดยอาศัยเพื่อนก่อน เราคุยกันถูกคอ มุมมองความเห็นตรงกัน จะมีพันธมิตรบางท่านเก่งด้านนี้ บางท่านเก่งด้านนั้น ผมก็หาคนที่เราคุยกันรู้เรื่อง เพื่อนที่ดีเป็นพันธมิตรกัน ทำด้วยกัน โตพร้อมกัน ส่วนผมจะเป็นแบบคนที่รู้เรื่องตลาดไทยด้วย รู้นิสัยคนจีนด้วย วัฒนธรรมจีนกับไทยผมรู้เรื่องทั้งหมด ผมก็อาจจะชี้ทางให้พันธมิตรไปเติบโตพร้อมกัน แบบนั้นครับ”