แดง บัวแสน ศิลปะแห่งช่วงเวลา THE REALISM IN SURREALISM
วันหนึ่งเราได้นัดพบกับ แดง บัวแสน ที่ Museum of Contemporary Art หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย MOCA BANGKOK เพื่อพูดคุยในเรื่องชีวิตและผลงานของเขา ด้วยรูปร่างที่มีคาแรคเตอร์เฉพาะตัว เป็นคนพูดน้อย เสียงเบานุ่มนวล ขี้เกรงใจ ยิ้มง่าย ต่างจากผลงานของเขาอย่างสิ้นเชิง เพราะแต่ละภาพที่แสดงออกมานั้น ด้วยลายเส้นที่แข็งแรงมีความดิบ ปวดร้าว รันทน และพลังซ่อนอยู่ ด้วยผลงานที่ผ่านมานี้เองทำให้เขาจัดอยู่หนึ่งในศิลปินที่น่าจับตามองของวงการศิลปะไทย
ปัจจุบันเขาอาศัยอยู่ที่จังหวัดมุกดาหาร ทำงานเงียบ ๆ คนเดียว ห่างไกลผู้คนนาน ๆ ครั้งจะเข้ามาเยี่ยมเยียนกรุงเทพฯ เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ชมผลงานที่กำลังจัดแสดงมีชื่อว่า นิทรรศการศิลปกรรม * ฅน * มีศิลปินร่วมแสดง 24 คนจากภาคอีสาน เพื่อช่วยกันหารายได้ช่วยเหลือศิลปะนิพนธ์ของนิสิตนักศึกษาด้านศิลปะในภาคอีสาน และโรงพยาบาลพล จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย MOCA BANGKOK เมื่อปลายปี 2563
งานของเขาจมีสองภาพ ภาพแรกเขานำเอาแนวคิดวรรณคดีเรื่องผีเสื้อสมุทรมาเขียน เกี่ยวกับนางผีเสื้อสมุทรที่มีสองตัวตน คือตัวที่แปลงกายเป็นหญิงงาม เพื่อจะให้พระอภัยมณีหลงรักกับตัวตนที่เป็นยักษ์ โดยสื่อว่าคนเรามีทั้งข้างนอกข้างในต่างกันไปสิ่งที่เรามองเห็นกับสิ่งที่เป็นอยู่ในจิตใจอาจไม่เหมือนกัน
ภาพที่สองคือเอาศิลปินที่เขาเคารพคือแวนโก๊ะ มาวาดช่วงที่แวนโก๊ะตัดหูตัวเอง จินตนาการว่า มันจะเจ็บปวดแค่ไหนในการทำงานชิ้นหนึ่ง งานที่แวนโก๊ะทำมันดูสวยงามมาก แต่เบื้องหลังของงานแต่ละชิ้นมันค่อนข้างรันทด มีความลำบาก เป็นภาพแวนโก๊ะตัดหูออกไปแล้วมีหูบนจานสี มีสีแดงคือเลือดของเขา
เส้นทางชีวิตกับศิลปะ
ถ้าพูดชีวิตของแดง บัวแสน อาจไม่ได้โลดโผนนักเมื่อเทียบกับคนทั่วไปหรือศิลปินท่านอื่น เขาเดินเข้าสู่เส้นทางศิลปะอย่างช้า ๆ แต่มั่นคง พื้นเพเดิมแดงเป็นคนจังหวัดมุกดาหาร อยู่ในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นเกษตรกรและเป็นช่างสร้างและซ่อม วัด โบสถ์ วิหาร กุฏิ ทำให้แดงได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้มาจากพ่อมาตั้งแต่เด็ก ครอบครัวของเขามีพี่น้องทั้งหมด 7 คนส่วนเขาเป็นคนสุดท้อง ซึ่งมีพี่ ๆ คอยช่วยเหลือทำให้ได้มีโอกาสเรียนหนังสือในชั้นที่สูงมากกว่าคนอื่น
ในช่วงวัยเด็กแดงชอบดูการ์ตูนทำให้เกิดการชอบวาดรูปจึงฝึกฝนมาเรื่อย ๆ แต่ไม่รู้จะไปใช้ทำอะไร เมื่อเริ่มโตจึงเข้าเรียนสายสามัญในชั้นมัธยมปีที่ 4 ซึ่งเป็นสายสามัญ แต่แล้วมีอยู่วันหนึ่งรุ่นพี่ที่เรียนวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี เข้ามาบอกว่าที่นี่มีสาขาศิลปกรรมให้เรียน แดงจึงปรึกษาคุณพ่อแล้วลาออกจากโรงเรียนกลางคันทันที เพื่อเปลี่ยนสายไปเรียนที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลทันที
ผมโชคดีอย่างหนึ่งอาจารย์ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบล ท่านเรียนจบจากวิทยาลัยเพาะช่าง และมหาวิทยาลัยศิลปากร ความรู้ที่ถ่ายทอดออกมาจึงเป็นชุดเดียวกับที่สอนนักศึกษาในเมือง มันอาจไม่ใช่ขั้นสูงแต่เป็นเรื่องของพื้นฐานให้ผมเกิดความเข้าใจ แล้วมันทำให้ผมรู้สึกว่ามันต่อยอดไปเรียนที่อื่นได้ ซึ่งเวลานั้นไม่มีใครรู้ว่าศิลปะสำหรับผมมันจะไปได้ไกลขนาดไหน
ฝีมือของผมเริ่มพัฒนาช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้นที่เราได้มาศึกษาเรื่องของหลักการมากขึ้น ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่าผมเป็นคนที่จริงจังกับการทำงานมาก ตอนเด็ก ๆ เป็นคนแรกที่ไปถึงโรงเรียน แล้วมันก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมฝึกฝนด้านศิลปะได้ดีเป็นพิเศษ เพราะมีความตั้งใจสูง อาจไม่ได้เก่งเรื่องวิชาการแต่มีความตั้งใจทำอะไรก็ทำจริง
หลังจากเรียนจบที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบล ผมมาสอบเข้าได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พอมาเรียนที่นี่มันมีความเข้มข้นมาก แล้วผมโชคดีที่อาจารย์สอนในลาดกระบังยังเป็นอาจารย์รุ่นเก่าอย่างอาจารย์ เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ อาจารย์เดชา วราชุน ความรู้ความสามารถต่าง ๆ เหล่านี้เหมือนได้รับมาจากผู้ที่มีความรู้จริง ๆ ในช่วงนั้นจึงถือว่ามีความโชคดีที่ได้เรียนรู้มากขึ้น รับแนวทางวิธีคิดจากอาจารย์มาหลายอย่าง
แต่ในอีกด้านของชีวิตผมยังไม่สามารถปรับตัวอยู่กับสังคมในกรุงเทพฯ ได้ จึงเกิดความเครียด งานของผมตอนนั้นจึงหดหู่ เศร้าซึม เป็นงานที่ใช้เทคนิคในการวาดแนวสื่อผสม ไม่ใช่การวาดบนผ้าใบอย่างเดียว จะใช้วัสดุอย่างอื่นมาประกอบกัน งานช่วงนั้นจะดูสะท้อนสังคมรอบข้าง
ช่วงนั้นผมแค่ชอบในสิ่งที่ทำยังไม่มีเป้าหมายว่าจะเป็นศิลปิน เรายังไม่เห็นว่าเรียนจบไปแล้วจะไปทำอะไร แต่อาศัยว่าทำไปเรื่อย ๆ บังเอิญผมทำงานแล้วได้รางวัลจากการประกวดเยอะ มันก็ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานต่อยอดงานศิลปะไปเรื่อย ๆ แต่ยังไม่รู้ว่าถ้าเรียนจบไปแล้วจะไปทำงานเป็นศิลปินจริง ๆ ได้รึเปล่า
จุดเปลี่ยนสำคัญ
คือผมเป็นคนที่มีบุคลิกจริงจัง งานที่ทำทุกงานออกมาดีหมดอาจารย์ก็เห็นความสามารถ หลังเรียนจบปริญญาตรีจึงช่วยผลักดันให้ผมเป็นอาจารย์พิเศษเพื่อช่วยสอน ซึ่งอาจารย์ท่านเมตตาอยากให้ผมอยู่ในเส้นทางนี้ ไม่อยากให้ผมไปทำงานอย่างอื่น ท่านคงเห็นว่าเป็นแนวทางว่าไปทางนี้ได้ ตรงจุดนี้เองทำให้เริ่มคิดว่าเราน่าจะประกอบอาชีพศิลปินได้เพราะการได้เป็นอาจารย์มีเงินเดือนซัพพอร์ทแล้วผมก็เริ่มทำงานศิลปะจริงจังมากขึ้น
พอเริ่มมีเงินเดือนแล้วผมก็คิดว่าควรจะเรียนต่อปริญญาโท ก็คิดว่าถ้าเรียนจบปริญญาโทน่าจะกลับมาบรรจุเป็นอาจารย์ประจำได้ แล้วมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นความฝันของผมด้วย โชคดีที่ผมไปเรียนแล้วอาจารย์ก็ให้การสนับสนุนมากมาย ได้วิธีคิดที่หลากหลายขึ้นเปิดมุมมองผมมากขึ้น
“ภาวะอารมณ์ที่แย่ ๆ จากช่วงเรียนปริญญาตรียังมี จนใกล้เรียนจบปริญญาโท งานของผมเริ่มเติบโตขึ้นภาวะความคิดเริ่มเปลี่ยนไป ความหดหู่เริ่มหายไป งานก็เริ่มเปลี่ยนไป จากงานสะท้อนสังคมก็เข้าที่ความรู้สึกภายในตัวเอง เป็นความคิดความฝันมากขึ้น ในช่วงนี้ไม่มีอะไรที่ต้องกังวลไม่มีอะไรมากไปกว่าศิลปะ ซึ่งผมมีรายได้จากการขายงานศิลปะบ้าง แม้จะไม่ได้เยอะแต่ก็ไปเรื่อย ๆ ตามสเต็ปของมัน ซึ่งภาพแรกที่ขายได้้เป็นงานสื่อผสมที่ได้เหรียญทองจากการประกวดสมัยเรียนปริญญาตรี “ปัจจุุบันงานของผมถ้าให้ระบุุแนวชัด ๆ ไปเลยคงยากมันเปลี่ยนไปแต่ละช่วงเวลา อย่างตอนเรียนปริญญาตรีผมทำสื่อผสมสะท้อนสังคมจนถึงปริญญาโท จากนั้นแสดงงาน ครั้งแรกหลังเรียนจบจะออกไปทางแนวพุทธศิลป์จินตนาการแฟนตาซีดูไทย ๆ จากเพ้นท์ธรรมดาเป็นงานเพ้นท์เรียลลิสติกแต่เป็นสื่อความหมายเซอร์เรียลลิสติกนิด ๆ
ผลงานหลากสไตล์
ถ้าพูดถึงนิยามของศิลปะตั้งแต่อดีตจนถึงตอนนี้มีนิยามที่ไม่เหมือนกันเลย แต่สำหรับผมมันน่าจะเป็นพื้นที่ที่เราแสดงออกได้อย่างอิสระ อย่างเรื่องของความงาม ความคิด แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของแสดงออกเรื่องความคิด เป็นพื้นที่ที่เราสามารถแสดงอะไรผ่านตรงนี้ได้มากกว่า
จึงเป็นผลให้งานของผมที่ออกมาแต่ละครั้งจึงไม่เหมือนกันเลย ถ้าเอาภาพอดีตกับปัจจุบันมาเทียบแล้วบอกว่าเป็นของผมจะค่อนข้างบอกยาก เพราะมันจะเปลี่ยนไปตามวัย วุฒิภาวะ ความคิด ในแต่ละช่วงเวลา ผมจึงคิดว่ามันเป็นธรรมชาติจริง ๆ ของมนุษย์มันต้องเปลี่ยน ซึ่งงานศิลปะของผมจะทำอย่างเดียวตลอดหลายปีไม่ได้ เพราะศิลปะมันเป็นสิ่งที่สื่อออกมาจากข้างใน จากความคิดในแต่ละช่วงเวลา
งานของผมค่อนข้างหลากหลายตั้งแต่สื่อผสมเพ้นท์อย่างเดียว เพ้นท์ประกอบปั้น มีงานของผมชิ้นหนึ่งได้จัดแสดงที่ฟุกุโอกะ เป็นงานที่มีเป็นส่วนผสมของงานประติมากรรมกับงานเพ้นท์อยู่ ทุกวันนี้ผมก็ยังทำงานเกี่ยวกับประติมากรรมด้วยแล้วก็เพ้นท์ด้วย แต่มันอาจจะมีการซัพพอร์ทกัน ผมอาจจะปั้นโมเดลขึ้นมา อาจจะนำโมเดลนั้นมาเป็นแบบในการเพ้นท์ คล้ายเป็นหุ่นนิ่งสำหรับเพ้นท์แล้วนำโมเดลนี้มาต่อยอดเป็นงานศิลปะอีกทีหนึ่ง ทำให้ผมไม่รู้สึกเบื่อในการทำงาน ตอนนี้ผมฝึกเรื่องของงานดิจิตอลด้วย แต่ในท้ายที่สุดจะเอามาใส่ในงานเพ้นท์อีกที
ผมไม่มีวิธีคิดที่สร้างอะไรออกมาเป็นตัวละครเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ วิธีแบบนี้มันเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละคน ส่วนผมชอบแนวเหมือนจริงเรียลลิสติก ถ่ายทอดออกมาจะเป็นกึ่งเรียลลิสติก เพราะฉะนั้นเนื้อหามันจะเปลี่ยนไปตามที่ผมนำเสนอ ฉะนั้นอัตลักษณ์ในเชิงรูปแบบที่มันจะเห็นว่ารูปแบบแบบนี้จะเป็นนี้ สำหรับผมจะดูได้ยากมาก
หลักการทำงาน
การทำงานของผมเทคนิคกับเนื้อหานั้นต้องไปด้วยกัน ตอนผมทำงานช่วงเรียนปริญญาตรี เนื้อหาของผมแสดงเกี่ยวกับคนจรจัด ความรันทดหดหู่ในชีวิต เรื่องที่ผมนำมาใช้มันค่อนข้างจะสร้างความรู้สึกตรงนั้นได้ มันเป็นสื่อผสมที่เอาผ้าเช็ดสีมาทำเป็นคน เอาผ้ากระสอบมาที่เขาทิ้งมาทำเป็นเสื้อผ้า พอเราดูแล้วมันสามารถสร้างความสะเทือนอารมณ์ตรงนั้นได้ ถ้าเป็นงานพุทธศิลป์ผมจะเขียนผ้าใบเรียบ ๆ เกลี่ยสีเนียน มันต้องเสริมไปด้วย
ซึ่งมันต้องแบ่งเป็นสองส่วนคือ เรื่องความสมบูรณ์ของเนื้อหาที่จะนำเสนอกับ วิธีการวาดของเราว่ามันจะจบแค่ไหน ถ้าเนื้อหาเราสื่อสารสมบูรณ์ตามที่เราต้องการแล้วคือจบ แต่การจบงานที่คนต้องดูในเชิงของมันจะเป็นเรื่องของความงามสุนทรียภาพไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสีสัน องค์ประกอบที่อยู่ในงาน เราเห็นว่ามันลงตัวแล้วมันสวยแล้ว ไม่รู้สึกว่ามันขาดอะไรไปซึ่งการทำงานมันต้องมีเรื่องของประสบการณ์เข้ามาด้วย
แต่กว่าจะทำงานชิ้นหนึ่งได้มันมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่นเรามีทักษะจำกัดในการนำเสนอ เราจะเขียนงานเรียลลิสติกชิ้นหนึ่ง เราจะคิดขึ้นมาเองไม่ได้เพราะต้องมีการหาแบบที่ถูกต้อง อย่างชุดเครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย ซึ่งคนที่เขียนรูปจะไปหาอะไรแบบนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะอาจไม่รู้จริงในเรื่องนั้น จึงต้องอาศัยคนอื่นที่เชี่ยวชาญช่วยหา หรือแม้กระทั่งทักษะการนำเสนอ บางอย่างมันยากเกินที่เราจะนำเสนอ เช่นการใช้สีบางครั้งเราต้องไปศึกษาเพิ่ม บางทีต้องไปลงเรียนว่าเทคนิคแบบนี้เขาสร้างกันอย่างไร กว่าจะได้งานชิ้นหนึ่งใช้เวลาพอสมควร งานแต่ละชิ้นของผมใช้เวลาและรายละเอียดไม่เหมือนกัน แล้วแต่ว่าขนาดเท่าไหร่เขียนอะไรแต่โดยประมาณแล้วงานแต่ละชิ้นของผมถ้า 1 เมตรขึ้นใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน
สำหรับใครที่อยากเป็นศิลปิน อย่างแรกเลยคือต้องมีดีในตัวเองก่อน คือต้องมีทักษะฝีมือที่ดี ไม่ว่าสาขาไหนก็ตามต้องฝึกตรงนี้ให้แน่นก่อน อย่างที่สองต้องมีความกว้างขวาง เราทำงานประเภทนี้ต้องทำอย่างไรต้องรู้จักใครบ้าง แกลเลอรี่ ลูกค้า เข้าหาสังคม ซึ่งตรงนี้เป็นข้อด้อยของผมแต่มันคือความจำเป็น ไม่อย่างนั้นงานของเราจะโตไม่ได้
แต่สมัยนี้ดีกว่าสมัยก่อนมาก จากที่ผมเองต้องฝึกหนักมากผมอยากรู้อะไรก็ต้องไปหาครูอาจารย์ ตอนนี้ข้อมูลแทบทุกอย่างอยู่ในอินเทอร์เน็ตเยอะไม่ต้องใช้เวลานาน หาความรู้ง่าย และผมเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ที่ฝีมือจะสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ดีเช่นกัน
การศึกษา
• ร.ร.คำสร้อยวิทยาสรรค์
• ปวช-วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี
• ป.ตรี-สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
• ป.โท-มหาวิทยาลัยศิลปากร
รางวัล
• รางวัลเหรียญทองสาขาสื่อผสมในการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 44 พ.ศ.2541
• แสดงงาน ‘The 3rd Fukuoka Asian Art Triennale 2005’ ที่ประเทศญี่ปุ่น