สุขสภาพจากการสัมผัส-โอบกอด (Touch-Hug Wellness)
การสัมผัส ซึ่งรวมถึงการสัมผัสตัว การจับมือ จูบ การโอบกอด ดูเหมือนเป็นเพียงการแสดงออกของความรัก ความเป็นมิตร และความสัมพันธ์ที่ดี แต่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ พบว่า การสัมผัสส่งผลไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความสุข แต่ยังทำให้สุขภาพดี ซึ่งอาจทำให้มีชีวิตยืนยาวในที่สุด การสัมผัสเป็นกิจกรรมที่สามารถสื่อสารอารมณ์ไปยังผู้ที่ถูกสัมผัสได้ การทดลองที่ออกแบบให้อาสาสมัครได้รับการสัมผัส โดยมองไม่เห็นผู้ที่มาสัมผัสและการสัมผัสนั้น แล้วให้อาสาสมัครทายอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งพบว่า กลุ่มคนที่เข้าทำการทดลองมากกว่าครึ่งหนึ่ง สามารถทายอารมณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างถูกต้อง การสัมผัสจึงเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกไปยังผู้ถูกสัมผัส การสัมผัสด้วยความรักและปรารถนาดีจึงเป็นการส่งสัญญาณไปให้ผู้รับได้รับกำลังใจและมีความสุข
เมื่อพิจารณาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น การสัมผัส-โอบกอด ด้วยความรักรวมถึงการนวด จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย โดยเฉพาะการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดที่ทำให้เกิดความสุขอาทิ โดปามีน ที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีความเป็นอยู่ที่ดีออกซิโทซิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก ทำให้เกิดความรักและความผูกพัน ลดความกลัว และเพิ่มความรู้สึกปลอดภัย ลดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ และเซโรโทนิน ที่ทำให้อารมณ์ผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า และกระตุ้นภูมิคุ้มกัน การทดลองเชิงปฏิบัติการซึ่งแบ่งคู่สมรสออกเป็น 2 กลุ่ม คู่สมรสกลุ่มแรกให้จับมือกัน 10 นาที ระหว่างชมภาพยนตร์รักโรแมนติกและกอดกัน 20 วินาที ส่วนคู่สมรสกลุ่มที่สองให้นั่งกันอยู่เงียบ ๆ ไม่ได้สัมผัสตัวกันในเวลาเท่ากัน หลังจากนั้นจึงมอบหมายให้คู่สมรสทำกิจกรรมที่มีความเครียด ผลการทดลองพบว่า คู่สมรสกลุ่มแรกมีการตอบสนองต่อความเครียดน้อยกว่ากลุ่มที่สอง
ความสำคัญของการสัมผัสต่อสุขภาพจิต โดยเฉพาะความเครียดซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมทางสังคม อาจแสดงให้เห็นได้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโรมาเนียในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เมื่อนิโคไล เชาเชสกู (Nicolae Ceaușescu) ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของโรมาเนีย ผู้นำเผด็จการคอมมิวนิสต์ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประชากรเพื่อขยายการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อบังคับให้ชาย-หญิงมีลูกหลายคน เด็กทารกจำนวนมากถูกกีดกันจากมารดา และถูกเลี้ยงดูในสถาบันที่ขาดแคลนผู้ดูแลเด็ก ส่งผลทำให้เด็กเติบโตมาโดยขาดการดูแลเอาใจใส่ ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่แสดงออกทางอารมณ์ สีหน้าที่ว่างเปล่า การถอนตัวจากสังคม และการเคลื่อนไหวที่แปลกประหลาด
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการทดสอบเด็กในโครงการที่มีการดูแลเด็กที่ดีกว่าโดยมีผู้ดูแล 1 คนต่อเด็ก 4 คน เปรียบเทียบกับเด็กในกลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลในสถาบันที่มีผู้ดูแลเด็ก 1 คนต่อเด็ก 20 คน ผลการวิจัยพบว่า เด็กที่ได้รับการดูแลใกล้ชิดมีระดับความเครียดต่ำกว่า (วัดสารคอร์ติซอลในน้ำลาย) เด็กที่ได้รับการดูแลไม่ดี ด้วยเหตุนี้ กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขของไทย จึงส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวถึง 6 เดือน เพราะนอกจากจะได้รับสารอาหารที่ดีแล้ว ความใกล้ชิด การกอดและสัมผัสกัน จะทำให้เกิดสายใยความรักผูกพัน และทำให้เด็กมีความฉลาดทางสติปัญญาและอารมณ์ (IQ &EQ)
การสัมผัสยังช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น และช่วยป้องกัน บรรเทา และรักษาอาการของโรคและความเจ็บป่วยต่าง ๆ การวิจัยหลายชิ้นพบว่า การสัมผัสในเชิงบวกช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่ช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ เช่น การเพิ่มเซลล์ NK (Natural Killer Cells) เซลล์เม็ดเลือดขาว โปรตีน IGA (Immunoglobulin A) เป็นต้น การวิจัยที่ทดลองให้ผู้ใหญ่ที่แข็งแรง 404 คน ได้รับเชื้อหวัด พบว่าผู้ที่ได้รับการกอดบ่อยครั้ง จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อหวัด ส่วนผู้ที่ติดเชื้อหวัดจะมีอาการรุนแรงน้อยกว่า เช่นเดียวกับทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่ได้รับการบำบัดโดยการนวดหรือสัมผัสเป็นเวลา 5-10 วัน จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 และอยู่ในโรงพยาบาลน้อยกว่าทารกที่ไม่ได้รับการบำบัดด้วยวิธีดังกล่าว การบำบัดด้วยการนวดและสัมผัสให้แก่ผู้ที่เป็นมะเร็ง พบว่าช่วยลดการเจ็บปวด ความหดหู่ และความวิตกกังวลได้ในระยะสั้นส่วนผลในระยะยาว ประกอบด้วย การลดภาวะซึมเศร้าและความโกรธ เพิ่มฮอร์โมนความสุข และภูมิคุ้มกันของร่างกาย
นอกจากนี้ การสัมผัส-โอบกอด ยังเป็นตัวช่วยทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น การสัมผัสทำให้เกิดการเห็นคุณค่าในตนเองและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น เนื่องจากการสัมผัสจะช่วยกระตุ้นคอร์เทกซ์ (Orbitofrontal Cortex)ที่อยู่ด้านหน้าของสมอง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของสมองที่เกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจ การสัมผัสยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัว คนรัก และเพื่อน เนื่องจากการสัมผัสทำให้เกิดการสร้างฮอร์โมนออกซิโทซิน ที่ช่วยทำให้เกิดความไว้วางใจกัน ทั้งนี้การศึกษาในสัตว์ตระกูลลิงพบว่า การสัมผัสเป็นกลไกส่งเสริมให้เกิดการตอบแทนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
คำถามคือแล้วเราควรสัมผัสหรือกอดกันเท่าไรจึงจะเพียงพอ คำตอบคือมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเหมาะสมกับกาลเทศะ งานวิจัยของนักจิตวิทยา Sidney Jourard ได้สำรวจพฤติกรรมของเพื่อนที่สนทนากันในร้านกาแฟว่า มีการสัมผัสกันกี่ครั้งในหนึ่งชั่วโมง การสำรวจพบว่า ในฝรั่งเศส คนสัมผัสกัน 110 ครั้งต่อชั่วโมง คนในเปอโตริโกสัมผัสกัน 180 ครั้งต่อชั่วโมง ในสหรัฐอเมริกามีการสัมผัสกันเพียง 2 ครั้ง และในอังกฤษไม่ได้แตะต้องกันเลย
ผลการสำรวจนี้เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับการจัดอันดับความชุกของคนอายุยืนของล็อตตี้ (Lottie) พบข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ประเทศเปอโตริโกติดอันดับ 6 ของประเทศที่มีอัตราส่วนศตวรรษิกชนต่อประชากร 1 แสนคนมากที่สุด ฝรั่งเศสอันดับ 9 สหรัฐฯ อันดับ 11 และสหราชอาณาจักร อันดับ 23 ประเด็นที่ควรจะทำการศึกษาต่อไปคือ จำนวนการสัมผัสมีความสัมพันธ์กับการมีอายุยืนอย่างไร ส่วนคำแนะนำสำหรับครอบครัว Virginia Satir นักครอบครัวบำบัดชื่อดัง แนะนำให้คู่สมรสกอดกันบ่อย ๆ โดยระบุว่า กอด 4 ครั้งต่อวันเพื่อความอยู่รอด กอด 8 ครั้งต่อวันเพื่อธำรงรักษา และ กอด 12 ครั้งต่อวันเพื่อการเติบโต