โดดเดี่ยว...แต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๒๘ (๒) สุดฤทธิ์สุดเดช

โดดเดี่ยว...แต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๒๘ (๒) สุดฤทธิ์สุดเดช

“อันจาย” เป็นผู้ระบายสีสันของไซง่อนให้ฉันได้เห็น ในสิ่งที่รัฐบาลไม่ได้พาฉันไปดู มันมีทั้งแหล่งชุมชนคนญวนที่แออัด ดูแล้วไม่แตกต่างไปจากแถวคลองเตย หรือมักกะสัน

ฉันเดินจับจ่ายซื้อข้าวของแบบคนไซง่อนที่ย่าน “โซลอง” ซึ่งเป็นเสมือนเยาวราชของบ้านเรา ฉันแอบไปนอนบ้านเขาที่อยู่แถว “ตลาดเจอะเลิง” เป็นบ้านเก่า ๆ ค่อนข้างจะเล็กและคับแคบรวมทั้งไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย เขาพูดอย่างถ่อมตัวว่า

“ในยามสงครามเช่นนี้ มีห้องให้ซุกหัวนอนก็ดีแล้ว สันติคงไม่รังเกียจนะ”

ฉันจะไปรังเกียจได้อย่างไร ห้องแคบ ๆ ในตรอกสกปรกของบางกระบือที่ฉันเคยนอนร่วมกับหนู แมลงสาบฉันก็เคยอยู่มาแล้ว จะเป็นห้องนอนของโรงแรมระดับสาม...สี่ดาวที่รัฐบาลจัดให้ หรือห้องนอนที่อับและคับแคบของ “อันจาย” ฉันก็หลับลงได้เหมือนกัน

การที่ได้พบกับเขา ทำให้ฉันได้รู้จักไซง่อนอย่างเหมือนคนไซง่อนรู้จัก มีเพื่อนญวนมากมายหลายอาชีพอยากจะพูดคุยกับฉัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือแม่สาวญวน หน้าตาจิ้มลิ้มสวมชุด “อาวหย่าย” ซึ่งเป็นชุดประจำชาติที่ดูแล้วหวาบหวามใจของหนุ่มน้อยอย่างฉัน

สาวญวนพวกนี้ชอบผู้ชายต่างประเทศ “อันจาย” บอกกับฉันว่า

ผู้หญิงญวนอยากจะมีแฟนเป็นคนต่างชาติ เพราะพวกเธอมีความหวังว่าจะได้มีโอกาสหนีสงครามไปอยู่ต่างประเทศ แต่...

“แต่อะไรล่ะ” เมื่อฉันสงสัย “อันจาย” ก็บอกเสียงหนักแน่นว่า

“แต่พวกเธออันตราย เพราะเราจะไม่รู้เลยว่าเธอเป็นพวกเวียดกงแอบแฝงมาหรือเปล่า พอดีพอร้ายเธออาจจะฆ่าคุณทิ้ง”

การอยู่เวียดนามแม้แต่จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ แต่ฉันก็ได้รู้ว่าความรักของคนญวนนั้นแรงกล้า มีทหารต่างชาติถูกสาวญวนหลอกไปฆ่าด้วยวิธีการมารยาต่างๆ มากมาย

ห่างจากกรุงไซง่อนไปทางใต้ ไกลสัก ๑๐๐ กิโลเมตร จะเป็นเมืองเล็ก  ๆ ชื่อ “เบียนหวา” ที่นี่เจ้าหน้าที่รัฐบาลพาฉันเดินทางไปด้วยเหตุสองประการคือ

สถานที่แห่งนี้กำหนดไว้ว่า จะให้ทหารไทยตั้งเป็นฐานปฏิบัติการ (ซึ่งต่อมารัฐบาลได้ส่งกองทหารอาสาสมัคร “จงอางศึก” ซึ่งเป็นพท. ฉลาด หิรัญศิริเป็นผู้บัญชาการรบ ต่อมาท่านได้เลื่อนเป็นพลเอก ต่อมาได้ก่อปฏิวัติแต่ไม่สำเร็จจึงถูกประหารชีวิต ท่านกับฉันมีความสนิทสนมกันมาก)

ประการที่สอง คือ จังหวัดนี้เป็นสถานที่กักขัง “เวียดกง” (คือประชาชนเวียดนามใต้ที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ) ใหญ่ที่สุดของประเทศ

สถานที่นี้ทำให้เห็นความเลวร้ายของสงคราม ฉันได้พบกับประชาชนที่ผอมโซ มีสภาพเหมือนคนขาดอาหารถูกขังตากแดดเป็นจำนวนมาก พวกเขามองฉันและส่งสายตาเหมือนจะของความช่วยเหลือ

“แต่เรายังปรานีมัน” เอสคอร์ดหรือเจ้าหน้าที่ติดตามบอกเช่นนั้น

“ปรานีอย่างไร”

ก็เราไม่ฆ่ามันให้ตาย นี่ละความปรานีที่เราให้กับมัน” เมื่อฉันถามเขาก็อธิบายเช่นนั้น

ทหารที่ดูแลบรรดา “เวียดกง” ที่มีสภาพเหมือนซากศพที่เดินได้บอกกับฉันว่า

“พวกนี้มันเลวร้ายไว้ใจไม่ได้ เวลามันจับพวกเราได้มันก็ไม่ปรานี มันทำยิ่งกว่าเราทำเสียอีก”

“มันก็จะเอาเราไปทรมานด้วยวิธีการทารุณมากกว่าที่เราทำมันเสียอีก”

“แล้วเราต้องเอาเขามาทรมานตากแดดอย่างนี้หรือ”

“ไม่หรอกเมื่อเราจับพวกเขาเป็น ๆ ได้ เราก็จะต้องตัดใบหูข้างหนึ่งของเขาทิ้ง”

“ตัดทำไม” ฉันซัก

“ตัดเพื่อให้เห็นเครื่องหมายรู้กันว่าเขาเป็นเวียดกง เผื่อถ้าเขาหนีรอดไปได้ ใครเห็นหูข้างหนึ่งที่ไม่มีของเขา เราก็จะรู้ว่าเขาเป็นเวียดกง เป็นคนที่อันตรายต่อประเทศชาติ”

“แล้วถ้าเขาถูกฆ่าตายล่ะ” ฉันสงสัย

ทหารก็ตอบด้วยเสียงจริงจังขึงขังทันทีว่า

“เราก็จะควักตับของมันเอามาย่างกิน แล้วกินให้พวกมันเห็นว่า เพื่อนของมันถูกเรากินตับแล้ว ไอ้พวกเวียดกงก็จะได้เกรงกลัวเรา” คำพูดและน้ำเสียงของเขาแฝงด้วยความภาคภูมิใจที่สามารถกินตับของศัตรู

การตระเวนสังเกตการณ์รบในสงครามเวียดนาม “เอสคอร์ด” และทหารรัฐบาลพาฉันไปพบเห็นอีกหลายเมือง

ที่เมือง “ดานัง” เครื่องบินเวียดนามเกือบจะพาฉันและคนที่ร่วมเดินทางไปด้วยตายหมู่ เมื่อเครื่องแล่นถลาออกจากรันเวย์เกือบจะตกทะเลที่อยู่ห่างจากเราเพียงไม่กี่สิบเมตร

 ที่ “เกาะฟูกว็อก” เป็นเกาะใหญ่ที่อยู่ลึกเข้าไปในแดนกัมพูชา เรื่องนี้เป็นความตั้งใจของฝรั่งเศสที่ต้องการทิ้งปัญหาให้เขมรกับญวนทะเลาะกัน ซึ่งก็เหมือนกับ “เกาะกง” ซึ่งเป็นของไทย รัชกาลที่ ๔ ตั้งชื่อเกาะนี้ว่า “ประจันตคีรีเขต” เพื่อให้เป็นชื่อคล้องจองกับจังหวัด “ประจวบคีรีขันธ์”

ฝรั่งเศสก็นำเอา “เกาะกง” ยกไปให้กับเขมร เพื่อให้เป็นระเบิดเวลาวางไว้ให้ไทยกับกัมพูชาเกิดกรณีพิพาทเช่นเดียวกับ “เขาพระวิหาร”

ไม่แตกต่างอะไรกับอังกฤษนำเอา “เกาะหมาก” ของเรา ไปยกให้มาเลย์แล้วเปลี่ยนชื่อว่า “เกาะปีนัง” ทั้งที่สองเกาะดังกล่าวยังมีคนไทยอยู่อาศัยเป็นจำนวนมากมาจนถึงปัจจุบันนี้

ถ้าจะเขียนเล่าลึกเข้าไปอีก “เมืองทวาย ตะนาวศรี” ก็เคยเป็นของเราแต่อังกฤษก็ยกไปให้พม่า ทำให้คนไทยที่อาศัยอยู่สองเมืองซึ่งยังเรียกตัวเองว่า “ไทยสิงขร” กลายเป็นคนไทยพลัดถิ่น

หรือ “เมืองเชียงตุง” ก็เป็นของเราแต่อังกฤษก็ยกให้กับพม่า ทุกวันนี้พี่น้องไทใหญ่ยังเรียกร้องที่จะมาร่วมเผ่าไทย

แล้วก็ทำให้ฉันนึกถึง “เมืองจำปาสัก” ที่ฝรั่งเศสโกงเราไป ทั้งที่ข้อตกลงว่าดินแดนโขงฝั่งซ้ายเป็นของมัน ส่วนดินแดนโขงฝั่งขวาเป็นของไทย แต่มันก็ยึด “เมืองจำปาสัก”ไว้ เพื่อเตรียมการจะรุกรานไทย

เมื่อเสร็จสิ้นสงครามมันก็ยกนครจำปาสักให้กับลาวไป

นี่คือนิสัยสันดานของจักรวรรดินิยมล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศส และอังกฤษได้ร่วมกระทำไว้กับพี่น้องอินโดจีน รวมทั้งปัจจุบันที่ฉันยืนอยู่บนแผ่นดินเวียดนาม จักรวรรดินิยมอเมริกาก็กระทำคล้ายคลึงกัน จนทำให้เชื่อว่าสงครามเวียดนามครั้งนี้อเมริกาจะต้องพ่ายแพ้เหมือนฝรั่งเศสเคยพ่ายมาแล้วอย่างแน่นอน

มีงานเลี้ยงส่งฉันก่อนที่จะเดินทางกลับ ทางการเลือกร้านอาหารฝรั่งเศสที่หรูหราและได้ชื่อว่าแพงที่สุดในไซง่อน ชื่อร้าน “เลอแม่โขง” ร้านนี้ตั้งอยู่ใกล้อาคารรัฐสภา บนถนนตูยอ

ในสมัยที่ฝรั่งเศสปกครองเวียดนาม พวกเขาจะให้ร้านอาหารแห่งนี้เป็นที่เลี้ยงรับรองแขกบ้านแขกเมืองและสังสรรค์กันในระหว่างชนชั้นปกครอง

อาหารและไวน์ชั้นดีจะจัดส่งมาจากฝรั่งเศส จึงทำให้คนที่เข้าไปมีความรู้สึกราวกับว่านั่งกินอยู่ในภัตตาคารหรูในกรุงปารีส

เมื่อย่างเข้าไปในร้าน “เลอ แม่โขง” ทำให้ฉันนึกถึงคืนวันที่ฉันเป็น “ไกด์ผี” อยู่หน้า “โรงแรมโอเรียลเต็ล” ได้เห็นนักท่องเที่ยวเศรษฐีฝรั่งกินอยู่ในโฮเต็ลแห่งแรกของเมืองไทย ความยากจนทำให้ฉันต้องเจียมตัวไม่เคยคิดว่าชีวิตของฉันจะได้กินอย่างหรูหราเช่นนี้ ไม่เคยแม้แต่จะฝัน

แต่ในวันนั้นที่ไซง่อน เวียดนาม ในร้านอาหารฝรั่งเศสชื่อ “เลอ แม่โขง” ฉันได้นั่งอยู่ในสถานที่เช่นเดียวกันนี้แล้ว

“ท่านประธานาธิบดีเลือกเมนูคืนนี้ เป็นเมนูทีท่านใช้เลี้ยงรับรองแขกบ้านแขกเมืองระดับสูง” เอสคอร์ดบอกฉันอย่างภาคภูมิใจ ฟังแล้วอึดอัด เพราะการกินอาหารแบบนี้มีพิธีรีตองมากมายซึ่งเด็กหนุ่มอย่างฉันไม่คุ้นเคย

“ดื่มเพื่อมิตรภาพของไทยและเวียดนาม” เจ้าหน้าที่รัฐบาลยกแก้วไวน์ขึ้นและเชื้อเชิญฉันดื่มเพื่อเป็นการเริ่มต้นดินเนอร์แบบปารีสเชื่ยน

ยังไม่ทันที่ฉันจะจรดริมฝีปากบนแก้วไวน์ ก็มีเสียงระเบิดดังอึกทึกสนั่นร้าน !!

จากนั้นทั้งร้านก็มืดสนิท ได้ยินแต่เสียงตะโกนโหวกเหวกเรียกหากัน

ไม่นานไฟในร้านก็สว่างขึ้น สิ่งที่ฉันได้เห็นก็คือข้าวของในร้านกระจัดกระจาย คงจะเป็นเพราะแรงระเบิดที่เลวร้ายกว่านั้น ฉันเห็นผู้คนนอนร้องโอดครวญเนื้อตัวเต็มไปด้วยเลือด

อีกระยะต่อมา ฉันก็เห็นเจ้าหน้าที่พยาบาลหามคนเจ็บและคนตายออกจากร้าน

“ฝีมือไอพวกเวียดกงมันวางระเบิด” เอสคอร์ดที่รอดปลอดภัยบอกกับฉัน

“โชคดีนะที่คุณไม่เป็นอันตราย” เขาบอกเช่นนั้น แต่ฉันกลับคิดว่าโชคร้ายต่างหากที่ฉันต้องมาพบมาเห็นและตกอยู่ในสภาพรอดตายอย่างหวุดหวิดเช่นนี้

“เป็นอันว่า คุณได้กลับมาอย่างปลอดภัยแล้ว” ผู้ช่วยบรรณาธิการนสพ.พิมพ์ไทย ที่มอบหมายให้ฉันเดินทางไปสังเกตการณ์รบในเวียดนามเช่นนั้น

“ข่าวกับภาพที่คุณรายงานมาจากเวียดนาม ผมจะตีพิมพ์ในหน้าหนึ่งแล้วจะบายไลน์ชื่อของคุณให้ผู้อ่านได้รู้จัก (“By Line” ในวงการหนังสือพิมพ์ถือว่าเป็นการให้เกียรติกับนักข่าวหรือช่างภาพสูงสุด)

ฉันฟังท่านว่าความรู้สึกสับสนเพราะฉันเป็นเพียงนักข่าวเด็กอายุเพียง ๑๗ ปี เพิ่งทำงานมาได้เพียงปีกว่า มันเหมาะสมเเล้วหรือที่จะได้รับยกย่องเช่นนี้

ความคิดของฉันล่องลอยไปสมัยที่เป็นเด็กเช่าห้องสลัมที่บางกระบือ คนตกงานที่ต้องไปเฝ้ารอดูงานจาก “กรมประชาสงเคราะห์” ทุกวัน จนฉันที่อยากจะพูดภาษาอังกฤษให้ได้ จึงต้องไปเป็นไกด์ผีอยู่หน้า “โรงแรมโอเรียลเต็ล”

นับตั้งแต่วันนี้ชื่อและนามสกุลของฉัน ก็จะถูกพิมพ์บนหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ขายดีที่สุดในยุคนั้น

ชีวิตช่างเป็นเรื่องอัศจรรย์ จนทำให้ฉันคิดว่าฉันมีฤทธิ์มีเดชมากมายเช่นนั้นหรือ?

ฉันกำลังจะหลงระเริงกับความสำเร็จไปแล้วหรือเปล่า ?

ฉันอาจจะลืมไปแล้วว่า ฉันมาทำงานหนังสือพิมพ์ก็เพื่อจะใช้สิทธิของการเป็นนักข่าว เอาไปสมัครสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...?

“สันติ   เศวตวิมล”

ผลงานประพันธ์ของอาจารย์ สันติ เศวตวิมล ในคอลัมน์ Life Poet สุดฤทธิ์สุดเดช