รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ "นวัตกรรมทางการแพทย์และการพัฒนาจะช่วยยืดอายุให้ผู้คน"
Medical Innovation and Technology
นวัตกรรมทางการแพทย์ และการพัฒนา
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ
การต่อสู้กับโรคระบาดอย่างโควิด-19 ยังไม่จบลงง่าย ๆ และยังคงเป็นวาระแห่งชาติ เราเลยขอพาไปคุยกับแม่ทัพในศึกนี้กันสักหน่อย นอกจากท่านจะต้องเป็นผู้นำในการกรำศึกของทัพคุณหมอ และพยาบาลจากฝั่งรามาธิบดีแล้ว เรื่องราวชีวิตของท่านยังน่าสนใจและเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจมาก ๆ
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี อาจารย์ประจำสาขาวิชาศัลยศาสตร์หลอดเลือดและปลูกถ่ายอวัยวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ท่านเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ และเป็นนักบริหารมากฝีมือ นอกจากจะได้ความรู้ในเรื่องนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยในปัจจุบันแล้ว ยังได้รับแรงบันดาลใจในการสู้ชีวิต จนก้าวขึ้นมาเป็นคุณหมอนักบริหารที่ประสบความสำเร็จอีกด้วย
“ผมโตมาในครอบครัว ที่เรียกได้ว่าฐานะยากจนเลยครับ คุณพ่อคุณแม่ก็ปากกัดตีนถีบเหมือนคนอื่น เผอิญว่าเราโชคดีที่ได้รับโอกาสได้รับการช่วยเหลือจากพี่ ๆ น้อง ๆ ด้วยการส่งให้เรียน คุณพ่อเสียตั้งแต่เด็ก (ช่วงมัธยม) จึงทำให้เราได้มีโอกาสทางการศึกษา ซึ่งตอนเรียนทางมูลนิธิรามาธิบดีก็ให้ทุนในการศึกษาบางส่วน ช่วยสนับสนุนในด้านการศึกษา
“ผมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่บ้านอยู่ชายขอบของกทม. เขตประเวศ สมัยก่อนมันก็เป็นพื้นที่ ค่อนข้างเหมือนต่างจังหวัด เพราะใกล้กับจังหวัดสมุทรปราการ ผมมีพี่น้อง 8 คน ผมเป็นคนที่ 6 ส่วนใหญ่พี่ ๆ ก็ไม่ค่อยได้เรียนสูงนะครับ ก็จะเป็นการช่วยกันส่งน้องเรียน พี่ส่วนใหญ่จะจบป.4 ในสมัยรุ่นผมยังมีการเรียนป.7 ผมเป็นเด็กเรียนนะครับ เพราะว่าเราจะต้องพยายามถีบตัวเองให้ดีขึ้น ใช้วิกฤตเป็นโอกาส ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพต้องบอกว่าสิ่งแวดล้อมตรงที่ผมอยู่เนี่ย ก็เป็นเหมือนชุมชน เป็นชุมชนตลาดน้ำ ซึ่งถ้าเราไม่ถีบตัวขึ้นก็คิดว่าจะต้องลำบาก จะคิดไว้เสมอว่าอยากให้ครอบครัวสบายขึ้น
“และเราก็มีความอยากที่จะเป็นหมอตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งเราก็ดูตัวอย่างจากรุ่นพี่ ดูรุ่นพี่ที่เขาประสบความสำเร็จ และเราก็ยึดเป็นโมเดล ในการที่เราจะอัพตัวเองขึ้นมา เราก็ต้องทำงานให้เป็น 2 เท่า แปลว่าจะต้องขยันอ่านหนังสือ เพราะเราไม่มีโอกาสที่จะได้เรียนพิเศษ ทำให้ต้องอ่านเอง หาตำราหรือหยิบยืมจากพี่ข้างบ้าน ประถมศึกษาผมเรียนที่โรงเรียนวัดกระทุ่มเสือปลา ถ้าใครรู้จักกองขยะในซอยอ่อนนุชก็จะรู้ว่าโรงเรียนวัดนี้อยู่ที่นั่นครับ มีการสอบชิงทุนได้บ้าง เวลาครูบาอาจารย์สอนเราก็จะจดจำสิ่งที่ท่านประสิทธิ์ประสาทวิชาให้เรา
“แล้วก็ได้มาต่อชั้นมัธยมต้น ที่โรงเรียนปทุมคงคา ตรงเอกมัย และก็ขยับไปเรียนที่โรงเรียน เตรียมอุดมศึกษาตรงพญาไท ในชั้นมัธยมปลายซึ่งสมัยก่อนจะเรียนเป็นชั้นมศ. 4 และมศ. 5 จากนั้นก็ได้สอบเข้าที่ รามาธิบดีฯ ซึ่งเป็นที่ที่เราเลือกคณะแพทย์อันดับหนึ่ง มีความรู้สึกอยากเรียนแพทย์อยู่แล้ว อย่างที่ 2 เป็นสถาบันที่โมเดิร์นในเรื่องเทคโนโลยีในสมัยนั้น เป็นโรงพยาบาลใหม่ ในสมัยนั้น ผมคิดว่าเป็นโรงเรียนแพทย์ที่เราน่าจะได้รับประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้
“เมื่อเข้ามาเรียนครูบาอาจารย์ก็ได้อบรม มอบค่านิยม ความเชื่อมั่นให้มากขึ้น ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก็ได้ไปอยู่ต่างจังหวัด เป็นแพทย์ใช้ทุนที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีเตียงคนไข้มากกว่า 1,000 เตียง ต่อมาก็ได้มีโอกาสเรียนเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อเรียนจบท่านอาจารย์ก็เห็นว่ามีคุณสมบัติที่น่าจะได้เป็นครูบาอาจารย์ และทำงานด้านการผ่าตัด ท่านก็เลยรับเข้ามาเป็น Staff ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นอาจารย์แพทย์และก็ค่อย ๆ ขยับขึ้นมา เป็นหมอผ่าตัดที่ทำด้านศัลยกรรมทั่วไป
“ประมาณปี 2534-2535 การผ่าตัดอวัยวะและหลอดเลือดเป็นเรื่องที่เข้าถึงคนไข้ได้ยาก เป็นเรื่องที่ท้าทายและทำให้มีคำถามว่ามันเป็นมาตรฐานหรือยัง และจะต้องใช้เวลาทุ่มเทกับมันเยอะมาก ทำให้ตอนนั้นผมมีอาจารย์ที่เป็นต้นแบบอยู่ 2-3 ท่าน จนมาเป็น Staff ที่ทำงานด้านศัลยกรรมหลอดเลือด เป็นงานที่ตื่นเต้นตลอดเวลาเพราะเป็นการผ่าตัดเกี่ยวกับเส้นเลือด และก็การปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นงานที่ทีมงานจะต้องทุ่มเทเพราะว่ามันยังไม่อยู่ในสารบบในเวลานั้น จนมูลนิธิรามาธิบดีเข้ามาให้การสนับสนุน ตอนนี้ 37-38 ปีผ่านมาแล้ว เป็นการพิสูจน์ได้ว่าทีมงานได้ทุ่มเทภายใต้การสนับสนุนของคณะแพทย์ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิรามาธิบดี มันก่อให้เกิดประโยชน์ขึ้นมามากมาย
“แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากเข้ามาเป็นหมอ ผมคิดว่าเริ่มจากเป็นวิชาชีพที่ได้ช่วยเหลือคน และเราเองในตอนเด็ก ๆ ก็จะรู้สึกว่าการเข้าถึงระบบสุขภาพไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เมื่อยามเจ็บป่วย ทำให้คิดว่ามันน่าจะเป็นอาชีพที่ทำประโยชน์ และเป็นงานที่เราชอบ เพราะเป็นงานในเชิงด้านการบริการเยอะนะครับ จึงจะต้องเป็นคนที่ใจรักถึงจะอยู่กับมันได้หลายสิบปี มันไม่ใช่อาชีพที่เป็นธุรกิจซึ่งท่านอาจารย์ก็ได้พร่ำสอนพวกเรามาตั้งแต่ตอนเป็นนักเรียนแพทย์ ว่าอาชีพหมอไม่ใช่อาชีพที่ร่ำรวย แต่ก็เป็นอาชีพที่มีความมั่นคงมากในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการคำนึงถึงผู้ป่วยและจะต้องมีความเสียสละ มีจรรยาบรรณ”
บ่มเพาะประสบการณ์
“ย้อนกลับไปตอนเรียนจบใหม่ ๆ ต้องไปทำงานใช้ทุนที่ต่างจังหวัด ผมก็เลือกไปอยู่ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เขาเรียกว่าเป็นแพทย์ฝึกหัด เป็นช่วงชีวิตที่สนุกมาก เพราะตอนอยู่โรงเรียนแพทย์ได้ทำอะไรจริง ๆ น้อยมากแต่ที่นั่นได้ทำอะไรเยอะมาก พี่ ๆ ที่นั่นก็เป็นต้นแบบให้เราได้อย่างดีเลยเพราะว่าเป็นคนที่เสียสละ แพทย์รุ่นพี่นะครับ มีความสม่ำเสมอและไม่ท้อถอยในด้านข้อจำกัด
“ยกตัวอย่างเช่นเรื่องการผ่าตัด ในสมัยก่อนเนี่ยสมัยนั้นไหมเย็บมีราคาแพงพี่เขาก็ใช้เอ็นตกปลานี่แหละ นำมาฆ่าเชื้อแล้วก็ใช้เย็บแทน ใช้การรักษาด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดและก็ทุ่มเททำงานกันตลอดเวลา มีความสม่ำเสมอ ทำให้เราได้ต้นแบบของแพทย์จากรุ่นพี่ที่นั่น ตอนที่เราเป็นแพทย์ใช้ทุนเนี่ย จะมีช่วงที่ต้องหัดส่องกล้องดู ช่องทางเดินอาหารของคนไข้ ดูท้อง ดูกระเพาะอะไรพวกนี้ หลังจากที่ฝึกสอนเรามาในระดับหนึ่ง พี่เขาก็มอบหน้าที่นี้ให้เราเป็นคนดูแล ทางด้านคนไข้เองก็น่ารักมาก ๆ เพราะทางภาคอีสานเนี่ยคนไข้จะให้เกียรติและเคารพคุณหมอมาก ๆ ได้รับรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง
“อย่างเวลาจะออกมาหาหมอกันทีเขาก็ต้องเช่ารถสองแถวก็นั่งกันมาเต็มคันเลย คือว่าการเข้าถึงทางด้านสุขภาพเนี่ยยาก ในสมัยนั้นยังไม่มีการใช้สิทธิ์ 30 บาท มีแต่สิทธิ์ของราชการ ประกันสังคมก็ยังไม่เกิดขึ้นมา ซึ่งการรักษาก็จะเข้ามารักษายากกว่าสมัยนี้ทางโรงพยาบาลก็เลยต้องมีระบบรักษาคนไข้อนาถา
“ต่อมาผมก็ย้ายเข้ามาอยู่กับโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งก็เหมือนแพทย์ทั่ว ๆ ไป ซึ่งจะมีความรักที่จะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้เข้าไปในโรงพยาบาลอำเภอ เพราะเราคิดว่าเราเหมาะกับงานที่จะลงในด้านของรายละเอียด คือแพทย์บางท่านก็อาจจะมีความสะดวกในการที่จะไปเป็นแพทย์นักพัฒนา อยู่ในโรงพยาบาลอำเภอ ซึ่งตรงนั้นเนี่ยจะต้องมองภาพในด้านของการพัฒนาชุมชน ในด้านสุขภาพไปด้วย ร่วมกับทางตำบลทางผู้ใหญ่บ้านกำนัน ซึ่งผมคิดว่าเราคงไม่ถนัด”
เข้าสู่รามาธิบดี
“ผมได้ทำในด้านอายุรกรรมและศัลยกรรม และชอบในด้านผ่าตัดก็เลยมาเรียนเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านผ่าตัด ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทีนี้พอเข้ามาเรียนปั๊บเนี่ยก็จะมีสิ่งใหม่ ๆ ให้ได้เรียนรู้ ต่างกับที่เราทำงานอยู่ต่างจังหวัด เพราะว่าโรคยาก ๆ ก็จะต้องมาที่โรงเรียนแพทย์ ซึ่งอาจารย์แพทย์แต่ละคนก็เก่ง ๆ จบจากเมืองนอกมาแล้วก็นำวิทยาการใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้กับพวกเรา บวกกับเรื่องของการวิจัย เป็นการรักษาในเชิงวิจัย ได้เห็นการผ่าตัดใหญ่ ๆ อย่างการผ่าตัดหลอดเลือด หรือเส้นเลือดโป่งพอง ที่มีการแตก ตีบตัน ทำให้เสียเลือดแล้วก็ขาดเลือดทำนองนี้
“หรืออีกแบบหนึ่งคือคนไข้ที่ต้องเสียชีวิตจากโรคตับหรือไตไม่ทำงาน ซึ่งในสมัยก่อนก็เข้าถึงได้ยากไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งพอเราเรียนจบท่านอาจารย์ก็ได้ชักชวนมาทำงานเป็นอาจารย์ประจำที่นี่ พอมาเป็นอาจารย์ประจำที่นี่ก็ได้มีโอกาสได้ไปเรียนรู้ต่อที่ประเทศอังกฤษ ในโรงพยาบาล 2-3 แห่งในประเทศอังกฤษ และก็นำความรู้พวกนี้กลับมา สานงานต่อกับอาจารย์ของเรา อย่างเรื่องพวกของการผ่าตัดแบบแผลช่องเล็ก ๆ ซึ่งสมัยก่อนเวลาผ่าตัดแล้วต้องผ่าใหญ่ จะทำให้คนไข้มีโอกาสเสียเลือดและเสียชีวิตมากกว่าในปัจจุบัน
“ตอนนี้ก็ลดการสูญเสียลงไปเยอะเพราะว่าบาดแผลก็เล็กลง เป็นการใส่อุปกรณ์และใช้เทคโนโลยี ซึ่งเครื่องมือก็แพงมากนะครับ ตก 500,000 บาท ขึ้นไปต่อคน หรือเรื่องของการปลูกถ่ายอวัยวะ การหาอวัยวะก็ยาก หาอวัยวะได้กว่าจะผ่าตัดคนไข้ก็เข้าถึงได้ช้ามาก ฉะนั้นในการผ่าตัดก็จะได้ผลที่ไม่ดีมากในช่วงตอนต้น ไม่เหมือนในปัจจุบันที่มีการผ่าตัดรวดเร็วขึ้น ยาก็ดีขึ้น ก็จะทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น บางเคสนี้ผ่าตัดเสร็จแล้วยังดูเหมือนคนปกติเลย ทำงานได้ปกติอยู่ได้อีกเป็น 10 ปีสบาย ๆ
“ถ้าถามว่ามาอยู่ในวงการของการบริหารได้อย่างไร เมื่ออายุมากขึ้นก็ต้องขยับมาดูในด้านของส่วนกลาง ของโรงพยาบาลหรือคณะแพทย์ ได้รับความเมตตาจากท่านคณบดีให้มาช่วยทำงานในเรื่องระบบการให้บริการ จากเมื่อก่อนที่เราดูเฉพาะภาพเล็ก คือผ่าตัดหรือทำงานเป็นจุด ก็จะมาดูภาพที่ใหญ่ ภาพรวม ก็ต้องมาดูว่าจะช่วยกันจัดระบบอย่างไร ก็ต้องร่วมมือกับทีมงานช่วยกันออกแบบระบบ เพื่อให้ผู้รับบริการของเรามีความสะดวกสบายมากขึ้น มาตรฐานของข้อมูลต่าง ๆ ก็ขยับขึ้นมาดีขึ้นมากกว่าเดิม ของเดิมจะดีอยู่ในระดับหนึ่งตามของยุคสมัยนะครับ
“เสียงที่เป็นอินพุตให้กับพวกเรานะมีประโยชน์อย่างมาก เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนให้ข้อคิดเห็น เราจะจับวิกฤตพวกนี้มาพลิกแก้ไขสถานการณ์ ให้ระบบมันดีขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ แล้วก็คาดหวังว่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ กว่าเดิมในปัจจุบัน ซึ่งจะพัฒนาเรื่อย ๆ ตามวงล้อของการพัฒนา”
วิวัฒนาการของนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทย
“ตอนที่ผมได้ไปทำงานที่ประเทศอังกฤษ เทคโนโลยีของเขาก้าวหน้ากว่าของเรามาก พูดง่าย ๆ ก็คือ เทคโนโลยีของต่างชาติจะล้ำหน้ากว่าเราประมาณ 10 ปีได้ ไม่นับเรื่องของอุปกรณ์นะ แต่เป็นเรื่องของการจัดสรรทีมงานการสื่อสารกันในทีม ระบบจัดการต่าง ๆ แล้วก็ทีมรักษาด้วย ซึ่งตอนเราไปเห็นเนี่ยคนอื่นก็ไม่ได้มาเห็นพร้อมพร้อมกับเรา ทำให้เขาเห็นพ้องกับเรายากขึ้น บวกกับอุปสรรคทางด้านการเงิน เพราะอุปกรณ์แต่ละชิ้นนั้นไม่ใช่ถูก ๆ การที่จะเอามาใช้เนี่ยก็จะต้องผ่านการพิจารณาในหลาย ๆ ด้าน
“เพราะฉะนั้นจึงมีอุปสรรคหลายอัน เริ่มตั้งแต่ทีมงานของเราเข้าใจตรงกันไหม ไม่ใช่แค่เอาอุปกรณ์มาใส่เหมือนอะไหล่รถนะ ต้องมีทีมงานที่เข้าใจและดูแลตรงกันในเรื่องของกระบวนการจนจบระบบ ซึ่งมันก็ไม่ได้มีคนไข้แค่รายเดียวเพราะมีคนไข้มากมาย และอีกอย่างก็คืออุปกรณ์แต่ละชิ้นเนี่ยจะมีราคาสูง
“เมื่อพูดถึงเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็จะมีราคาสูงไปตามวิวัฒนาการ เครื่องไม้เครื่องมือเทคโนโลยีเนี่ย มันก็ไม่ได้มาเพียงชิ้นเดียวมันก็จะต้องมีเทคโนโลยีประกอบในระบบการ ไม่ใช่ว่าอุปกรณ์ชิ้นนึงเอามาใช้รักษาได้เลยนะ มันจะต้องมีการเอามาเชื่อมกับระบบต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของการผ่าตัด ก็จะต้องมีห้องผ่าตัด มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทำให้เรามองเห็นภาพ ไม่ว่าจะเป็นอัลตร้าซาวด์ หรือเครื่องเอกซเรย์ 3 มิติ ถ้าเรื่องของการปลูกถ่ายอวัยวะเนี่ย ก็ต้องเจาะลึกเป็นเรื่องของทีมงานเรื่องยา ว่าทีมงานรู้ไหมว่ายาแต่ละตัวมีผลข้างเคียงอย่างไรกับคนไข้ น้ำยาอะไรต่อมิอะไรต่าง ๆ ที่ใช้ทีมงานจะต้องมีความเข้าใจ เวลาตอนที่ทำการผ่าตัดมันต้องไม่ติดขัด
“แต่ในปัจจุบันหลังจากที่โลกมีอินเทอร์เน็ตแล้ว การเชื่อมต่อทางออนไลน์ มันก็ทำให้ช่วงข้อต่อเรื่องนวัตกรรมนั้นสั้นลง เพราะหลาย ๆ อย่างนั้นเปิดกว้างมากขึ้น เรื่องการเข้าถึงในสมัยก่อนนั้นการค้นคว้าหาข้อมูลค้นตำราทีนึงก็ต้องเข้าห้องสมุด การจะหาข้อมูลในวารสารก็ต้องไปค้นสารบัญ เพื่อที่จะเข้าถึงสิ่งที่เราอยากได้วุ่นวายมาก แต่ในสมัยนี้เข้าไป Search คอมพิวเตอร์ ก็หาข้อมูลในวารสารได้เป็นร้อยเป็นพันมากมายในเพียงเวลาแค่พริบตาเดียว
“แล้ววารสารเหล่านั้นก็ไม่ค่อยมีในประเทศไทยนะครับ คือความหลากหลายมันน้อย ก็จะเป็นอุปสรรคในเรื่องของการศึกษา แล้วก็คนที่จะนำความรู้มาใช้ ข้อดีอย่างที่ 2 ของการที่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่าง ๆ มันทันกันเนี่ย ก็คือทางด้านคนไข้เองเขาก็จะหาข้อมูลและก็หาความรู้ค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องของเขามาก่อน มันก็จะยิ่งง่ายในการที่เราจะอธิบายเพิ่มเติม เพราะเขามีการเตรียมตัวในเรื่องของการตัดสินใจมาก่อน แต่ในด้านผลเสียก็มีในความยากของบางคนก็คือ เมื่อฟังข้อมูลแล้วก็ไปตีความเอาเอง แต่ก็เป็นส่วนน้อยนะครับ เพราะส่วนใหญ่ก็จะเป็นการหาข้อมูลและให้ความร่วมมือด้วยดี
“ข้อดีของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยนี้ ก็คือเรื่องของการจัดสัมมนาหรือการจัดประชุมเมื่อก่อนเขาจัดประชุมระดับโลกปีละหน หรือ 2 ปีหน เราก็จะต้องหาคนให้การสนับสนุนแล้วก็บินไปประชุมที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทวีปไหนก็แล้วแต่ ซึ่งเดี๋ยวนี้การประชุมเขาจัดกันแทบทุกเดือนแต่เป็นในออนไลน์ แล้วก็มีประชุมตั้งแต่ชุดเล็กถึงชุดใหญ่ ถ้าเป็นระดับเวิลด์โปรแกรมเนี่ยจะเฉลี่ยปีละหน แต่ระดับที่เขามีประชุมย่อยเนี่ยจะสั้นลงอย่าง 2-3 เดือนจะมีตลอด แล้วก็มีคอมเม้นท์กันตลอด ด้วยเทคโนโลยีก็จะทำให้ตรงนี้สั้นลง”
บทบาทของผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี
“หน้าที่ของผู้อำนวยการ จริง ๆ ก็เหมือนทำงานในหลาย ๆ Function อย่างแรกก็เป็นเหมือนผู้จัดการในเรื่องของระบบการบริการในด้านสุขภาพ อย่างในคณะแพทย์จะมีอีกหนึ่งบริบทก็คือเรื่องของการวิจัย มีโปรแกรมการเรียนการสอน แต่ถ้ากรณีในการให้บริการด้านสุขภาพอย่างการตรวจคนไข้ รักษาโรค อย่างโรคเรื้อรังไม่ว่าจะเป็น เบาหวานความดัน โรคมะเร็งหรือโรคที่ซับซ้อน อย่างพวกปลูกถ่ายอวัยวะหรือโรคเฉพาะต่าง ๆ หรือโรคที่มเฉียบพลัน ก็คือพวกเคสของห้องฉุกเฉินอะไรพวกนี้ล่ะครับ หรือโรคที่มาเฉียบพลันแบบพวกโรคระบาด covid-19 อย่างที่เราเห็น ซึ่งตอนนี้กราฟก็ยังไม่แน่นอนมีคนไข้เข้ามาตลอดเป็นระยะ หรือพวกไข้หวัด 2009 ไข้หวัดนกหรือพวกอีโบล่า
“ซึ่งพวกนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องอยู่ในการบริการของเราด้วยทั้งหมดผู้อำนวยการก็คือต้องดูภาพรวมทั้งหมดครับ ต้องมาประชุมหารือเรื่องแนวทางการบริหารกับทีมบริหาร และหัวหน้าภาควิชาต่าง ๆ ก็คือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน มาวางระบบในการบริการ ทั้งการบริการในหน่วยฉุกเฉิน ระบบบริการของคนไข้ที่นัดหมายเข้ามา ผู้ป่วยใน ให้เป็นระบบมากขึ้น ช่วยกันวางระบบและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เช่นคนไข้ผู้ป่วยนอกนะครับพอมาถึงปุ๊บ เราก็ต้องวัดสัญญาณชีพก่อน อุณหภูมิความดัน ข้อมูลพวกนี้จะวิ่งเข้าไปในระบบเวชระเบียน อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในสมัยก่อนจะวัดทีนึงก็ต้องมานั่งจดใส่ในกระดาษ เรียงเป็นตั้งแล้วก็ยกไปอีกแผนกหนึ่ง ซึ่งบางทีกระดาษบางแผ่นก็จะหลุดหายไป นวัตกรรมใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ พวกนี้ก็ช่วยประหยัดเวลาและลดขั้นตอน นี่คือเรื่องของจุดการให้บริการนะครับ
“เพราะข้อมูลพรุ่งนี้จะต้องส่งถึงมือของคุณหมอตอนคุณหมอตรวจอีกทีหนึ่ง เพราะคุณหมอก็ต้องอยากรู้ข้อมูลเบื้องต้นของคนไข้ครับ จะดูข้อมูลผลเลือดที่เจาะเอาไว้แล้ว ผลเอกซเรย์โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดูเสร็จก็สามารถวิเคราะห์ สั่งยาและนัดเอกซเรย์ในครั้งต่อไป คนไข้ก็สะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งระบบสมัยก่อนเป็นแบบอนุกรม คนไข้จะต้องไปตามโต๊ะที่ 1 โต๊ะที่ 2 โต๊ะที่ 3 แล้วก็ไปรอที่โต๊ะที่ 4 ปัจจุบันเนี่ย มันบายพาสไปละจุดเดียวเบ็ดเสร็จ พอตรวจกับคุณหมอเสร็จ ข้อมูลก็ไปที่ห้องสั่งยาแล้ว ประหยัดเวลา สะดวกสบาย และลดผลข้างเคียง
“ยกตัวอย่างเช่นข้อมูลการแพ้ยาเนี่ย จะอยู่ในทุกจุดให้บริการ มันจะลิงค์เข้าข้อมูล แล้วในอนาคตเรากำลังทำระบบ AI ต่อไปเมื่อมีการสั่งยาเข้าไปในข้อมูลมันจะขึ้นมาในระบบเลยว่าห้ามใช้ยานี้เพราะคนไข้แพ้นะ เพราะยานั้นมีหลายตัวหลายชนิด ยาบางตัวใช้ด้วยกันอาจจะผลเกิดผลข้างเคียง ซึ่ง AI จะประมวลผลให้เราทั้งหมด หรือปัญหาแบบเก่า เมื่อก่อนการจองคิวการตรวจของคนไข้จะต้องมาต่อคิวกันยืดยาว บางคนถึงขั้นถอดรองเท้าวางรอคิวเอาไว้แทน นานมาแล้วนะครับสมัยก่อน รอทำแฟ้มเวชระเบียนทีนึงนานมาก เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้วเพราะเราทำออนไลน์ เช็คสิทธิ์ของคนไข้ก็สะดวกมากขึ้น เช็คได้เลยว่าเขามีสิทธิอะไรบ้างมีประกันสุขภาพประกันสังคมประกันชีวิตสิทธิต่าง ๆ คือทุกอย่างอยู่ในระบบเนี่ยแป๊บเดียวรู้ผลระบบจะเช็คให้เบ็ดเสร็จ ทีนี้ก็จะรู้แล้วว่าจะใช้สิทธิ์อะไรมารับรองสิทธิ์ ซึ่งก็จะทำให้การทำงานสะดวกรวดเร็ว”
นวัตกรรมใหม่ ๆ ช่วยยืดชีวิต
“เมื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีดีขึ้น ผู้คนก็จะอายุยืนยาวมากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นจุดประสงค์ของการแพทย์เลยครับ เจาะเข้ามาในระบบเรื่องของการรักษาเนี่ยเราก็มีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เขาก็จะเข้ามาค้นหาวิธีการรักษาในแบบต่าง ๆ ที่เขาได้ไปร่ำเรียนดูงานหรือจากการวิจัยของเขาเองเนี่ย เอามานำเสนอหรือนำมาใช้ ซึ่งในรามาธิบดีเราจะมีค่านิยม 6 ประการ หนึ่งคือมุ่งเรียนรู้ ข้อสุดท้ายคือรับผิดชอบต่อสังคม ฉะนั้นเขาก็จะพยายาม รวบรวมจากการสังเกตบวกประสบการณ์บวกการวิจัย ว่าผลการรักษาแบบนี้มันน่าจะดีกว่าแบบเก่า แล้วก็เสนอแนวคิดเหล่านี้ไปยังกองทุนอย่างเช่น สปสช เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์ในวันข้างหน้า เพราะเราเป็นโรงเรียนแพทย์ ข้อมูลต่าง ๆ ก็จะทำให้การรักษาคนไข้นั้นสะดวกและดียิ่งขึ้น แต่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากคณะแพทย์ ทางคณะแพทย์ก็จะรับข้อมูลมา และสนับสนุนเต็มที่ โดยมีระบบการวิจัยและการสนับสนุน
“ทางคณะแพทย์ก็จะขอการสนับสนุนจากมูลนิธิรามาธิบดีอีกที เพราะฉะนั้นโปรเจคหลาย ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวิจัยมะเร็ง ซึ่งเราก็ได้รับความอนุเคราะห์จากทางคณะแพทย์และก็จากทางมูลนิธิรามาธิบดี ซึ่งมะเร็งก็มีหลาย ๆ ชนิด ซึ่งเราถ้าสามารถพิสูจน์ได้ว่าการรักษาแบบนี้ใช้แล้วดีเนี่ย ทางผู้เชี่ยวชาญก็จะเสนอไปที่กองทุน หรือถ้าเป็นโรคอื่น ๆ ซึ่งก็มีอีกหลายโรคอย่างเช่นเรื่องโรคในระบบทางเดินหายใจ โรคหายาก ซึ่งเป็นโรคที่หายากจริง ๆ ซึ่งบางทีถ้าคุณหมอไม่รู้ เช่นถ้าไม่ได้สังเกตดี ๆ เด็กเหล่านั้นก็จะเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ทีมแพทย์เขาก็จะรวบรวมทีมงานซึ่งบางครั้งก็ไปร่วมมือกับโรงพยาบาลอื่น ๆ และก็ขอการสนับสนุนจากมูลนิธิ กับคณะแพทย์ในการที่จะหายา เพราะยาพวกนี้มันหายาก ยาหายากเหล่านี้เขาจะเรียกรวม ๆ กันว่ายากำพร้า เพราะไม่มีปริมาณมากพอ บริษัทยาเลยไม่ค่อยอยากผลิตเพราะมีคนใช้ในปริมาณน้อย แต่ถ้าคนไข้เป็นแล้วทิ้งไว้เนี่ย มีโอกาสมากที่จะเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ ถ้าเราให้การรักษาทันท่วงทีก็จะช่วยได้
“ฉะนั้นในการวิจัยเขาจะมีเงินทุน ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิรามาธิบดี เอาไปทำให้มันเกิดขึ้น ดังนั้นในหลาย ๆ โรค ในกลุ่มของโรคหายากประมาณ 18 โรค พอมีเรื่องงานวิจัยเข้ามายืนยันเราก็สามารถไปขอทุนได้ที่สปสช ซึ่งเขาก็จะเข้ามาทบทวนสอบ ว่าการรักษานั้นผลเป็นไปได้ด้วยดีไหม ถ้ารักษาได้ดีเขาก็จะมอบทุนให้ นั่นคือเรื่องของการรักษา แต่เราก็ยังมีเรื่องของการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เปลี่ยนตับเปลี่ยนไต เปลี่ยนไขกระดูก กระบวนการเปลี่ยนถ่ายเหล่านี้ ใช้เวลาประมาณ 5 ถึง 10 ปี
“จากการวิจัยก็จะระบุได้ว่ามันยืดอายุได้นะ ป้องกันการเสียชีวิตป้องกันการทุพพลภาพ เมื่อนำไปเสนอกองทุนเขาก็จะได้ไปพิจารณาและนำเสนอของบประมาณเพื่อสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ฉะนั้นภารกิจอีกอย่างหนึ่งของเราก็คือการผลักดัน สนับสนุน ให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่ดี บางอย่างเราก็เป็นการให้บริการครับ เช่นการให้เคมีบำบัดในโรคมะเร็ง ซึ่งเราก็รักษาอยู่แล้วแต่ปัญหาคือคนไข้เข้าไม่ถึงยา ไม่ใช่เรื่องสิทธิ์ยานะแต่ไม่สามารถเข้าถึงยาได้ตามกำหนดเวลา เพราะอะไรก็เพราะว่าคิวมันเยอะเหลือเกิน คนเป็นมะเร็ง ปริมาณยอดนั้นสะสม
“ตอนนี้ทางทีมงานมะเร็ง เขาก็ไปให้บริการการให้ยามะเร็งที่บ้าน ผลที่เกิดขึ้นก็คือหนึ่งเขาได้ยาตามกำหนด 2 เขาได้อยู่กับครอบครัว 3 เขาไม่ได้มาเบียดบังเตียงในโรงพยาบาล ให้เพื่อนคนอื่นที่จำเป็นต้องนอน เพราะว่ามะเร็งนั้นมีหลายประเภท แล้วก็หลายสูตรยา ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ อย่าง อย่างนี้ก็เป็นนวัตกรรมการบริการ จริง ๆ มีอีกหลายอย่างเลย เรามีแนวโน้มที่พยายามผลักดันให้ทีมรักษาพยาบาลของเรา ทั้งแพทย์และพยาบาลว่าทำอย่างไรคนไข้ถึงจะต้องไม่นอนโรงพยาบาลนาน ก็เลยเน้นการผ่าตัดระยะสั้นการรักษาแบบระยะสั้นแต่ผลของการผ่าตัดจะต้องดีเหมือนเดิม อย่างที่สองคืออะไรที่เคยอยู่ที่โรงพยาบาลนำไปอยู่ที่บ้านได้ไหม ฉะนั้นนอกจากการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้านแล้วเนี่ย เราก็มีให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำที่บ้าน
“เมื่อ 25 ปีที่แล้วเนี่ย คนไข้ที่ผ่าตัดแล้วเป็นลำไส้สั้นจะต้องนอนที่โรงพยาบาลจนกว่าจะเสียชีวิต ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าด้วยโรคติดเชื้อ แต่ปัจจุบันไม่เป็นอย่างนั้นแล้วครับ ถ้าลำไส้สั้นจากสาเหตุที่ไม่สามารถเปลี่ยนลำไส้ได้ เราก็มีโปรแกรมอบรมการจัดอาหาร การให้ยา ให้น้ำเกลือที่บ้าน คนที่บ้านก็ดูแลได้ตลอดเลยตัวผู้ป่วยก็สามารถใช้ชีวิตได้ที่บ้าน สามารถทำมาหากินได้โดยการเลือกอาชีพ ที่สามารถ Work from home นี่ก็คือสิ่งที่ทีมรักษาพยาบาลมุ่งที่จะทำให้คนไข้อายุยืนยาว มีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างความคุ้มค่าแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย
“สิ่งสำคัญที่จะเสริมเรื่องการรักษาได้จริง ๆ แล้วคือการป้องกัน อย่างเบาหวานทีมงานของเราเนี่ย เขาจะทำงานเชิงรุกโดยการพยายามทำสุขภาพของคนไข้ให้ดีโดยการลดการใช้ยาขณะที่ควบคุมเบาหวานได้ มีการให้ความรู้กับคนไข้ ถ้าคนไข้แข็งแกร่งแล้วมีความรู้รอบรู้ การรักษาดูแลคนไข้จะยิ่งง่ายขึ้นมาก แถมจะป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาอีกด้วย”
งบประมาณและการระดมทุน
“ทุนก็เป็นเรื่องที่สำคัญ อยู่ดี ๆ เราจะไปขอระดมทุนก็เป็นเรื่องที่ยาก เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์นั้นมีค่า แต่เราจะต้องมาดูที่ปลายทาง ว่าเราจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคม เรื่องการระดมทุนเราก็ต้องกลับมาที่ต้นทางว่าเราจะนำเงินไปใช้ทำอะไร เมื่อมีเป้าหรือจุดประสงค์ที่ชัด เราก็จะต้องไปสื่อสารกับทีมแพทย์ อย่างเช่น เขามีเป้าประสงค์ที่จะเพิ่มคุณค่าเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเพิ่มโอกาสการเข้าถึง เช่นยาชนิดนี้จำเป็นต้องใช้แต่อยู่นอกเหนือสิทธิ์ที่คนไข้มี เราก็จะต้องให้เขาได้รับยาตัวนั้น ซึ่งงบตรงนี้ทางทีมแพทย์เขาจะต้องของบสนับสนุนเข้ามา อันนี้ในเรื่องรักษาไม่ใช่การวิจัยนะครับ
“งานวิจัยก็มีแบ่งออกไปอีกว่า วิจัยเพื่อการรักษาหรือวิจัยเพื่อการต่อยอดในการให้บริการ แต่บางครั้งจะต้องมีงบรับรองในสภาวะฉุกเฉิน หรือภาวะที่ไม่ปกติ อย่างเช่นในสถานการณ์ covid-19 นี้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ยาวนาน ฉะนั้นในช่วงต้นของการระบาดของ covid-19 เนี่ยมันเป็นเรื่องที่ฉุกเฉิน อย่างหน้ากากอนามัย N95 ชุด PPE อะไรพวกนี้จำเป็นที่จะต้องมี ต้องขอกะทันหัน แต่ก็มีบางอย่างที่ขอไม่กะทันหัน เช่นเมื่อปีที่แล้วเรื่องของห้องความดันลบแทบจะทุกโรงพยาบาลก่อนหน้านี้ ไม่มีใครทำห้องความดันลบเอาไว้เยอะหรอก ซึ่งในส่วนของราชการการจะของบประมาณเนี่ย เป็นไปด้วยความล่าช้า ฉะนั้นงบประมาณก่อสร้างตรงนี้เราก็จะต้องอาศัยการบริจาคของคนที่มีจิตศรัทธา มีกำลังทรัพย์เข้ามาบริจาค แล้วทางโรงพยาบาลก็จะสร้างห้องความดันลบ หรือเครื่องไม้เครื่องมืออย่างเช่นเครื่องช่วยหายใจ เพราะห้องความดันลบที่เราพูดเนี่ยมันคือระดับICU เครื่องช่วยหายใจและเครื่องล้างไตจำเป็นจะต้องมี ไม่มีไม่ได้
“แล้วที่สำคัญก็คืออุปกรณ์ป้องกัน อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของคณะแพทย์ ชุดที่เขาใส่เป็นมนุษย์อวกาศนั่นแหละ สิ่งพวกนี้เราต้องจัดหาให้เขา สิ่งของเหล่านี้จะต้องมีปริมาณที่มากพอสมควรบวกกับต้องหามาให้ได้โดยเร็ว เพราะฉะนั้นเราจะใช้งบประมาณเหมือนในสภาวะปกติไม่ได้ เราก็จะนำเงินยอดบริจาคตรงนี้มาทำให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วย เห็นได้จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงเวลานี้
“อย่างในระลอกใหม่นี้คนไข้ในกทม. เยอะมากกว่าปีที่แล้วหลายเท่า เพราะปีที่แล้วยอดผู้ป่วยหลักพันแต่ปีนี้ยอดที่โรงพยาบาลต้องรักษาเนี่ยหลักหลายหมื่นในเวลาอันรวดเร็ว เราก็เลยต้องหาโรงแรม ที่เรียกว่า Hospitel มาให้คนไข้ได้นอน อย่างตอนนี้ที่เราสร้างห้องความดันลบในโรงพยาบาลไม่ว่าจะที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ หรือโรงพยาบาลพญาไท ก็สร้างจำนวนเยอะมากจนเต็มไปหมดแล้ว
“ฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องมีช่องทางในการรักษาผู้ป่วยที่อาการไม่หนัก จะนำมารักษาในโรงพยาบาลในห้องความดันลบก็ไม่คุ้มที่จะไปแย่งเตียงของผู้ป่วยอาการหนัก ฉะนั้นเราจึงต้องมี Hospitel นี่แหละครับมูลนิธิรามาธิบดีได้ช่วยเราเยอะเลยในเรื่องเหล่านี้ ที่ได้ทำสัญญาการเช่าโรงแรมเพราะในระบบราชการ การทำสัญญาเช่าอะไรพวกนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วก็เป็นการเช่าที่เคลื่อนไหวตามสถานการณ์ ซึ่งเราเองก็คาดการณ์ไม่ถูกว่าคนไข้จะเยอะมากแค่ไหน ฉะนั้นวงเงินก็จะต้องสูง เพราะบางครั้งเราก็ต้องคิดเช่าเผื่อให้เต็มที่ว่าระดับการเช่าจะสูงสุดที่ตรงไหน อันนี้ล่ะครับคือเรื่องของการยืดหยุ่นมากกว่าเครื่องมือที่เราเห็น แล้วบางครั้งเราก็ต้องทำงานวิจัยควบคู่ไปด้วย
“ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราจำปีที่แล้วได้ หน้ากากอนามัย N95 เราขาดแคลน เราก็ต้องสนับสนุนเงินทุนให้ทีมวิจัยว่าเครื่องฆ่าเชื้อรังสี UV เนี่ย จะสามารถใช้ซ้ำได้ 5 หนจริงหรือเปล่า ซึ่งทุกอย่างที่เราทดลองก็จะมีความสำเร็จภายใต้การทดลองเสมอ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีเรื่องของเงินทุนที่สนับสนุนการวิจัย ไม่ว่าจะค่าเลือด อุปกรณ์ หรือค่าแล็ป ต่าง ๆ ไม่ใช่ว่าปุบปับจะทำได้เลย ในตรงนี้เรื่องความคล่องตัวมูลนิธิรามาธิบดีเป็นคนที่ช่วยเหลือและหยิบยื่นมาให้เรา
“ล่าสุด เราก็ทำเรื่องแล็ปน้ำลายในการตรวจน้ำลายผู้ป่วยติดเชื้อโควิค 19 อย่างเช่นการคัดกรองเชิงรุกที่เรากำลังทำอยู่เนี่ย ถ้าจะไปตรวจหาเชื้อในโพรงจมูกนั้นยากกว่านะครับ เปลี่ยนเป็นการคัดกรองโดยการตรวจทางน้ำลาย จำเป็นต้องมีทุนวิจัยไปสนับสนุนในการทำวิจัย แม้กระทั่งในตอนนี้เราก็ยังทำวิจัยกันว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วจะมีภาวะแทรกซ้อนอื่น หรือภูมิคุ้มกันเป็นอย่างไร เราก็กำลังวิจัยอยู่ ไม่ว่าคนไข้ทั่วไปหรือคนไข้กลุ่มเสี่ยง อย่างเช่นคนไข้โรคไต ซึ่งการวิจัยใกล้ ๆ จะออกผลสำเร็จมาให้เราดูแล้ว การที่จะใช้เงินของคณะแพทย์มาทำงานวิจัยพวกนี้เป็นไปได้ยากเพราะติดในเรื่องของระบบราชการ แต่ถ้าเอาเงินของมูลนิธิมาใช้จะเป็นในอีกระบบหนึ่งซึ่งสามารถทำได้ทันที โดยเฉพาะในสถานการณ์ Covid-19 เนี่ย มันไม่ใช่เรื่องเงินทุนการรักษาเฉย ๆ มันจะต้องมีเรื่องของการวิจัย เพื่อเอามาใช้เกี่ยวกับการรักษา Covid มาสนับสนุนการดำเนินงาน”
นวัตกรรมทางการแพทย์และการปรับตัว
“จากการระบาดของ Covid-19 ไปทั่วโลกทำให้นวัตกรรมทางการแพทย์เปลี่ยนไปหมดนะผมว่า เมื่อก่อนมาโรงพยาบาลก็เดินเข้ามาใช้บริการได้เลย แต่เดี๋ยวนี้จะต้องตรวจวัดอุณหภูมิก่อน ต้องใส่หน้ากากอนามัย ต้องให้ล้างมือ ต้องให้เว้นระยะห่างกัน อย่างตอนนี้เองในโรงพยาบาลก็จัดที่นั่งให้กินข้าวสำหรับพนักงานไม่ได้นะ เพราะกลัวคนจะเผลอตอนเปิดหน้ากากนั่งกินข้าว ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด การตรวจทางโรงพยาบาลก็ต้องไปพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ ผมว่าเหมือนกันกับโรงพยาบาลอื่น ๆ แต่รายละเอียดอาจจะต่างกัน
“เราก็จะต้องใช้การตรวจทางไกล รวมทั้งการส่งยาไปทางไปรษณีย์ เพื่อให้คนไข้ไม่เดือดร้อน ซึ่งเราก็ต้องประยุกต์กับทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารออนไลน์ การสอนทางไกลผ่านทางออนไลน์ให้เป็นระบบมากขึ้น กายภาพบำบัดยังต้องใช้ออนไลน์ทางไกลเลยนะครับ จิตแพทย์ก็ให้การปรึกษาทางไกลนะ ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป แต่ก่อนคนไข้จะต้องมาโรงพยาบาลทุกเดือน กลายเป็นอาจจะมาโรงพยาบาล 3 เดือนหน หรือปีละหน ที่เหลือให้เจอกันทางไกล ซึ่งเทคโนโลยีในช่วงแรก ๆ อาจจะติดขัด แต่มันก็จะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ อย่างการส่งยาเองก็เช่นกัน เมื่อก่อนคนไข้ต้องมารับเองเดี๋ยวนี้ไม่ต้องมารับทางโรงพยาบาลส่งไปให้ที่บ้าน ถ้าถามว่าจะเกิดความผิดพลาดขึ้นบ้างไหม ก็อาจจะมีบ้างแต่จากประสบการณ์ 2 ปีที่ผ่านมาที่เราทำอย่างนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จครับ ฉะนั้นหลายอย่างจำเป็นจะต้องปรับตัว”