มานพ สุวรรณปินฑะ จิตวิญญาณงานประติมากรรม
“งานประติมากรรมที่ดีสำหรับผม มันต้องสะท้อนตัวตนของศิลปิน แล้วสะท้อนสภาวะในปัจจุบันด้วย สิ่งเหล่านี้เอาตัวผมเองเป็นหน่วยวัด จากผลงานส่วนใหญ่ของผมนั้นสะท้อนสังคม อย่างเรื่องการเมือง งานที่ออกมาจึงแรงบ้างเบาบ้างสลับกันกันไป”
อาจารย์ มานพ สุวรรณปินฑะ คือประติมากรฝีมือดีอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย สร้างสรรค์ผลงานปั้นรูปเหมือน อนุสาวรีย์ กษัตริย์ และบุคคลสำคัญมากมาย ล้วนแต่งดงามดั่งมีชีวิต นอกจากนี้ท่านยังทำงานศิลปะส่วนตัวต่อเนื่องมาหลายสิบปี ศิลปะหลายชิ้นของท่าน แฝงไปด้วยความหมายอันลึกซึ้งที่มีต่อสังคมมาโดยตลอด
วันนี้เรากลับมาพบอาจารย์ มานพ อีกครั้ง ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ท่านได้เปิดมุมมองด้านชีวิตรวมถึงเรื่องอัพเดทผลงานศิลปะในปัจจุบันให้เราได้ฟังกัน
“ตอนนี้ผมกำลังจัดเตรียมแสดงงานศิลปะ คาดว่าจะได้จัดแสดงในอีก 2 ปีข้างหน้า ผมเผื่อเรื่องของโควิด-19 เอาไว้ไม่รู้ว่ามันจะจบรึเปล่า ถ้ายังระบาดอยู่ก็ต่อเวลาเป็น 3 ปีหรือเลื่อนไปอีกไม่ว่ากัน เป็นงานที่ชื่อว่า “วิถีธรรม วิถีชีวิต” ที่ผ่านมาผมทำงานแนวศาสนา ธรรมะ หรือแนวการเมืองมามาก ช่วงหลังด้วยอายุที่มากผลงานขึ้นจึงมาทางปรัชญาเป็นส่วนใหญ่”
“ในนิทรรศการ “วิถีธรรม วิถีชีวิต” มีงานสำคัญคือ ‘ผู้แสวงหาการหลุดพ้น’ ที่เป็นรูปพระพุทธเจ้าปางทรมานกายผมเฝ้าเพียรคิดค้น และพยายามแสวงหาอัตลักษณ์ของไทยใหม่ ๆ และเอกลักษณ์แห่งศิลปะไทยร่วมสมัย ประดุจดังพระโพธิสัตว์เฝ้าเพียรแสวงหาความหลุดพ้น จากความดีความชั่ว และสามัญลักษณะของมนุษย์ชาติ อันประกอบด้วยทั้งด้านมืดและด้านสว่าง เป็นพระพุทธรูปในรูปแบบที่ผมคิดขึ้นมาเอง พระพุทธเจ้าที่ผมทำนั้นลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ เหมือนกับท่านปรงสังขาร แล้วท้องเจาะทะลุ มี 4 ช่อง คืออริยะสัจ 4 ผมค่อย ๆ ปรับปรุงงานไปเรื่อย ๆ ซึ่งตัวนี้ยังไม่เสร็จคือทำไปคิดไปครับ”
“งานอีกชิ้นคือพระพิฆเนศ ความเชื่อสมัยโบราณเทพเจ้าสร้างมนุษย์ แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่ามนุษย์เป็นคนสร้างเทพเจ้า รูปร่างเป็นคนหัวเป็นช้าง แต่เทพเจ้าของผมเองนั้นมือของพระพิฆเนศ มีเทพีเสรีภาพ มีเหมาเจ๋อตุง แทนที่จะถืออาวุธแบบเดิม ก็ถือระเบิดปรมาณู มือข้างขวาถือเครื่องบิน F35 อีกมือถือทองคำ อีกมือถือทองเรือสำเภา พาหนะที่อยู่ตรงเท้าพระพิฆเนศ เป็นมิกกี้เมาท์ ก็ตีความใหม่เป็นพระพิฆเนศปางมหาอำนาจ คือมันเป็นอำนาจทำลายล้างของมนุษย์ โดยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง ซึ่งดูทันสมัยผมว่ามันสะใจเยอะเลยครับ”
อาจารย์ มานพ เป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด เกิดในครอบครัวมีอาชีพค้าขายย่านราชวัตร แต่ท่านกลับชอบศิลปะวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ในช่วงที่เรียนหนังสือชั้น ป. 1 ป. 2 จึงเริ่มหัดวาดรูป แม้ในสมัยนั้นสังคมยังไม่ค่อยยอมรับคนที่เรียนศิลปะเท่าไหร่ เพราะมองว่าเรียนจบแล้วไม่สามารถประกอบอาชีพที่มั่นคงได้ แต่โชคดีที่ครอบครัวอาจารย์ มานพ ไม่ได้ต่อต้าน แถมสนับสนุนเต็มที่มาโดยตลอด
แม้ครอบครัวไม่ได้ปิดกั้นด้านการเรียนศิลปะ แต่ในช่วงมัธยมอาจารย์มานพกลับไม่ได้เรียนศิลปะ เหตุผลเพราะลูกชายของลุงสอบเข้าเรียนสาขาวิศวะได้ ซึ่งถือว่ามีอนาคตมากในยุคนั้น ท่านจึงเลือกเดินตามญาติของตัวเองไปเข้าเรียนมัธยมในสายสามัญ แต่พอเรียนไปประมาณ 1 ปีจึงรู้ตัวว่าไม่ใช่ จึงขอลาออกไปเรียนสายศิลปะที่โรงเรียนช่างศิลป์แทน
“ผมเข้าเรียนโรงเรียนช่างศิลป์จนถึงปี 3 ก็ไม่คิดจะไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่วันหนึ่งอาจารย์ ปริญญา ตันติสุข ท่านเข้ามาบอกว่าทำไมไม่ไปสอบเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร จุดนั้นเองทำให้ผมได้ไปสอบเข้าเรียน จนได้เรียนรู้วิชาศิลปะขั้นที่สูงขึ้น คือตอนเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากรผมก็ชอบวาดรูปและปั้น พอเรียนไปถึงจนชั้นปี 4 ปี 5 เขาให้เลือกว่างจะทำงานแนวไหนผมก็เลือกงานปั้น เพราะชอบมากกว่าจนกระทั่งเรียนจบออกมา
“หลังเรียนจบผมเคยไปทำงานบริษัทอยู่ 1 ปี คือมันไม่ใช่อีกนั่นแหละ ทุกข์ทรมานมาก ตรงนี้เองทำให้ผมสร้างงานศิลปะ เป็นที่มาของชั้นงานหน้าเปิด ประติมากรรมของผมมันจะมีรูปใบหน้าคนผ่าออกมา แล้วเปิดข้างในมีคนดิ้นอยู่ซึ่งเป็นผมเอง คือทำงานออฟฟิศมันไม่ใช่ตัวผม การเรียนประติมากรรมแม้ว่าจะเรียนจบแล้วก็ไม่สามารถรับงานเองได้ เพราะว่ายังไม่มีชื่อเสียงคือทำอะไรก็ไม่สำเร็จ มันเป็นความทุกข์ทรมานต้องดิ้นรน
“ชีวิตหลังเรียนจบในช่วงแรกผมดิ้นรนมาก ต้องรับงานโดยการเป็นผู้ช่วยเขาก่อน มีอยู่วันหนึ่งเพื่อนผมมาตามให้ไปช่วยทำงาน คือสร้างรูปเหมือนหุ่นขี้ผึ้ง เมื่อหลายสิบปีก่อนมีคนทำน้อย ตอนนั้นมีอาจารย์ที่ทำแบบนี้ไม่กี่คน แล้วก็มาเป็นผมเลย ผมคิดว่าตัวเองน่าจะเป็นคนลำดับแรก ๆ ที่ได้ทำงานชนิดนี้ จากนั้นก็เริ่มมีคนรู้จัก จึงรับงานปั้นมานับตั้งแต่นอนนั้นพอคนเริ่มเห็นผลงาน คราวนี้ก็มีคนติดต่อให้ทำงานอนุสาวรีย์ ใช้วิธีการบอกปากต่อปาก เพราะสมัยนั้นไม่มีโซเชียลมีเดีย ก็พูดกันไปว่าคนนั้นคนนี้มีฝีมือ
“สมัยก่อนคนที่จะเป็นศิลปินแล้วดำรงชีวิตได้ ส่วนมากต้องมีอีกอาชีพหลักคือการเป็นอาจารย์ ผมคิดว่า 90% เป็นแบบนี้กันหมด แต่ผมมีความแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือผมไม่อยากเป็นอาจารย์ ความจริงเป็นได้แต่ผมไม่ชอบ มันก็ทำให้ผมลำบากก็เลยต้องผจญภัยเยอะ ในความลำบากมันเป็นความลำบากที่มีรสชาติ ผมมองย้อนกลับไปแล้วสนุก แต่ตอนแรกมันไม่สนุกหรอก มันทุกข์ทรมานว่าเราจะเอาตัวรอดได้รึเปล่า จะเอาเงินที่ไหนมาซื้อบ้านมากินข้าว คือมันยากนะแต่ในอีกด้านมันกลับทำให้เราเป็นอาร์ตติสสร้างสรรค์งานออกมาได้ เพราะความคิดแปลก ๆ นี้เอง
“ด้วยความที่ผมไม่ชอบเป็นลูกจ้าง แต่ต้องย้ายกลับมาเป็นลูกจ้างของคนที่จ้างผมปั้นรูปอีกที ซึ่งเป็นลูกจ้างช่วงสั้น ๆ พองานเสร็จนายจ้างก็จะหายไป งานรูปเหมือนมันมีการติชมตลอดเวลา แล้วมันเป็นทักษะเพราะผมปั้นรูปเหมือนได้ดี คือคนที่เรียนปั้นอย่าคิดว่าจะปั้นรูปเหมือนได้ทุกคนนะมันไม่ใช่ บางคนก็ปั้นไม่ดีเลยแต่ผมทำได้ ในระดับอนุสาวรีย์ไม่ใช่รูปเหมือนธรรมดา แต่ขยายเท่าครึ่งสองเท่าสามเท่าผมทำได้หมด
“ฟังดูแล้วอาจเหมือนง่ายในการเป็นศิลปิน แต่ผมใช้เวลานานถึง 20 ปีกว่าจะเป็นที่ยอมรับ คือจำเป็นต้องทำงานรับจ้างทำอนุสาวรีย์เพื่อเลี้ยงชีพไปด้วย โดยมีงานที่เลี้ยงจิตวิญญาณคืองานศิลปะส่วนตัว แต่ปัจจุบันก็อยากทำงานรับจ้างอยู่ แต่มันเปลี่ยนเป็นอยากทำเพราะความสนุกมากกว่า
“เทคนิคการปั้นของผมมาจากครูพักลักจำ ครั้งแรกผมเรียนจากอาจารย์ไข่มุกด์ ชูโต ท่านบอกเทคนิคการเข้าสเกล คือส่วนใหญ่เขาจะปิดเป็นความลับ แต่ท่านถ่ายทอดวิชาให้ผม คือวิชาเหล่านี้เป็นของตะวันตกตั้งแต่ยุคเรเนสซองส์มีการวัดสเกล การเข้าส่วน ความจริงในตำรามันมีแต่มันเป็นเรื่องของทฤษฏี ถ้าไม่ได้อยู่กับอาจารย์ที่เป็นจริง ๆ มันยากมากที่จะทำงานปั้นคุณภาพดีออกมาได้ ซึ่งในสมัยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ท่านไม่ปิดบัง แต่เมื่อถูกถ่ายทอดออกมาแล้วกลับไม่ค่อยมีคนอยากสอนมากนัก แต่ผมโชคดีที่ได้เทคนิคตรงนี้มาทั้งหมด เลยสามารถทำงานศิลปะงานปั้นออกมาได้ดี
“ผมเชื่อว่าการทำงานศิลปะเรื่องของพรสวรรค์ต้องมี เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันต้องติดมาด้วย แต่ผมก็เชื่ออีกว่าคนเราจะสำเร็จได้ต้องมีความมุ่งมั่นเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ 50-50 คือถ้าเรามีความมุ่งมั่นแต่เราไม่มีพรสวรรค์เรารอด แต่ถ้ามีพรสวรรค์แล้วขี้เกียจก็ไม่รอด กฎข้อนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องศิลปะอย่างเดียว คือเอาไปใช้ได้ทั้งหมดทุกเรื่องคนที่มีความมุ่งมั่นทะเยอทะยานมีความใฝ่ฝันตรงนี้รอด
“งานศิลปะส่วนตัวของผม ในช่วงแรกจะทำออกมาในแนวหน้าคนถูกเปิด ช่วงกลาง ๆ ชีวิตผมจะเอาหัวสัตว์มาเสียบแทนหน้าคน หรือไม่ก็เป็นคนผสมกับสัตว์ ผมถือว่ามันคือค่าแทนจิตใจของมนุษย์ ว่าคนกับสัตว์ไม่ได้ต่างกันบางทีคนเราร้ายยิ่งกว่าสัตว์อีก คือเป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไป แล้วผมก็มาทำเป็นงาน ซึ่งก็ได้ผลดีพอเราไปปะทะกับมัน มันก็แทงใจเรา งานมันแมตช์กับสังคมแล้วก็กลายเป็นเอกลักษณ์ด้วย เวลาเห็นรูปปั้นคนหน้าเปิดหรือว่าเห็นคนที่มีหัวเป็นสัตว์เขาก็นึกถึงมานพ สุวรรณปินฑะ
“จุดมุ่งหมายของผมไม่ได้ทำงานศิลปะเพื่อขาย เพราะผมหาเลี้ยงชีพได้ด้วยงานรูปเหมือนกับอนุสาวรีย์ มันทำให้ผมสร้างสรรค์งานโดยที่ไม่ต้องคิดจะขาย คือผมไม่ต้องเอาใจใครนอกจากตัวเอง ผมหลุดพ้นจากการหาเลี้ยงชีพเพื่อขายงานศิลป์ ทำไมผมถึงทำอยู่ทั้งที่มีกินแล้วเพราะผมชอบทำงานศิลปะ คือไม่รังเกียจที่ใครจะซื้องานของผมแต่จะซื้อก็ได้ไม่ซื้อก็ได้ สำหรับผมบางคนอาจให้งานศิลปะเป็นสินค้า ผมไม่ได้ปฏิเสธเรื่องของการขายงานหรอก แต่มันเป็นเหมือนอาหารทางจิตของผมเอง ถ้าจะไปเป็นอาหารทางจิตของคนอื่นด้วยก็ยินดี
“ในชีวิตผมส่วนใหญ่ทำงานอยู่สองประเภท คือรับจ้างปั้นรูปเหมือนกับงานศิลป์ส่วนตัวที่หล่อเลี้ยงจิตใจ แต่งานปั้นรูปเหมือนมันจะลึกกว่าอีกหลาย ๆ คนที่รับจ้างปั้นอย่างเดียว คือรับจ้างเอาเงินมากินมาใช้แล้วจบไป แต่ของผมมันมีความคิดเรื่องศิลปะ ความคิดในงานศิลปะมันทำให้งานของเราลึกซึ้งไปด้วย แต่ถ้าเราเป็นคนที่รับจ้างอย่างเดียวเหมือนความลึกซึ้งตรงนี้ มันจะหมดไปยิ่งไปคิดเรื่องเงินตลอดจะทำให้เกิดปรปักษ์กับงานศิลป์ แต่ต้องยอมรับว่ามันก็ขาดซึ่งกันและกันไม่ได้ เราทำงานศิลปะรับจ้างก็ต้องใช้เงิน เพื่อที่จะมาหล่อเลี้ยงชีวิต มีอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่าเงินจำเป็นแต่ไม่สำคัญ คือต้องใช้เงินแต่อย่าไปอะไรกับมันมาก มันไม่สำคัญขนาดนั้นหรอกแต่จำเป็นแน่ ๆ
“ภาพรวมงานของผมที่ทำออกมา อาจเรียกได้ว่าเป็นแนวสังคมสัจนิยม ที่มีแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์การเมือง และสังคม ซึ่งจะมีความเลวร้ายแอบซ่อนอยู่เยอะพอสมควร แต่ในบางครั้งผมก็ทำเรื่องเบา ๆ อย่างเรื่องบทเพลงแห่งชีวิต เรื่องแม่กับลูกบ้าง คือมันเหมือนนักแต่งเพลงที่อยากแต่งเมโลดี้ที่ซอร์ฟลงบ้าง แต่ส่วนใหญ่งานของผมจะเข้มข้นมากกว่า
“ผลงานที่ผมภูมิใจชุดหนึ่งคือการปั้นพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 ไม่รู้เป็นเพราะอะไรผมชอบปั้นรูปของพระองค์ ในมุมมองของผม พระองค์ท่านเป็นคนหล่อคือมีพระรูปงาม บางทีพระองค์ท่านหันเผลอ ๆ ยังหล่อเลย หล่อกว่าพระเอกหนังหมายถึงในทางทัศนะธาตุ คือมองอริยะบทไหนท่านก็เป็นกษัตริย์รูปงาม แล้วเป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากสร้างรูปของพระองค์ท่านเยอะแยะเลย ซึ่งผมเป็นประติมากรก็จะเน้นเรื่องของความงามและเรื่องราว
“ผมต่างจากศิลปินคนอื่น ที่ส่วนมากจะทำงานของพระองค์ท่านหลังจากสวรรคตแล้ว แต่ผมไม่ใช่ผมทำก่อนหน้านี้นานมาก จนถึงบัดนี้ยังทำอยู่เลย คนอื่นอาจจะเลิกทำไปแล้วคือหมดกระแส อย่างที่บอกว่าผมทำงานของท่านไม่เกี่ยวกับงานขายแต่ผมชอบในความงามทางศิลปะมากกว่า
“สำหรับคนที่อยากเข้ามาทำงานด้านศิลปะ คือต้องตัดสินใจให้แน่นอนมั่นคงเพราะ มันเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก แต่ผลลัพธ์ที่ออกมามันก็หอมหวาน คือมันลำเค็ญแต่ถ้าเรามุ่งมั่นมันก็มีเปอร์เซ็นต์สำเร็จสูง แต่ถ้ามัวแต่ลังเลมันก็ไม่สำเร็จหรอกมันยาก ลองสังเกตนะในหนึ่งร้อยคนจะเป็นศิลปินเพียงไม่กี่คน คือบางทีมันก็อยู่ที่ใจด้วยนะ แต่บางคนอาจไปไม่ถึงก็ไม่เป็นไร ไปทำอาชีพอื่นอย่างเปิดร้านอาหาร ร้านกาแฟ แต่ใช้ความสามารถทางด้านศิลปะเข้ามาช่วยในกิจการมันก็คือศิลปะอย่างหนึ่ง คือใช้ศิลปะไปช่วยในอาชีพของคนเองให้ได้
“ผมไม่คิดว่าช่างวาดช่างปั้นมันจะเป็นอาชีพเลิศเลอกว่าอาชีพอื่นหรอก และผมไม่ได้คิดว่าตัวเองสูงส่งกว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นจะเป็นเชฟ เปิดร้านอาหารเป็นดีไซด์เนอร์ ออกแบบเสื้อผ้า ฯลฯ ถ้าเรามีมุ่งมั่นบวกพรสวรรค์ยังไงก็สำเร็จ หรือถึงไม่มีพรสวรรค์ แต่อย่างน้อยต้องมีความพยายามสูงโอกาสสำเร็จก็มีเช่นกัน
“โดยส่วนตัวผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เก่งกว่าใคร แต่ขยันกว่าคนอื่นผมถึงรอด ผมนอนเร็วตื่นเช้าทุกวัน ไม่ต้องกลัวเลยว่าคนที่ทำงานมากจะไม่สำเร็จ ศิลปินทั่วโลกหรือคนสำเร็จทุกอาชีพเป็นคนขยันหมด เขาขยันกว่าพวกเรา คือมันมีลักษณะพิเศษคือขยัน ถ้าไม่ขยันความสำเร็จแทบจะเป็นศูนย์คือน้อยมาก คนสำเร็จส่วนใหญ่ทุกอาชีพเป็นแบบนี้
“ผมถือคติที่ว่างานของผมทำตลอดชีวิตไม่มีเกษียณ เป้าหมายของผมคือไม่เกษียณ ซึ่งก็ไม่แปลกศิลปินทั่วโลกเป็นแบบนี้หมดทั้ง เฮนรี่ มัวร์ (Henry Moore) อ็องรี มาติส (Henri Matisse) หรือ ปีกัสโซ (Picasso) หลายคนก็ทำงานจนกระทั่งนาทีสุดท้ายของลมหายใจ
“ปัจจุบันเราอยู่ในสังคมที่มีโรคโควิด-19 ผมคิดว่าตัวเองรอดแล้วคือทำมาเยอะ คือพออยู่ได้โดยที่ไม่ต้องขายงานแม้ว่างานของตัวผมเองขายไม่ค่อยได้ก็ตาม แต่มันหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ ส่วนงานรับจ้างหล่อเลี้ยงชีวิต มันเกื้อกูลกันนะ ไม่ทำงานศิลปะไม่ได้มันอึดอัด ส่วนงานรับจ้างผมทำจนไม่เดือดร้อนแล้ว สบาย ๆ ซึ่งก็ดีด้วยไม่ต้องพบใครมากไม่วุ่นวาย
“แต่ในอีกด้านหนึ่งด้วยสถานการณ์ตอนนี้มีคนลำบากมากมาย เป้าหมายอีกอย่างคือผมพยายามรับใช้สังคมตอนนี้ก็ตั้งกองทุนขึ้นมาชื่อว่า “LIFE GO ON คือชีวิตต้องดำเนินต่อไป” เราจะรวมตัวกันคือผมกับเพื่อน ๆ ที่พอมีฐานะอยู่ได้สบายๆ โดยไม่ต้องขายงาน โดยกองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อจะช่วยศิลปินในกลุ่มซึ่งเร่งไว้ 1 คนที่กำลังเดือดร้อนหนัก เขามีผลงานศิลปะที่ดีเพียงแต่ขายไม่ได้ โดยผมจะปั้นงานขึ้นมาชิ้นหนึ่งอาจจะลดเพดานให้เข้าถึงคน เป็นงานที่ดูง่ายขึ้นแล้วเปิดจองจำหน่ายเพื่อนำเงินมาให้เขา
“สำหรับหลายคนที่ประสบความลำบากในชีวิต กับสถานการณ์ตอนนี้ผมก็ให้กำลังใจ ถ้าเราอับจนหนทางขึ้นมาจริงๆ อย่าเพิ่งคิดสั้น เราขาดเหลืออะไรก็เรียกร้องกับสังคมกับรัฐบาลน่าจะมีประโยชน์กว่าครับ”
Did You know
อาจารย์ มานพ สุวรรณปินฑะ จบการศึกษาปริญญาตรีคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
โดยมีผลงานอนุสาวรีย์อาทิ สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ (ร่วมกับอาจารย์ ไข่มุกด์ ชูโต) บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่
อนุสาวรีย์ พระบิดา (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก)มหาวิทยาลัยมหิดล
อนุสาวรีย์ สมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี
อนุสาวรีย์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และอาจารย์ป๋วยอึ๊งภากรณ์อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี