โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๒๒ กระซิบดังจากแม่น้ำ
โดดเดี่ยวแต่ไม่เดียวดาย ตอนที่ ๒๒ กระซิบดังจากแม่น้ำ
อุดรธานี...ในปีที่สงครามเวียดนามยังคงคุกรุ่น เมืองนี้เป็นฐานทัพของทหารจีไอ มีสนามบินของทหารอเมริกันอยู่ที่หมากแข้งห่างจากตัวจังหวัดเพียงไม่กี่กิโล
บาร์ที่เราจะไปเล่นดนตรีอยู่ไม่ไกลจากสนามบินเท่าไหร่ ที่นี่จึงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของบรรดาทหารไกลบ้าน เจ้าของบาร์จึงตั้งชื่อเป็นภาษาฝรั่งว่า “ไมอามี่”
ทันทีที่เราเดินทางมาถึง ไอ้น้านักแต่งเพลงขี้เมาก็ออกคำสั่ง
“เองไปขนเครื่องดนตรีไปไว้ในบาร์”
ในตอนนั้นฉันไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่าช่วยกัน แต่มาเริ่มคิดก็ตอนเล่นดนตรีฉันไม่มีโอกาสได้ร้องเพลงอย่างที่มันบอก กลายเป็นว่ามันหลอกให้มาเป็นเด็กขนเครื่อง ไม่ใช่เป็นนักร้อง
และที่รู้แน่ชัดเพราะว่ามันให้ฉันมีอีกหน้าที่เป็นคนครัวทำอาหารให้กับนักดนตรีนักร้องอีกสิบคน
หลังเล่นดนตรีจนดึกดื่น แต่มีฉันคนเดียวที่จะต้องตื่นแต่เช้าไปจ่ายตลาด ทำกับข้าวให้กับพวกเขาที่จะตื่นเกือบจะเที่ยงวันกินกัน
ในตอนแรกก็มีเงินพอที่จะจ่ายอาหารดีมากิน แต่ระยะหลังไอ้น้าขี้เมามันจ่ายค่ากับข้าวบ้างไม่จ่ายบ้าง จนกระทั่งสุดท้ายพวกเราจึงต้องกินข้าวเหนียวจิ้มน้ำแจ่ว หรือเป็นข้าวจ้าวก็กินข้าวคลุกน้ำปลา บีบมะนาวโรยพริกป่นแทน
ความอึดอัดกับความคับแค้นของฉันจึงเริ่มปะทุร้อน แล้วมันก็ระเบิดขึ้นในบาร์เมื่อฉันเห็นว่าทหารจีไอลูกค้าเริ่มออกอาการ เบื่อเพลงไทยที่นักร้องสาวพยายามจะเรียกแขกให้สนุกสนาน
แต่ทหารออกสงครามกำลังจะเดินออกจากบาร์ด้วยความเซ็ง ฉันจึงตัดสินใจแย่งไมค์จากนักร้องคว้าเอามาถือ แล้วก็ร้องเพลงร็อคที่ทหารรู้จักแทน
ผลที่รับกลับมาทันทีทหารจีไอซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหนุ่มห้าวก็ออกมากระโดดโลดเต้นอยู่กลางฟอร์ล อย่างสนุกสนาน
และอีกผลหนึ่งซึ่งกลับคืนมาเช่นกันก็คือ นักร้องสาวไปฟ้องไอ้น้าขี้เมาว่าถูกแย่งไมค์
เรื่องนี้ก็เลยเป็นเรื่องใหญ่โต ฉันถูกเรียกไปประจานด้วยการด่าให้คณะดนตรีทุกคนฟัง ทั้งกำชับให้ทุกคนรู้ว่า
“ต่อไปนี้ อย่าให้มันทะลึ่งขึ้นไปบนเวที มันมีหน้าที่เป็นเด็กขนเครื่องเท่านั้น”
เป็นอันว่าในตอนกลางคืน ฉันไม่สามารถขึ้นไปยืนบนเวทีของนักร้องนักดนตรีได้ แต่ฉันก็ยังหาโอกาสที่จะเป็นนักร้องให้ได้
ตอนบ่ายพวกนักร้องกับนักดนตรีจะต้องมาซ้อมร้องเล่น เพื่อเตรียมแสดงในตอนกลางคืน ก็ตอนนั้นล่ะ ฉันจะหยิบไมค์ขึ้นมาร้องเพลงในตอนที่เขาพัก
เพลงที่ฉันร้องเป็นเพลงชื่ออะไรจำไม่ได้ จำได้แค่แต่เนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า
“...ชีวิตเดียวเปลี่ยวใจยามห่างไกลบ้านเรือนหลับนอน
ใจแม่คงอาวรณ์ที่ลูกจากจรจากบ้านนามา...ฯลฯ
...เป็นลูกตามหาพ่อ ฉันก่อเวรกรรมแต่ปางใด
พ่อโอพ่อของลูก พ่อผันพ่อผูกลูกเต็มวิญญาณ
ลูกปรารถนาพ่อแม่ยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ” ................
ฉันร้องเพลงนี้ โดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนแต่งที่ท่านเขียนได้เหมือนเอาชีวิตของฉันไปบรรจุไว้ในเนื้อเพลง ฉันจึงอยากจะร้องเพลงนี้ให้คนได้ยินหัวใจที่ร้องไห้ของฉัน
แต่นักร้องนักดนตรีไม่ได้สนใจเพลงที่ฉันร้อง บางคนก็หัวเราะกับสิ่งที่ฉันทำ เขาแอบกระซิบกันเหมือนจะบอกให้ดูความพยายามของฉันมันเศร้า มันจึงทำให้ฉันคิดถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลเข้าไปในคลองบางหลวง เพื่อฝากไปบอกกับย่าว่า
ฉันยังมีชีวิตอยู่ และเป็นชีวิตที่เข้มแข็ง
ฉันจะยืนหยัดอยู่สู้ชีวิตให้ได้ไม่ว่าจะดีร้ายอย่างไร
ฉันจะไม่ร้องไห้กับชะตากรรมของตัวเอง
และฉันจะไม่หัวเราะเยาะชะตากรรมของผู้อื่น
และฉันก็รู้ว่า มีที่หนึ่งที่ฉันจะต้องไปในยามนี้
แม่น้ำโขง...อยู่ห่างจากอุดรฯ คงจะไม่ถึงร้อยกิโล เป็นแม่น้ำที่ติดอยู่กับหนองคาย ซึ่งก็ไม่ได้ไกลจากอุดร แต่ปัญหาก็คือฉันจะเดินทางไปให้ถึงได้อย่างไร ?
เดือน...สองเดือนที่ทำงานไอ้น้านักแต่งเพลงขี้เมา มันไม่เคยจ่ายให้ฉันเลยสักบาท
แต่ฉันตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าถึงอย่างไรจะต้องไปเห็นแม่น้ำโขงให้ได้ โขงไม่ได้อยู่ไกลที่ฉันจะฝากไปบอกย่า
โขงลาวกับเจ้าพระยาไทย เราก็คือสายเลือดเดียวกัน
เหมือนเพลงของ “หลวงวิจิตวาทการ” ที่เขียนไว้ในเพลงชื่อ “ใต้ร่มธงไทย” ครูดนตรีโรงเรียนสวนกุหลาบที่ฉันศึกษาเคยสอนให้พวกเราร้อง ฉันยังจำบางท่อนบางตอนที่เราร้องว่า
... “ใต้ร่มธงไทยร่มเย็นเหมือนดั่งโพธิ์ไทร
ใต้ร่มธงไทยร่มเย็นเหมือนใต้แสงจันทร์
เชิญพวกพ้องพี่น้องมาพร้อมกัน
เชิญอยู่ใต้ร่มธงไทย เลือดเนื้อเผ่าไทยนั้นควรมีสมานฉันท์
ชาติไทยใหญ่หลวง แต่กระจัดกระจายถูกแยกแบ่งย้าย
ไปหลายสาขา.........ฯลฯ”
เมื่อตอนร้องหมู่อยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ ก็เคยคิดว่าจะต้องเดินทางมาเห็นแม่น้ำโขงให้ได้ นักเรียนรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อ “ท้าวกำแพง เสด็จตัน” เป็นคนลาวก็ยังเดินทางมาเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา เราเป็นลูกแม่น้ำเจ้าพระยาจะต้องไปเห็นแม่น้ำโขงทางฝั่งลาวให้ได้สักวัน
และโอกาสนั้นก็มาถึงวันนี้แล้ว เมื่อฉันอยู่อุดรที่ห่างหนองคายไม่ถึงร้อยกิโล
ถนนมิตรภาพที่เริ่มต้นจากสระบุรี และไปสิ้นสุดที่หนองคายทำให้การเดินทางสะดวกสบายเพราะจากอุดรไปถึงหนองคายใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมง ปัญหามีอยู่ว่าฉันจะเดินทางไปให้ถึงได้อย่างไร เงินสักบาทก็ไม่มีติดตัว
แต่การที่ต้องไปจ่ายตลาดตอนเช้า ฉันสังเกตเห็นว่ามีรถบรรทุกขนส่งสินค้าจะมาจอดพักกินข้าวอยู่ข้างตลาดทุกวัน เคยสอบถามว่าจะไปส่งสินค้าที่ไหนกันถึงได้รู้ว่าจะไปหนองคาย
ฉันจึงรู้ว่าจะเดินทางไปเมืองติดกับแม่น้ำโขงก็ไม่ยากแต่อย่างไร เพียงฉันไปบอกกับเขาด้วยเสียงเศร้า...เศร้าว่า
“น้าผมขอติดรถไปหนองคายด้วยคน ผมไม่มีเงินซื้อตั๋วรถเมล์ รถไฟ ผมตกรถครับ”
เส้นทางจากอุดร...หนองคายในสมัยนั้น รถรายังไม่มีพลุกพล่านสองฝากทางเป็นท้องนาที่แห้งแล้ง ไม่มีต้นไม้เขียวเหมือนที่สระบุรีที่ฉันเคยไปเป็นครูและฝันว่าจะเป็นเกษตรกร
คนขับรถจอดแวะกินข้าวข้างทาง มีคนหนึ่งยื่นไก่ย่างเสียบไม้ชิ้นเล็ก...เล็กยื่นมาให้ ฉันจำได้เพราะเป็นไก่ชิ้นแรกคำแรกที่ฉันได้กิน หลังจากที่ถูกหลอกให้มาเป็นเด็กขนเครื่องนานนับเดือน
แม่ค้าชาวบ้านปิ้งไก่ขายตรงแยกเข้าอำเภอศรีเชียงใหม่ ภูมิปัญญาชาวบ้านแบบพื้น...พื้น ฉันจดจำได้และก็ทำให้ฉันเข้าใจการปิ้งไก่แบบคนอีสาน ต่างไปจากการย่างไก่ของคนภาคกลาง
“หายหิวแล้วละซิ” โชเฟอร์ใจดีถามฉัน
“แล้วน้าหายง่วงหรือยัง”
“ถ้ามีเพลงฟังก็คงจะดี เองร้องเพลงเป็นมั้ยล่ะ”
นี่คือคนที่อยากให้ฉันร้องเพลงให้ฟังเป็นคนแรก
ฉันร้องเพลงไทยเพลงที่เคยร้องให้นักร้องนักดนตรีในบาร์ “ไมอามี่” ฟังแต่พวกเขาไม่ฟังและยังมองเห็นฉันเป็นตัวตลก
ตัวตลกเป็นตัวแสดงที่ฉันชอบ แต่ฉันไม่ชอบให้ใครเห็นฉันเป็นตัวตลก
เพลงที่ร้องบอกถึงการพลัดพรากจากบ้าน จากครอบครัวจากพ่อจากแม่ คงจะถูกในคนขับรถ ฉันสังเกตอาการของเขาด้วยซึม...ซึม
ฉันเองก็รู้สึกเศร้า เพราะถูกคราวที่ฉันร้องเพลงนี้ มันทำให้คิดถึงบ้านที่ฉันไม่เคยมี คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ ที่ฉันมีแต่เหมือนไม่มี
“ไอ้หนูเองร้องเพราะดี ร้องอีกที” เขาขอร้องอย่างชื่นชม
“ไม่ได้หรอกน้า เพลงนี้ผมร้องได้ครั้งเดียว”
แล้วตลอดเส้นทางจากศรีเชียงใหม่ ไปจนถึงหนองคาย ฉันกับเขาเรานิ่งเงียบไม่ได้พูด ไม่ได้ถามต่อกันอีกเลย
รถมาจอดตรงหน้าศาลากลาง ที่มีทางเดินไปถึงแม่น้ำโขง จะมีอนุสาวรีย์ขนาดเล็กมีชื่อว่า “อนุสาวรีย์ปราบฮ่อ”
เรื่องปราบฮ่อนี้ ย่าเคยเล่าว่าคนในตระกูล “บุนนาค” ก็ร่วมรบอยู่ในศึกครั้งนั้น
ตระกูลของย่าไม่ใช่รบแต่สงครามปราบเจ๊กเท่านั้น ปราบแขกปัตตานีก็เคยรบมาแล้ว เลยจากบ้านของเจ้าจอม “มารดาแพ” จะมีสี่แยกบ้านแขกและหน้าบ้านย่าริมคลองสมเด็จฯ ก็ยังมี “ตลาดแขก” ที่ซึ่งย่าจะพาฉันไปจ่ายกับข้าวกับบ่าวไพร่เป็นประจำ
สมัยที่ฉันอยู่กับแม่ที่วัดชนะสงคราม บางลำพู ใกล้ ๆ กับซอยรามบุตรีก็มี “สี่แยกแขกปัตตานี” แต่ตอนนี้คนแขกที่มาจากปัตตานีกลายเป็นคนไทยไปจนหมดแล้ว
ความคิดคำนึงถึงชาติ ทำให้คิดถึง “ท้าวกำแพง เสด็จตัน” เพื่อนรุ่นพี่ที่เคยเรียนสวนกุหลาบด้วยกัน
ผมเคยบอกกับพี่เค้าว่า
“ผมอยากจะไปช่วยคนลาวรบกับฝรั่งเศส ไอ้ฝรั่งล่าเมืองขึ้นนี้ที่มันแบ่งแยกความเป็นพี่น้องของไทยลาวออกจากกัน”
พี่กำแพงหัวร่อ คำพูดจาประสาซื่อของผมและบอกอย่างเอ็นดูว่า
“อยู่เมืองไทยนี่ล่ะดีแล้วน้อง พี่เป็นคนลาวแต่พี่ยังรักเมืองไทย แต่ก็อยู่เมืองไทยไม่ได้ต้องกลับเมืองลาว
“อ๊าว!!ทำมาล่ะพี่”
“ก็เพราะพี่เป็นคนลาว ลาวเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพี่ จึงจะต้องกลับไปรับใช้ชาติบ้านเมือง”
ข่าวที่ผมได้ทราบจากนักเรียนสวนกุหลาบเล่าว่า เมื่อเรียนสำเร็จจากโรงเรียนสวนกุหลาบแล้ว พี่กำแพงไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศสแล้วกับมาเป็นตำรวจลาวอยู่ที่หลวงพระบาง
ผมไม่เคยไปหลวงพระบาง แค่เวียงจันทร์ที่อยู่ตรงข้ามกับหนองคาย ศรีเชียงใหม่ผมยังไม่มีปัญญาข้ามไป ก็ได้แต่มองชะเง้อข้ามฝั่งโขงด้วยความรู้สึกเสียดาย
น้ำโขงที่ฉันเห็นอยู่ตรงหน้า แตกต่างจากน้ำเจ้าพระยาที่ฉันมีความผูกพันมาตั้งแต่เด็ก
ตลิ่งริมฝั่งสูง จนต้องมีบันไดพาดให้เดินขึ้นลง แต่ตลิ่งเจ้าพระยาต่ำจนดูเหมือนกับจะไม่มี แต่ที่แตกต่างกันอย่างมากก็คือสีของน้ำ
น้ำโขงขุ่นออกเป็นสีน้ำตาลปนแดง น้ำเจ้าพระยาขุ่น
เช่นกันแต่น้อยกว่าและก็เป็นสีน้ำตาลไม่มีแดงปน
ฉันวักน้ำโขงลูบหน้าราดหัวแล้วก็คิดถึงย่า เวลาเรานั่งเรือผ่าน
“วังพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์” ซึ่งอยู่ตรงข้ามคลองบางหลวง แถวท่าเตียน ย่าก็บอกฉันว่า
“วักน้ำล้างหน้า รดหัวซะลูก น้ำบริเวณเจ้านายประทับเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์มีมงคล”
น้ำโขงก็มีมงคลและศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉันมีความรู้สึกเหมือนน้ำโขงกระซิบบอกฉันด้วยเสียงดังลั่นว่า
“กลับไปบ้านเจ้าเถิด บ้านของเจ้าคือเมืองไทย
แม่น้ำโขงไม่ได้ความเป็นไทยลาว แตกต่างกันตามความต้องการลัทธิ
ล่าอาณานิคมของฝรั่ง
ลาวกับไทยก็ยังเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดกันมาเป็นพันปี
ลาวกับไทยมีสายพันธุ์เผ่าเดียวกันตลอดไป กลับไปบ้านเจ้าเถิด”
ได้ยินเสียงกระซิบบอกของแม่น้ำ ฉันเองก็อยากจะตะโกนลั่นคุ้งน้ำว่า
...แล้วฉันจะกลับบ้านที่คลองบางหลวงของย่าได้อย่างไร ฉันถูกไอ้น้านักแต่งเพลงขี้เมาหลอกให้ฉันมาเป็นเด็กขนเครื่องดนตรีอยู่อุดร เงินสักบาทก็ไม่มีติดตัว แล้วฉันต้องทนทุกข์ทรมานนานเท่าไหร่ก็สุดที่จะรู้ได้ แม่น้ำรับรู้ไว้ด้วยเถิด ...แม่น้ำโขง...
Text : สันติ เศวตวิมล
Picture : ภู่ประดิษฐ์