คงเดช จาตุรันต์รัศมี : ทิศทางหนังไทยในยุคอุตสาหกรรม 4.0 | Issue 167

คงเดช จาตุรันต์รัศมี : ทิศทางหนังไทยในยุคอุตสาหกรรม 4.0 | Issue 167

ทิศทางหนังไทยในยุคอุตสาหกรรม 4.0 คงเดช จาตุรันต์รัศมี

นี่คือการพูดคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะที่สนุกที่สุดในรอบปีของเรา ได้ทั้งแง่คิด มุมมอง ไอเดียที่ผุดขึ้น คมความคิดบางแง่บางมุมจากผู้กำกับมือรางวัล ที่ภาพยนตร์ของเขาหลายเรื่องชนะรางวัล และได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลหนังยอดเยี่ยมต่าง ๆ มากมายทั้งในบ้านเราเองและต่างแดน ได้พาหนังไทยไปฉายในเทศกาลหนังต่าง ๆ และเป็นที่ชื่นชอบหลายเรื่อง ทั้งในฐานะผู้กำกับ และผู้เขียนบท

ชีวิตของพี่เล็ก คงเดช จาตุรันต์รัศมี อัดแน่นด้วยประสบการณ์ของคนทำงานเบื้องหลัง ทั้งมิวสิควิดีโอค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง เป็นครีเอทีฟ เป็นนักแต่งเพลง ฯลฯ นอกจากจะเป็นมือเขียนบทภาพยนตร์สุดฮอตแล้ว เขายังเป็นนักร้องนำ วงสี่เต่าเธอ วงดนตรีชื่อดังในยุคอัลเตอร์เนทีฟครองเมืองอีกด้วยบอกเลยว่าคอหนังคอเพลงห้ามพลาด...

แต่เพียงผู้เดียว

คงเดช : เราเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางปกติ บ้านเป็นร้านขายยา เกิดในย่านตรอกจันทน์แต่ไปโตที่สุรวงศ์ มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน เราเป็นคนที่ 3 ยังต้องช่วยที่บ้านขายของ ทำให้เราเก่งเลขเพราะต้องคิดเงินบวกลบตังค์ทอนสม่ำเสมอ ช่วงมัธยมก็ไปเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ทำให้เริ่มมีวงดนตรีตั้งแต่ยุคนั้น และก็เริ่มรู้ตัวว่าสนใจภาพยนตร์ช่วงมัธยมปลาย ก็เลยมุ่งหน้าไปเรียนฟิล์ม คือไปเอ็นทรานซ์ติดที่มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ช่วงเรียนก็ทำวงดนตรีอีกเช่นกัน

พอเรียนจบมาก็ทำงานที่ถือว่าตรงสายนะ เรามาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่บริษัท อาร์เอส โปรโมชั่น คือทำมิวสิควิดีโอเป็นหลัก ทำเอ็มวียุค เต๋า, นุ๊ก, เรนโบว์, อิทธิ พลางกูร, บอยสเก๊าท์ ฯลฯ ทำอยู่พักใหญ่นะแล้วก็ออกไปเป็นอาจารย์สอนวิชาสาขาภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระหว่างนั้นก็ทำวงดนตรีชื่อ สี่เต่าเธอ ออกอัลบั้มแรกในช่วงนั้น พอทำหลาย ๆ อย่างก็เริ่มได้ที่แล้วว่าเราควรต้องทำหนังสักที ก็เริ่มจากเขียนบท เริ่มลุยจนได้ทำหนังเรื่องแรก แล้วก็ทำหนังมาตลอด

ทิศทางหนังไทยในยุคอุตสาหกรรม 4.0 คงเดช จาตุรันต์รัศมี

Snap แค่...ได้คิดถึง

คงเดช : ตั้งแต่เรียนมัธยมแล้ว เราชอบสายบันเทิง ไม่ใช่สายกีฬา ชอบวาดการ์ตูน ชอบอ่านการ์ตูน ชอบสตอรี่ ก็ตามประสาวัยรุ่น แต่เราทำวงดนตรีกันด้วย ตอนนั้นวงเดียวกับไอ้ป๊อดโมเดิร์นด๊อกนะ ซ้อมกันสนุก ๆ ไปประกวดบ้าง สนุกกับดนตรี พอไปเรียนมหาลัยก็มีวงอีก ไปอยู่กับเล็กวงพราว เราเป็นนักร้องนะ คือตอนนั้นเราเล่นกีตาร์ไม่เป็น เรามาหัดเล่นกีตาร์ตอนรวมวงทำสี่เต่าเธอ หัดเล่นเพื่อจะแต่งเพลงนะ ไม่ได้หัดเล่นเพื่อเป็นมือกีตาร์ มองดนตรีเป็นความสุข เป็นทางออก แต่ภาพยนตร์เนี่ยจะเป็นอาชีพที่เราอยากลองทำดู อยากเรียนภาพยนตร์ อยากทำหนัง อยากทำเป็น เราไม่ได้อยากเรียนดนตรี ก็เหมือนกับตั้งเป้าเอาไว้อย่างนั้นตั้งแต่เด็ก 

จากความคิดเรา ทำไมสวนกุหลาบถึงศิลปินเยอะ อืม...เราว่าเพราะเด็กนักเรียนเยอะด้วยนะ ยุคเรา ม.ปลาย มี 16 ห้องต่อชั้นปีเลยนะ ข้อดีของความที่เด็กเยอะมันก็เลยจะมีเบ้าหลอมที่หลากหลายสูงมาก มีทั้งเด็กที่เรียนเก่งมาก ๆ เรียนสายวิทย์ ไปเป็นหมอเป็นวิศวกร หรือสายการเมืองก็เยอะ นักกีฬาทุน มีเพื่อนที่เป็นเด็กต่างจังหวัด มีเพื่อนที่เป็นหม่อมราชวงศ์ คือมีพื้นเพหลากหลายมาก ๆ ในยุคที่เราเรียนทุกคนเท่ากันหมด ยังไม่มีการแบ่งวรรณะ คลาสเด็กรวยเด็กจนนั้นไม่มี แล้วพอเราชอบอะไรสักอย่างก็จะมีเพื่อนที่ร่วมชอบด้วยกัน

อย่างวงดนตรีในรุ่นเราไอ้ป๊อดมันก็จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเสมอ วงเราคือวงดนตรีประจำรุ่น 108 เวลาใครนึกถึงวงดนตรีรุ่นเราก็จะเป็นพวกกลุ่มนี้ หรือพวกชอบวาดภาพ ชอบงานศิลปะก็จะมีชมรมให้ไปรวมกัน หรือชอบหนังก็จะไปดูหนังแล้วมานั่งจับกลุ่มคุยกันแบบจริงจัง มันค่อนข้างจะหล่อหลอมเรา แล้วหนังสือก็อ่านกันเยอะ อย่าง เฮอร์มานน์ เฮสเส, คาริล ยิบราน 
แล้วก็แบ่งกันอ่าน ยุคนั้นยังไม่มีโซเชียลอะไรด้วย คนก็เลยค่อนข้างมีสมาธิกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากกว่า 

เรียกว่าโตมาในยุค 80 ก็ได้ เราเรียน ม.1 ตอนปี 84 จบปี 89 คือสอบเทียบได้ตอน ม.5 ในปี 89-90 เป็นปีที่ซีนดนตรีนั้นมันส์มาก เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นของโลกด้วย เมื่อก่อนจะฟังหมดทั้งฝั่งอังกฤษและอเมริกานะ ตอนนั้นยังเป็นเทปผีพีค๊อกอยู่เลย วงไหนออกมาก็ฟัง ไม่ได้แยกโซน  

ตอนเราเรียนฟิล์มมันยังเป็นยุคที่ไม่ได้มีหนังให้ดูเยอะเท่านี้ด้วยนะ จำได้ว่าต้องเข้าเมืองเกือบทุกวันเพราะไปหาหนังทางเลือกดูที่สถาบันเกอเธ่, Alliance Française Bangkok, The Japan Foundation, AUA ซึ่งตอนนั้นลาดกระบังนี่คือบ้านนอกกว่านี้มากนะ การที่ต้องหาหนังทางเลือกดูในช่วงเวลานั้นทำให้เรารู้ว่ายังมีหนังแนวอื่น ๆ มากกว่าหนังตลาดที่ฉายกันตามโรงหนังอีกนะ มีหนังญี่ปุ่นแบบนี้นะ หนังฝรั่งเศสอย่างนี้นะ เราได้รู้จักหนังในมิติอื่น ๆ มากขึ้น และทำให้เราคิดว่าหนังมันเป็นเครื่องมือที่ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด เราใช้ประโยชน์จากมันได้มากกว่าการสร้างความบันเทิง มากกว่าระดับอารมณ์ปฐมภูมิ อย่างกลัว ตลก เศร้า ซึ่งมันลึกกว่านั้นได้ พูดถึงสังคม และทัศนคติที่มีต่อมนุษย์ได้มากกว่านั้น ทำให้ยิ่งชอบที่เราจะได้ทำมันในแบบต่าง ๆ ในยุคนั้นจะยังไม่ค่อยรู้อะไร ว่าอาชีพทำหนังมีทางเลือกอื่น ๆ ที่มากกว่าการเป็นผู้กำกับ ก็เลยทำให้อยากเรียนเพื่อไปเป็นผู้กำกับ ไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่าเราจะมาเป็นผู้กำกับสายเขียนบทด้วยซ้ำคือเขียนบทนี่มาเอาทีหลัง

ตั้งวง

คงเดช : อย่างวงสี่เต่าเธอนี่เกิดจากเพื่อนสนิทที่เรียนมัธยมด้วยกันมา แต่เขาเอ็นฯ ไม่ติดที่ลาดกระบัง ก็เลยแยกไปเรียนที่ ม.รังสิต แล้วสมาชิกวงสี่เต่าเธอเนี่ยเป็นเพื่อนแกงค์ ม.รังสิต แต่เราสนิทกันเพราะให้ปูน มือกลอง สี่เต่าเธอ มาเล่นเป็นพระเอกในหนังโปรเจ็คจบของเรา ก็เลยได้มาเจอกัน ตอนนั้นป๊อดก็ประกวดโค้ก มิวสิคอวอร์ด กับเพื่อนที่มหาลัยเขา ส่วนเล็กพราวก็ชวนเราทำวงนะ แต่เราคิดว่าเป็นวงเล่นกลางคืน ซึ่งเราไม่ชอบไม่อยากเล่นกลางคืน แต่กับแกงค์สี่เต่าเธอนี่เรารู้สึกมันจูนกันติด มองโลกคล้าย ๆ กัน ถ่มถุยชีวิตตัวเอง ทุกอย่างบัดซบเสมอ (ขำ) ก็เลยมาทำเพลงกับพวกนี้

ช่วงทำงานใหม่ ๆ ที่อาร์เอส เราอยู่แผนกมิวสิควิดีโอ คือสมัยนั้นเขาไม่ใช้ฟรีแลนซ์นะ ต้องเป็นพนักงานเท่านั้น ทั้งแกรมมี่และอาร์เอสเลย คือต้องเป็นทั้งครีเอทีฟ ผู้ช่วยผู้กำกับ และก็ได้มากำกับเอง อย่างศิลปินคนหนึ่งออกก็จะทำเอ็มวี 5 ตัว ตัวหนึ่งตัวสองจะเป็นเรื่องราว ถ่ายเป็นหนัง พอตัวต่อมาก็ประหยัดงบหน่อย ถ่ายเป็นเล่นสดบ้างหรือเต้นอะไรไป กล้องก็ของบริษัท ตัดต่อในบริษัท อย่างตากล้องมีสามคนก็ต้องสลับคิวกันไป ประมาณนี้ มันก็เลยมีความเป็นอุตสาหกรรมมากหน่อย แต่ก็เป็นช่วงที่มีความสุขนะ ถ่ายวิดีโอเบต้า หน้าที่ของเราเป็นผู้ช่วยให้พี่ราเชนทร์ ลิ้มตระกูล ที่เป็นผู้กำกับและครีเอทีฟ พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว 

เราจะต้องวางเบรก รันกอง พอถึงจุดนึงก็ได้มากำกับเอง แต่เป็นตัวรอง ๆ นะ ไม่ได้กำกับตัวหลัก แต่ก็ทำได้พักนึงก็ลาออกเพราะเบื่อ เพราะเพลงยุคนั้นมันเป็นแพตเทิร์นตายตัว อย่างเอ็มวีเส้นเรื่องจะเป็นอะไรที่เดาทางได้เลย ชาย 1 หญิง 2 หรือ ชาย 2 หญิง 1 แล้วก็ต้องตบตีแย่งกัน หรือถ้าเพลงเร็วจะต้องมีไลน์เต้นคือเนื้อเรื่องจะประมาณนี้ มันก็เลยเริ่มอิ่มตัว พอดีกับมีรุ่นพี่มาชวนให้ไปสอนที่เอแบค 

ตอนนั้นเราอยากเรียนหนังต่อ คือถ้าเป็นครูทางมหาลัยเขาจะมีทุนส่งให้ไปเรียนต่อเพื่อกลับมาสอน เราก็สอนหนังสืออยู่ 6 ปี แต่เราไม่ได้ไปเรียนต่อไม่ได้ใช้ทุน เพราะถ้าไป 1 ปี ต้องกลับมาสอนสามปี ไปสองปีต้องกลับมาสอนแปดปี ก็รู้สึกว่ามันนานไป ก็เลยไม่ไป ช่วงเวลานั้นเราทำวงสี่เต่าเธอไปด้วย กำลังสนุกกับการทำเพลงด้วย ช่วงแรก ๆ เพื่อนแต่งบ้าง เราแต่งบ้าง พอมาหลัง ๆ กลายเป็นเราแต่งเพลงเป็นหลัก

ทิศทางหนังไทยในยุคอุตสาหกรรม 4.0 คงเดช จาตุรันต์รัศมี

Me...Myself 

คงเดช : เราเขียนเพลงเป็นอาชีพแค่พักเดียวนะ หลัง ๆ ก็มีเขียนให้โดม, กรู๊ฟไรเดอร์, คิดแน็ปเปอร์, ก้อ ณัฐพงศ์ ศรีจอมขวัญ ประมาณนี้ แต่เราก็ไม่ได้เป็นนักแต่งเพลงแบบฟองเบียร์นะ แค่มีช่วงหนึ่งจะแต่งเพลงประกอบโฆษณาเยอะมาก คือพี่เมย์ คิดแน็ปเปอร์ เขาจะเป็นคนทำเพลงโฆษณา แล้วเราจะเป็นขาประจำชองเขา ทั้งแต่งด้วย ร้องด้วย เราก็เขียนเพลงอย่างไม่มีตำรา แต่ทำมาหากินได้ระดับหนึ่งเลย

แต่กับบทหนังเนี่ยเป็นการจับพลัดจับผลู คือหนังเรื่องแรกที่เรากำกับเนี่ย เราเขียนบทเอง เรื่องสยิว เราไม่เคยคิดเลยว่าเราจะหากินกับการเขียนบทได้ จนพี่อ้อม ดวงกมล ลิ่มเจริญ โปรดิวเซอร์หนังเรื่อง เดอะเลตเตอร์ จดหมายรักโทรมาหาเราว่าอยากให้เขียนบทหนังเรื่องนี้ให้หน่อย เพราะเขาชอบหนังของเรามาก คือรีเมคจากหนังเกาหลีมาเป็นไทย พอทำไปมันก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จ ก็ทำให้มีคนอยากใช้บริการเรามาเรื่อย ๆ ซึ่งระหว่างนั้นเราก็ทำหนังของตัวเองไปเรื่อย ๆ เฉิ่ม, กอด และพี่อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ ก็ให้มาทำ Me Myself, Happy Birthday เหมือนว่าเวลาไปเขียนบทหนังให้คนอื่นมันจะฮิตกว่าของตัวเองหมดเลย คือพอทำหนังตัวเองเราจะชอบทดลองอะไรที่มันแปลกประหลาดออกไปหน่อยมั้ง”

เอวัง

คงเดช : เราไม่ได้คิดว่าต้องใส่เรื่องสังคมหรือการเมืองเข้าไปนะ แต่ค้นพบว่าเวลาเราคิดคาแรคเตอร์ของตัวละครเนี่ย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคนธรรมดาเดินดินทั่วไป แล้วเวลาเขียนถึงตัวละครพระเอกนางเอกของเราจะไม่สามารถวิ่งตามหากันในต่างประเทศหลาย ๆ ที่ได้ โดยที่ต้องมานั่งคิดว่าเงินเดือนจะพอไปต่างประเทศไหม เดือนนี้จะกินอะไร เพราะตัวละครของเราจะมีเรื่องสังคมล้อม ๆ อยู่ มันเอฟเฟคซึ่งก็เป็นเรื่องจริงที่เราต้องเจอ อย่างเดือนนี้เงินเดือนได้เท่าไหร่ ถ้าแม่ป่วยจะทำยังไง การเดินทางมาทำงานแต่ละวันมันช่างยากเย็นเหลือเกิน อะไรพวกนี้เรารู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่สำคัญมาก

เวลาเราสร้างตัวละครเรามักจะแคร์เรื่องพวกนี้ มันเลยเกิดเป็นสไตล์ขึ้นมาว่าในตัวละครของเรามันจะมีเรื่องสังคมการเมืองเข้ามาพัวพัน ซึ่งไม่ได้เน้นการเมืองนะ แต่ช่วงสิบปีหลังมาเนี่ยเรื่องการเมืองมันเข้าถึงทุกคน 

หนังไทยยุคก่อนมันท้าทายกว่านี้เยอะนะ เลยทำให้เราอยากเรียนทำหนัง แถมเป็นหนังของสตูดิโอใหญ่ด้วยนะ อย่างหนังของไฟว์สตาร์ หนังของผู้กำกับอย่างเพิ่มพูน เชยอรุณ มันล้ำมาก ๆ พูดถึงสังคมได้อย่างจะแจ้งและหลากหลายมาก แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไรช่วงเราเรียนจบไอ้ความหลากหลายทางสังคมเหล่านี้มันก็หายไป กลายเป็นช่วงยุคกระโปรงบานขาสั้นอยู่พักหนึ่ง ทำให้เรารู้สึกว่าไม่น่าทำเลยหนังไทย จนมาถึงยุคพี่ต้อม เป็นเอก, พี่อุ๋ย นนทรี, พี่วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ทำให้รู้สึกว่าหนังไทยก็ยังทำได้อยู่ 

เราคิดว่าหนังประเภทไหนได้รับความนิยมในช่วงนั้นก็บ่งบอกถึงสภาวะทางสังคมในช่วงนั้นได้นะ อย่างหนังไทยเราว่ายุคที่รุ่งเรืองที่สุดน่าจะเป็นช่วงยุค 70’s 80’s เพราะหนังมีความหลากหลายมาก มีดราม่าข้น ๆ มีหนังล้ำ ๆ มีหนังไซไฟ ฯลฯ แต่ทำไมยุคนึงมันถึงหายไปก็ไม่รู้ อย่างกระโปรงบานขาสั้นเองพอมาถึงจุดนึงมันก็อิ่มตัวเช่นกัน ก็เกิดหนังทางเลือกอย่างที่
พี่ต้อม พี่อุ๋ยทำ และเราก็เริ่มทำหนังในยุคนั้น ซึ่งก็ทำโดยสตูดิโอใหญ่ทั้งนั้นเลย ถ้าสยิวมาทำในยุคนี้จะกลายเป็นหนังอินดี้ทันทีเลย อย่างเฉิ่มหรือกอดก็ตาม แต่เราว่าหลังจากเรื่องกอดสภาพตลาดก็เปลี่ยนไป การลงทุนทำหนังเปลี่ยนไป เริ่มอิงกับหนังทำเงินพวกบ็อคออฟฟิศมากขึ้น บีบจนนักลงทุนเองก็ลงทุนกับแนวของหนังที่น้อยลง เลือกทำเฉพาะที่คิดว่าจะขายได้แน่ ๆ 

โรงหนังเองก็กลายเป็นมัลติเพล็กอยู่ในห้างสรรพสินค้า การดูหนังกลายเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิง ไม่ใช่เพราะอยากเดินทางไปดูเหมือนตอนยุคโรงหนังสแตนอโลน พฤติกรรมคนดูหนังในบ้านเราก็เปลี่ยนไป หนังประเภทที่ได้เงินคือหนังที่เน้นผ่อนคลาย อย่างหนังแมส แนวหนังผี ตลก หรือกะเทย ถ้าค่ายหนังหรือนักลงทุนจะจ้างเราไปทำ ถ้าหากเขาให้อิสระมากพอ เราก็ทำนะ จริง ๆ แนวของหนังมันไม่ใช่ปัญหา หนังผีดี ๆ ก็เยอะ หนังกะเทยก็น่าทำ แต่เราทำหนังแนวพี่พจน์ อานนท์ ไม่เป็นไง ถ้าหนังกะเทยแบบเราขอเป็นแนว LGBT ที่มันเข้มข้นหน่อยได้ไหม คือหนังแนวไหนก็ได้ แต่แค่เราอยากจะทำออกมาให้มันดี

ทิศทางหนังไทยในยุคอุตสาหกรรม 4.0 คงเดช จาตุรันต์รัศมี

ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า

คงเดช : ปัญหาของทุกวันนี้เราว่าคือ Craft ในการทำหนังถูกใส่ใจน้อยลงต่างหาก ไม่พิถีพิถันเท่า เราจะเห็นหนังที่เป็นหนัง Local พื้นถิ่นอีสานที่ฮิตขึ้นมา แต่ก็มีหลายเรื่องในแนวนั้นที่ถูกทำออกมาอย่างหยาบ ๆ อันนี้เราว่าน่าเสียดาย กลายเป็นว่าคนทำหนังไปโฟกัสผิดจุด สตูดิโอก็เงอะ ๆ งะ ๆ ไม่รู้จะทำแบบไหน ซึ่งเราจะเห็นว่ามีค่ายเดียวเลยนะที่เขาแข็งแรงมาก และทำหนังในแนวทางของเขา แต่มันก็กลายเป็นว่ายังไม่หลากหลายมาก เพราะค่ายอื่น ๆ ก็ไม่แข็งพอ ทางเลือกมันก็เลยน้อยลง หลายค่ายก็ไปโฟกัสผิดจุด หรืออะไรฮิตก็ไปทำตาม ซึ่งทฤษฎีนี้มันไม่เคยเวิร์กเลย เพราะหนังแต่ละเรื่องมันต้องใช้เวลาทำนาน พอหนังเสร็จเขาก็เลิกฮิตไปแล้ว พูดง่าย ๆ ว่าคนทำหนังต้องการ Vision ของโปรดิวเซอร์และสตูดิโอที่ดี ๆ เก่ง ๆ มากกว่า

อย่างเวลาเราไปเทศกาลหนังต่างประเทศ เขาก็ไม่ได้คิดว่าหนังเราตามเขาไม่ทันนะ คือหนังบ้านเราที่ได้ไปเฟสติวัลจะมีการยอมรับสูงเลยนะ แต่แน่นอนว่ามันก็มีเกมการเมือง เกมธุรกิจ แม้แต่ในฟิล์มเฟสติวัลด้วยกันก็มี เช่น ช่วงนี้ฉันสนใจหนังอเมริกาใต้นะ ช่วงนี้ฟิลิปปินส์เซ็กซี่มากเลย ช่วงนี้อภิชาตพงศ์ ทำให้ไทยแลนด์เป็นที่น่าจับตา คือมันก็เป็นกระแสด้วยนะ คือมันมีการเมืองและธุรกิจแฝงในนั้นตลอดเวลา 

ประเทศที่เขาประสบความสำเร็จในการทำหนังอย่างอเมริกา ยุโรป เขาไม่สนใจว่าหนังมาจากประเทศไหนนะ เขาอยากดูเพราะเหมือนกับการไปลองชิมอาหาร เขาอยากเสพวัฒนธรรม อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นต่างบ้านต่างเมือง แต่นั่นเป็นมุมมองของคนในประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ คือภาพรวมของบ้านเขาไม่เดือดร้อน มีเวลาว่างในการพักผ่อนนะ 

แต่ถ้าเป็นในประเทศที่เศรษฐกิจไม่ดี สภาพสังคมการเมืองกำลังแย่ หาเช้ากินค่ำ ไหนจะโดนปลูกฝังว่าหนังคือเรื่องของความบันเทิงอีก ก็กลายเป็นว่าการไปดูหนังในโรง คือขอไปดูแล้วได้หัวเราะสักสิบดอก ก็กลายเป็นความสบายใจ แต่จริง ๆ หนังทำมันได้มากกว่านั้น คือมันสนุกและมีคุณค่าได้ด้วย อย่างแบบที่หนังเกาหลีทำ อย่างบอง จุนโฮ ทำกับ ชนชั้นปรสิตแล้วสำเร็จ

สยิว

คงเดช : อย่างหนังเกาหลีที่เขาทำสำเร็จ จริง ๆ เป็นนโยบายรัฐเลย เขาใช้ Pop Culture ในการส่งออกวัฒนธรรมจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่แค่ภาคใดภาคหนึ่ง คือรัฐอัดเงินสนับสนุนอย่างเต็มที่ เขาสร้าง Film School มีแล็บ มีเครื่องไม้เครื่องมือ มีการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ 

คือไม่ได้มีแค่ผู้กำกับด้วยนะ เขามีตากล้องที่เก่งมาก ๆ เขามีคนเกรดดิ้งที่เก่งมาก ๆ เขามีคนตัดต่อ คือทุกหน่วยเก่งหมดเลย คือเกิดจากนโยบายที่รัฐบาลผลักดัน มีเงินสนับสนุน การฉายหนังในโรงหนังจะมีโควตา เช่น ต้องฉายหนังเกาหลี 50% ของหนังที่เข้าฉายทั้งหมด และไม่ได้ผูกขาดกับนายทุนที่เป็นเจ้าของซีเนเพล็ก นโยบายพวกนี้ทำอย่างจริงจัง และพอโตแล้วแข็งแรง ใช้เวลาประมาณสิบปีรู้เรื่องเลย 

จริง ๆ ธุรกิจหนังเกาหลีเติบโตมาในช่วง 20 ปีนี้เองนะ ก่อนปี 2000 นิดหน่อย หนังเกาหลีในยุค 90 ยังไม่อยู่ในสายตาเลยนะ แต่พอมันมาแล้วมันมาราวกับพายุเลยนะ ไม่ใช่แค่วงการหนังอย่างเดียวนะ ทั้งละครซีรีส์ K-Pop เองก็เช่นกัน จะถูกคิดด้วยวิธีนี้หมดเลย มันได้รับการสนับสนุนให้ทำเป็นเวิร์ลคลาสโดยรัฐบาล เพราะเขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นสินค้าที่ดีได้ ทำเงินทำทองเข้าประเทศได้ เขาไม่ได้มอง Pop Culture เป็นของต้องห้าม หรือน่ากลัว

ทิศทางหนังไทยในยุคอุตสาหกรรม 4.0 คงเดช จาตุรันต์รัศมี

เฉิ่ม

คงเดช : แต่บ้านเราไม่ใช่ไง อะไรที่เป็น Pop Culture เขากลับมองว่าเป็นอะไรที่ต้องระแวดระวัง เพราะเรายึดติดกับวัฒนธรรมไทยเดิม ดูง่าย ๆ อะไรที่รัฐไทยจะสนับสนุนเหรอ ต้องเป็นหนังพีเรียดกู้ชาติ ว่าเรามีเอกราชอย่างไร เพลงยิ่งไม่ต้องพูดถึงเพราะบ้านเรามีค่ายเพลงหลักอยู่แล้ว หนังมีเรตแล้วแต่ยังต้องมีคนมาแบนอีก คือจะแบนทำไมมีเรตแล้วไง เอาจริง ๆ ทั้งเรื่องข้าราชการหรือฝ่ายบริหารก็คือเป็นแนวคิดแบบ ปิตาธิปไตย หรือพ่อปกครองลูก ทำอะไรสุ่มเสี่ยงไม่ได้ ความคิดแบบนี้ทำให้คนกลัวไม่กล้าทำโน่นทำนี่ อย่างเรื่องโมเดลแบบ K-Pop เราพูดกันมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ก็ไม่กล้าทำไม่รู้ว่าเพราะอะไร แล้วรัฐก็มีเงินมหาศาลเสมอนะ อันนี้ทุกยุคทุกสมัย แต่ก็เอาไปใช้กับอะไรก็ไม่รู้นะ

โปรเจคของเราเองหลายอันก็ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงนะ ก็ต้องขอบคุณมาก ๆ เลย หมายความว่าเขาก็ยังมองเห็นค่านะ แต่ว่าในระยะยาว ในทางปฏิบัติ ถ้าอยากให้มันออกดอกออกผลมันต้องทำให้ระบบข้าราชการ หรือวิธีการใช้งบ ทำด้วยวิธีคิดใหม่ แต่ถ้ายังอยู่ในกรอบวิธีคิดที่ว่าอันนี้สุ่มเสี่ยงไหม อันนี้สร้างสรรค์ไหม มันก็ทำให้ไปไม่ถึงไหน ก็น่าเสียดาย เศร้าทุกครั้งที่เห็นงบประมาณใช้ไปกับสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร สรุปว่าเราควรต้องก้าวให้ทันโลกแล้ว วงการภาพยนตร์ต้องบอกเลยว่าเราตามหลังเขาเป็นสิบปี

กอด

คงเดช : เราคิดว่าหนังอาร์ตไม่ได้ดูยาก แต่เพราะเราโดนสปอยด้วยหนังสูตรสำเร็จจนชินมากกว่า อะไรที่ต่างออกไปก็เลยคิดว่ามันดูยาก แต่ก็มีหนังอาร์ตที่เป็นหนังทดลองด้วยเช่นกันอันนั้นอาจจะดูยากนิดนึง แต่ก็มีอีกเยอะเลยที่ไม่ได้ดูยาก ซึ่งหนังเมื่อก่อนก็พูดประเด็นเหล่านี้กัน จังหวะเขาอาจไม่เร็ว หรือหนังผีก็ไม่จำเป็นต้องตุ๊งแช่ขนาดนั้นก็ได้ 

หนังที่จบแบบปลายเปิด เมื่อก่อนก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย แต่แล้วจู่ ๆ เทรนด์หนังไทยก็พยายามทำให้คนดูไม่ต้องเก็บไปคิดต่อ การเคี้ยวให้มันง่ายคือไม่ต้องให้คนดูเก็บไปคิดต่อ พอเรากลืนอย่างเดียวนานวันเข้าประสิทธิภาพของฟันเราก็แย่ลงเพราะไม่ได้เคี้ยวเอง แล้วอะไรที่ต้องเริ่มเคี้ยวก็เลยรู้สึกว่ามันยากไปหมด อย่างตัวเราเองเราชอบหนังไม่ว่าของชาติไหนก็ตาม ที่สามารถทิ้งบางอย่างเอาไว้ในตัวเราให้เก็บไปคิดต่อ หนังจบแล้วก็ตามแต่เรายังไม่ลุกยังนั่งคิดต่อ มีตะกอนบางอย่างที่มันอวนอยู่ข้างใน หรือคิดว่าถ้าหากเป็นเราล่ะ คือเราชอบโมเม้นต์พวกนี้ เวลาที่ดูหนังที่มัน Impact กับเรา เราจะจำหนังเรื่องนั้นได้มากกว่า เราเลยตั้งธงกับตัวเองไว้ว่า ถ้าทำหนังสักเรื่องก็อยากให้มันติดตัวกับคนดูให้ได้มากที่สุด ก็เลยทำให้เราเลือกที่จะทำหนังแบบนี้ แต่ไม่ได้ตั้งใจจะทำให้งงนะ ส่วนใหญ่ก็ไม่งงนะ แต่มักจะทิ้งอะไรไว้คนดูคิดหรือรู้สึกต่อ

ทิศทางหนังไทยในยุคอุตสาหกรรม 4.0 คงเดช จาตุรันต์รัศมี

ผลงานในการเขียนบทและกำกับ
2546    : สยิว เขียนบท, กำกับ
2547    : เดอะเลตเตอร์ จดหมายรัก เขียนบท
2548    : เฉิ่ม เขียนบท, กำกับ
2548    : ต้มยำกุ้ง เขียนบท ร่วมกับ ปรัชญา ปิ่นแก้ว
2549    : หนูหิ่น เดอะมูฟวี่ เขียนบท
2550    : Me...Myself ขอให้รักจงเจริญ เขียนบท
2551    : กอด เขียนบท, กำกับ 
2551    : ปืนใหญ่จอมสลัด เขียนบท ร่วมกับ วินทร์ เลียววาริน
2551    : Happy Birthday เขียนบท
2552    : สโนว์ เขียนบท, กำกับ
2552    : สวัสดีบางกอก ตอน ผีมะขาม เขียนบท, กำกับ
2555    : แต่เพียงผู้เดียว โปรดิวเซอร์, เขียนบท, กำกับ
2555    : เอคโค่ จิ๋วก้องโลก เขียนบท(ร่วม)
2556    : ตั้งวง โปรดิวเซอร์, เขียนบท, กำกับ    
2557    : เอวัง เขียนบท, กำกับ    
2558    : Snap กำกับ, Just As Chao Phraya River Flows เขียนบท, ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต เขียนบท
2562    : Where We Belong ที่ตรงนั้น มีฉันหรือเปล่า เขียนบท,  กำกับ

 

คงเดช จาตุรันต์รัศมี : Where We Belong ทิศทางหนังไทยในยุคอุตสาหกรรม 4.0 | Issue 167