ชารีย์ บุญญวินิจ : เศรษฐกิจพอเพียง หล่อเลี้ยงชีวิต Circular Economy | Issue 166

ชารีย์ บุญญวินิจ : เศรษฐกิจพอเพียง หล่อเลี้ยงชีวิต Circular Economy | Issue 166

Uncle Ree Organic Farm ฟาร์มลุงรีย์ ฟาร์มผักออร์แกนิคใจกลางฝั่งธน ลุงรีย์ คือเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่กลายเป็นไอดอลให้เหล่าวัยรุ่นสร้างตัวใน เจนเนอเรชั่นนี้ได้เดินตาม เขาดัดแปลงบ้านและหอพักเก่าให้กลายเป็นฟาร์มเพาะปลูกและปศุสัตว์ขนาดหย่อม ๆ ในเมืองหลวง ในแต่ละวันฟาร์มแห่งนี้ มีผู้สนใจแวะเวียนมาดูงานอยู่บ่อย ๆ และเมื่อ เปิดคลาสเวิร์คช๊อปก็เนืองแน่นทุกครั้ง

เรียกว่าได้ว่า คุณชารีย์ บุญญวินิจ หรือลุงรีย์ของเรา คือผู้จุดประกายให้คนเมืองหันมาเรียนรู้ที่จะปลูกผักมากขึ้น คำว่า ผักสวนครัวรั้วกินได้ ไม่ได้เป็นเพียงคำขวัญลอย ๆ ของคนเมือง อีกต่อไป แถมผลิตผลของที่นี่ยังเป็นผักปลอดสารพิษอีกต่างหาก ใครที่มีพื้นที่จำกัด ไม่ว่าจะอยู่คอนโด อาคารพาณิชย์ หรือทาวน์โฮม ก็สามารถปลูกผักกินเองได้ แวะมาคุยกับลุงรีย์กัน

ดัดแปลงบ้านให้กลายเป็นฟาร์ม

ชารีย์ บุญญวินิจ : ตอนนี้ฟาร์มลุงรีย์เป็นที่รู้จักมากขึ้น ความดังอาจเกิดได้จากหลายอย่าง ผมว่าอาจเกิดจากการสื่อสารออกไปให้คนที่มีเท่า ๆ กับเรา มีสตางค์เท่า ๆ กับเรา มีเวลาเท่า ๆ กับเรา มีพื้นที่เท่า ๆ กับเรา เขาเห็นว่าเราทำได้ เขาอาจจะรู้สึกว่าเขาเองก็สามารถทำได้ เช่นกัน อาจจะไม่ใช่ โอ้โห ฟาร์มใหญ่โต สวยเพอร์เฟกต์เรา ก็พยายามทำให้มันดี แต่ก็ต้องค่อย ๆ ทำ คือเราทำแต่เขายังไม่ได้ทำ มันก็เลยขยับมาเรื่อย ๆ คนที่ติดตามเราก็ยังไม่ได้ทำนะครับ เขาก็เห็นเราทำแล้วปีที่ 1 ปีที่ 2 เขาก็เห็นความเติบโต อาจเป็นการติดตามกันในระยะยาว เราทำให้เขาเห็น และมีผลลัพธ์ชัดเจน

ฟาร์มลุงรีย์เปิดมาแล้ว 7 ปีครับ ตอนแรกผมก็ทำงานประจำควบคู่ไปด้วย สักพักก็ออกมาทำเต็มตัว ทำหลายอย่าง ตัดทอนจนเหลือไม่กี่อย่าง ที่ตัดสินใจออกจากงานประจำคือตอนนั้น ผมพร้อมแล้ว ความสนใจจะอยู่ที่งานเกษตรมากกว่า รายได้ที่มาจากการเกษตรเริ่มมากกว่ารายได้จากงานประจำ และผมทุ่มเทเวลากว่า 80% ลงไปกับการทำการเกษตร เลยคิดว่าเราปูรากฐานมาจนพร้อมแล้ว ทีนี้พอออกมาทำเต็มตัวก็ได้ทำเต็มที่

ฐานะทางบ้านผมก็ไม่ได้ร่ำรวยนะครับ พ่อแม่ทำธุรกิจบ้านเช่า ทำที่จอดรถมาก่อน หลายคน อาจคิดว่าเป็นเสือนอนกิน แต่สถานที่นี่มันไม่ใช่ในเมือง ก็ได้ค่าเช่าไม่เยอะนัก ที่จอดรถ คันละ 500 บาท ห้องเช่าต่อห้องเดือนละสองพันกว่าบาท ก็เลยคิดว่าถ้าเราเข้าไปทำพื้นที่เกษตรในที่จอดรถหนึ่งคัน ที่ราคาต่อเดือน 500 บาท ให้ได้กำไรมูลค่ามากกว่า 500 บาท ก็ถือว่าคุ้มค่ากว่า เราเพียงต้องทำพื้นที่การเกษตรในที่ดินที่มีมูลค่าสูงในกรุงเทพฯ ให้ได้จริง มันจึงไม่ใช่การทำเล่น ๆ หรือทำความฝันแล้ว ทำอย่างสมเหตุสมผล ให้คุ้มค่าใช้จ่าย และมองดู ตัวเลขรายรับ รายจ่ายที่เกิดขึ้น ทำให้เราต้องทบทวนให้ดีว่าจะเลือกทำอะไร ไม่ทำอะไร

ชารีย์ บุญญวินิจ : ผมมีพี่น้อง 4 คน แต่ที่บ้านไม่มีใครทำเกษตรเลย ผมเป็นคนริเริ่ม บางทีคนที่บ้านก็ยังไม่ได้อิน ต้องมีบทพิสูจน์หลายอย่าง ว่าเราทำอะไรให้ครอบครัวได้บ้าง ถ้าที่จอดรถกลายเป็น แปลงผักเล็ก ๆ ปลูกผักกินได้ ขายได้ เริ่มจากตอนแรกเราก็ยังซื้อเขากินอยู่ ก็เริ่มซื้อน้อยลง ปลูกกินเองมากขึ้น ฟาร์มลุงรีย์ก็คือหอพักและที่จอดรถ ที่เราเอามาทำฟาร์ม พื้นที่รวมประมาณ 1 ไร่ คือเราต้องนับพื้นที่ห้องพัก เข้าไปรวมด้วยว่าห้องหนึ่งได้กี่ตารางวา ใช้ทำอะไรได้บ้าง เราเริ่มจากพื้นที่ 200 ตารางวา ก็ค่อย ๆ ทำไป ตอนแรก ๆ มีคนเข้ามาดูก็ถามฟาร์ม อยู่ไหน เพราะมันคล้ายบ้านคนมากกว่า

พื้นที่เราแบ่งเป็นโซน ๆ ห้องนี้ปลูกผัก ห้องนี้เลี้ยงไส้เดือน ห้องนี้ทำเห็ด คือคล้ายศูนย์วิจัยนั่นแหละครับ เริ่มจากที่จอดรถก่อนเลยครับ แบ่งเป็น 3x3 เมตร ต่อช่อง ก็ค่อย ๆ ต่อยอดจนกลายเป็นอย่างปัจจุบัน ก็เลยกลายเป็นต้นแบบให้คนที่มีพื้นที่เหมือนที่จอดรถ หรือมีห้องว่างในบ้านที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ มีห้องในคอนโด อพาร์ตเม้นต์ ฯลฯ เขาก็เลยเห็นตัวอย่างจากเรา ว่าเออพื้นที่พวกนี้สามารถเอาไปทำอะไรได้บ้าง

ไอเดียการเอาห้องพักมาทำแปลงเกษตร ผมว่ามันเกิดจากความจำเป็นครับ แล้วห้องพัก พวกนี้จะไม่มีแสงแดด พอไม่มีแสงก็ต้องหาตัวเลือกอื่น ก็เลยมาลงตัวที่ไส้เดือน คือเราต้องดูว่า ตัวอะไรชอบห้องทึบ ชอบความมืด ก็เลี้ยงสิ่งนั้นเสียเลย ห้องที่ชื้น มีความทึบ มืด พืชอะไรที่ไม่ต้องการแสงแดด ปลูกจบในระยะ 7 วัน สามารถมีเงินจ่ายค่าที่ทุกเดือน ก็ได้คำตอบว่าพวกต้นอ่อนก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดี อย่างห้องปิดสามารถป้องกันสิ่งเจือปน กันมลพิษเราเพาะเห็ดดีกว่า คือเราต้องวิเคราะห์พื้นที่ว่าเราทำอะไรได้ คือถ้าไม่คิดก่อน เราก็ต้องทุบตึก เหรอ ต้องตัดต้นไม้เหรอ คือมันจะคุ้มการลงทุนทำเหรอ ก็เลยต้องคิดให้ตกผลึกก่อนครับ

ก็เลยได้คำตอบว่า เราเหมาะกับการทำอะไรเป็นยูนิต เป็นพอชชั่น กระบะเท่านี้ลงทุนไปเท่านี้นะ คำนวณผลผลิตได้เลยว่าจะได้เงินกลับมาเท่าไหร่ วางแผนก่อนที่จะลงมือทำ หรือในห้องวางแผนเลยว่าเพาะไส้เดือนก่อน แล้วเมื่อได้ผลผลิตแล้ว ก็ปลูกผักจำพวกต้นอ่อนต่อ เพราะจะได้เอาปุ๋ยมาให้ต้นอ่อน พอปลูกผักเสร็จก็กลับมาเลี้ยงไส้เดือนต่อ คือเราทำให้ดินมันดีได้ ก็วนเวียนทำเหมือนเกษตรหมุนเวียนได้เลย เราลดต้นทุนได้ไม่ต้องไปออกแรง หาปุ๋ยจากที่อื่น ใช้มูลเสร็จเอาไปทำน้ำหมักแล้ว เอาไปทำเห็ดต่อได้ไหม

เศรษฐกิจพอเพียง ต้นแบบที่ยิ่งใหญ่

ชารีย์ บุญญวินิจ : เราทำก่อนที่จะรู้จักพวก Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Sustainable Economy เศรษฐกิจยั่งยืน เพราะผมเรียนจบศิลปะมา พวกปั้นหม้อปั้นไห ตอนเรารู้จักไส้เดือนก็รู้จักจากวัด ไม่ใช่ศูนย์สอนบริหารธุรกิจที่ไหน แต่เรามีสติ มีการคิดวิเคราะห์ รู้จักตัวเอง มีเหตุผล แล้วก็เลือกทำในสิ่งที่เราคิดว่าเราได้เปรียบ มีภูมิคุ้มกันบางอย่าง เรารู้จักแค่นี้ แต่ก็ไปเข้ากับสิ่งที่คิดว่าไกลตัวมากเลย อย่าง Sufficiency Economy หรือที่เรารู้จักกันว่า เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเราเองไม่เคยเรียนบริหารธุรกิจมาเลย แต่เรามีปรัชญานึงเนี่ยเราจะทำธุรกิจได้ไหม ปัจจุบันต่อรองธุรกิจก็ไม่เคยพลาด ผมยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่ตั้งครับ

ในขณะที่โลกกำลังเปลี่ยนไป ความเป็นเหตุเป็นผลก็เข้ามาเพิ่มว่าเมื่อเกิดธุรกิจแบบนี้ เราก็ควรซัพพอร์ตเขามากขึ้น คือยุคนี้เป็นยุคของออนไลน์แล้วครับ เราก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจแนวทางธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งตัวผมก็มีอารมณ์แบบอาร์ตติสอยู่ เต็มตัวนะ เพราะเราคิดว่าเราออกจากงานมาเพื่อทำเกษตรเต็มตัวเต็มข้อก็เพื่อให้บั้นปลายชีวิตมีความสุข ผมเรียนจบด้านเซรามิกครับ ในเนื้องานของดีไซน์เราไม่ได้เรียนแค่เรื่องปั้นนะครับ เราเรียนเรื่องทฤษฎี เรียนเรื่ององค์ประกอบศิลป์เราเรียนเรื่องความเป็นอยู่การสอดคล้องของคน ธรรมชาติ และสัตว์ ก็มีไปสอนพิเศษบ้าง ในคลาสของ Landscape ของการตกแต่งภายใน อาจารย์คงเห็นอะไรบางอย่างถึงให้เราไปช่วยสอน ที่พูดเพราะผมอยากจะบอกว่า จบมาไม่จำเป็นต้องทำงานตรงสาย และไม่จำเป็นต้องทิ้งความรู้ที่เรียนมา นำมาประกอบกับงานที่เราทำได้ ถ้าเรานำรากของเรามาทำ เราก็จะได้ใช้องค์ความรู้นั้น

การปลูกผักต้องใช้ดีไซน์ ตั้งแต่แปลงปลูกผัก การใช้งาน วิเคราะห์สถานที่ วิเคราะห์ผู้ใช้งาน วิเคราะห์โปรแกรมที่จะเกิดขึ้น มันคือดีไซน์ทั้งหมดเลย แล้วเราเรียนมาทางนี้ ถนัดแบบนี้ เอาการดีไซน์มาใช้งานให้เกิดรูปแบบที่ใช้ได้จริง สวยไม่สวยนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ อย่างแรกเราต้องดีไซน์การใช้งานให้ใช้ได้จริงก่อน ต้องรู้จักทิศทางแสง ความชื้น บวกกับ Factor การเกษตรที่ต้องใช้ ความร้อน ความชื้นสัมพัทธ์ มันก็ไปใกล้เคียงสูตรเคมีตอนผมเรียนเซรามิก ธาตุสารอาหารก็มีความเชื่อมโยงกันอยู่นะ เราต้องทำความเข้าใจว่าแต่ละอย่างมาจากอะไร การเกษตรทำให้ผมกลายเป็นคนมีเหตุผลมากขึ้นนะ

สร้างฟาร์มเหมือนทำงานศิลปะ

ชารีย์ บุญญวินิจ : จริง ๆ ผมเริ่มจากความอินดี้จ๋าเลยนะครับ แต่ด้วยอายุ ที่มากขึ้นก็เลยต้องวิเคราะห์ค้นหาว่าทำแบบไหนถึงจะสำเร็จ ผมว่าเกษตรกรก็คล้ายนักวิทยาศาสตร์ เพราะต้องวิเคราะห์ มีการทดลอง ใช้เหตุผล มีการเก็บสถิติต่าง ๆ

ผมเป็นเด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ เตะฟุตบอลแลกทุน ลอกการบ้านเพื่อน ผมเป็นเด็กหลังห้องเต็มสูบ อะไรที่เป็นวิชาการนี่ไม่สนเลย แต่แปลกเพราะโตมาต้องมาทำเรื่องเทรนนิ่ง ต้องสอน ต้องทำหลักสูตร มีคลาสอบรม ปัจจุบันเปิดมา 80 ครั้งแล้วครับ แล้วก็มีพาร์ทหนึ่งเลยที่ทำเรื่องการเรียนการสอนแต่ตอนนี้อยากเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก เมื่อก่อนผมเป็นเด็กเกเรคนนึงครับ ตอนเด็กผมไม่เคยปลูกผัก ทำสวนเลยนะครับ คิดว่า ซื้อกินเอาก็ได้ แต่บางครั้งคนที่ไม่เคยทำอะไรสำเร็จเลย พอทำอะไรสำเร็จขึ้นมาสักอย่างมันก็มีพลังที่จะทำสิ่งนั้นต่อไปครับ

ปลูกผัก ก็มีหลายแบบนะครับ อย่างปลูกข้าวโพดหรือพวกผลิตผลที่ต้องปลูกกันนาน 4-5 เดือนเนี่ย ผมก็ยังทำไม่สำเร็จนะ แต่พอเลือกปลูกผักชนิดที่ปลูกเร็วเห็นผลภายใน 7 วัน พอเห็นผลิตผลแล้วก็ชื่นใจ ก็เลยต่อยอดจากสิ่งเหล่านี้ ผมเองลงเรียนปริญญาโทมา 3 ครั้งแล้ว แต่ก็เรียนไม่จบ เราก็ต้องมาวิเคราะห์แล้วว่าเป็นเพราะอะไร แต่พอทำงานแล้วทำได้ ผมก็คิดได้ว่า ผมเป็นเหมือนเป็ดตัวใหญ่ ๆ เรียนจบดีไซน์ เปิดโรงเรียนสอนศิลปะ ไปทำงานเป็นพ่อครัว ทำเรื่องฟู๊ดโปรดักซ์ ทำเรื่องท่องเที่ยว พัฒนาชุมชน สุดท้ายออกมาเป็นเราได้ความรู้มาหลายด้าน และอาจเป็นองค์ความรู้ที่อาจไม่ได้ทำให้ตัวเองเก่งก็ได้ แต่ชอบวิเคราะห์ แล้วงานวิเคราะห์คนอื่นแบบไหนที่จะทำให้ตัวเองฉลาดขึ้น ก็เลยกลายมาเป็นแบบนี้ งานสุดท้ายก่อนตัดสินใจทำเกษตรอย่างเดียว คือเป็นที่ปรึกษาด้านผ้า ให้แบรนด์เสื้อผ้ายี่ห้อหนึ่งครับ

ผมรู้เลยว่าทำไมผมปลูกผักแบบนาน ๆ ไม่สำเร็จ ก็เพราะมันนาน ขี้เกียจด้วย ไม่ทันใจ ผมก็เลยเอาจุดนี้มาคิดว่าต้องมีคนที่คิดเหมือนเรา ผมเข้าใจเด็กเกเรเต็มที่ ตอนมัธยมผมเรียน ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี ไม่เรียนเตะแต่บอล พอมามหาวิทยาลัย ก็เรียนคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โอ้โห! บันเทิงมาก ผมสร้างฟาร์มเหมือนทำงานศิลปะค่อย ๆ เติมไปทีละนิด ยังไม่รู้เลยว่าตอนเสร็จหน้าตามันจะออกมาเป็นอย่างไร ทำการเกษตรมันก็แปลกดี คือเราไม่รู้ว่ามันจะออกมาเป็นยังไง แต่ก็คิดภาพ ในหัวไว้นั่นแหละ แต่ต้องทำมันไปเรื่อย ๆ

ส่งต่อองค์ความรู้

ชารีย์ บุญญวินิจ : บางอย่างที่เราทำไม่ได้ ก็ต้องบอกว่าทำไม่ได้ อยู่มา 7 ปี เราก็ไม่ได้บอกว่าเราปลูกผักเก่ง แต่ถ้าถามว่าคนที่เข้ามาหาเราคนไหนควรปลูกผักอะไร เราตอบได้ คือเราดูจากคนที่เข้ามาอบรมกับเรา เมื่อเบสิกได้แล้วควรไปทำอะไรต่อ เหมือนฟุตบอล พอเดาะบอลได้แล้วต้องไปฝึกอะไรต่อ

ผมเข้าใจคนที่ไปเวิร์คช๊อปนะครับ เพราะผมเองก็เป็น ถ้านานเกินครึ่งวันจะเริ่มลุกลนแล้ว สมาธิเริ่มหมด ผมก็เลยคิดว่าการเวิร์คช๊อปให้มีประสิทธิภาพนั้นต้องไม่ควรเกินครึ่งวัน สตางค์ถ้าแพงเกินสองสามพัน คนก็อาจรู้สึกว่าเอาไปซื้อของผ่อนโน่นนี่ดีกว่า หลักสูตร ที่ผมทำที่ฟาร์มลุงรีย์จะเป็นเหมือนหลักสูตรเริ่มต้น เพื่อให้ทำความรู้จักกับการปลูกผัก ซึ่งมาที่เดียวมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือครบ พร้อมปลูกได้เลย เป็นเหมือนจุดสตาร์ทให้รู้ว่า คุณอยากทำต่อไหม

ผมเริ่มมาจากทำไส้เดือนก่อน แต่ไส้เดือนมันกินไม่ได้ มันต้องเอาผลิตผลไปปลูก จะได้รู้ว่าไส้เดือนหรือปุ๋ยที่เราทำมามันดีจริงหรือเปล่า พาร์ทหนึ่งเป็นเรื่องของการทำเทรนนิ่ง ผมไม่ได้บอกว่าเราปลูกผักเก่งที่สุด แต่เราสามารถเทรนนิ่งให้คนมาปลูกผักได้ คือของผม จะเน้นพวกพืชผักสวนครัว แต่ถ้าจะให้ผมไปลงแปลงข้าวโพด ปลูกไร่ส้ม ผมทำไม่เป็นครับ เราต้องบอกเขาให้ชัดเจนว่าเราทำอะไร

เราทำเรื่องการเลี้ยงไส้เดือนให้ดี ทำเรื่องผักออร์แกนิค ทำเรื่องการปนเปื้อนใน สิ่งแวดล้อม ไม่อยากให้เกิดสารพิษแต่ในขณะเดียวกันพวกแพคเก็จจิ้งก็เป็นพลาสติกเยอะแยะ ไปหมด เรานั่งอยู่รอบ ๆ กองขยะ แล้วจะไปประกาศบอกคนอื่นว่าทำธุรกิจอีโคเพื่อ สิ่งแวดล้อม มันก็บอกไม่ได้เต็มปาก ก็เลยสนใจโหมดอื่นด้วย อย่างการคัดแยกขยะ คัดแยกเศษอาหาร และถ้าคนที่มาเรียนรู้กับเราเขาไม่เลี้ยงไส้เดือนล่ะจะทำอะไรได้บ้าง ก็ค่อย ๆ แตกย่อยออกมา แต่ถ้าเขาไม่อยากเรียนกับเราแต่อยากสนับสนุนเราล่ะ เราก็คิดต่อว่าเขาบริโภคอะไร ใช้อะไร ก็เลยขยับมาทำร้านขายของกับแฟน ร้านที่เน้นการลดใช้พลาสติก คือขายสบู่ แชมพู และของใช้อื่น ๆ โดยเอาขวดหรือภาชนะมาเติมเอง ทำเป็นร้านเล็ก ๆ ข้างฟาร์มลุงรีย์นี่แหละ

ชารีย์ บุญญวินิจ : นอกจากเรื่องลดขยะแล้ว ก็ต่อยอดมาทำวิจัยแมลงร่วมกับเพื่อนทำพวก Exotic Food เริ่มจากนำแมลงมาทำเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงแปลก ๆ (Exotic Pets) ในนาม Exofood Thailand ในระบบนิเวศสัตว์จำพวกแมลงถือเป็นแหล่งโปรตีนที่อุดมไปด้วยประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิต อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือมนุษย์ ผมมองว่าแมลงเป็นตัวกลางทางโภชนาการแบบเดียวกับปศุสัตว์นั่นแหละ แมลงจะเป็นอาหารทางเลือกในอนาคตครับ

คนไทยกินแมลงกันอยู่แล้ว อย่างจิ้งหรีดทอดก็เป็นของโปรดของหลาย ๆ คน แต่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าฟาร์มจิ้งหรีดปกติหน้าตาเป็นยังไง เราจึงตั้งใจเปลี่ยนภาพจำใหม่ให้ฟาร์มแมลง สร้างรูปแบบ ที่ผสมผสานเทคโนโลยีใหม่ ๆ หลากหลายแบบเข้าด้วยกัน เพื่อช่วยยกระดับเกษตรกรแมลงในประเทศไทย ในอนาคต ตอนนี้ที่ Exofood Thailand เพาะเลี้ยงแมลงเหยื่ออยู่ 3 ชนิด คือจิ้งหรีด, หนอนแมลงวันลายและแมลงดูเบีย (แมลงสาบยักษ์)

อยู่อย่างพอเพียง และแบ่งปัน

ชารีย์ บุญญวินิจ : ผมทำงานด้วยความสนุก ทำหลายบทบาท แต่ก็ ลืมไปว่าร่างกายก็ต้องการพักผ่อน ปรากฏว่าผมป่วย ต้องพักฟื้นเป็นเวลาหกเดือน ระหว่างที่นอนติดเตียง ก็ตกผลึกทางความคิดว่าเราอยากทำอะไรกันแน่ อยากใช้ เวลาทำงานกี่ชั่วโมง ผมว่าเหมือนคนใกล้ตายนั่นแหละ สุดท้ายแล้วเขาอยากจะทำอะไรมากที่สุด มันเลย ต้องเลือกผมเลยปรับใหม่ จากทำเกษตรแบบเดิม ต้องรดน้ำครึ่งวัน ก็เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีเซ็ตระบบ การจัดการ จากที่จดบัญชีลงสมุดก็เปลี่ยนเป็นบันทึก ลง Data พร้อมส่งให้คนอื่นทำงานต่อ จากที่ต้องวิ่งออกจากบ้านไปเชื่อมหลาย ๆ องค์กร ก็ย้าย มาทำในองค์กร โดยย้ายเงินจากบ้านที่ 1 มาบ้านที่ 2, 3 วนเวียนในบ้านตัวเอง เดินทางน้อยลง ประชุมน้อยลง แต่ทำให้มากขึ้น หาพาร์ทเนอร์เพิ่ม อะไรที่เราไม่เก่งก็ให้คนที่เขาเก่งด้านนั้นเข้ามาช่วย

ผมมองว่าเวลาบอกคนอื่นว่าเราทำเศรษฐกิจ พอเพียง แต่ถ้าจะซื้อรถกระบะคันใหม่ก็ไม่ต้องเขิน เราจำเป็นต้องใช้ก็ซื้อไป ถ้ามีเหลือก็แจก พอมีพอกิน ทำให้รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่แล้วพูดอย่างภูมิใจ ไม่อย่างนั้น เศรษฐกิจพอเพียงจะกลายเป็นเพียงเรื่องของคนอัตคัดเหรอ ห้ามรวยนะ ต้องแบ่งคนอื่นหมด ไม่ใช่นะครับ คือถ้าเหลือ ก็เติมถ้าเกินก็แบ่ง ต้องทำให้ตัวเองมีให้พอก่อน แต่ถ้าพอแล้วก็แบ่งให้ป้าบ้านข้าง ๆ บ้าง แล้ววันหนึ่งเขาก็เป็นรั้วให้เรา ยกตัวอย่าง ผมทำฟาร์มเลี้ยงไส้เดือน ถ้าเรา ไม่ผูกมิตรไม่แบ่งให้บ้านใกล้เรือนเคียงบ้าง วันหนึ่ง มีบ้านหลังหนึ่งบอกว่าแมลงวันเยอะ หนอนเยอะ เพราะเราทำฟาร์มขึ้นมาล่ะ เรื่องแบ่งจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ถ้าเราอยากเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ที่มีแต่คนรัก

Photo : Satchaphon rungwichitsin

ชารีย์ บุญญวินิจ : เศรษฐกิจพอเพียง หล่อเลี้ยงชีวิต Circular Economy | Issue 166