มื้อค่ำริมน้ำ อาหารไทยสำรับชาววัง ที่ใส่ใจทุกจาน : ห้องอาหารพระยา ไดนิ่ง | Issue 166
อาหารการกินในแต่ละท้องที่ย่อมแตกต่างกันไป แม้แต่อาหารไทยเอง ยังมีความต่าง เพราะด้วยความหลากหลายของผู้คน รวมถึงสภาพความเป็นอยู่ เสน่ห์อาหารของแต่ละที่ก็ย่อมไม่เหมือนกัน อย่างเช่นอาหารสำรับชาววัง กรรมวิธีขั้นตอนในการปรุงย่อมละเมียดละไม และทุกครั้งที่ได้ชิมก็ราวกับว่าเป็นคนพิเศษที่ถูกต้อนรับด้วยอาหารรสเลิศจากวังหลวง
ห้องอาหารที่ผมจะแนะนำวันนี้ชื่อห้องอาหารพระยา ไดนิ่ง (Praya Dining) ตั้งอยู่ภายในโรงแรมพระยา พาลาซโซ (Praya Palazzo) ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมชื่อว่าบ้านบางยี่ขัน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เจ้าของบ้านคนแรกคือ พระยาชลภูมิพานิช สร้างขึ้นในสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลี่ยนพาลาดิโอ พาลาซโซสไตล์ ผสมผสานกลิ่นอายระหว่างอิตาเลียน-ไทย ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคที่เฟื่องฟูอย่างมากในการค้าขายกับชาวตะวันตกจึงได้รับอิทธิพลในด้านของรูปแบบสถาปัตยกรรม
การตกแต่งของห้องอาหาร ผสมผสานระหว่างความเป็นเอเชีย (จีน-ไทย) กับตะวันตกได้อย่างลงตัว ด้านในเน้นโทนสีแดง ลวดลายฉลุที่บานประตูหน้าต่างดูอ่อนช้อยงดงาม ก่อนที่จะได้ชิมอาหารสำรับชาววัง การตกแต่งของที่นี่ก็ได้มอบสุนทรียะทางศิลปะอันมีเรื่องราวแฝงไปด้วยความงดงาม เสียงบรรเลงดนตรีไทยอันไพเราะก็ทำให้อินไปกับบรรยากาศ ไม่นานเราก็จะได้สัมผัสสุนทรียรสแห่งอาหารชาววังที่จะมาเสิร์ฟลงตรงหน้านี้
เริ่มกันที่จานแรก ค้างคาวเผือก และม้าฮ้อ เป็นคอมพลีเมนทารี่จากเชฟที่มอบให้สำหรับทุกโต๊ะ ระหว่างรออาหารในเซ็ทเมนู จานนี้เป็นของว่างในสมัยอยุธยา เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มอาจาด
ถัดมาในเซ็ทเมนู จานแรกเป็น (Appetizer) ประกอบด้วย กุ้งโสร่ง จานนี้เกิดในสมัยอยุธยา ใช้หมี่มาพันกับตัวกุ้งจากนั้นนำไป Deep-Fried จนได้ที่ จิ้มกับน้ำจิ้มบ๊วยกอ รสชาติเปรี้ยว ๆ หวานๆ ส่วนหมี่ที่มาพันคือการได้รับอิทธิพลด้านอาหารจากชาวจีนที่มาค้าขายในสมัยอยุธยา ล่าเตียง จานนี้ปรากฏอยู่ในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ในสมัยรัชกาลที่ 2 “ล่าเตียงคิดเตียงน้อง นอนเตียงทองทำเมืองบน ลดหลั่นชั้นชอบกล ยลอยากนิทรคิดแนบนอน” เพื่อชื่นชมฝีพระหัตถ์ในการทำปรุงอาหารของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี หมี่กรอบกระทงทอง มีที่มาจากหมี่กรอบชาววังในรัชกาลที่ 5 เป็นร้านทรงโปรดที่ตลาดพลู จนได้พระราชทานชื่อว่าหมี่กรอบชาววัง ส่วนจานนี้ก็ยังคงหัวใจหลักของหมี่กรอบชาววัง ด้วยการโรยด้านบนด้วยผิวส้มซ่า อร่อยพอดีคำ
เริ่มจานหลักด้วย ยำทวาย ชื่อเมนูนี้มาจากเมืองทวายในประเทศเมียนมา เกิดจากการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานขางชาวทวายเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาในยุคนั้น นำมาประยุกต์โดยหยิบวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นถิ่น มาปรับใช้ให้ได้รสชาติใหม่ เข้ากับปากคนไทยมายิ่งขึ้น ประกอบไปด้วยผักลวก 7 อย่าง ถั่วพู มะเขือ ถั่วงอก ถั่วฝักยาว ดอกขจร กะหล่ำ พริกหยวก ท็อปด้วยอกไก่ฉีกด้านบน โรยด้วยหอมแดงเจียว เวลาทานให้คลุกกับน้ำยำสูตรของทางเชฟ รสชาติเปรี้ยวหวาน เข้ากันได้ดี
ถัดมาเป็น แกงรัญจวนหมู อยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดจาก ห้องเครื่อง 'วังสุนันทา' หม่อมเจ้าหญิงสะบาย นิลรัตน์ เป็นหัวหน้าต้นเครื่องทำอาหารถวาย ท่านเกิดเสียดายอาหารที่เหลือจากการจัดเลี้ยงหลังช่วยกันทำดอกไม้ ท่านจึงได้แยกเอาเนื้อแล้วนำไปต้มกับน้ำซุป ใส่น้ำพริกกะปิลงไป ปรุงด้วยพริกอ่อน มะนาว ตะไคร้ ใบโหระพา ต้มให้เดือดจัดๆ กลิ่นก็จะหอมโชยไปไกล อันเป็นที่มาของแกงรัญจวน รสชาติเหมือนน้ำพริกกะปิแบบเจือจาง หอมด้วยกลิ่นเครื่องเทศแบบไทย ๆ
ถัดมาเป็น พล่าเนื้อ จานนี้ปรากฎอยู่ในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ในรัชกาลที่ 2 “ช้าช้าพล่าเนื้อสด ฟุ้งปรากฏรสหื่นหอม คิดความยามถนอม สนิทเนื้อเจือเสาวคนธ์” ห่อด้วยใบชะพลู ทานอย่างพอดีคำ รสชาติเปรี้ยวซ่อนหวาน แฝงด้วยเผ็ดอย่างบางเบาจากส่วนผสมของพริกเผา ฉู่ฉี่กุ้งแม่น้ำ กุ้งตัวโตอร่อยเต็มคำราดด้วยน้ำแกงรสชาติกลมกล่อม กลิ่นหอมยั่วนำลายมาก ส่วน หมูผัดส้มเสี้ยว ใช้หมูโขลกด้วยใบส้มเสี้ยวและพริกแกงเหลืองใส่มะเขืออ่อน รสชาติเปรี้ยวนำ หวาน และก็เค็มนิดหน่อย ทานคลุกกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยจนวางช้อนไม่ลง ผัดผักนพเก้า เป็นการนำเอาพืชผักสดหลากชนิดมารังสรรค์เป็นจานนี้ รวม 9 อย่าง
ปิดท้ายด้วยของหวานอย่าง อินทนิล ของหวานโบราณ ซึ่งในสมัยอยุธยาได้มีการนำเข้าแป้งมันจากสิงคโปร์มาปั้น จานนี้จึงเป็นของว่างที่ระดับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในรั้วในวังถึงจะได้ทานเชียวหล่ะ ทานคู่กับกะทิอบควันเทียน มะพร้าวอ่อน
หรือจะเป็น บัวลอยลูกตาลสด ก็หวานกำลังดีก็อร่อยไม่แพ้กัน นอกจากนี้เซ็ทซิกเนเจอร์เมนูแล้ว ยังมีเมนูจานอื่น ๆ ไว้ให้คุณได้ลิ้มลองกันอีกด้วย
ราคาของเซ็ทนี้อยู่ที่ 2,200 ++ บาท สำหรับ 2 ท่าน และอีกเซ็ทขนาดที่ใหญ่กว่านี้ ราคา 3,600++ สำหรับ 4 ท่าน
More Information
สามารถเดินทางได้โดยทางเรือเท่านั้น โดยทางโรงแรมมีบริการเรือรับส่งไปท่าเรือพระอาทิตย์ และ ท่าเรือวัดราชาธิวาส
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและสำรองโต๊ะได้ที่ [email protected] หรือโทร 0-2883-2998 , 081 402 8118