Scoop : กฎหมายเรื่องของสัตว์ในประเทศไทย | Issue 164
ประเทศไทยในอดีต เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ ไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาขึ้นมาพูดคุยกันเท่าไหร่นัก อาจเป็นเพราะยังมีเรื่องอื่นที่สำคัญและเร่งด่วนกว่า ซึ่งกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ฉบับแรก พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) โดยกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการควบคุมการใช้สัตว์พาหนะ และคุ้มครองกรรมสิทธิ์และป้องกันการลัก สัตว์พาหนะ ต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2502 ต่อมามีการแก้ไขอีกหนึ่งครั้ง และภายหลังมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุม การฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 ยกเลิกกฎหมายเดิมและบังคับตามกฎหมายใหม่
จะเห็นได้ว่าในช่วงแรกกฎหมายของไทยแม้ จะเกี่ยวข้องกับสัตว์ก็จริง แต่เป็นไปเพื่อกิจการของมนุษย์เสียเป็นส่วนใหญ่ ในการคุ้มครองสัตว์เริ่มเป็นรูปร่างจริง ๆ คือพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ต่อมา ได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองอนุรักษ์สัตว์ป่าและการขยายพันธุ์สัตว์ป่า
ในภายหลังประเทศไทยเริ่มเห็นความสำคัญของ สัตว์ทุกชนิดมากขึ้น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยง มีกฎหมายหลายตัว ออกมาคุ้มครองทั้งสัตว์และคนเลี้ยง หรือข้อพิพาทปัญหา ต่าง ๆ จากสัตว์เลี้ยงนั่นเอง
เริ่มตั้งแต่ ประมวลกฎหมายอาญา เป็นกฎหมาย ที่คอยควบคุมให้สังคมอยู่ในระเบียนเรียบร้อย มีการกำหนดความผิดเอาไว้ชัดเจนซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสัตว์ มาตรา 377 “ผู้ใดควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลําพัง ในประการที่อาจทําอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ”
นอกจากนี้ยังมี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นกฎหมายเอกชนว่าด้วยเรื่องสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ ระหว่างเอกชนต่อเอกชน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ซึ่งมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์และทรัพย์สิน ยกตัวอย่างเช่น “มาตรา 433 ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่า เจ้าของสัตว์ หรือ บุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของ จำต้องใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิด และวิสัยของสัตว์หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้น ย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”
ในส่วนอื่นก็มีคือ พระราชบัญญัติ การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เช่นมาตรา 29 “เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่น หรือเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อกำหนดของท้องถิ่นกำหนดให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของพื้นที่ในเขตอำนาจของราชการส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นเขตควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ได้”
พระราชบัญญัติ รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 โดยมาตราที่เกี่ยวข้องซึ่งเรายกมาคือ “มาตรา 14 ห้ามมิให้ผู้ใด
(1) ปล่อยสัตว์ นำสัตว์ หรือจูงสัตว์ไปตามถนนหรือเข้าไปในบริเวณที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ประกาศห้ามไว้
(2) ปล่อยให้สัตว์ถ่ายมูลบนถนนและมิได้ขจัดมูลดังกล่าวให้หมดไปความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้นำขบวนสัตว์หรือฝูงสัตว์หรือจูงสัตว์ไปตามถนน และได้เสียค่าธรรมเนียมรักษาความสะอาดตามข้อกำหนดของท้องถิ่น”
พระราชบัญญัติ โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ฉบับนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของโรคติดต่อจากสุนัขบ้าเมื่อเข้าสู่คนยังไม่มียารักษา หากเป็นแล้วเสียชีวิตร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยตัวอย่างสำคัญคือ “มาตรา 5 เจ้าของสัตว์ควบคุมต้องจัดการให้สัตว์ควบคุมทุกตัวได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์ หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากสัตวแพทย์ หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ตามกำหนดเวลาดังนี้
(1) ในกรณีของสุนัข ให้เจ้าของจัดการให้สุนัขได้รับการฉีดวัคซีนครั้งแรกเมื่อสุนัขนั้นมีอายุตั้งแต่สองเดือนขึ้นไปแต่ไม่เกินสี่เดือน และได้รับการฉีดวัคซีนครั้งต่อไปตามระยะเวลาที่กำหนดในใบรับรองการฉีดวัคซีน”
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข พ.ศ. 2548 เป็นกฎหมายท้องถิ่นที่ออกโดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีข้อกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อคนและสุนัขเป็นอย่างมากอาทิข้อ 20 “ผู้ใดนำสุนัขออกนอกสถานที่เลี้ยง ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) พกบัตรประจำตัวสุนัขและต้องแสดงบัตรประจำตัวสุนัขเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกตรวจ
(2) ผูกสายลากจูงสุนัขที่แข็งแรงและจับสายลากจูงตลอดเวลา ในกรณีที่เป็นสุนัขควบคุมพิเศษต้องใส่อุปกรณ์ครอบปากและจับสายลากจูงห่างจากตัวสุนัขไม่เกินห้าสิบเซนติเมตรตลอดเวลา”
โดยกฎหมายที่คนรักสัตว์รอคอยมานานก็คือ พระราชบัญญัติ ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ซึ่งออกมาไม่กี่ปีนี้เอง เนื้อหาสาระของกฎหมายฉบับนี้คือ “มาตรา 20 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร
มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทําการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควรการกระทําตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองให้แก่ผู้ซึ่งประสงค์จะนําสัตว์ไปดูแลแทน
มาตรา 31 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ
เราจะเห็นได้ว่าความจริงแล้ว ประเทศของเรามีกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ โดยเฉพาะสุนัขและแมวออกมาหลายฉบับครอบคลุมตั้งแต่การเกิดจนกระทั้งตาย รวมถึงให้มีการดูแลสัตว์เลี้ยงดูจากเจ้าของอย่างถูกต้อง ซึ่งกฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้แพ้กฎหมายสัตว์ของต่างประเทศด้วยซ้ำ แต่ความแตกต่างคือ ทำไมเราไม่เคยนำมาใช้อย่างจริงจัง คนที่ออกกฎหมายกับคนที่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่สามารถทำตามได้ หรือไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจังจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ทุกวันนี้ใครอยากเลี้ยงสัตว์ก็เลี้ยงกันตามสะดวก ไม่มีการควบคุมโรคระบาด เวลาเบื่อก็เอาไปปล่อย กลายเป็นปัญหาสังคม
เท่าที่เห็นมีเพียง พระราชบัญญัติ ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เท่านั้นที่คนส่วนใหญ่ทราบหากมีกระทำความผิดต่อสัตว์ นอกจากนั้นคงต้องใช้เวลาในการรณรงค์เพื่อให้ทุกคนรู้ถึงกฎหมายที่ต้องปฏิบัติและเห็นคุณค่าของสัตว์เลี้ยงกันต่อไป
อ่าน Scoop : Aggressive Dog Breeds เพิ่มเติม
- Aggressive Dog Breeds ศึกษาพฤติกรรมสุนัขพันธุ์ดุ Intro
- The World’s 10 Most Deadly Dog Breeds 10 สุนัขจอมโหด
- สุนัขก้าวร้าวเพราะสายพันธุ์ หรือดุดันเพราะเลี้ยงดู?