ณัฐ ยนตรรักษ์ : ประวัติศาสตร์ นักเปียโนไทย | Issue 164

ณัฐ ยนตรรักษ์ : ประวัติศาสตร์ นักเปียโนไทย | Issue 164

เสียงเปียโนดังกระหึ่มทั่วห้องจากปลายนิ้วพลิ้วไหว บรรเลงเพลงขับกล่อมด้วยอารมณ์ที่เข้าถึงตัวโน้ต อย่างลงตัว ชายผู้ถูกรายล้อมด้วยสายตาของผู้คน ที่จ้องมองด้วยใจสัมผัส ได้รับการขับกล่อมด้วยเสียงเปียโน ราวกับถูกสะกดด้วยมนต์ จากฝีมือการเล่นระดับแนวหน้าประเทศไทยของชายที่ชื่อว่า ณัฐ ยนตรรักษ์ นักประพันธ์เลื่องชื่อ ผู้มีผลงานการแสดงที่ชาวต่างชาติยอมรับ มาเกือบ 50 ปี มีดีกรีด้านดนตรีและเกียรติประวัติมากมาย

ณัฐ ยนตรรักษ์ : สำหรับผมดนตรีเป็นศิลปะชั้นสูงมาก ๆ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มอง ไม่เห็น เราสามารถรับรู้ได้จากหู และมากที่สุดคือความรู้สึก ความเข้าใจ เพราะฉะนั้นคนที่จะเล่นเปียโน ต้องเล่นให้ออกมาจากความรู้สึก ถ้าไม่ออกมา จากความรู้สึกดนตรีก็จะเรียบ ๆ ไม่มีชีวิต อย่างเช่นภาพเขียนที่คนชอบเพราะว่าเวลาดูแล้วมันมีชีวิต แต่คนที่สร้างชีวิตให้กับภาพเขียนได้ต้องเป็น ศิลปินชั้นเอก ดนตรีก็เหมือนกัน คุณสามารถทำเสียงได้ แต่เสียงนั้น จะมีชีวิตชีวาไหม ให้อารมณ์มากแค่ไหน แต่ถ้าคุณทำตรงนั้นได้ คุณก็จะรู้ว่าดนตรีนั้นคือศิลปะ เปียโนมันเป็นเครื่องเคาะถ้าจะเล่นให้เป็นทำนอง ต้องเล่นให้เปียโนร้องได้ ซึ่งมันยากมาก ๆ ถ้าคนไม่เข้าใจก็จะไม่สามารถทำได้

อาจารย์ณัฐ เติบโตมาจากครอบครัวที่มีคุณพ่อทำงานเป็นผู้จัดการหอพัก YMCA (Young Men’s Christian Association) มีคุณแม่เป็นสมุห์บัญชีของ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน โดยในบ้านอยู่กันแบบ 2 ครอบครัวใหญ่ โดยจุดเริ่มต้นครั้งแรกที่อาจารย์ณัฐได้สัมผัสกับเปียโนมาจากครอบครัวลุงเขยของอาจารย์ณัฐ ที่มีลูกสาว 3 คน ได้เชิญครูเปียโน มาสอนพี่สาวคนโต เมื่ออาจารย์ณัฐในวัยเด็กเห็นจึงอยากลองเล่นบ้างปรากฏว่าเล่นได้ จึงเริ่มเรียนรู้จากครูที่มาสอนร่วมกับพี่สาวซึ่งเป็น ลูกพี่ลูกน้องนั่นเอง

ด้วยความที่ครอบครัวของอาจารย์ณัฐ เป็นคริสเตียน จึงมีโอกาส ได้เข้าไปเล่นเปียโนที่โบสถ์ โดยมีการแบ่งเป็นกลุ่มเด็กที่เรียกว่า Sunday School อาจารย์ณัฐจึงเล่นเปียโนให้เพื่อน ๆ ด้วยกันฟัง พอเล่นได้คล่องจึงขยับเข้าไปเล่นในโบสถ์ใหญ่ในวัยเพียง 12 ปีเท่านั้น

ณัฐ ยนตรรักษ์ : ครอบครัวสนับสนุนผมอย่างจริงจัง โดยคุณพ่อขับรถไปส่งที่บ้านครู สอนเปียโน ส่วนคุณแม่ถ้ามีคิวต้องไปเล่นที่คริสตจักรท่านจะให้ลองเล่นเพลง ให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบว่าถูกไหม ดีรึยัง แม่คือเป็นคนตรวจการบ้าน ผมก็เล่นมาเรื่อย ๆ คนในบ้านก็มีความสุขที่เราเล่นเปียโนให้เขาฟัง เพื่อนคุณพ่อคุณแม่พอมาที่บ้านก็ให้ผมเล่นเพลงให้ฟัง ทำให้ต้องขวนขวายไปหาเพลงที่เขาอยากฟังในตอนนั้น ไม่ใช่เพลงคลาสสิคแต่เป็นเพลงไทยสมัยนั้น ทำให้ต้องแต่งเองเพราะโน้ตมีเฉพาะทำนอง ไม่ใช่สำหรับบรรเลง

ในช่วงอายุ 14 ปี ครูที่สอนผมให้พัฒนามาก ๆ คือครูพันทิภา ตรีพูนผล ครูสอนให้เล่นเป็น เล่นได้ คือนิ้วค่อนข้างจะคล่อง เร็ว เป็นไปตามธรรมชาติ ครูเป็นคนสอนให้ผมเก่ง ให้ผมเข้าใจเล่นได้ เพลงยาก ๆ ก็เล่นได้ครูบอกวิธี ว่าจะเล่นยังไง การเรียนกับครูทำให้ผมสอบผ่านเกรด 8 ด้านเปียโนซึ่งตอนนั้น มีกรรมการมาจากอังกฤษ พออายุ 16 ปี สยามกลการจัดการแข่งขันเปียโน ครั้งแรก ผมเข้าแข่งขันก็ชนะที่ 1 และได้ที่ 2 ในการเล่นอิเล็กโทน

ในสมัยก่อนไม่มีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่เปิดสอนทางด้านดนตรี เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย อาจารย์ณัฐได้เข้าศึกษาต่อ ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้จะไม่ใช่ทาง ที่ตัวเองถนัดแต่ท่านก็ทำได้ดีในด้านวิชาการ ส่วนทางด้านการเล่นเปียโน ด้วยคนในมหาวิทยาลัยมีคนเล่นได้น้อย อาจารย์ณัฐจึงได้โชว์ฝีมือในงานต่าง ๆ รวมถึงได้รับโอกาสในการแสดงเปียโนเดี่ยวตอบจบปี 3 ณ หอประชุม เอ.ยู.เอ. ด้วย

ณัฐ ยนตรรักษ์ : ตอนที่ผมเรียนอยู่ชั้นปี 3 ผมแสดงเดี่ยวเปียโนครั้งแรก อายุ 20 ปีพอดี อาจารย์ที่คณะฯ เห็นผมเล่นเปียโนท่านก็บอกว่า อีกไม่นานจุฬาจะเปิด คณะศิลปกรรมศาสตร์ ก็ให้ไปเรียนต่อทางด้านดนตรีเพื่อกลับมาช่วยก่อตั้งคณะนี้ ผมคิดว่าน่าสนใจเพราะผมอยากเรียนอยู่แล้ว หลังจากนั้นใจผมจึงไม่อยากเรียนต่อสถาปัตย์แล้ว ถึงแม้จะชอบอยู่มากก็ตาม แต่ว่าที่บ้านบอกว่าเรียนให้จบเถอะเพราะจะได้ปริญญาด้วย ผมก็รับปาก ในช่วงปี 4 ปี 5 ผมก็ทำงานดนตรีมากขึ้น ตอนนั้นก็อึดอัดใจเหมือนกัน แต่ผมทำก็ได้ดีนะครับเรียนจบออกมาด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง จากนั้นผมก็ตัดสินใจว่าไปเรียนดนตรีเต็มตัว

พอดีผมมีญาติอยู่ที่ลอนดอน คือ พี่สาวคนที่สอนผมเมื่อเริ่มแรก ก็เลยไปอาศัยอยู่กับเขา ผมสอบเข้า London university ได้ที่ Goldsmiths’ College พอเข้าเรียนจริงก็อึดอัดเพราะต้องเขียนงานเข้าห้องสมุดค้นคว้าด้านวิชาการเยอะ จะซ้อมเปียโนก็ทำได้ไม่เต็มที่ เมื่อผมเรียนจบจึงสอบชิงทุนเรียนปริญญาโท ทางด้านการแสดงเปียโนที่ University of Reading แล้วก็เป็นครั้งแรก ในประเทศอังกฤษที่มีปริญญาโทด้านการแสดง ผมอยู่ที่อังกฤษทั้งหมด 6 ปี ซึ่งเพื่อนรุ่นเดียวกันที่ประเทศไทยก็ทำงานกันหมดแล้ว กลับมาก็ต้องเริ่มต้นว่า จะทำอะไร ไม่มีงานที่จะทำเป็นตัวเป็นตนด้วยนะครับ ในที่สุดก็ต้องสร้าง มันขึ้นมาเองทุกอย่าง

ณัฐ ยนตรรักษ์ : ก่อนหน้าที่ผมจะไปเรียนต่อดนตรีในประเทศไทยก็มีคนในวงการเปียโนอย่าง อาจารย์ปิยพันธ์ สนิทวงศ์ ท่านเป็นบรมครูของนักเปียโน ในประเทศไทย ท่านเรียนจบก่อนผม 20 ปี แล้วก็มีอาจารย์สุดา พนมยงค์ อีกท่านหนึ่ง แต่ผมต่างจากท่านเหล่านี้เพราะผมเติบโตมาอย่างคนธรรมดา ฉะนั้นเมื่อเรียนจบมาจึงต้องทำงาน ต้องใช้วิชาชีพที่เรียนมาเพื่อเลี้ยงครอบครัว จึงเป็นความท้าทายอย่างมาก แต่ความได้เปรียบมีอยู่คือเนื่องจากมีคนเรียนน้อย พอมีคนทราบว่าเราเรียนมาก็มีโอกาสเยอะกว่าคนอื่น ในสมัยนั้น คนที่อยากให้ลูก ๆ เรียนเปียโนจริงจังก็มาหาให้ผมสอน

ชีวิตผมมาถึงตรงนี้ได้เพราะมีคนสนับสนุนผม ทำให้ผมมีชีวิต ที่ไม่เหมือนคนอื่นเท่าไหร่ครับ ตอนที่ผมเรียนสถาปัตย์ ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง ชื่อ อ้วน (ม.ร.ว.นิดา สุขสวัสดิ์) อ้วนเป็นหลานของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ตอนนั้นผมอยู่ปี 2 อ้วนชวนให้ผมไปสอนท่านพระองค์หญิงเล่นอิเล็กโทน ผมไปพบท่านครั้งแรกท่านก็ให้เรียกท่านว่า “ท่านแม่” ผมมี โอกาสสอนท่านทุกอาทิตย์จนเรียนสถาปัตย์จบ ท่านก็เอ็นดูผมซื้อของ ให้เกี่ยวกับดนตรีอย่างเครื่องอัดเทปสมัยก่อนหายากมาก พอผมไปเรียนต่อ อังกฤษ ซึ่งท่านมีตำหนักอยู่ที่อังกฤษ ผมก็ได้เฝ้าท่านปีละ 2 ครั้ง เป็นอย่างน้อย แล้วท่านก็ซื้ออิเล็กโทนไว้ที่ตำหนักในอังกฤษด้วย ผมได้มีโอกาสเล่นถวายท่านซึ่งท่านก็โปรดมาก

ตอนที่ผมสอบชิงทุนเรียนปริญญาโทที่อังกฤษได้ ท่านให้รางวัล โดยพาผมไปร้านขายเปียโนที่ลอนดอน ให้ผมไปเลือกเปียโนยี่ห้อที่ดีที่สุด ในโลก มันเป็นความฝันสุดยอดของเด็กอายุเท่านั้น ท่านก็ประทานเปียโนให้ ผมได้มีโอกาสใช้เปียโนนั้นทำมาหากินมาตลอดแต่ไม่ใช่แค่นั้น พอผม เรียนจบจะแต่งงาน ท่านก็เป็นเจ้าภาพเป็นคนหาแหวนหมั้นไปหมั้นคุณน้ำตาล (วงเดือน อินทราวุธ) ซื้อชุดแต่งงานให้ พอแต่งงานท่านก็ให้เงินมาสร้างบ้านที่ผมอยู่ทุกวันนี้ ชีวิตเริ่มต้นของผมจึงเหมือนฝัน เพราะเราก็มีครบหมด ทุกอย่าง เราเริ่มต้นอย่างมีความสุข ทำงานแบบมีความสุขมาก

แม้ว่าจะมีการสนับสนุนจากผู้ที่เห็นคุณค่าของการเป็นนักดนตรีเปียโน แต่อีกมุมหนึ่งคนในสังคมไทยยังไม่ซึมซับวัฒนธรรมดนตรีฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะเปียโนมากนัก การเป็นนักดนตรีอาชีพในสมัยหลายสิบปีก่อน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากการยอมรับด้านฝีมือแล้ว การดำเนินชีวิต ด้วยเส้นทางนี้ได้ ต้องมีความอดทนด้วยใจที่ตั้งมั่นเท่านั้น

ณัฐ ยนตรรักษ์ : ผมต้องขอบคุณพระเจ้าที่ผมได้แต่งงานกับคุณ น้ำตาล เขาเป็นคนที่ช่วยให้เราสามารถสร้างครอบครัวขึ้นมาได้ เพราะว่าเขาเคยเป็นดาราภาพยนตร์ ตอนที่เราแต่งงานใหม่ ๆ จึงช่วยกันทำรายการโทรทัศน์ เราทำอะไรหลายอย่าง รวมทั้งเปิดโรงเรียนสอนเปียโน ณัฐ สตูดิโอ ขึ้นมา คุณ น้ำตาล ช่วยงาน ในโรงเรียนทุกอย่างให้ไปได้ด้วยดี นักเรียนเราก็มากขึ้นเรื่อย ๆ มีนักเรียนเก่ง ๆ เยอะมาก ซึ่งพวกเขาก็กลับมาช่วยสอน โรงเรียนจึงได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปีนี้โรงเรียนเรามีอายุครบ 35 ปีพอดี

ในยุคแรกส่วนใหญ่โรงเรียนดนตรีก่อตั้งโดยบริษัทที่ขายเปียโน มันก็เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน แต่เราเป็นโรงเรียนแรก ๆ ที่ไม่ได้ขายเปียโน คนที่ได้เข้าเรียนก็รู้ว่าเราตั้งใจในเรื่องการศึกษา สอนให้เก่ง มีความรู้ ตรงนั้นเป็นหนึ่งจุด ที่ทำให้เด็กเราเก่ง สมัยผมเด็ก ๆ มีคนเล่นเปียโนไม่มากนัก ครูเปียโนมักจะ รวมตัวกัน นาน ๆ ครั้ง พาลูกศิษย์มาแสดงร่วมกัน เป็นลักษณะ House Concert และมักจะไปขอให้คุณครู (ท่านผู้หญิง) พวงร้อย (สนิทวงศ์) อภัยวงศ์ เป็นเจ้าภาพ แสดงที่เรือนบัวขาวของท่าน ทำให้เด็กๆ ได้รู้จักกันด้วย ตั้งแต่ผมตั้งโรงเรียน เราก็เลยสร้างห้องแสดงและทำ House Concert ให้นักเรียนของเราได้แสดงกันเป็นประจำ ซึ่งเป็นประโยชน์มาก ทำให้นักเรียนมีประสบการณ์ในการแสดง ได้เล่นต่อหน้าคนอื่นบ่อย ทำให้ได้ฝึกฝนได้รู้ข้อผิดพลาดต่าง ๆ จะได้แก้ไขให้ดีขึ้น

ในเรื่องการแสดงบนเวทีของอาจารย์ณัฐ แต่ละครั้งต้องแบกรับความกดดันพอสมควร เพราะทุกคนต่างจ้องมองท่านคนเดียว เพื่อฟังการบรรเลงเปียโนเดี่ยวอยู่บนเวที สิ่งที่จะทำให้การแสดงไม่มีความผิดพลาดเลยคือการซ้อม ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการแสดง

ณัฐ ยนตรรักษ์ : ผมต้องซ้อมจนเล่นไม่ผิดครับ ซ้อมซ้ำแล้วซ้ำอีกจนแน่ใจว่าเล่นดี แล้วในแต่ละรอบจะเกี่ยวกับขบวนการเรียนรู้และความจำของเราด้วย ว่ามีระเบียบไหม มีวิธีการช่วยให้ตัวเองจะมั่นคงรึเปล่า อย่างวิธีแบบนี้ นักดนตรีไทยจะเก่งมากนะครับ เพราะว่าเขาฝึกกันมาหนักมากตั้งแต่ต้นเลย เขาจะต้องจำกันให้หมด ถ้าไม่จำก็จะเล่นไม่ได้

ผมคิดว่าผมทำเหมือนเดิมมาตลอดตั้งแต่เด็ก ๆ คุณแม่ผมได้นั่งฟังผมเล่น ตั้งแต่ 9 ขวบ มันก็ฝังอยู่ในตัว ไม่ว่าเมื่อไหร่ที่ผมได้ขึ้นแสดง จะงานเล็ก งานใหญ่ จะมีความรู้สึกว่าเราได้เตรียมตัวมาอย่างดีที่สุดรึยัง คือถ้าสมมุติยังไม่ดีที่สุดเราก็พยายามทำอยู่ตรงนั้น ฉะนั้นผมคิดว่าเวลาจะทำอะไร ผมคิดเสมอเลยว่าทำดีที่สุดรึยัง ถ้าผมรู้สึกว่าทำดีที่สุดแล้วผมก็โอเค พอใจแล้ว แต่ผมก็รู้สึกกดดันอยู่เป็นเรื่องปกตินะครับ

ในการที่ผมเป็นนักเปียโน ผมมี 2 อย่างอยู่ในตัว คือเป็นทั้งคนที่สร้างงาน อย่างการแต่งเพลงกับคนที่แสดงงานของตนเองด้วย ในปัจจุบันน้อยคน ที่จะทำได้ทั้ง 2 อย่าง นักเปียโนส่วนใหญ่จะเล่นเพลงของคนอื่น ผมพยายามมาตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้ว พยายามสร้างงานที่เราสามารถนำเสนอดนตรี ที่เป็นของชาติไทยเราในเวทีสากล เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมก็ดีใจที่ได้ไป แสดงต่างประเทศในหลายที่ และสามารถเอาดนตรีของไทยออกไปสู่ ตลาดโลกได้ โดยเฉพาะที่ยุโรปผมไปทำการแสดงอยู่เรื่อย ๆ ทีนี้คนที่ได้ฟังเราเล่นเปียโน เขาจะเข้าใจว่าคนไทยเล่นเปียโนอยู่ในระดับไหน

ส่วนตัวผมเองรู้สึกเป็นเกียรติและขอบคุณ ที่หลายคนให้ผมเป็นนักเปียโนแถวหน้าของไทย ผมคิดว่าต้องมีคนไทยที่เก่งกว่าผมอีก เพียงแต่ ผมอาจได้รับโอกาสที่ดีกว่าคนอื่น และผมก็ทำอย่างสม่ำเสมอ ผมยังมีผลงานการแสดงมาเรื่อย ๆ ผมได้เริ่มต้นแสดงครั้งแรกเมื่ออายุ 20 ปี อีกไม่กี่ปีผมก็อายุ 70 ปีแล้ว ก็จะเป็น 50 ปีที่ผมอยู่ในวงการ เพราะฉะนั้นถ้าเรายังทำงานมาเรื่อย ๆ และยังสามารถมีผลงานให้ทุกคนได้รับชมตลอดก็เป็นความภาคภูมิใจสำหรับชีวิตของคนที่เป็นศิลปิน

แม้ว่าจะทำการแสดงงานมานับไม่ถ้วน แต่สิ่งที่อาจารย์ณัฐภูมิใจมากที่สุด ในชีวิตเรื่องหนึ่งคือ การได้มีโอกาสแสดงงานด้านดนตรีถวายแด่ พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นับเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าของชีวิต

ณัฐ ยนตรรักษ์ : ตอนนั้นผมอยู่ปี 1 เป็นคนเล่นเปียโนคณะนักร้องประสานเสียงของจุฬา ซึ่งตั้งขึ้นเป็นปีแรก และได้รับโอกาสอันวิเศษ แสดงในวันที่ในหลวงเสด็จมาทรงดนตรีก็เป็นครั้งแรกที่ได้แสดงต่อหน้าพระที่นั่ง ตอนอยู่ปี 5 ผมมีโอกาสได้เล่นถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ในงานเปิดโรงเรียนปัญญาวุฒิกร ผมเล่นเปียโนและได้นำคณะนักร้องของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ไปร้องด้วย พระองค์ทรงโปรดมาก พอดีว่ามีเพลงปลุกใจที่เราร้องด้วย พระองค์ท่านได้ตรัสถามว่ามีเทปไหม อยากไปเปิดให้ตำรวจชายแดนฟัง ผมตอบไปว่าผมไม่ได้ทำ พระองค์ท่านจึงให้ไปอัดเสียงเพลงเหล่านั้น โดยมีเด็ก 60 คนได้ไปอัดเสียงในศาลาดุสิตดาลัย วังสวนจิตรลดา ซึ่งผมเป็นคนนำนักร้องและเรียบเรียงเสียงประสาน

พอถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ ผมเข้าเฝ้า พระองค์ท่านได้แนะนำผมกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่า ผมเป็นใครทำอะไร เป็นครั้งแรกที่ได้ใกล้ชิดพระองค์ท่าน และหลังจากนั้นไม่นาน เป็นวันพระราชทานปริญญาบัตรจบการศึกษาปริญญาตรี พระองค์ท่านจำผมได้ทรงยิ้มให้และปรบมืออย่างปลื้มใจด้วย

อีกครั้งที่ผมได้แสดงต่อหน้าพระที่นั่ง เป็นการแสดงร่วมกับวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพ ในวโรกาส 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ มีผมกับ หัวหน้าวงที่เป็นคนไทยเท่านั้น ผมได้เล่นเดี่ยว เมื่อแสดงจบในหลวงรัชการที่ 9 พระองค์ท่านมายืนอยู่นิ่ง ๆ อยู่พักหนึ่งและตรัสว่า “เพลงที่เล่นนี้ยากนะ แต่เล่นได้ดี” ผมเลยคิดว่าเป็นคำชมที่มีความหมายมาก คือไม่ได้ชมว่า เล่นเก่งนะ แต่ท่านรู้ว่าเพลงที่เล่นนั้นยากและก็ทำออกมาได้ดี

ณัฐ ยนตรรักษ์ : หลังจากนั้นผมได้มีโอกาสสอนคุณ พลอย ไพลิน ตอนที่คุณพลอย อายุ 13 - 14 ผมได้เข้าเฝ้าหลายครั้ง ก็เป็นความปลื้มใจมาก ๆ คือในชีวิต ของคนที่เป็นพสกนิกร ได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินใกล้ ๆ แค่นั้นก็พอแล้ว ท่านยังได้รับสั่งด้วย และท่านก็รู้ว่าเราเป็นใคร แค่นี้ก็ปลื้มมาก ๆ แล้วครับ ผมประทับใจและมีความรู้สึกทึ่งที่ว่าพระเจ้าแผ่นดินของเราแต่งเพลง ได้เพราะมาก ๆ พระองค์ทรงประพันธ์ทำนองเพลงเพราะ ๆ ได้มากกว่า หลาย ๆ คนที่เป็นนักประพันธ์อาชีพ พระอัจฉริยภาพของพระองค์เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกมากทีเดียว

ในอนาคตผมอยากจะมีเวลาที่จะเขียนเพลงให้มากขึ้น เพราะผมคิดว่าทรัพยากรดนตรีในประเทศไทยเรามีมาก เรามีของที่มีคุณค่ามากมาย สมมุติว่า ผมได้มีโอกาสนำสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์ให้มีดนตรีเปียโนมากขึ้น ก็จะทำให้ นักเปียโนไทยในอนาคตจะมีเพลงสำหรับเปียโนไว้แสดง ซึ่งเพลงสำหรับแสดง กับเพลงที่เล่นเฉย ๆ มันคนละอย่างกันครับ เพลงที่เอาไว้แสดงมันต้องเป็นเพลงที่มันน่าสนใจมีเนื้อหาและรูปแบบที่จะทำให้คนนั่งฟังได้ไม่เบื่อ

ในโลกปัจจุบันนี้มันแคบมากเลยครับ ทุกคนสามารถดูอะไรก็ได้ อยากรู้อะไร ก็หาได้ มันก็อยู่รอบ ๆ ตัวเรา เพราะฉะนั้นคนที่อยากเป็นนักดนตรีก็เยอะขึ้น และเขาก็มีโอกาสที่จะเข้าใจสิ่งที่อยากเป็นได้ง่าย ผมอยากให้กำลังใจคนที่มี ความรู้สึกปรารถนาที่อยากจะเป็นนักดนตรี นักเปียโน หรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องให้เขาถามตัวเองจนแน่ใจ ว่าเขาชอบจริง ๆ และจะสามารถอดทนอยู่กับมันได้ เพราะต้องคิดว่าการที่จะเป็นมันยากมาก ๆ และเราต้องอยู่กับมันตลอดชีวิต

นอกจากจะเป็นได้แล้ว หนทางที่จะทำเป็นอาชีพจะอยู่กินด้วยอาชีพนี้ มันก็ยากขึ้นไปอีก ก็ต้องคิดดี ๆ ว่ารักในอาชีพนี้แน่หรือเปล่า ไม่อย่างนั้น พอเรียนมาแล้วจะเสียใจ เพราะว่าโลกในปัจจุบันนี้มันผ่านไปและเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราต้องนึกถึงอะไรที่มั่นคงทำมาหากินได้ คือการที่เราจะเรียนอะไร ที่เรารักอย่างเดียวมันอาจไม่พอ แต่ขอให้สู้กันต่อไป

Did You Know
อาจารย์ณัฐได้รับรางวัลมากมายอาทิ
• รางวัลศิลปาธร (สาขาคีตศิลป์) ประจำปี พ.ศ. 2549
• Cavaliere dell’Ordine della Stella d’Italia รางวัลเกียรติยศอัศวินทางด้านการแสดง จากอิตาลี
• Meritorious for Polish Culture จากกระทรวงวัฒนธรรมและมรดกแห่งชาติประเทศโปร์แลนด์
• Knight of the Order of the Star of Italy จากกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศอิตาลี

Photo : Pronsarun Siotong

ณัฐ ยนตรรักษ์ : The Gifts of God ประวัติศาสตร์ นักเปียโนไทย | Issue 164