Scoop : Dog Training พฤติกรรมสุนัขขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู | Issue 164

Scoop : Dog Training พฤติกรรมสุนัขขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู | Issue 164

จากความคิดเห็นของนักปรับพฤติกรรมสุนัขชื่อดัง ครูหนึ่งซุปเปอร์ด๊อก ได้ให้ความเห็นว่า สุนัขกัดคนส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยง เชื่อไหมครับว่าสุนัขข้างถนนจะไม่ค่อยกัดคน ถ้าเราไปถามคุณหมอตามโรงพยาบาลว่าสุนัขที่กัดคนมาก ๆ ก็จะเกิดจากสุนัขบ้าน ซึ่งเป็นการเลี้ยงที่ตามใจมากจนเกินไป 

สุนัขที่กัดคนเยอะที่สุดคือสุนัขพันธุ์อะไร ถ้าไปถามคุณหมอ คุณหมอก็จะบอกว่า พันธุ์ปอมเมอเรเนียน, ชิวาว่า เป็นพันธุ์ตัวเล็ก ซึ่งพันธุ์เล็ก ๆ เจ้าของจะตามใจค่อนข้างเยอะกว่า แต่ที่เป็นข่าว มักเป็นพันธุ์ที่ใหญ่กว่า อาทิ พิทบลู, ร็อตไวเลอร์, บางแก้ว, เยอรมันเชพเพิร์ด เพราะว่ามันเป็นข่าวแรงกว่าหมาพันธุ์ตัวเล็ก ๆ 

โดยเบื้องต้นเราก็ต้องวนกลับมาว่าปัญหาของสุนัขของเรานั้นอยู่ที่ไหน ปัญหาของสุนัขนั้นอยู่ที่มนุษย์ เพราะฉะนั้นจะต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหาน้องหมาอยู่ที่เจ้าของว่าจะเลี้ยงแบบไหน

ครูที่ดีที่สุดของสุนัขคือเจ้าของ เพราะว่าเจ้าของเป็นคนที่สร้างการทำซ้ำ สุนัขจดจำจากการทำซ้ำ ทำซ้ำจนเกิดเป็นร่อง ความคิด สุนัขจะเข้าใจว่าทำสิ่งนั้นทำได้ถูกต้องและดี จนทำให้เกิดความคุ้นชินแล้ว เขาก็จะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นคือเรื่องปกติกับเขา

ในการจัดการสุนัขหนึ่งตัว กับคนสองคนแสดงพฤติกรรมต่างกัน สุนัขหนึ่งตัวอยู่กับสังคมในแต่ละที่ก็แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่การเรียนรู้ สุนัขสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่แรกเกิด ลองคิด ภาพตาม สุนัขอายุ 2-3 เดือน ถ้าเขาอยู่กับแม่หมา แม่หมาจะสอนลูกหมา ลูกหมาคลานไปกินนมแม่และกัดหัวนมแม่แรงแม่ก็จะงับคอ หรือไม่ให้กินและเดินหนี หรือลูกหมาเดินไปจะไปตกบ่อน้ำแม่หมาจะเดินไปคาบคอ

แต่พออยู่กับมนุษย์ มนุษย์จะให้แต่ความรักและความตามใจ โอ๋ ปกป้อง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ สุนัขก็เลยกลายเป็นว่าได้รับการตามใจมากเกินไป ก็เริ่มจากการที่มนุษย์ไปให้การเรียนรู้ในด้านที่สุนัขแสดงพฤติกรรมด้านลบ และกลายเป็นเรื่องถูกไป

ต้องแก้ที่วิธีการคิด วิธีการสื่อสารกับสุนัข สุนัขสื่อสารกับมนุษย์กับภาษากาย ไม่ใช่ภาษาพูด แต่มนุษย์เลือกเอาการสื่อสารของมนุษย์ไปอยู่กับสุนัขมากกว่าภาษากาย พอยิ่งพูดเท่าไหร่ คุยกันเองยังคุยไม่รู้เรื่องเลย ในบางเรื่อง แต่พอเวลาเอาภาษาพูดไปสั่ง ๆ แต่ว่าไม่ได้สอนเขา

อย่างเช่นอยากให้สุนัขฉี่เป็นที่เป็นทาง ต้องถามเจ้าของกลับไปเลยว่าคุณเองใช้เวลากี่ปีในการฉี่เป็นที่เป็นทาง เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่เคยสอนว่าตรงนี้คือห้องน้ำ อยู่ตรงนี้นะ เมื่อเทียบกับตัวเรากว่าจะเดินไปฉี่ได้ใช้เวลากี่ปี คือจะต้องไปบังคับเขาฉี่ให้ได้และมันจะเป็นไปไม่ได้ถ้าคุณไม่สอนเขา และใครเป็นคนสอนที่ดีก็ต้องเป็นเจ้าของนั่นแหละ เพราะว่าสุนัขช่วง 2-4 เดือน เป็นช่วงของการเรียนรู้ เจ้าของควรสร้างการเรียนรู้ของสุนัขตั้งแต่แรกเกิดเลย หมายถึงว่าถ้าเอาน้องหมามาเลี้ยงตั้งแต่ 60 วัน

พฤติกรรมของสุนัข ที่เจ้าของควรต้องทำความเข้าใจ

สุนัขทุกตัวมักแสดงออกถึงความมั่นใจ และอยากเล่นสนุก ผ่านทางภาษากาย ไม่ใช่ภาษาพูด

พฤติกรรมขี้เล่น และแสดงความรัก

เมื่อมีความมั่นใจ สุนัขจะแสดงออกด้วยการยืนอย่างสง่าผ่าเผย ตาดำเล็กลง หางเชิด หรือแกว่ง หูอาจอยู่ในลักษณะตั้งตรงหรือผ่อนคลายก็ได้

คำนับ หากสุนัขของคุณนั่งก้มหน้า ห่อหน้าอกมาทางคุณ พร้อมขาหน้าที่แผ่กว้าง ทำก้นและหางชี้ขึ้น นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกชัดเจนว่า ต้องการเล่นกับเจ้าของ ซึ่งหลายคนมักตีความผิด 
คิดว่าเป็นท่าเตรียมต่อสู้ของสุนัข

ส่ายสะโพก บั้นท้าย เป็นอีกสัญญาณหนึ่งของการชวนเล่น กำลังตื่นเต้น และอยากเป็นมิตร ในบางตัวอาจเป็นการสื่อว่าขอให้คุณช่วยเกาอีกด้วย 

พร้อมรบ ถ้าสุนัขแกว่งหางอย่างรุนแรง และหางชี้ขึ้นด้วย แสดงว่ามันกำลังอยากเล่น อยากแกล้ง แต่กับสุนัขตัวอื่น ๆ จะสื่อถึงการท้ารบ 

พฤติกรรมของความกังวล และอึดอัด

การเดินย่ำไปมา มักเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความว้าวุ่นใจ ตื่นเต้น หรือเบื่อ เมื่อพบพฤติกรรมแบบนี้ พยายามมองหาต้นตอของสาเหตุ จะได้แก้ไขอาการว้าวุ่นใจนี้ได้

เมื่อรู้สึกถูกคุกคาม ขนที่คอจะลุกชัน ด้วยการชันขนตั้งแต่แผงคอลงไปถึงส่วนหลัง เพื่อเป็นกลไกปกป้องตัวเองจากศัตรู ตื่นตัวพร้อมรับเหตุการณ์ เมื่อพบพฤติกรรมเช่นนี้ คุณควรพาตัวเองออกห่างทันที เพราะความกลัวของสุนัข อาจทำให้กัดเราได้เช่นกัน

หมอบ หรือก้มราบไปกับพื้น การหมอบเล็กน้อยอาจบ่งบอกถึงความกังวล และการยอมแพ้ ทำนองเดียวกับเวลาที่โก่งตัว หางชี้ลงแต่ไม่ขด งอขาเล็กน้อย พร้อมมองไปยังบางสิ่งที่ทำให้รู้สึกกลัว จะดูออกเลยว่ากลัวอะไร

ยกเท้าหน้าไปที่บางสิ่ง พร้อมเอี้ยวตัวหลบ หรือถอยหลังหนี บ่งบอกถึงความไม่แน่ใจ สับสน หากเอียงหัวไปด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่าสุนัขฟังคุณพูดอยู่ แต่ไม่แน่ใจ ขอให้อธิบายซ้ำ

แกว่งหางช้า ๆ และลดลงเล็กน้อย บ่งบอกถึงความสับสัน อยากขอคำอธิบาย หรืออาจเป็นแค่การสำรวจสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ บางอย่างอยู่ก็ได้

ลดหางลงต่ำ เคลื่อนไหวเล็กน้อย บ่งบอกถึงความเสียใจ หรือรู้สึกไม่ดี 

พฤติกรรมของความก้าวร้าว หรือพร้อมที่จะกัด

ลดหางลงต่ำ ขดเข้าใต้หว่างขา เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความกังวลใจ หวาดกลัว และรู้สึกไม่แน่นอน บางครั้งหางส่ายไปมาด้วย ซึ่งอาจทำให้คุณเข้าใจผิดว่ามันกำลังมีความสุข ท่าทางแบบนี้ยังเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เขาต้องการความเชื่อมั่น และการปกป้องจากผู้เลี้ยง

หยุดชะงักกลางคัน บ่งบอกถึงความไม่แน่ใจในตัวเอง ต้องการความเป็นส่วนตัว หรือกำลังเตรียมตัวจู่โจม เป็นพฤติกรรมปกติเวลาสุนัขกำลังครอบครองอาหาร หรือของแทะเล่นชิ้นโปรด ฉะนั้นไม่ควรเข้าไปแย่งกระดูกจากปากสุนัขเพราะมันจะหวงของ อาจจะกัดได้แม้คุณจะเป็นเจ้าของก็ตาม 

โน้มตัว และเดินทื่อเข้ามา บ่งบอกถึงความก้าวร้าว เป็นท่าทีเวลาที่มันต้องการโต้ตอบจากการถูกท้าทายก่อน หางจะขดงอ หรือไม่ก็แกว่งอย่างบ้าคลั่ง

เหลือกตาขาวใส่ เมื่อสุนัขกำลังรู้สึกว่าถูกคุกคาม หรือคิดจะจู่โจม มันจะเหลือกตาขาวใส่สิ่งที่มันเห็นว่าเป็นภัยคุกคาม 

แสดงท่าทีก้าวร้าว และส่ายศีรษะกับหัวไหล่ บ่งบอกว่าสุนัขไม่สนใจสิ่ง ๆ นั้นแล้ว เพราะมันไม่คุกคามอีกต่อไป

สังเกตพฤติกรรมจากการส่งเสียง

การเห่า คำราม หอน ร้องหงิง ๆ ล้วนแต่เป็นเสียงที่มีความหมายทั้งสิ้น  

เสียงเห่าดัง แหลม และถี่ บ่งบอกถึงความก้าวร้าว และหวงอาณาเขต

เสียงเห่าสั้น ถี่ แหบแห้ง ดูตื่นตัว เป็นสัญญาณแจ้งเตือนให้มนุษย์ รู้ว่ากำลังมีภัยมาเยือน ซึ่งมันอาจจะแยกเขี้ยว คำรามสลับไปด้วย

เสียงเห่าสั้น ๆ มีชีวิตชีวา เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามันกำลังทักทาย แสดงความเป็นมิตร ยินดีที่ได้พบคุณ อาจมีเสียงหอนสั้น ๆ หรือครางหงิง ๆ ร่วมด้วย 

เห่าเสียงสูง มักเกิดขึ้นในเวลาที่สุนัขกำลังอยากเล่นสนุก

หอนเสียงดังแหลมขึ้นมา แสดงว่ามันอาจกำลังเจ็บปวดจากอะไรสักอย่าง

เห่าเสียงต่ำขึ้นมาลอย ๆ หรือเห่าเพียงหนึ่งครั้ง เป็นการเตือนให้คุณถอยห่างออกไป

เสียงครวญครางหงิง ๆ สื่อถึงความรู้สึกสุขใจ และพึงพอใจ

คำรามอย่างนุ่มนวล แสดงถึงความขี้เล่น คุณสามารถประเมินได้จากสิ่งแวดล้อม และนิสัยส่วนตัวของสุนัข การคำรามแบบขี้เล่นมักจะสลับด้วยการเห่าอย่างตื่นเต้น


อ่าน Scoop : Aggressive Dog Breeds เพิ่มเติม 

Aggressive Dog Breeds ศึกษาพฤติกรรมสุนัขพันธุ์ดุ Intro

The World’s 10 Most Deadly Dog Breeds 10 สุนัขจอมโหด

สุนัขก้าวร้าวเพราะสายพันธุ์ หรือดุดันเพราะเลี้ยงดู?

กฎหมายและการเลี้ยงสัตว์ในต่างประเทศ

กฎหมายเรื่องของสัตว์ในประเทศไทย

Scoop : Dog Training พฤติกรรมสุนัขขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู | Issue 164