บันไดสู่นักพากย์เสียง ทักษะที่มากกว่าการพูด

บันไดสู่นักพากย์เสียง ทักษะที่มากกว่าการพูด

การพากย์ก็เปรียบเสมือนศาสตร์อีกแขนงหนึ่งของการสื่อสาร ที่ต้องใช้ทักษะมากกว่าการพูดเพื่อการสื่อสาร ดังจะเห็นได้จากในอดีตยุคหนังฟิล์ม 16 มม. หรือ 35 มม. นักพากย์ต้องใช้ทักษะขั้นสูงในการพากย์เสียงกันแบบสด ๆ ขณะเดียวกันก็ยังต้องทำเสียงเอฟเฟกต์ ทั้งเสียงปืน เสียงระเบิด เสียงไฟไหม้ หลากหลายรูปแบบ ควบคู่ไปด้วยขณะฉาย 
 

เมื่อเทคโนโลยีสมัยนี้เอื้ออำนวยต่อการพากย์มากกว่าในอดีต และในปัจจุบันมีการนำเข้า 
หนังจากต่างประเทศมาฉายเพิ่มมากยิ่งขึ้น ความยากง่ายกลับกลายเป็นว่ามีข้อจำกัดในด้านความต่าง 
ในด้านภาษาและวัฒนธรรม จำเป็นต้องใช้ทักษะขั้นสูงในการพากย์เช่นเดียวกัน MiX ฉบับนี้จึงได้สรุปทักษะขั้นพื้นฐานที่เหล่านักพากย์ต้องมี เพื่อเป็นบันไดสู่การเป็นนักพากย์เสียงมืออาชีพ 
 

1. สามารถอ่านหนังสือได้ เพราะในการพากย์จำเป็นต้องอ่านและทำความเข้าใจสคริปท์เนื้อหาของบทพากย์ ที่สำคัญยังต้องมีนิสัยรักการอ่านด้วย เมื่ออ่านอย่างถ่องแท้แล้วจะทำให้สามารถตีความเนื้อหาแท้จริงของบทได้ เข้าถึงตัวละครที่พากย์ หรือที่เรียกว่าตีบทให้แตกนั่นเอง 
 

2. สามารถออกเสียงได้ชัดเจน มีน้ำเสียงน่าฟัง เพราะในแต่ละสคริปท์จำเป็นต้องใช้เสียงสูงเสียงต่ำ หลายโน้ตหลายคีย์ตามเนื้อหาของบท ในบางครั้งนักพากย์หนึ่งคนก็อาจต้องพากย์เป็นตัวละครมากกว่าหนึ่งตัวที่มีหลากหลายอารมณ์ การฝึกหายใจเองก็ยังเป็นอีกตัวช่วยในการออกเสียงให้ชัดเจน   
 

3. ต้องซ้อมอ่านบทสคริปท์บ่อย ๆ เพราะบทสคริปท์ที่เขียนออกมาดีใช้คำที่สละสลวย ไม่ได้แปลว่าเมื่อนำมาพากย์แล้วจะดีตามบท บางทีอาจจะเพี้ยนหูดูไม่ธรรมชาติ ไม่เข้ากับตัวบทตัวละคร หรือพากย์ไม่ตรงปากทำให้คนดูขาดอรรถรสในการรับชม 
 

4. เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ตัวของนักพากย์ได้อัพเดทสิ่งใหม่ ๆ เทรนด์ของภาษา  ศัพท์ใหม่ ๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ในงานพากย์  
5. เรื่องสุขภาพก็สำคัญไม่แพ้ข้ออื่น ๆ หากสุขภาพไม่ดีมีอาการเจ็บป่วยอาจจะส่งผลโดยตรงในเรื่องของเสียง และยังส่งผลให้คุณภาพของงานพากย์ออกมาไม่ดี 
 

การก้าวเข้าสู่วงการของนักพากย์ปัจจุบันนั้นง่ายมาก เห็นได้จากการเปิดรับเคสนักพากย์หน้าใหม่ ๆ  อยู่เสมอ ๆ แต่บันไดที่สำคัญในการก้าวเข้าสู่วงการนักพากย์นั้น ก็อาจจะต้องใช้พรสวรรค์และพรแสวงเข้าช่วยที่ต่างสำคัญไม่แพ้กัน 
 

การใช้ภาษาให้ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญของการพากย์ พากย์ให้เป็นธรรมชาติ ไม่ฝืนออกเสียง  สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการพากย์เสียงคือการเข้าใจตัวละครนั้น ถ้าหากเข้าใจตัวละครและเนื้อเรื่อง  เราจะสามารถรู้ถึงนิสัย และสามารถตอบสนองได้อย่างถูกต้อง มีหลายคนแนะนำให้ลองฝึกพูดกับตัวเองหน้ากระจกก่อน จากนั้นหาภาพยนตร์หรือตัวละครที่จะหัดพากย์มาลองลงเสียงดู

ศาสตร์อีกแขนงหนึ่งของการสื่อสาร ที่ต้องใช้ทักษะมากกว่าการพูดเพื่อการสื่อสาร