งานหลักของคนในคลื่นอารยะ 7 ลูก ที่สำคัญสำหรับมนุษย์

งานหลักของคนในคลื่นอารยะ 7 ลูก ที่สำคัญสำหรับมนุษย์

งานเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์ เพราะนอกจากการทำงานจะนำมาซึ่งรายได้ เพื่อการดำรงชีวิตแล้ว คนเราส่วนใหญ่ยังใช้เวลาอย่างน้อย 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการทำงาน งานเป็นสิ่งที่กำหนดว่า ในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่นั้น เราได้ฝากสิ่งใดไว้ มีคุณค่าหรือไม่ และมากน้อยเพียงใดให้กับโลกใบนี้ ดังนั้นการทำงานจึงมีผลอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข มีคุณค่าและมีความหมาย

 

เป้าหมายและความสำคัญของการทำงานยังคงเป็นเช่นนี้เสมอไม่ว่ายุคใด สมัยใด แต่อย่างไรก็ตาม ในตัวของเนื้องานที่มีให้มนุษย์ทำนั้น อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย 
 

ผมได้นำเสนอแนวคิดเรื่องคลื่นอารยะ 7 ยุค ซึ่งเป็นการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของสังคมเอาไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 ในหนังสือเรื่อง “คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม : สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21” และได้อธิบายละเอียดขึ้น ในหนังสือ “สยามอารยะแมนนิเฟสโต” ในปี พ.ศ.2555 โดยคลื่นอารยะ 7 ลูก ตั้งแต่คลื่นลูกที่ 0 จนถึงคลื่นลูกที่ 6 มีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนยุค และมีผลทำให้ลักษณะของงานในแต่ละยุคมีความแตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้  
 

คลื่นลูกที่ 0 สังคมเร่ร่อน: งานที่ใช้เท้าเป็นหลัก (Foot Labour)  
 

ในสังคมบรรพกาล มนุษย์อยู่รวมกันในลักษณะของชนเผ่า อาศัยอยู่ตามถ้ำในป่า เร่ร่อนไปเรื่อย ๆ ไม่มีการตั้งถิ่นฐานที่แน่นอน เร่ร่อนไปตามแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์  
 

เศรษฐกิจในยุคนี้ คือ เศรษฐกิจจากป่า (Forest Economy) และมี “ป่า” เป็นปัจจัยสำคัญแห่งยุค โดยงานหลักของคน คือ การหาของป่าและล่าสัตว์ ซึ่งแม้ว่าจะใช้ทุกส่วนของร่างกายประกอบกัน แต่ก็ถือว่าเป็นงานที่ใช้เท้าเป็นหลัก เนื่องจากการหาของป่าต้องอาศัยการเดินหา ทั้งพืชผลหรือซากสัตว์ที่ตาย ขณะที่การล่าสัตว์นั้นหลายครั้งต้องอาศัยการวิ่ง การเดิน การไล่ติดตาม จนกว่าเหยื่อจะเหนื่อย (Persistence Hunting) ซึ่งบางครั้งต้องวิ่งเป็นระยะทางที่ไกลมาก 
 

คลื่นลูกที่ 1 สังคมเกษตร: งานที่ใช้มือเป็นหลัก (Hand Labour) 
 

คลื่นลูกนี้เกิดขึ้นเมื่อมีการปฏิวัติเกษตรกรรม (Agricultural Revolution)  ครั้งแรก จากความคิดว่า มนุษย์ควรตั้งรกรากเป็นหลักแหล่ง เลี้ยงสัตว์ ทำการเพาะปลูกซึ่งดีกว่าการเร่ร่อนเก็บของป่าและล่าสัตว์ ทำให้เกิดเป็นเศรษฐกิจการเกษตร (Agricultural Economy) โดยปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญในยุคนี้ คือ ที่ดิน  
 

ชุมชนที่เข้าสู่คลื่นสังคมเกษตรกรรมยุคแรกที่เจริญรุ่งเรืองมีอารยธรรม จึงมักเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ตามลุ่มแม่น้ำ เนื่องจากอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก และใช้แม่น้ำในการเดินทางค้าขายแลกเปลี่ยนได้ 
 

งานสำคัญของคนในยุคนี้ คือ การเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งลักษณะของงานนั้นหนักไปทางการใช้มือเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการหว่านพืช รดน้ำ พรวนดิน เก็บเกี่ยว ให้อาหารสัตว์ กวาดต้อนสัตว์ เป็นต้น  
 

คลื่นลูกที่ 2 สังคมอุตสาหกรรม: งานที่ใช้ร่างกายเป็นหลัก (Body Labour) 
 

ศตวรรษที่ 18 - 19 เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ขึ้นในอังกฤษ นำไปสู่การผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม อันเป็นผลจากการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ ส่งผลให้รูปแบบการผลิตเปลี่ยนไป จากการใช้แรงงานสัตว์ เป็นการใช้เครื่องจักร และเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อการดำรงชีพ เป็นการผลิตเพื่อการค้า เกิดระบบโรงงาน ระบบตลาดขนาดใหญ่ หรือ เศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrial Economy) โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนมีอำนาจในยุคนี้ คือ ทุน 
 

ในยุคนี้เป็นยุคที่การทำงานใช้แรงกายเป็นหลัก ทั้งชาย หญิง และเด็กจำนวนมาก ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม โดยใช้แรงงานควบคุมเครื่องจักร นั่งหรือยืนทำงานร่วมกับเครื่องจักร ซึ่งโรงงานหลายแห่งมีความร้อนสูง เต็มด้วยควันจากการทำงานของเครื่องจักรไอน้ำ สภาพแวดล้อมการทำงานไม่ดีหนัก แรงงานไม่รับการดูแลที่ดีจากนายจ้าง ต้องทำงานหนัก และมีเวลาพักน้อย  
 

คลื่นลูกที่ 4 สังคมความรู้: งานที่ใช้สมองเป็นหลัก (Mind Labour) 
 

ยุคนี้เป็นยุคที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง โดยปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ คือ ความรู้ ซึ่งเป็นผลมาจากการวิจัยและพัฒนา การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ และการสร้างนวัตกรรม จนนำไปสู่การปฏิวัติความรู้ (Knowledge Revolution) ผลักดันโลกให้เคลื่อนเข้าสู่สังคมความรู้ และเกิดเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Economy) 
 

โลกเข้าสู่ยุคที่แข่งขันกันมากขึ้น ไม่เพียงแต่แข่งขันกันในการทำการตลาด อาศัยข้อมูลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แต่ต้องแข่งขันกันโดยการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ  
ให้ดีขึ้น จากลักษณะดังกล่าวทำให้งานของคนในคลื่นลูกที่ 4 จึงเป็นงานที่ใช้ความคิดนำหรือใช้สมองเป็นหลัก อาชีพที่สำคัญของคนในยุคนี้ ได้แก่ นักวิจัย นวัตกร นักวิเคราะห์ ที่ปรึกษา โค้ช เป็นต้น 
 

คลื่นลูกที่ 5 สังคมปัญญา: งานที่ใช้เจตน์เป็นหลัก (Volition Labour) 
 

ผมคาดการณ์เอาไว้ว่าในอนาคตโลกจะเคลื่อนเข้าสู่สังคมแห่งปัญญา ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิวัติทางปัญญา (Wisdom Revolution) เพื่อให้สังคมเป็นสังคมที่มีการใช้นวัตกรรมความคิดเพื่อการประยุกต์ความรู้ และใช้ความรู้อย่างถูกที่ ถูกทาง ถูกบริบท และอย่างมีประโยชน์จริง ๆ เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจนเป็นเศรษฐกิจปัญญา (Wisdom Economy) เกิดประโยชน์ต่อสังคมและทุกกลุ่มคนในสังคมทั้งทางด้านวัตถุ ด้านกายภาพและด้านจิตใจ 
 

การประยุกต์ความรู้ให้ถูกที่ถูกทางเป็นงานที่ใช้เจตน์ หรือเจตจำนง หรือความตั้งใจเป็นหลัก เพราะต้องอาศัยการจดจ่อ เพื่อนำเอาสิ่งที่เป็นความรู้ต่าง ๆ  
มาประยุกต์ใช้อย่างเจาะจงกับงานต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรม หรือสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างสอดคล้องกับบริบทแวดล้อมของแต่ละสังคม เช่น   
 

- ผู้บริหารฝ่ายวัฒนธรรมองค์กร (Chief Cultural Officer) รับผิดชอบด้านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อความสำเร็จ  
- ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการความหลากหลายในองค์กร (Polarity Management Mentor)  
- ที่ปรึกษาด้านโลกาเทศาภิวัตน์ (Glocalization) ซึ่งรับผิดชอบในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่น 
 

คลื่นลูกที่ 6 สังคมความดี: งานที่ใช้จิตเป็นหลัก (Spirit Labour)  
 

จากสังคมปัญญา ผมคาดการณ์ว่าสังคมในอนาคตจะผ่านการปฏิวัติความดี (Araya Revolution) เพื่อเคลื่อนจากสังคมแห่งปัญญา ไปสู่สิ่งที่มนุษย์แสวงหามากที่สุด นั่นคือ สังคมที่มีความดีมากำกับสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างชัดเจน 
 

คลื่นลูกที่หก สังคมแห่งความดีเป็นสังคมที่ผสมผสานสัจจะความรู้อย่างกลมกลืนกับความงาม หรือผสมศาสตร์เข้ากับศิลป์ได้อย่างลงตัว และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม จนเกิดเศรษฐกิจความดี หรือ เศรษฐกิจอารยะ หรือ เศรษฐกิจคุณธรรม (Virtuous Economy or Araya Economy or  Virtue Economy)  
 

งานของคนในคลื่นลูกที่ 6 เป็นงานที่ใช้จิตเป็นหลัก ซึ่งจิตในที่นี้ ผมหมายถึง จิตวิญญาณหรืออุดมการณ์ เนื่องจากการจะผลักดันสังคมให้แสวงหาความดี หรือผสมผสานความดีเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ จะสำเร็จและยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อทำด้วยจิตวิญญาณหรืออุดมการณ์อย่างแท้จริง ซึ่งอาชีพที่เกิดขึ้นในสังคมคลื่นลูกที่ 6 เช่น   
 

- นักสร้างชาติ (Nation-Builder) ผู้นำขับเคลื่อนในการสร้างชาติ  
- นักธุรกิจสร้างชาติ (Corporate Nation-Builder) นักธุรกิจสร้างชาติ  
- ผู้บริหารฝ่ายธรรมาภิบาล (Chief Governance officer) 
- ที่ปรึกษาด้านธรรมาภิบาล (Governance Consultant) เป็นต้น  
 

ผมคิดว่าความเข้าใจเรื่องคลื่นอารยะ 7 ลูกและงานหลักของคนในคลื่นแต่ละลูก ที่ผมอธิบายนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับภาครัฐในการกำหนดวิสัยทัศน์ ในการสร้างคนในประเทศให้เหมาะสมกับยุคและก้าวล้ำไปข้างหน้า เพื่อประเทศไทยจะขี่ยอดคลื่น และสามารถเป็นผู้ชนะแห่งยุคสมัยได้ นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนที่จะปรับตัวให้เข้ากับยุค เพื่อจะสามารถใช้ชีวิตให้เต็มตามศักยภาพและมีคุณค่าสูงสุดเพื่อผู้อื่น สังคม ประเทศชาติและมนุษยชาติครับ 

 

ลักษณะและงานหลักของคนในของคลื่นอารยะ 7 ลูก

 

Text : ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

ที่มา : เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม:สังคมไทยที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 (2541) และ สยามอารยะแมนนิเฟสโต (2555)

งานเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์ คนเราส่วนใหญ่ยังใช้เวลาอย่างน้อย 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการทำงาน