ธัญสินี ทองประสาท นักพากย์เสียงนางเอกฟีลกู๊ด

ธัญสินี ทองประสาท นักพากย์เสียงนางเอกฟีลกู๊ด

นักพากย์มืออาชีพที่เริ่มพากย์หนังมาตั้งแต่หกขวบ เธอเป็นลูกไม้ใต้ต้นของนักพากย์รุ่นใหญ่ ในวงการ แถมพี่ชายของเธอก็เป็นนักพากย์ด้วยเช่นกัน เลือดนักพากย์เข้มข้น ต้องบอกว่าเธอเกิดมาเพื่อ เป็นนักพากย์จริง ๆ สกู๊ปในฉบับนี้เกิดขึ้นเพราะผมได้รู้จักกับเธอนี่แหละ เราเจอกันในคอนเสิร์ตหนึ่ง ที่ผมได้ไปแสดงดนตรีกับเพื่อน ๆ หลังจากนักร้องในวงแนะนำให้รู้จักว่าเธอเป็นนักพากย์หนัง และเมื่อได้ยินเสียงของเธอ มันช่างเป็นเสียงที่ผมคุ้นเคยมาเป็นเวลานานทั้งจากการ์ตูนทางทีวี และภาพยนตร์ ความสนใจในเรื่องการพากย์เสียงภาษาไทยจึงเริ่มขึ้น
 

“เริ่มมาเป็นนักพากย์ตอนหกขวบ พากย์เสียงเป็นถ้วยน้ำชา ใน Beauty and the Beast ซึ่งในเรื่องเราพากย์เป็นเสียง เด็กผู้ชายนะ คือคุณแม่ชวนให้ไปลองออดิชั่นดู พอได้พากย์เรื่องแรกแล้วทางวอทล์ดีสนีย์เขาก็รู้จักเสียงเราแล้ว พอมีคาแรกเตอร์เสียงที่เขาอยากได้แบบนี้อีก จึงได้มาพากย์เรื่อง A Bug Life ต่อ หลังจากนั้นก็ได้พากย์มาเรื่อย ๆ จนมีประสบการณ์ในระดับหนึ่ง คุณแม่ก็เลยชวนให้มาเข้าทีมของเขา  
 

“ส่วนใหญ่เขาจะเรียกทีมพากย์จรัสกร ซึ่งเป็นชื่อคุณแม่ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมและคนติดต่อรับงาน (คุณจรัสกร ทิพย์ศรี อดีตนักพากย์เสียงละครวิทยุคณะเกตุทิพย์ เป็นน้องสาวของนัยนา ทิพย์ศรี เคยพากย์ให้กับ CVD International ปัจจุบันพากย์ที่ช่อง 3 และ Mono 29 พากย์เสียงอาชีพมาโดยตลอด) ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ ค่ะ เพราะได้มาพากย์รวมกับ ลุง ป้า น้า อา ที่เป็นนักพากย์เก่ง ๆ ได้ประสบการณ์มากกว่าที่พากย์คนเดียว ตอนนั้นกู๊ดประมาณอายุยี่สิบกว่าแล้วนะ ก็เป็นสมาชิกที่อายุน้อยที่สุดในทีมช่วงนั้น ก่อนหน้านั้นหนูทำงานเป็นโปรดิวเซอร์รายการทีวี และพิธีกรบางรายการ  
 

“กู๊ดพากย์หนังมาเยอะมาก จำไม่ได้แล้วค่ะว่าพากย์ มากี่เรื่อง คือเราพากย์ทั้งหนังใหญ่เข้าโรง การ์ตูน ซีรีส์ต่างประเทศ ฯลฯ หนังเรื่องล่าสุดที่กำลังจะเข้าโรงคือเรื่อง Zombieland: Double Tap (ภาค 2) พากย์เสียงของ Madison ซึ่งแสดงโดย Zoey Deutch ถ้าเรื่องที่พากย์เสียงนางเอกล่าสุดก็จะเป็น Yesterday และ Spiderman : Far From Home คือเขาจะเลือกเสียงจากคาแรกเตอร์ของตัวละครเป็นหลัก อย่างเรื่อง Yesterday นางเอกเขาเป็นคนเดียวกับในเรื่อง Baby Driver ซึ่งกู๊ดได้พากย์เป็นนางเอก พอนางเอกคนเดิมเขาจะใช้เสียงเดิมก่อนค่ะ ทำให้บางเรื่องจะต้องแคสติ้งแต่บางเรื่องก็จะไม่ต้องเพราะเสียงตัวละครเข้ากับเสียงของเราค่ะ Director จะเป็นคนเลือก เคยพากย์เรื่องเดียวกันเยอะที่สุด 4 ตัวละคร เพราะเสียงเราจะเป็นโทนสูง ทำให้แบ่งคาแรกเตอร์ได้ไม่เยอะมาก  
 

 “ไม่เคยคิดว่าจะมาทำอาชีพนักพากย์เลยนะคะ คือเมื่อก่อนแค่รับเป็นฟรีแลนซ์หาเงินกินขนม แต่พอได้ลองทำอาชีพอื่น ๆ ก็รู้สึกว่าเรามาทางนี้ดีกว่า คือถ้าให้เทียบกับตอนทำงานเบื้องหลังตอนออกกองจะเหนื่อยกว่า แถมค่าตอบแทนก็น้อยกว่าด้วย ต้องตากแดดตากฝน แต่นักพากย์ไม่ต้อง ทำงานในห้องแอร์อัดเสียงในสตูดิโอ ด้วยเนื้องานมันเหนื่อยกันคนละแบบ แต่ถ้ามีทักษะ มีประสบการณ์ แล้วขึ้นมาเป็นมืออาชีพได้แล้ว งานนี้เหมาะกับเรามากกว่าค่ะ แต่เหนื่อยมากนะคะ เพราะเราจะต้องแอคชั่นมากกว่านักแสดง เพราะ เราแสดงอารมณ์ด้วยน้ำเสียงไม่ใช่ท่าทางและใบหน้า ต้องทำให้คนอินให้ได้ 
 

“ให้ลองพากย์ให้ดูเหรอ เขินอ่ะ (ฮา) คือถ้าให้นึกสด ๆ มันทำอารมณ์ยาก กู๊ดจะต้องดูหนังไปด้วยจะพากย์ได้ง่ายกว่า เพราะเราเห็นตัวละคร เห็นสีหน้า เห็นมู๊ดแอนด์โทนของหนัง คือเป็นคนที่อินกับหนังได้ง่ายมากค่ะ ประมาณว่าเป็นคนอ่อนไหว ง่ายด้วย หนังเศร้านี่ร้องไห้ออกมาเลยนะ เป็นเองโดยอัตโนมัติ เวลาพากย์กู๊ดก็ร้องไห้จริง ๆ ทุกครั้งเลยนะ อินกับบทบาท ตัวละครที่เราพากย์ด้วย คือถ้าย้อนไปในยุคที่คุณแม่พากย์ละครวิทยุ กู๊ดว่ายากกว่าพากย์หนังอีก เพราะเห็นแค่ตัวหนังสือ ต้องจินตนาการบรรยากาศ เนื้อเรื่อง และอารมณ์ของตัวละครเอง แถมตอนอัดเสียงไม่มีการเทคด้วยนะ  เพราะต้องพากย์ออกอากาศสด ๆ คนยุคนั้นเลยเก่งไงค่ะ  ลุง ๆ ป้า ๆ ตอนนี้ก็ยังพากย์หนังกันอยู่  
 

“เราเป็นครอบครัวนักพากย์ค่ะ คือคุณแม่ คุณป้า ลูกสาวคุณป้า พี่ก็อตซึ่งเป็นพี่ชายแท้ ๆ ก็เป็นนักพากย์ด้วย ตอนนี้ คุณแม่ คุณป้า และพี่ก็อต จะทำช่อง 3 เป็นหลัก เมื่อก่อน กู๊ดก็ทำที่ช่อง 3 SD พากย์การ์ตูนเป็นหลักแต่ตอนนี้เขายุบไปแล้ว แต่ตอนนี้มาพากย์ให้ Mono 29 และ Netflix เยอะหน่อยค่ะ ภาพยนตร์ก็มีเข้ามาเรื่อย ๆ  
 

“อาชีพนักพากย์รายได้ดีค่ะ ค่าตัวของนักพากย์ไม่ได้อยู่ที่บทพูดเยอะหรือน้อยนะ แต่อยู่ที่ว่าเราได้พากย์กี่ตอน คล้าย ๆ ของนักแสดงเลยค่ะ ถ้าคุณมีคิวแสดงเข้าบทกี่ตอนก็รับค่าตัวตามจำนวนนั้น เป็นดาราดังไหม ถ้าดังก็ได้เยอะขึ้น เสียงพากย์ก็เช่นกัน รายได้ดีนะ อยู่ได้สบาย ดีกว่าตอนทำ เบื้องหลังรายการทีวีอีก แต่ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดีก็เริ่มอยู่ยากแล้ว (ฮา) รายได้หายไปครึ่งนึงเลยนะ 

 

“ทักษะที่นักพากย์ต้องมีคือ อ่านหนังสือคล่อง อ่านหนังสือแตก, เข้าใจบท ตีบทตัวละครให้แตก, ใช้เสียงได้ดี รู้เทคนิคการใช้เสียง, อ่อนน้อมถ่อมตน เพราะต้องพากย์กับนักพากย์อาวุโส ถ้าผู้ใหญ่สอนอะไรเราต้องจำ อย่าทะนงตัว ว่าได้พากย์เป็นตัวหลักแล้ว คือถ้ามีคำติเขาจะมาพร้อม คำแนะนำ อันนี้คือเรื่องที่ดีที่เราต้องทำให้ได้ แก้จุดบกพร่อง จำเทคนิคที่ลุง ๆ ป้า ๆ เขาใช้กัน คือช่วงแรกเราจะไม่รู้เทคนิคการใช้เสียง ยกตัวอย่างตอนโกรธมันจะต้องใช้เสียงแบบนี้ซึ่งมาจากเทคนิคแบบนี้นะ ร้องไห้ต้องแบบนี้นะ หลัก ๆ คือประสบการณ์ค่ะ ถ้ารู้หรือเก่งภาษาอังกฤษจะได้เปรียบกว่า แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหานะคะ นักพากย์เก่ง ๆ ที่เขาไม่เก่ง ภาษาอังกฤษก็มีเยอะ ปากต้องจบให้ตรงคำพูดของตัวละคร อ้อ! อุปกรณ์ที่ต้องมีส่วนตัวและขาดไม่ได้ก็คือ หูฟัง และปากกาค่ะ 

“อาชีพนักพากย์จะไม่มีเกษียณอายุนะคะ ตราบใดที่ยัง ใช้เสียงได้ก็ยังพากย์ นอกจากจะไม่ดูแลเสียง ป่วย หรือเสียงหาย อันนี้จะมีผลกับการทำงาน แต่ไม่ใช่เรื่องอายุ คาแรกเตอร์ ตัวละครที่กู๊ดชอบพากย์จะเป็นตัววัยรุ่นที่ไม่เรียบร้อยนัก บทนางเอกที่ได้พากย์ก็จะประมาณนี้ค่ะ โดยปกติกู๊ดชอบดูหนังซาวน์แทร็คเพื่อที่จะไปฟังเสียงตัวนักแสดง แล้วนำมาปรับใช้กับการทำงาน อย่างหนังที่กู๊ดพากย์กู๊ดจะไปดูสองรอบ รอบแรกดูซาวน์แทร็ค และก็ดูหนังที่เราพากย์เสียงไทย เพื่อจะดูอารมณ์ที่เราพากย์ว่าต่างจากต้นฉบับขนาดไหน นี่คือการเช็คผลงานของเราว่าเราพากย์ดีไหม เป็นอย่างไร การที่มีคนมาแนะนำก็พัฒนาได้ในระดับนึง แต่ถ้าเราหมั่น ตรวจเช็คและนำข้อเสียมาปรับปรุง จะทำให้ผลงานของเราพัฒนาไวขึ้นมากค่ะ” 

เลือดนักพากย์เข้มข้น ต้องบอกว่าเธอเกิดมาเพื่อ เป็นนักพากย์จริง ๆ