จักริน ทองประสาท นักพากย์หลากคาแรกเตอร์เสียง

จักริน ทองประสาท นักพากย์หลากคาแรกเตอร์เสียง

จักริน ทองประสาท นักพากย์อาชีพ และอดีตผู้ออกแบบเพลงไตเติ้ลละครช่อง 7  ปัจจุบันพากย์ประจำอยู่ที่ทีมพากย์จรัสกร, ทีมพากย์ช่อง 3, Mono 29, Netflix และอีกเพียบ เขาเป็นพี่ชายของคุณกู๊ด และเป็นนักพากย์มากประสบการณ์ ที่ผันตัวเองจากคนเบื้องหลังมาเป็นเสียงเบื้องหน้า โตมาในครอบครัวนักพากย์ และมีสตูดิโอบันทึกเสียงเป็นสนามเด็กเล่นมาตั้งแต่เด็ก   
 

“ผมเป็นนักพากย์มาประมาณ 9 ปีแล้วครับ ที่เข้ามาทำงานตรงนี้ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งได้อิทธิพลมาจากครอบครัวครับ คือคุณแม่เป็นนักพากย์อยู่แล้ว คุณป้าก็เป็นนักพากย์ น้องสาวก็เป็นนักพากย์ แต่ผมจะมาทำงานด้านนี้ช้ากว่าคนอื่น เพราะเป็นคนตัดต่อวิดีโอมาก่อน ทำด้านตัดต่อภาพยนตร์มา 12 ปี แต่สุดท้ายก็ค้นพบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เรารัก คือผมโดมากับสตูดิโอ วิ่งเล่นในห้องอัดที่พากย์เสียงมาตั้งแต่เด็ก ก็ซึมซับจากลุง ป้า น้า อา ก็เลยกลับฝึกพากย์เสียงในทีมของแม่ ได้ฝึกกับลุง ๆ พี่ ๆ ที่เขาเก่ง ๆ ได้ทำงานกับมืออาชีพ  
 

“อาชีพนักพากย์ต้องใช้ประสบการณ์ พอเราพากย์บ่อย ๆ ก็จะเข้าใจคาแรกเตอร์ของตัวละครมันจะซึมซับไปเอง ส่วนใหญ่นักพากย์ในเมืองไทยจะไม่มีโอกาสได้ดูหนังก่อน 
พากย์เสียงเลย ตอนที่ขีดตัวเนี่ยจะรู้เลยว่าคาแรกเตอร์ของ ตัวละครนี้เป็นอย่างไร การขีดตัวคือเอาปากกามาขีดเส้นใต้ วง หรือไฮไลต์ในบทพูดของตัวละครที่เราพากย์ จะมีคนแบ่งตัว ให้เรา เราจะขีดเฉพาะตัวละครที่เราพากย์ ประสบการณ์เลยสำคัญ เพราะนักพากย์จะต้องใช้โสตประสาทเยอะครับ  
 

“หูข้างนึงฟังเสียงของหนัง หูอีกข้างนึงฟังเสียงตัวเอง ตอนพากย์ สมองต้องคิดตาม ตาก็ต้องอ่านบทและดูจอภาพยนตร์ไปด้วย สมองก็ต้องคิดเสมอว่าคาแรกเตอร์เสียงตัวละครนี้เป็นอย่างไร ใช้ด้วยน้ำเสียงแบบไหน ต้องหยุดพูดตรงไหน ใช้คำพูดยาวกว่าปากตัวละครไหม และที่สำคัญจะไม่มีการ ให้บทไปซ้อมก่อน คือเจอกันหน้างานเลยครับ พากย์เองคนเดียว ลงเสียงแยกยังไม่ยากเท่ากับพากย์รวมหมู่ เพราะพากย์รวมเราจะเทคบ่อยไม่ได้เหมือนพากย์เองคนเดียว ถ้าเทคบ่อยก็จะเกรงใจคนที่ร่วมพากย์ในเรื่องนั้น ๆ ด้วย และส่วนใหญ่นักพากย์รุ่นใหญ่ทั้งนั้น ลุง ป้า น้า อา ฉะนั้นเราต้องมีสมาธิมาก ๆ ครับ 
 

“ยกตัวอย่างตอนพากย์ของช่อง 3 เนี่ย พอผมไปถึงสตูดิโอ เขาจะส่งบทให้ ผมก็จะขีดคำพูดของที่ผมจะพากย์ ขีดเสร็จ ก็เข้าไปอัดกันเลย อัดรวมกันกับนักพากย์รุ่นปรมาจารย์ทั้งหลาย เสียงเนี่ยเราจะไม่สามารถรู้อายุคนพากย์ได้ พระเอกอย่าง โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ เรื่อง Iron Man จะพากย์โดยลุงยะ ปิยะ ชำนาญกิจ ซึ่งท่านอายุ 70 แล้วนะครับ สำหรับนักพากย์อายุเป็นเพียงตัวเลขจริง ๆ ครับ ยิ่งพากย์เยอะยิ่งทำให้เสียงมีเรนจ์กว้างออกไป เพราะพากย์มาตั้งแต่หนุ่ม อย่างถ้าพากย์เสียงแก่หน่อยก็ใช้น้ำเสียงปกติ ถ้าพากย์หนุ่มก็ใช้เสียงที่เหินขึ้นไปอีกหน่อย ถ้าวัยรุ่นพยายามทำเสียงเป็นคนแก่จะยากกว่าครับ 
 

“นักพากย์บ้านเรามีเยอะครับ แต่ระดับอาจารย์ที่ประชาชนคุ้นเคยเสียงจนเป็นที่ยอมรับ ผมว่ามีไม่เยอะครับ เพราะว่าคนเสียงหล่อแต่อารมณ์ไม่ได้นี่พากย์ไม่ได้นะครับ อย่างดาราหรือนักร้องบางคนที่มาพากย์ก็ไปต่อในบทอื่น ๆ ไม่ได้ก็มี พากย์แล้วเสียงไม่แสดงอารมณ์ก็มี ผมว่าการพากย์เป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ต้องฝึกฝนครับ 
 

“ยิ่งถ้าเรื่องเดียวกันพากย์เป็นหลาย ๆ เสียง นี่จะยิ่งยากครับ ผมเคยสับสน (ฮา) ตอนนั้นพากย์ซีรี่ส์เกาหลีของช่อง 3  บทจะเป็นองค์ชายหลาย ๆ คน คือผมคนเดียวพากย์หลายคาแรกเตอร์ คือเราต้องเปลี่ยนอารมณ์ให้ทัน อย่างบทนึงกำลังเศร้าคือกำลังจะตายเลย แต่พอตัดมากอีกบทอีกคนกำลังร้องเพลงจีบผู้หญิงอยู่เลย คือเราต้องปรับน้ำเสียงและอารมณ์ให้ทัน นี่คือความท้าทายอีกอย่างนึงของนักพากย์ครับ ผมเคยพากย์เสียงเยอะที่สุดประมาณ 5 ตัวละครในเรื่องเดียวครับ  มีบทอำมาตย์แก่เสียงแหลม อำมาตย์เสียงทุ้ม เจ้าชาย  เพื่อนพระเอก ฯลฯ คือเราต้องจำคาแรกเตอร์ให้ได้ครับ

 

“การมาพากย์ที่ช่อง 3 เขาจะคัดเลือกนักพากย์ที่สามารถทำได้หลายคาแรกเตอร์เสียงครับ อย่างซีรี่ส์เกาหลีย้อนยุคเนี่ย ตัวละครจะเยอะมาก จำเป็นต้องพากย์ได้หลาย ๆ ตัว คนแบ่งตัวละครให้นักพากย์ก็คือหัวหน้าทีม เขาจะรู้เลยว่าเราเหมาะกับตัวละครแบบไหน อย่างผมเอง บทตัวตลก พวกเพื่อนพระเอก หรือตัวร้ายแบบไม่โหดจริง ๆ ตัวร้ายแบบตลกนิด ๆ จะเป็น คาแรกเตอร์ถนัดของผมเลยครับ บทที่ไม่ชอบเลยก็คือพระเอกครับ  ต้องมาปั้นเสียงหล่อ คือผมอึดอัด (ฮา) 

“นักพากย์รายได้ดีครับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจด้วยนะ ถ้าฝรั่งไม่มาลงทุน หรือค่ายหนังฮอลลีวู๊ดไม่มาลงทุนก็แย่นะ ต้องอธิบายก่อนว่าถ้าพากย์ช่องทีวีเนี่ย ทางช่องจะซื้อลิขสิทธิ์ มาแล้วจ้างนักพากย์ แต่ถ้าหนังอย่าง Marval หรือหนังฟอร์มยักษ์ เนี่ยทางค่ายหนังจะเป็นคนจ้างเราครับ เรตค่าตัวจะคิดตามเลเวลของนักพากย์ครับ ถ้าเป็นรุ่นใหม่จะราคานึง รุ่นกลาง ก็อีกราคานึง รุ่นใหญ่ก็จะอีกราคานึง แต่ราคามาตรฐานจะมีอยู่แล้ว แล้วแต่ห้องพากย์ที่เรียกเราไปใช้บริการครับ

 

“อย่างผมจัดเป็นนักพากย์อิสระครับ รับฟรีแลนซ์ทุกค่าย ไม่ว่าจะช่อง 3, โมโน, ช่องวิว (Viu) ที่เป็นซีรีส์เกาหลี, Netflix หรือภาพยนตร์เข้าโรงก็ตาม ผมว่าการพากย์หนัง 
มันอยู่ในสายเลือดพวกเราด้วยครับ อย่างน้องสาวผม กู๊ดเนี่ยพากย์มาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ Beauty And The Beast การ์ตูนของวอทล์ดีสนีย์ ผมเริ่มช้าหน่อยคือมาเป็นนักพากย์ตอนอายุยี่สิบกว่าแล้ว ตอนนี้ลูกชายผม อายุแปดขวบก็มาเป็นนักพากย์ แล้วครับ เขาตามผมมาห้องอัดได้สัมผัสบรรยากาศมาตั้งแต่เล็ก ๆ  มันซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว ตอนนี้เขาพากย์การ์ตูน Angry Bird ภาคสอง เหมือนเป็นมรดกตกทอดก็ว่าได้ครับ 

“การ์ตูนสำหรับผมคือการพากย์ที่ยากที่สุดครับ เพราะตัวละครเนี่ยอารมณ์จะขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่เหมือนหนังหรือละครที่คนแสดง ทักษะจะต่างกันนิดหน่อย ถ้าหนังที่คนแสดงเนี่ย เมื่อเราตีอารมณ์ตัวละครให้ออกก็พากย์ได้แล้วครับ ยากคนละแบบ

 

“นักพากย์จะเก่งได้ต้องอยู่ที่โอกาสด้วยครับ ต้องได้โอกาสในการพากย์รวม แล้วฝีมือจะพัฒนาขึ้นอีกเยอะ ต้องหาโอกาสมาพากย์กับทีมให้ได้ ประสบการณ์สำคัญที่สุด ตอนผมเป็นนักพากย์มือใหม่ บางวันผมกลับบ้านเช้าเจอพระบิณฑบาตเลยอัดแล้วอัดอีก คือต้องหาทีมเพื่อฝึกพากย์หมู่ให้ได้ครับ วันนึงเราได้ใช้ประโยชน์ได้แน่นอน  

“มุกสดใส่เข้าไปได้นะครับ แต่ต้องดูอารมณ์และภาพรวมของหนัง โดยส่วนตัวผมจะเป็นนักพากย์สายอารมณ์ เพราะ ถูกแม่สอนมา ตอนพากย์กับแม่จะใส่เยอะมากไม่ได้ อารมณ์ต้องถึงตัวละคร การออกเสียงต้องชัด มีคนเกลาคำมาให้ ถ้าคำไม่เข้าปากเราสามารถเปลี่ยนได้ แต่ส่วนใหญ่ทีมงาน เขาจะกำหนดมาให้แล้ว  
 

“การพากย์ไทยโดยทั่วไปการทำงานจะมีสามฝ่าย คือคนแปลบทและเกลาคำ ซาวน์เอ็นจิเนีย และนักพากย์ ก็ขอฝากเสียงพากย์เรื่องล่าสุดครับ No Where Man ทาง Netflix พากย์เสียงพระเอก เป็นซีรีส์จีนแมนดารินเรื่องแรกที่ทาง Netflix ทำด้วย ขอบคุณครับ” 

อดีตผู้ออกแบบเพลงไตเติ้ลละคร ปัจจุบันพากย์ประจำอยู่ที่ทีมพากย์จรัสกร, Netflix และอีกเพียบ